เศรษฐกิจถดถอยไม่ใช่เรื่องดี เงินเฟ้อก็ไม่ใช่เรื่องดีของประชากรในประเทศ แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากเศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอยและเงินเฟ้อไปพร้อมกัน
โรคระบาดที่ยืดเยื้อ คนตกงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นกราฟดิ่งหัวปัก นี่เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างเผชิญเมื่อการใช้ชีวิตผู้คนถูกฟรีซไว้ให้เคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าจาก COVID-19 มากว่าหนึ่งปีแล้ว
ย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ทั่วโลกก็ยังไม่เคยเผชิญกับวิกฤติอันใดกระทั่งโรคระบาดใหม่มาเยือน แม้ปัจจุบันในหลายประเทศจะเริ่มโรลเอาต์วัคซีนให้ประชาชนกันไปแล้ว แต่ก็มีหลายประเทศเริ่มออกมาพูดถึงคำว่า ‘Stagflation’ ภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะกำลังก่อตัวขึ้น
Stagflation เป็นการประสมระหว่างสองคำคือ stagnant การหยุดชะงัก หรือภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาฝืดเคือง กับคำว่า inflation ที่หมายถึง ภาวะเงินเฟ้อ
นักเศรษฐศาสตร์เริ่มออกมาแสดงความกังวลใจถึง Stagflation เพราะมันสื่อถึงภาวะที่ผิดปกติอย่างมาก แม้แต่ความหมายก็ผกผันในตัวมันเอง
ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ธนาคารกลางมีหน้าที่กำกับดูแลเศรษฐกิจจะต้องระบุเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศเสมอ และมักจะกำหนดกรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อเอาไว้ ดังนั้นยามปกติ เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว อัตราว่างงานต่ำ จะเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตามมา (เงินเฟ้อสูงพูดเข้าใจง่ายที่สุด คือ ภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นและราคาสินค้าแพงขึ้น) แต่กลับกันเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งหมายถึงว่าอัตราว่างงานสูง อัตราเงินเฟ้อจะต่ำ
แม้การมีอัตราเงินเฟ้อในระดับเหมาะสมจะหมายถึงภาวะเครษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวหรือเติบโดต เช่นการกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 2% ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา แต่ Stagflation เป็นเหมือนการรวมเอาข้อเสียของสองภาวะทางเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งว่างงานสูง และเงินเฟ้อสูง
แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน? ตัวแปรสำคัญคือวิกฤติที่เข้ามาแทรกแซงทำให้หลายๆ ธรุกิจและการจ้างงานไม่สามารถรันได้ตามปกติ โดยเฉพาะปัจจัยด้านอุปทานที่กำลังการผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว (supply shock) ส่งผลกระทบให้คนต้องซื้อของในราคาที่แพงขึ้น และเมื่อผู้ผลิตชะลอการผลิตเพราะกลัวขายไม่ได้เท่าเดิม ก็จะกระทบต่อซัพพลายเชนเบื้องหลังไปด้วย เช่น บรรดาซัพพลายเออร์วัตถุดิบต่างๆ
Stagflation เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาทศวรรษ 1970s เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงถึง 12% คนว่างงานเกือบ 9% สาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงขึ้นกว่า 400%
ส่วนประเทศไทยเคยเกิดภาวะดังกล่าวใน พ.ศ.2523 เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 10% เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้นกว่า 40% สิ่งที่ตามมาคือเศรษฐกิจที่เซื่องซึมต่อเนื่องยาวนานหลังจากนั้นหลายปี
Stagflation ไทยในยุค COVID-19?
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อไทยอยู่ที่ระดับ 3.41% เป็นการขยายตัวของเงินเฟ้อในรอบ 14 เดือน และเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 100 เดือน
วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) บอกว่า เป็นผลมาจากเรื่องของราคาพลังงานและราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงมาตรการลดค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภคของรัฐสิ้นสุดลง
ซึ่งก็คงต้องยอมรับกันแบบตรงไปตรงมาว่า ตอนนี้ผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่สามที่รุนแรงขึ้น รัฐบาลออกมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ อย่างรัดกุม กระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนโดยตรง ทำให้เกิดการถดถอยซ้ำซากของเศรษฐกิจไทย
ถ้าวัดจากนิยามของ Stagflation ที่บอกว่าเศรษฐกิจถดถอยและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูง ประชาชนใช้จ่ายอย่างแพงขึ้น ก็อาจจะบอกได้ว่าประเทศของเราอาจจะกำลังเริ่มต้นเผชิญหน้ากับภาวะดังกล่าว
คำถามคือภาวะ Stagflation ที่เรากำลังจะเจอ หรือเจอแล้ว มันชั่วคราวหรือเปล่า?
ภาวะนี้จะหายไปหรือไม่ในไม่กี่เดือนนี้
การป้องกันไม่ให้สถานการณ์ Stagflation เกิดขึ้น ก็คือการที่เศรษฐกิจจะต้องดีขึ้น กิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงคำว่าปกติ และเปิดประตูรับต่างชาติได้เร็วที่สุด เพราะรายได้ประเทศไทยกว่าครึ่งก่อนวิกฤต COVID-19 มาจากรายได้จากภาคการท่องเที่ยว
ที่น่ากังวลใจจากสถานการณ์จริงตอนนี้คือ เศรษฐกิจไทยดูจะสวนทางกับหลายประเทศมหาอำนาจโลกที่เร่งการฉีดวัคซีนจนผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบจะปกติและเตรียมเปิดประเทศกันแล้ว ขณะที่ของไทยยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อหลักพันเคสต่อวัน สินค้าหรือวัตถุดิบการผลิตหลายอย่างของประเทศเรายังต้องอาศัยการนำเข้าจากประเทศที่ฟื้นตัว ทำให้ของราคาสูงขึ้น ค่าเงินบาทไทยก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์อ่อนค่า ซื้ออะไรเข้ามาก็แพงกว่าเดิมขึ้นทั้งนั้น
Stagflation เป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นและฉุดลากเศรษฐกิจในหลายปีข้างหน้าต่อจากนี้่ดิ่งตามลงไปด้วย การเข้าสู่ Stagflation เป็นภาวะที่ต้องบอกว่าแก้ยาก หากมุ่งแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็จะเป็นการโจมตีอีกปัญหาหนึ่งไปโดยปริยาย ณ วันนี้ก็ยังไม่มีสถาบันเศรษฐศาสตร์ไหนสามารถให้คำตอบได้ชัดเจนว่าการแก้ไข Stagflation จะใช้นโยบายอย่างไรได้อย่างตายตัว เพราะเป็นภาวะที่ตามหลักเศรษฐศาสตร์ก็ยังถกเถียงกันอยู่
อย่างไรก็ตาม ความเห็นพ้องของเหล่านักเศรษฐศาสตร์มองว่า การแก้ไข Stagflation นั้นคือการดำเนินนโยบายให้ผลผลิตโตไปจนถึงจุดสูงสุดให้ได้โดยไม่เพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ดันกำลังซื้อในประเทศด้วยนโยบายการคลังด้านภาษี และการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องได้อย่างเสียอย่างและใช้เวลาระยะยาวในการแก้ปัญหา
ไม่เกิดเสียดีกว่า—คือคำที่บอกเล่าถึง Stagflation ได้ดีที่สุด ดังนั้นในจังหวะที่เศรษฐกิจไทยเปราะบางอย่างน่ากลัวเช่นนี้ ผู้บริหารประเทศจึงไม่ควรใจเย็นกับสถานการณ์ การกระจายวัคซีนเร็วที่สุดจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวให้เร็วที่สุด เปิดประเทศให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศเติบโตไปพร้อมกับการเติบโตของประเทศอื่นๆ อาจจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนก่อนเกิดเหตุการณ์วัวหายล้อมคอกอีก
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Waragorn Keeranan