ส่วนหนึ่งของประเพณีงานศพของพุทธมามกะชาวไทยโดยทั่วไป อย่างการสวดอภิธรรม โดยคณะพระสงฆ์ ประจำแต่ละวัด นี่ดูแล้วเวรี่พุทธเลยนะครับ
ก็จะไม่ให้ดูมีเสื้อผ้าหน้าผมเป็นพุทธได้ยังไงไหว ที่สวดกันอยู่เห็นๆ นี่ก็พระสงฆ์แน่ แถมคาถาที่สวดๆ กัน แบบคนทั่วไป (เช่น ผม เป็นต้น) ฟังแล้วแปลไม่ออกแน่ๆ นี่ก็ภาษาบาลี ที่ยังใช้กันอยู่เฉพาะในพระบวรพุทธศาสนา ฝั่งเถรวาท
เมื่อนับข้อดีได้สองข้อแล้ว ถ้ายังไม่ใช่พุทธแล้วจะอีกอะไรล่ะ ฮึ!
ปัญหาก็ดูจะตอบได้ง่ายๆ แค่นั้นอยู่หรอกนะครับ ถ้าไม่บังเอิ๊ญญ (ระดับต้องใส่ double ญ.หญิง) ในดินแดนต้นกำเนิดของศาสนาพุทธอย่างในอินเดีย แถมด้วยป้อมปราการอันศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท อย่างเกาะศรีลังกา ที่ความเป็นพุทธแบบไทยๆ เคลมนักเคลมหนาว่า เราสืบพระศาสนามาจากที่นั่น เขาไม่ได้มีการสวดอภิธรรม กันครั้งละหลายๆ คืน อย่างที่พี่ไทยเราทำกันจนชาชิน และไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกเสียหน่อย?
และอันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่แค่พุทธ ชาวอินเดียอีกส่วนเบ้อเริ่มเทิ่มที่เป็นพราหมณ์-ฮินดู เขาก็ไม่เก็บศพกันไว้นาน ถ้ามีใครตายเขาก็จะห่อหุ้มศพด้วยผ้า ประดับประดาให้สวยงามด้วยดอกไม้ แล้วเอาขึ้นแคร่ จากนั้นก็จะรีบประชุมเพลิงกันในพลัน
นี่ยังไม่นับ ผู้คนกลุ่มใหญ่อีกพวกในอินเดียคือ ชาวมุสลิม ที่ตามหลักในศาสนาอิสลามของพวกเขานั้น ก็จะไม่เก็บศพไว้นานอีกด้วยเหมือนกัน จะมีก็แต่ชาวไทยพุทธอย่างเราๆ นี่แหละ ที่เก็บศพใครต่อใครเอาไว้นานกว่าเขาเพื่อน
ย้ำอีกทีนะครับว่า ว่าที่สวดอภิธรรมกันในงานศพน่ะ เป็นพิธีพุทธแบบไทย ไม่ใช่พุทธแบบอินเดีย และพุทธแบบลังกา ที่เป็นพุทธทั้งดุ้นกันมาก่อนเรา (เอิ่มม แต่สำหรับใครที่มีความเชื่อแบบอินดี๊อินดี้ว่า พระพุทธเจ้าประสูติในไทย ศาสนาพุทธแรกกำเนิดขึ้นในไทย ราวกับทุกสิ่งในจักรวาลหมุนวนรอบความเป็นไทยแล้วล่ะก็ โบกมือร้อง บัยย! กันตั้งแต่บรรทัดเลยละกันนะ)
ดังนั้น ถ้าจะมีการสวดอะไรยาวๆ ติดต่อหลายคืน แต่เดิมก็ไม่น่าจะใช่เรื่องในศาสนาพุทธ แต่เป็นเรื่องของศาสนาพื้นเมือง ที่โดนจับกล้อนโกนผม ห่มสบง จีวร พาดสังฆาฏิ ให้เป็นพุทธในภายหลังนั่นแหละ
เปล๊าา (เสียงสูง) ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า การสวดอภิธรรมเป็นเรื่องของศาสนาพื้นเมือง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ศาสนาผี เพราะแค่หลักธรรม คำสอน และภาษาบาลีที่ใช้ในการสวดนี่ก็พุทธอยู่เห็นๆ แบบไม่ต้องสืบ ผมหมายถึงว่า ศาสนาพุทธได้เทคโอเวอร์เอาไอ้การสวด หรือร่ายคาถาคำกลอนอะไรตามแบบดั้งเดิมไป แล้วเอาพระอภิธรรมมาสวมทับต่างหาก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์-โบราณคดี นอกเครื่องแบบอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ผมขออนุญาตเรียกสั้นๆ ว่า ‘เฮีย’ (และถึงจะไม่ใช่นักประวัติศาสตร์-โบราณคดี ในเครื่องแบบ แต่ใครคนนึงเคยนิยามเอาไว้ว่า ถ้าไล่สุจิตต์ให้ไปอ่านตำราประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ก็ไม่ต่างจากการไล่ ลิโอเนล เมสซี่ ไปหัดเตะฟุตบอล!) ได้เสนอเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า
ก่อนหน้าที่ศาสนาพุทธจะมาเทคโอเวอร์กิจการสวดในงานศพ จนหลายวัดชื่อดังกลายสภาพเป็นออร์แกไนเซอร์รับจัดงานอวมงคลจนร่ำรวยไปตามๆ กันนี้ คนที่ทำพิธีสวดน่ะคือ ‘หมอขวัญ’ และที่สวดๆ กันน่ะมันก็คือการ ‘ทำขวัญ’ นั่นแหละ
อ่านแล้วผมก็ได้แต่พยักหน้าหงึกหงัก เห็นด้วยกับเฮียเค้า เพราะ ‘ขวัญ’ ตามความเชื่อของคนไทยนั้น แตกต่างจากอะไรที่เรียกว่า ‘วิญญาณ’ ที่เราอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดียอยู่มากเลยนะครับ
เพราะเมื่อคนตายวิญญาณก็ดับหายไป หรือจะวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละศาสนา แต่ขวัญจะไม่หายไปพร้อมเจ้าของที่ตาย ตรงกันข้ามขวัญของผู้ตายยังมีอยู่ แล้วพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของตน ไม่ว่าเหย้าเรือนเดิมจะอยู่ที่ส่วนไหนของโลก
และถึงแม้ว่า ขวัญ จะมีจำนวนนับเป็นหน่วยเดียว แต่ก็ฝังกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นตัวตน และมีความสำคัญเท่าๆ กันหมด รวมถึงสำคัญเท่ากับร่างกายด้วย เพราะร่างกายต้องมีขวัญ ถ้าไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต ดังนั้นร่างกายที่มีชีวิตต้องมีขวัญ เช่น ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญแขน ขวัญขา และอีกสารพัดขวัญให้เพียบไปหมด
‘ขวัญ’ จึงแตกต่างจาก ‘วิญญาณ’ เป็นอย่างมาก เพราะวิญญาณมีอยู่เพียงคนละดวงเท่านั้น ผิดจากขวัญ ที่เราแต่ละคนมีกันอยู่เพียบดวงเลยทีเดียว
คนสมัยก่อนก็เชื่อว่าถ้ามีขวัญอยู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีแฮปปี้ แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไป อะไรบางอย่างในเจ้าของขวัญก็จะเฟล ไม่เป็นปกติ เจ็บไข้ได้ป่วย แถมหนักข้อเข้าก็ถึงตายได้ ดังนั้นจึงมีความเชื่อที่ว่า เมื่อเจ้าของขวัญเจ็บป่วยแสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว มีความจำเป็นต้องจัดพิธีเรียกขวัญ หรือพิธีสู่ขวัญให้กลับเข้ามาอยู่ที่เดิม อย่างที่มีคำร้องโบราณว่า “ชวัญเอ๊ย ขวัญมา” นั่นแหละ
สำหรับความเชื่อเรื่อง ขวัญ ในศาสนาผี ไอ้ที่นอนแน่นิ่ง ไม่พูดไม่จา ถามอะไรก็ไม่ตอบ แถมยังกระดุกกระดิกตัวไม่ได้ นี่ไม่ใช่วิญญาณออกจากร่างนะครับ แค่ขวัญมันบินหนีหายไปไหนก็ไม่รู้ เค้าจึงต้องไปตามหมอขวัญ มาทำขวัญเรียกขวัญกลับมานี่ไง
ทำขวัญคืนแรกไม่กลับมาก็เอาใหม่ คืนต่อไปก็เรียกขวัญกลับมาอีก เรียกกันจนเหนื่อยไปข้าง ถ้ายังไม่กลับมา ก็เออ นั่นแหละ เรื่องของมึงแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะทำขวัญให้คนตายกันหลายคืนหน่อย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตรงไหน เพราะคนโบราณเขาเชื่อว่ายังเรียกขวัญกลับมาได้ ไม่เหมือนกับวิญญาณในศาสนาพุทธ ที่ไปแล้วไปลับ
ศาสนาพุทธแบบไทยๆ จึงเป็นอะไรที่มีความเป็นพื้นเมือง หรือศาสนาผี ผสมอยู่เต็มไปหมด และนี่ยังไม่นับอะไรที่มาจากศาสนาอื่นที่เราเข้าใจว่าเป็นพุทธกันเพราะฉากหน้าอีกมากด้วย
นักประวัติศาสตร์รุ่นเก๋าอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ (เอิ่ม คนนี้เป็นนักประวัติศาสตร์ในเครื่องแบบตัวจริงนะครับ) จึงเคยเสนอเอาไว้ว่า ไอ้เจ้าศาสนาพุทธของไทย ที่เรามักจะเรียกกันว่าพุทธศาสนาเถรวาทนั่นน่ะ ควรจะเรียกเสียใหม่ว่า ‘ศาสนาไทย’ เพราะปนๆ กันอยู่ทั้งความเชื่อแบบ ผี-พราหมณ์-พุทธ เลยทีเดียว