1
ผมเข้าใจว่า ตอนนี้รายการกึ่งๆ เรียลลิตี้โชว์ประเภทแข่งกันทำกับข้าว แข่งกันร้องเพลง – กำลังฮิต
คำว่า ‘รายการกึ่งๆ เรียลลิตี้โชว์’ ที่ว่านี้ ผมหมายถึงรายการประเภทที่คนไทยไปซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศนะครับ แล้วก็เอามาจัดเพื่อให้สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คนไทย’ (ซึ่งบางทีก็ไม่ค่อยไทยเท่าไหร่ อิมพอร์ตเข้ามาบ้าง ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ในการประกวดของแต่ละเจ้า) ได้มาแข่งขันกัน
ผมชอบดูอยู่หลายรายการเลย เพราะสนุกสนานดี แต่ละรายการพยายามสร้าง ‘จุดขาย’ ให้กับรายการของตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการเลือกคอมเมนเตเตอร์ที่มีส่วนผสมต่างๆ กันไป บางรายการก็เลือกคอมเมนเตเตอร์ที่มีความโหดคล้ายๆ กอร์ดอน แรมซีย์ มาผสมกับคอมเมนเตเตอร์ตลกๆ แบบไทยๆ ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้รับความนิยมหรือไม่ก็ว่ากันไปตามท้องเรื่อง
อย่างไรก็ตาม เวลาดูรายการเรียลลิตี้จำพวกนี้ ผมพบว่าในระยะหลังนี้ มี ‘คอมเมนต์’ จากกรรมการหรือคอมเมนเตเตอร์แบบหนึ่งให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ เป็นคอมเมนต์ที่ได้ยินทีไร จะทำให้ผมรู้สึกแปลกๆ เสมอ
คอมเมนต์ที่ว่ามักจะประกอบไปด้วยคำพูดทำนอง – “น่าภูมิใจเหลือเกินที่คนไทยเราทำได้ดีขนาดนี้ ดีทัดเทียมกับต่างชาติ”, หรือ “เห็นไหมคุณผู้ชม คนไทยเราน่ะ ถ้าตั้งใจเสียอย่างแล้ว ก็ทำอะไรต่อมิอะไรออกมาได้ดีไม่แพ้ชาติไหนในโลกหรอก” อะไรทำนองนี้
ในรายการประกวดทำอาหารรายการหนึ่ง ตอนที่ให้ผู้เข้าแข่งขันทำอาหารไทย กรรมการจะพูดทำนองว่า “เป็นคนไทยก็ต้องทำอาหารไทยเป็น ต้องรู้สิว่า วัตถุดิบแบบไทยๆ มันคืออะไร จะเอามาประกอบอาหารอย่างไร” แต่พอผู้เข้าแข่งขันทำอาหารไทยออกมาแล้วจัดจานแบบตะวันตก แลดูหรูหราเป็น Fine Dining ได้สวยงาม เราก็จะได้ยินประโยคอีกแบบหนึ่ง ทำนองว่า “จัดจานอาหารออกมาแบบนี้ สวยงามมาก สามารถนำไปขายในภัตตาคารที่ต่างประเทศได้เลย”
รายการประกวดร้องเพลงก็คล้ายคลึงกัน คือถ้าผู้เข้าประกวดนำเพลงไทยเดิมมาร้อง (แต่อาจเป็นเพลง ‘ไทยเดิม’ ที่มีชื่อขึ้นต้นว่า ‘ลาว’ ก็ได้นะครับ) กรรมการ (หรือรวมถึงคนดูด้วย) หลายคนจะเกิดอาการน้ำหูน้ำตาไหล ปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่นักร้อง ‘ไม่ลืมความเป็นไทย’ และนำความเป็นไทยขึ้นมาอยู่บนเวทีประกวดอันเป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศ
แต่แน่นอน ผู้เข้าประกวดนั้นๆ ย่อมไม่ได้ขึ้นมาขับทำนองเสนาะหรือร้องเพลงขับไม้บัณเฑาะก์เพลงเถาสามชั้นเอื้อนจนลูกคอปลิ้นตามแบบไทยแท้แต่โบราณหรอกนะครับ ทว่านำเพลงไทยเดิมเหล่านั้นมาใส่กลิ่นอายอาร์แอนด์บีบ้าง แจ๊ซบ้าง เข้าไป ทำให้เพลงเหล่านี้มีความเป็น ‘สากล’ บางอย่าง
จากนั้นกรรมการก็จะคอมเมนต์คล้ายๆ รายการทำอาหารข้างต้น คือประมาณว่า “ดีใจจังเลย ที่ได้เห็นความสามารถในการร้องเพลงของคนไทย คนไทยเก่งมาก ถ้าตั้งใจฝึกฝนจริงๆ ก็มีฝีมือไม่แพ้ชาติไหนในโลก น่าภาคภูมิใจเหลือเกิน”
เวลาคนอเมริกันร้องเพลงหรือทำอาหารได้ดีบนเวทีประกวดอะไรสักอย่าง ผมคิดว่าตัวเองไม่เคยเห็นกรรมการน้ำหูน้ำตาไหลบอกว่าภูมิใจในความเป็นอเมริกันเลยนะครับ ดังนั้น ผมจึงว่าคอมเมนต์แบบนี้น่าสนใจไม่น้อย เพราะเหมือนกับกรรมการเหล่านั้นกำลังสำแดงความเป็นไทยบางอย่างให้เราเห็น ด้วยการบอกว่าความเป็นไทยนั้นก็ดีอยู่ ใครเอาศิลปะความเป็นไทยออกมานำเสนอได้นับว่าเป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่ามาก ถ้าหากความเป็นไทย ‘ถูก approve’ จาก ‘มาตรฐาน’ ของต่างชาติ (โดยเฉพาะโลกตะวันตก) เสียก่อน
ดังนั้น คำพูดที่คล้ายเป็นคำชมที่เกิดจากความภาคภูมิใจ จึงคล้ายมีนัย ‘เหยียด’ ความเป็นไทยไปด้วยในตัวพร้อมๆ กัน
วิธีคิดที่ซ่อนอยู่ในคำพูดแบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำของ ‘ฝรั่ง’ อยู่สองคำ
คำแรกคือ Thai Provincialism กับอีกคำหนึ่งคือ Crypto-Colonialism หรือ ‘อาณานิคมอำพราง’
คำว่า Provincialism นั้นออกจะทำความเข้าใจยากอยู่สักหน่อย เพราะถ้าแปลตรงตัว หลายคนอาจรู้สึกว่าน่าจะแปลได้คล้ายๆ กับ Patriotism หรือลัทธิคลั่งชาติ แต่ Provincialism ไม่เหมือน Patriotism ตรงที่ลัทธิคลั่งชาตินั้นจะภาคภูมิใจในความเป็นชาติของตัวเองอย่างเอกอุ คิดว่าชาติของตัวเอง ‘เหนือ’ กว่าคนอื่น ทำให้เกิดสงครามหรือความขัดแย้งระหว่างคนชาติต่างๆ ขึ้นมาได้
แต่ Provincialism นั้น แม้จะ ‘คลั่ง’ เหมือนกัน (คือคลั่งท้องถิ่น) แต่ในเวลาเดียวกันกลับมีความตระหนักรู้อยู่ลึกๆ (แต่อาจไม่ยอมรับกับตัวเอง) ว่า ‘ท้องถิ่น’ ที่ตัวเองกำลังแสดงความชื่นชมนั้น แท้จริงแล้วมันไม่ได้ ‘ดี’ ตามมาตรฐานใหม่บางอย่างที่ตัวเองไปสมาทานอ้าแขนรับเอาไว้
เคยมีคนแปล Provincialism เอาไว้แบบเจ็บแสบว่าคือลัทธิ ‘คลั่งบ้านนอก’ หรือ ‘บ้านนอกนิยม’ ซึ่งเราก็คงรู้กันอยู่ว่า – คำว่า ‘บ้านนอก’ นั้นเป็นคำที่มีนัยในแง่ลบ ใช้เพื่อเหยียดหยามบ่งบอกว่าบ้านนอกไม่เจริญ ไม่ศิวิไลซ์ สู้ในเมืองไม่ได้ แต่ด้วยจำเป็นต้องภูมิใจในความเป็นบ้านนอก ในที่สุดจึงพยายาม ‘ยก’ บ้านนอกเชิดชูขึ้น พยายามบอกว่าความเป็นบ้านนอกนั้นดีงามเลอเลิศ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนในเมืองที่ทุกอย่างดูเหมือนๆ กันไปหมด
Provincialism ที่แรงกล้า ยังมักคิดว่า Province หรืออาณาเขตเล็กๆ ของตัวเอง (ที่บางคนก็กระแหนะกระแหนว่าเป็น ‘กะลา’) คือสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาลอีกด้วย
Provincialism เคยได้ผลมากๆ ในการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้สังคมไทยนะครับ มีหลายยุคสมัยทีเดียวที่เราคิดเหมือนเพลงปลุกใจสมัยก่อนที่บอกประมาณว่าชาติไทยใหญ่อุดม หรือเมืองไทยเรานี้ดีหนักหนา เมืองไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด เมืองไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เมืองไทยโชคดีไม่มีภัยพิบัติใหญ่ๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นการ ‘กล่อมเกลา’ คล้ายฉีดยากล่อมประสาทให้รู้สึกว่าการอยู่ ‘ที่นี่’ (ใน Province แห่งนี้) เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลกแล้ว ถ้าใครคิดต่าง ก็ถือว่าเป็นพวก ‘ชังชาติ’ ไปตามธรรมเนียม
อย่างไรก็ตาม (ครั้งที่ 1) Provincialism แบบไทยๆ (หรือ Thai Provincialism) นั้น ก็ ‘ไม่แน่ใจในตัวเอง’ สักเท่าไหร่ ถึงปากจะบอกว่าตัวเองดีเลิศเลอ แต่ใจก็ยังไปแอบอิงอยู่กับ ‘มหาอำนาจ’ อื่นๆ (ในที่นี้คือมหาอำนาจทางวัฒนธรรม) ในแบบที่เรียกได้ว่าเป็น ‘อาณานิคมอำพราง’ หรือ Crypto-Colonialism
อาณานิคมอำพราง คือการนิยามว่าประเทศตัวเองไม่เคยอยู่ใต้อาณานิคมของใคร แต่ที่จริงแล้วได้รับอิทธิพลจากมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมต่างๆ ในหลายรูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันเราก็คงรับรู้กันเป็นการทั่วไปแล้วนะครับว่าเรายอมอ้าขาผวาปีกโอบรับการล่าอาณานิคมทั้งทางวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจจากมหาอำนาจมาก บ่อยหน และแปรพักตร์ได้รวดเร็วขนาดไหน ไม่ว่าจะจากยุโรป (ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์) ญี่ปุ่น (ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง) อเมริกา (ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) หรือจีน (ในปัจจุบัน)
และ – อย่างไรก็ตาม (ครั้งที่ 2) โลกปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารล้นท้นเท้อ คนไทยมีโอกาสเดินทางออกนอกประเทศไปโน่นมานี่ทั่วโลก หรือแค่นั่งคลิกเมาส์อยู่กับบ้านก็เห็นแล้วว่าเมืองอื่นๆ ในโลกต่างก็ ‘มีดี’ ในแบบของตัวเองอย่างไร นครวัดนครธมยิ่งใหญ่แค่ไหน ปารีส อียิปต์ อาบูดาบี ฮานอย ฯลฯ เป็นอย่างไร ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ทำให้ Provincialism แบบไทยๆ เริ่มคลอนแคลนความมั่นใจในตัวเองลง
เมื่อประกอบกันเข้าสองเรื่อง คือการตระหนักรู้เรื่องอาณานิคมอำพรางและข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัลที่แพร่หลาย จึงทำให้หลายคนเริ่ม ‘หลุด’ ออกมาจาก Provincialism แต่ก็ยังไม่สามารถสลัดหลุดออกมาเต็มตัว
อาการ “ภูมิใจที่คนไทยเก่งทัดเทียมกับชาติอื่น” หรือ “เอาอาหารไปขายในภัตตาคารหรูๆ ของฝรั่งได้เลย” จึงคือ ‘อาการ’ ที่ส่อให้เราเห็นว่า Provincialism แบบไทยๆ ที่เคยทรงพลัง ทรงอำนาจ เริ่มขัดแย้งทำลายตัวเองลง และดังนั้นแม้จะพยายามเชิดชูตัวเอง ก็ต้องเรียกหาการ ‘ถูก Approve’ จากมาตรฐานสากล (ที่ไม่รู้เหมือนกันว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า) ไปด้วยพร้อมๆ กัน
2
สิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ Provincialism ก็คือ Cosmopolitanism
ลำพังคำว่า Cosmopolitan ก็แปลเป็นไทยยากอยู่แล้ว Cosmopolitanism จึงยิ่งแปลยากเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง โดยทั่วไป Cosmopolitanism คืออุดมการณ์แบบที่เห็นว่ามวลมนุษยชาติทั้งปวงนั้นเป็นเสมือนคนในชุมชนเดียวกัน คำนี้มาจากรากกรีกโบราณว่า Kosmos ซึ่งหมายถึงโลกหรือจักรวาลก็ได้ ดังนั้นคนที่มีความ ‘คอสโมฯ’ อยู่ในตัว จึงจะไม่กักขังตัวเองอยู่ใน ‘ท้องถิ่น’ (หรือ Province หรือ ‘บ้านนอก’) ขนาดเล็กจิ๋ว แล้วคิดว่านั่นคือจักรวาล แต่จะมองเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้คนทั่วโลก และรู้สึกว่ามนุษย์เราล้วนแล้วแต่เป็น Citizen of the World หรือเป็น ‘พลเมืองโลก’ ด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่มี Province ไหนเหนือกว่า Province ไหน
อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) เคยเสนอ Cosmopolitan Law หรือ Cosmopolitan Right เอาไว้เพื่อเป็นหลักการในการปกป้องผู้คนจากความโหดร้ายในเรื่องต่างๆ เช่น สงคราม แนวคิดนี้กลายเป็นฐานของศีลธรรมสมัยใหม่ และเป็นรากอย่างหนึ่งของสิทธิมนุษยชน
การเป็น ‘พลเมืองโลก’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ‘ชาวคอสโมฯ’ ต้องปลดปล่อยตัวเองให้ ‘หลุด’ ออกมาจากแอกของ Provincialism ต่างๆ ที่ไม่ได้มีอยู่เพียงเรื่องเดียว แต่มีหลากมิติล้อมรัดเราเอาไว้ ทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม วิธีคิด การให้คุณค่า ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้หลอมรวมให้เราเกิดอาการ ‘คุ้นชิน’ อยู่กับกรอบคิดเดิมๆ และเผลอๆ ก็มองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าเรากำลังสวมแว่นแบบไหนมองโลกอยู่
โลกที่เป็น Cosmopolitan World คือโลกที่ข้ามพ้น ‘รัฐชาติ’ (Nation States) ในแบบที่เป็นอยู่ด้วย นั่นคือไม่จำเป็นต้องมีประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องมีประเทศสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป แต่ไม่ได้แปลว่าทุกหนแห่งในโลกจะต้อง ‘เหมือนกันไปหมด’ นะครับ แต่ละที่ยังมีอัตลักษณ์ของตัวเองอยู่ อัตลักษณ์เหล่านั้นสำคัญ แต่ไม่สำคัญเท่าอัตลักษณ์ร่วมของความเป็นพลเมืองโลก ซึ่งจะมี ‘ชุดศีลธรรมโลก’ ที่ใช้ร่วมกันเป็นสากล
ตัวอย่างของ ‘ชุดศีลธรรมโลก’ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันก็คือเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราก็คงเห็นชัดๆ อยู่นะครับ ว่า Provincialism แบบไทยๆ ได้เหนี่ยวรั้งไม่ให้สังคมไทยมองเห็น เข้าใจ และสมาทานตัวเองเข้ากับสิทธิมนุษยชนอย่างไร
วิธีคิดแบบนี้ ในที่สุดก็นำไปสู่สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นได้แค่ Crypto-Democracy คือเป็น ‘ประชาธิปไตยอำพราง’ นั่นเอง
3
ถึงแม้โลกสมัยใหม่ที่เดินหน้าไปหา Cosmopolitanism จะทำให้ Thai Provincialism เริ่มสั่นคลอนไปบ้าง แต่พร้อมกันนั้น กระแสของ Thai Provincialism แบบดั้งเดิมก็ยังพยายามดิ้นรนต่อสู้อยู่
เร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้เมตตาแสดงอาการ Provincialism เช่นที่ว่าให้เราเห็น ด้วยการออกแถลงการณ์มาฉบับหนึ่ง
แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องการลงโทษทางวินัยต่อนักศึกษาของตัวเอง แถลงการณ์ฉบับนั้นแสดงให้เราเห็น ‘การต่อสู้’ ทางอุดมการณ์หลายชุด เช่นความเป็นอนุรักษ์นิยม ความเป็นเสรีนิยม หรือวิธีปฏิบัติต่างๆ ในเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่อุดมการณ์หนึ่งที่ผมอยากชวนมอง ก็คืออุดมการณ์แบบ Provincialism เหมือนที่เราว่ากันมาทั้งหมดนี่แหละครับ
ในตอนท้ายของแถลงการณ์ มหาวิทยาลัยพยายามอรรถาธิบายว่า มหาวิทยาลัยมีประวัติความเป็นอันยาวนานแค่ไหน มีความเชื่อ ประเพณี และรากฐานทางวัฒนธรรม รวมไปถึง ‘พันธกิจ’ ที่จะต้อง ‘สร้าง’ นักศึกษา ให้ ‘เคารพ’ ในประเพณีปฏิบัติของมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง
ฟังดูก็เป็นเรื่องปกตินะครับ จะคิดจะทำ จะมีปรัชญาในการสร้างอัตลักษณ์ส่วนตัวอย่างไรก็ทำได้ทั้งนั้นนั่นแหละ แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจเอามากๆ ก็คือการที่แถลงการณ์นี้บอกด้วยว่า – ทั้งพันธกิจ ประวัติศาสตร์ ประเพณี ฯลฯ ทั้งหลายแหล่เหล่านี้ น่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับ ‘ผู้ที่ยึดถือในแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก’
วลี ‘เสรีนิยมแบบตะวันตก’ นั้นน่าสนใจมากๆ นะครับ เพราะวลีสั้นๆ นี้ แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มองว่าอัตลักษณ์ที่ตัวเองสร้างเป็นแค่อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเท่านั้น คือไม่ได้เป็นอัตลักษณ์ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวสมบูรณ์ในตัวเอง แต่แถลงการณ์ทำให้เราเห็นว่า การสร้างอัตลักษณ์ที่ว่า มีจุดอ้างอิง (Reference Point) อยู่ที่โลกตะวันตก (ซึ่งก็สอดรับกับความพยายามทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มี ‘อันดับ’ ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกสูงๆ) ดังนั้น จึงน่าสนใจมากๆ ที่เมื่อออกแถลงการณ์มา ‘เป้า’ จริงๆ จึงพุ่งไปที่ ‘เสรีนิยมแบบตะวันตก’ ที่คนอื่นๆ ในสังคมกำลังสมาทานอยู่ โดยมีนัย (Implication) บ่งชี้ว่า คนที่สมาทานเสรีนิยมแบบตะวันตกนั้น กำลังละทิ้งความเป็นไทยที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นเป็น ‘ตัวแทน’ (Represent) อยู่
วลีสั้นๆ นี้ จึงกำลังส่อนัยให้เราเห็นถึงการเปรียบเทียบและต่อสู้ต่อรองระหว่าง ‘เสรีนิยมแบบตะวันตก’ กับ ‘อนุรักษ์นิยมแบบมหาวิทยาลัยแห่งนี้’ ซึ่งถ้าเป็นการต่อสู้ระหว่างจีนกับอเมริกา หรืออุดมการณ์คอมมิวนิสม์กับเสรีประชาธิปไตย – ก็จะบอกได้ว่าสมน้ำสมเนื้อดี, แต่พอเป็นการต่อสู้ระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (ซึ่งอยู่ที่อันดับเท่าไหร่ของโลกผมก็ไม่รู้) กับอุดมการณ์ที่ใหญ่มากอย่าง ‘เสรีนิยมแบบตะวันตก’ ก็เลยทำให้ผมนึกถึงคำว่า Provincialism ขึ้นมา
ถ้ามองว่า เสรีนิยมแบบตะวันตกมีฐานอยู่บน Cosmopoliatnism ส่วนอนุรักษ์นิยมแบบมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีฐานอยู่บน Provincialism เรื่องทั้งหมดก็จะลงเอยพอดีกับอาการ Provincialism ของบรรดาคอมเมนเตเตอร์รักความเป็นไทยทั้งหลายที่เราเห็นในเรียลลิตี้โชว์
ต้องขอบคุณพวกเขา ที่ทำให้เราเห็นว่า – อาการสลัด Provincialism ไม่หลุด – มันเป็นอย่างไร