‘กสิกรแข็งขัน เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจ เพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม’
ข้อความข้างต้นคงจะเป็นท่อนฮุค (หรือที่เรียกแบบไทยๆ ว่า ท่อนสร้อย) ที่ติดหูของใครหลายคน แต่จะมีสักกี่คนกันที่รู้ว่า ท่อนฮุคดังกล่าวมีที่มาจากเพลงที่ชื่อว่าอะไรแน่?
ถูกต้องแล้วนะครับ เพลงนี้มีชื่อว่า ‘ชีวิตกสิกร’ (ส่วนถ้าใครทายผิดก็เนียนๆ อ่านกันต่อไปเนอะ ไม่เอ้า ไม่ต้องอายเพื่อน!) อันเป็นชื่อดั้งเดิมที่แปะอยู่บนแผ่นเสียงที่บันอยู่แล้วว่าทึกไว้หน้าละหนึ่งเพลง แบบที่เรียกว่า แผ่นครั่ง (ต่างจากแผ่นไวนิล ไอเทมเก๋ๆ ของบรรดาฮิปสเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่งมีขนาดบางกว่า และบรรจุเพลงไว้หน้าละหลายเพลง)
ผมสำรวจหาข้อมูลไม่พบว่า แผ่นครั่งที่บรรจุเพลงชีวิตกสิกร ซึ่งบรรเลงโดย วงดนตรีสากล กรมประชาสัมพันธ์ วางตลาดในปี พ.ศ. ไหน จึงได้แต่เดาเอาจากรายละเอียดคือ รายชื่อคณะผู้ขับร้อง ซึ่งประกอบไปด้วย คุณชวลี ช่วงวิทย์ คุณมัณฑณา โมรากุล และคุณศรีสุดา รัชตะวรรณ และก็เป็นชื่อของนักร้องคนสุดท้ายนี่แหละนะครับ ที่เป็นเบาะแสสำคัญให้เราพอจะกำหนดได้ว่า เจ้าซิงเกิลเพลงชีวิตกสิกรนี้ไม่น่าจะเก่าไปกว่า พ.ศ. 2495 เพราะ คุณศรีสุดาเพิ่งจะเข้าร่วมวงดนตรีสากล กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ พ.ศ. ดังกล่าวนั่นเอง
น่าสนใจที่เพลงนี้ถูกรู้จักกันในหลากหลายชื่อ (ทั้งๆ ที่บนแผ่นเสียงก็มีสลากบอกชื่อเพลงเอาไว้อยู่แล้ว) ไม่ว่าจะเป็นชื่อ กสิกรไทย, รำวงกสิกร หรือรำวงกสิกรไทย
และถึงแม้จะมีคำว่า ‘รำวง’ แปะหรานำอยู่ทางด้านหน้าของชื่อเพลง (ที่ถูกใครก็ไม่รู้ตั้งให้ใหม่ทีหลัง?) แต่ในสมัยที่ซิงเกิ้ลนี้ถูกปล่อยออกมาในช่วงแรกๆ ก็อาจจะไม่ได้ถูกใช้สำหรับเพื่อการรำวงกันสักเท่าไหร่หรอกนะครับ เพราะถึงแม้ว่า เจ้าของเพลงๆ นี้จะเป็น ‘วงดนตรีสากล กรมประชาสัมพันธ์’ ที่มีหน้าที่หลักคือ การบรรเลงเพลงส่งกระจายเสียงทางวิทยุทั้งคลื่นสั้น คลื่นยาว แต่วงดนตรีเดียวกันนี้กลับเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่ง ซึ่งจะใช้ชื่อนี้เฉพาะเวลารับจ๊อบนอกราชการ ทั้งการเล่นดนตรีสด และการรับพากย์หนังในชื่อที่ว่า ‘วงสุนทราภรณ์’
เหตุที่วงสุนทราภรณ์ ไปเกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ได้นั้นก็เป็นเพราะว่า แต่เริ่มเดิมที วงสุนทราภรณ์ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำดนตรีประกอบหนังของของบริษัทภาพยนตร์ไทยฟิล์ม ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล (ไม่ต้องเสียเวลาสืบกันเลยนะครับว่า เป็นบรรพบุรุษของใคร? แหม่) ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2472 ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยที่แต่แรกเริ่มเดิมทีอีกเหมือนกัน วงสุนทราภรณ์จะใช้ชื่อว่า วงไทยฟิล์ม โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ประพันธ์ทำนองเพลง ชีวิตกสิกร (ส่วนคนประพันธ์เนื้อร้องเพลงนี้คือ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล) เป็นหัวหอก
ต้องรอจนกระทั่ง พ.ศ. 2482 เลยทีเดียว วงดนตรีไทยฟิล์มทั้งวงถึงจะโยกย้ายตัวเองไปสังกัดอยู่ใน ‘กรมโฆษณาการ’ ในชื่อวงดนตรีสากล และเมื่อใน พ.ศ. 2495 กรมโฆษณาการ เปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรมประชาสัมพันธ์’ ชื่อวงก็เลยต้องเปลี่ยนชื่อตามสังกัดของตนเองไปด้วย ยกเว้นชื่อ สุนทราภรณ์ นี่แหละ เพราะเป็นชื่อที่ใช้สำหรับงานนอกราชการ จึงไม่ต้องเปลี่ยนไปมาตามสังกัดอย่างงานหลวง
สุนทราภรณ์จึงนับได้ว่า เป็นวงที่ชิค และฮิปเอามากๆ สำหรับคนสมัยใหม่ในยุคนั้นเลยนะครับ พยานปากเอกของเรื่องนี้คือเนื้อความในข่าวของหนังสือพิมพ์เอกชน ฉบับประจำวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2490 ซึ่งได้ลงข่าวเกี่ยวกับงานแจกปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีนั้นเอาไว้ว่า
“…กลับพบแต่ฟลอร์กลางแจ้งพร้อมด้วยเก้าอี้รายรอบทั้งสี่ด้าน เพื่อเตรียมไว้ลีลาศในตอนกลางคืน…ทั้งหนุ่มทั้งสาวเต้นรำกันใหญ่ คณะสุนทราภรณ์บรรเลงไม่หยุดหย่อน นักเต้นรำหนุ่มสาวชาวจุฬาฯ เต้นกันจนเกือบสว่าง…”
และก็เป็นเพราะประสบการณ์เกือบๆ จะ ‘ยันหว่าง’ ของเด็กจุฬาฯ รุ่นคุณปู่ในครั้งนั้นเอง ที่ทำให้คณะกรรมการอบรมข้าราชการและประชาชนในขณะนั้น ห้ามไม่ให้ นักเรียน นิสิต และเอกชน ใช้สถานที่ราชการสำหรับจัดงานลีลาศอีกต่อไป (เทียบง่ายๆ กับยุคปัจจุบันก็คือห้ามไม่ให้มีการจัดงานแต๊งค์ หรือบายเนียร์ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยนั่นแหละครับ)
ในสมัยที่ประเทศไทยยังไม่มีดนตรีแบบ EDM, เพลงร็อค หรือดนตรีอื่นใดอย่างที่ใช้แดนซ์ในงานรื่นเริงกันในปัจจุบันนี้ ‘ลีลาศ’ นี่แหละครับ ตอบโจทย์สำหรับความชิคๆ คูลๆ ของหนุ่มสาวสมัยใหม่ในยุคนั้นมากที่สุด
เพราะถึงแม้ว่า ‘ลีลาศ’ จะเข้ามาในสยามประเทศไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โน่นแล้ว แต่ก็ยังเป็นที่จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่อีลิท (elite) ที่เรียนจบเมืองนอกมาเท่านั้น แถมดนตรีที่ใช้ในการเริงระบำลีลาศยังต้องเป็นดนตรีตะวันตกเป็นการเฉพาะเท่านั้นอีกต่างหาก แต่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง ในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 ลงมา ได้ก่อให้เกิด ‘ชนชั้นกลาง’ กลุ่มใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็มีทั้งที่เป็น พ่อค้านักธุรกิจ และนิสิตนักศึกษา
คนกลุ่มใหม่เหล่านี้นี่แหละครับ ที่มีแนวโน้มจะปฏิบัติตนเลียนแบบบรรดาชนชั้นสูงรุ่นเก่า ซึ่งก็ย่อมรวมถึงวัฒนธรรมการลีลาศด้วย
เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เพลงจำนวนมากของวงสุนทราภรณ์นั้นเป็น ‘เพลงไทยประยุกต์’ ซึ่งก็คือการนำทำนองเพลงไทยเดิม ไปเรียบเรียงใหม่ในแบบสากล ใช้เครื่องดนตรีสากลเล่น แล้วก็จับเอาเนื้อร้องใหม่ยัดใส่ลงไป พูดง่ายๆ ว่า เป็นการจับเอาดนตรีไทยเดิมมาปรับปรุงเสื้อผ้าหน้าผม ให้เป็นดนตรีป๊อปแบบไทยๆ นั่นเอง
ดังนั้นถึงแม้ว่า เพลงชีวิตกสิกร จะถูกตีตราเสียจนฟังดูไท้ยยยยไทยว่า ‘รำวง’ แต่ก็เป็นเพลงรำวงที่นิสิตนักศึกษา และชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคที่ซิงเกิลนั้น เพิ่งจะถูกปล่อยมาพร้อมจะออกสเต็ปชิคๆ ของยุคสมัยอย่าง ‘ลีลาศ’ ก็ได้ ไม่ต่างอะไรกับเพลงแบบ สามสิบยังแจ๋ว หรือภูมิแพ้กรุงเทพฯ ที่จะฟังให้เป็นป๊อป หรือลูกทุ่งก็ไม่ผิด แบบในปัจจุบันนี้หรอกนะครับ (แถมยังมีจังหวะเชิญชวนให้ทุกคนไปลิ้มรสกับประสบการณ์ ‘ยันหว่าง’ อีกต่างหาก)
เอาเข้าจริงแล้ว ‘ชาวนา’ ไทย จึงอาจจะไม่เคยเป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ มากเท่ากับที่ในเพลงชีวิตกสิกรอยากให้เป็น เพราะ ‘ชีวิตกสิกร’ ที่ถูกพร่ำพรรณนาอยู่ในเพลงนั้น เป็นชีวิตกสิกรที่ชนชั้นกลางใหม่ในกรุงเทพฯ ยุคนั้น ‘มโน’ ถึง หรืออยากให้พวกชาวนาเขาเป็นกันอย่างนั้น มากกว่าที่จะเป็นชีวิตจริงๆ ของชาวนา หรือกสิกรประเภทอื่นๆ
ไม่ต้องสงสัยหรอกนะครับว่า ในสังคมที่พร่ำสอนให้สมาชิกระลึกถึงบุญคุณของชาวนา จึงเงียบเป็นเป่าสากเมื่อสิ่งมีชีวิตที่พวกเขาเรียกว่า กระดูกสันหลังของชาติ มีปัญหาโคม่าถึงขั้นทำนาจนได้ผลผลิตแต่ก็ยังขาดทุนจนหมดเนื้อหมดตัว หรือเป็นหนี้เป็นสิน ถึงขนาดไม่มีเงินจะซื้ออะไรมาให้ตกถึงท้อง ในเมื่อบางตอนของเนื้อเพลงยังได้พรรณนาถึงชาวนาเอาไว้ว่า “อันชีวิตของกสิกรนั้น ต่างยึดถือความขยันมั่นหนักหนา ทนทำงานอยู่ระหว่างกลางดินฟ้า ถึงแดดกล้าฝนพรำก็ทำไป”
ชาวนาในมโนของสังคมและความเป็นไทยแบบนี้ จึงมีหน้าที่ที่จะทนทำงานในทุกสภาพภูมิอากาศ (และบรรยากาศทางเการเมืองบวกด้วยเศรษฐกิจ) และต้องทำอย่างขยันมั่นหนักหนาเสียด้วย แต่ไม่ใช่ว่าทำไปเพื่อความก้าวหน้าของชีวิต เพราะบางท่อนของเพลงก็บอกเอาไว้อีกเช่นกันว่า ชาวนาไทยนั้น “ความเป็นอยู่แสนง่ายสบายนัก ดวงจิตมักสงบไม่มักใหญ่”