แม้แต่นกแก้ว นกขุนทอง ในบ้านนี้เมืองนี้ก็คงจะท่องได้เหมือนกันไปหมดว่า ‘คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตๆ’ (กรุณาอ่านออกเสียงแบบนกๆ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการละเลียดข้อเขียนชิ้นนี้) แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทำไมแบบเรียนไทย (แบบเรียนสมัยเก่าเก็บ ที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะเก็บไปให้หมดเสียที!) ถึงบอกกับเราอย่างนั้นล่ะ?
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญนาคพันธุ์) คือใครคนไทยคนแรกที่ว่าอย่างนั้น (อย่างน้อยท่านขุนฯ ก็อ้างว่ามีหมอสอนศาสนาชาวตะวันตกคนหนึ่ง ที่จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า อ้างอย่างนี้มาก่อนท่าน) โดยท่านเขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า ‘หลักไทย’
หลักไทย เป็นหนังสือแต่งเข้าประกวดชิงรางวัลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือในหลวง รัชกาลที่ 7 ในงานของราชบัณฑิตยสภา เมื่อปี พ.ศ. 2471 แถมหนังสือเล่มนี้ยังได้รับรางวัลที่ 2 อีกเสียด้วย
แต่ถึงจะไม่ได้รางวัลที่ 1 ก็ถือได้ว่าเป็นเล่มที่ได้รับรางวัลสูงสุดในการประกวดครั้งนั้นไปแลวนะครับ เพราะไม่มีใครได้รับรางวัลที่ 1 เลย (ส่วนทำไมเขาไม่ให้ หลักไทย ได้รางวัลที่ 1 ทั้งที่ไม่มีหนังสือเล่มไหนทำคะแนนได้สูงกว่านี้ นี่ผมเองก็อยากรู้เหมือนกับหลายคน ที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้นั่นแหละ!) เทียบกับยุคนี้ก็ประมาณว่าได้รางวัลซีไรต์ ดังนั้นจึงเป็นหนังสือที่ดังเป็นพิเศษ ในหมู่คนที่ไม่ได้อ่านหนังเพียงปีละ 7-8 บรรทัดในยุคนั้น
แต่เอาเข้าจริงแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าเมื่อแรกเริ่มเดิมทีท่านขุนฯ (เอ่อ… ผมหมายถึงขุนวิจิตรมาตรานะครับ ไม่ใช่ขุนพันธ์อนันดา) พูดเสียงดังฟังชัดว่า คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตจริงหรือเปล่า? เพราะว่าในหนังสือหลักไทยทั้งเล่ม มีคำว่า ‘เทือกเขาอัลไต’ ปรากฏอยู่แค่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ในประโยคที่ว่า
“ในชั้นแรกทีเดียว ไทยจะมีชาติภูมิอยู่ตรงไหนนั้นไม่มีทางทราบได้ แต่อาจจะกล่าวได้กว้างๆ ว่า มีแหล่งเดิมอยู่ในบริเวณภูเขาอัลไต อันเป็นบ่อเกิดของพวกมงโกลด้วยกันเท่านั้น”
ใช่ครับใช่ ขุนวิจิตรมาตราท่านก็บอกอยู่ทนโท่ว่า ใครมันจะไปรู้ได้ว่าแต่เดิมคนไทยมาจากไหน? (ก็เรื่องมันผ่านมาไม่รู้ตั้งกี่พันปีแล้วนี่นะ) ที่ท่านบอกก็คือ ไทยเป็นพวกเดียวกับมองโกล และมองโกลเดิมอาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาอัลไต ถ้าอย่างนั้นไทยก็คงมาจากเทือกเขาอัลไตเหมือนกันนั่นแหละมั้ง?
และถึงแม้ว่าในหนังสือหลักไทยเล่มนี้จะไม่ได้มีตรงไหนอ้างอิงว่า ท่านไปเอาข้อสันนิษฐานนี้มาจากไหน? แต่ในบทสัมภาษณ์ท่านขุนคนนี้ที่ลงตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่ง (บอกก็ได้ว่าคือ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 ไม่ถึง 4 เดือนก่อนที่ท่านจะลาโลกไปอย่างที่ไม่มีวันกลับ ท่านได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า ท่านไม่ได้มโนเอาเอง แต่ว่าตามหมอดอดด์ (หรือ William Clifton Dodd) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ผู้เข้ามาอยู่ที่ลำพูน และเชียงราย (แถมยังเที่ยวไปมาในลาว และพม่าเป็นประจำ) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่างหาก
มิสเตอร์ดอดด์ หมอสอนศาสนาคนนี้ คลั่ง (ไคล้) ‘ความเป็นไทย’ มากพอที่ทำให้ท่านเดินทางขึ้นไปสำรวจความเก่าแก่ของคนไทยในประเทศจีน จนเขียนเป็นหนังสืออกมาเล่มหนึ่ง (ถึงท่านจะไม่ได้ไปไหนไกลกว่ามณฑลยูนนาน กวางตุ้ง และกวางสีก็เหอะ) มีชื่อว่า ‘The Tai Race : Elder Brother of the Chinese’ แปลเป็นไทยก็ประมาณว่า ‘เชื้อชาติไทย : อาเฮียของไอ้ตี๋น้อย’
คือหนังสือของหมอดอดด์เล่มนี้เสนอว่า เชื้อชาติไทยนั้นยิ่งใหญ่ และเก่าแก่กว่าจีนเสียอีกนะครับ เรียกได้ว่าถ้าอ่านเล่มนี้แล้ว ชนชาติที่สร้างกำแพงใหญ่ที่สุดในโลก พระราชวังต้องห้าม สุสานจิ๋นซี เคยมีกองเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกก่อนยุคสมัยใหม่ ประดิษฐ์เข็มทิศกระดาษ และการพิมพ์ขึ้นเป็นชาติแรก (และอาจรวมไปถึงเป็นคนสร้างรถไฟฟ้าความเร็วปานกลางให้กับไทยเราแบบฟันกำไรจนหัวแบะ) กลายเป็นแค่ไอ้โซ้ยตี๋ สำหรับพี่ไทยเลยเท่านั้น (ส่วนจะน่าเชื่อถือหรือเปล่าก็ลองใช้วิจารณญาณกันดูแล้วกันนะครับ)
แต่เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเราในที่นี้ หมอดอดด์ท่านเขียนเอาไว้ว่า คนไทยเป็นเชื้อสายหนึ่งของชาวมองโกล และพวกมองโกลเนี่ยเขามีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่แถบเทือกเขาอัลไต ไม่ได้มีตรงไหนที่หมอดอดด์ท่านบอกว่า คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตเลยเสียหน่อย? (อ้าว! แล้วท่านขุนฯ แกไปเอามาจากไหนล่ะ!)
ผมสันนิษฐาน (ภาษาวิชาการของคำว่า ‘เดา’) ว่า ขุนวิจิตรมาตราท่านคงอ่านแล้วสรุปความต่อไปเองว่า เมื่อมองโกลมีถิ่นเดิมอยู่ที่เทือกเขาอัลไต คนไทยก็เลยอาจจะเคยอยู่ที่นั่นด้วย แต่ก็อย่างที่บอกนะครับว่านี่เป็นท่านขุนฯ พูด ไม่ใช่เป็นหมอดอดด์ที่สันนิษฐาน (แน่นอนครับ หมอดอดด์ท่านก็เดาเอาไม่ต่างไปจากผมนี่แหละ เพราะท่านเองก็ไม่เคยเหยียบถึงเทือกเขาที่ว่านี้เสียหน่อย) เอาไว้
และเอาเข้าจริงแล้ว หนังสือหลักไทยก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายใดๆ ในการที่จะค้นคว้าว่าคนไทยมาจากไหนเลยนะครับ อย่างที่เห็นกันอยู่ว่า ในหนังสือทั้งเล่ม มีชื่อเทือกเขาอัลไต โผล่มาอยู่แค่ครั้งเดียว จะเรียกว่าพูดถึงอย่างหรอมแหรมยังไม่ได้ด้วยซ้ำไป
เป็นบรรดาคนอ่านเองต่างหาก ที่ไปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จนดูราวกับว่า หลักไทยทั้งเล่มพูดถึงการค้นคว้าว่า คนไทยมาจากไหน?
ขุนวิจิตรมาตราดูจะไม่ได้ต้องการตรวจสอบเลยด้วยซ้ำว่าเทือกเขาอัลไตนี่คืออะไร หลักฐานก็คือการที่ในหนังสือเล่มนี้เรียก ‘เทือกเขาอัลไต’ ว่า ‘ภูเขาอัลไต’ นี่แหละ (กรุณาย้อนกลับไปอ่านบนย่อหน้าที่เน้นตัวอักษร ซึ่งคัดผมจากหนังสือหลักไทยมาดุ้น)
คือเทือกเขาอัลไตนี่ไม่ได้อยู่ในไฟลัมเดียวกันกับเทือกเขาบรรทัด ตะนาวศรี พนมดงเร็ก สันกาลาคีรี หรือถนนธงชัยบ้านเราเลยนะครับ ความใหญ่ยาวของเทือกเขาที่ว่านี้ ต้องเปรียบเทียบกับเทือกเขาไซส์พี่บิ๊กทั้งหลายของโลกจึงจะเหมาะ
แน่นอนว่าคงไม่มีใครเรียกเทือกเขาขนาดมหึมาทั้งหลายว่า ‘ภูเขา’ หรอกนะครับ
ดังนั้นพื้นที่ของเทือกเขาอัลไตจึงครอบคลุมพื้นที่ของดินแดนขนาดใหญ่ยักษ์หลายผืนแผ่นดินเลยทีเดียว ไล่ตั้งแต่มณฑลซินเจียง ประเทศจีน, ประเทศมองโกเลีย, ไซบีเรีย ในประเทศรัสเซีย และประเทศคาซัคสถาน สิริรวมความยาวได้ทั้งสิ้นประมาณ 2,000 กิโลเมตร (ย้ำอีกทีด้วยว่า 2,000 กิโลเมตรที่ว่าเป็นระยะความยาวของเทือกเขา ไม่ใช่ขนาดของพื้นที่)
และเมื่อจะใหญ่ยาวเสียขนาดนั้นก็ย่อมจะเคยมีคน และที่เป็นญาติสนิทกับคนอาศัยอยู่ ญาติสนิทที่ว่านี่คือ มนุษย์จำพวกหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษของพวกเรา (เพียงแต่พวกเขาสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 40,000-30,000 ปีก่อน) ที่เรียกว่ามนุษย์เดนิโซวาน (Denisovan / Denisova hominin) ซึ่งมียีนพิเศษบางตัวตกทอดอยู่เฉพาะในชนชาวธิเบต
ส่วนหลักฐานของมนุษย์ที่ร่วมบรรพบุรุษกับเรา ก็มีแหล่งโบราณคดีที่มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนผนังถ้ำหรือเพิงผา การนำหินก้อนใหญ่เล็กมาจัดแต่งเป็นรูปทรงแปลกๆ รวมไปถึงชุมชนโบราณ หลักฐานทางโบราณคดีพวกนี้เกี่ยวพันกับชาวซิเถียน, มองโกล และอีกสารพัดชนเผ่าที่ใช้ชีวิตอยู่กลางทุ่งหญ้าแถบนั้นในยุคสมัยต่อมา แต่ไม่ยักจะเกี่ยวกับไทย