“ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
- เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
- เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
- เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี”
ข้อความดังกล่าวข้างต้น คือเนื้อหาของมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นมาตราที่ใช้ฟ้องร้องธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่อยู่ ณ ขณะนี้ (รวมกับอีก 2 มาตราคือ มาตรา 189 ให้ความช่วยเหลือพาผู้ต้องหาหลบหนี กับ มาตรา 215 มั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คน) และพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ออกมาสรุปบอกว่าให้ไปขึ้นศาลทหารอีกต่างหาก[1] ว่าง่ายๆ ก็คือ ประเด็นข้อหาที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะเป็นข้อหาในทางความมั่นคงโดยตัวมันเองแล้ว ยังถูกทำให้เป็นเรื่องความมั่นคงอย่างหนักขึ้นเกินจำเป็นอีกด้วยการให้ศาลทหารตัดสิน… ความมั่นคงผิดฝาผิดตัวที่ซ้อนในความมั่นคงที่ผิดฝาผิดตัวอีกทีหนึ่ง
ความในมาตรานี้ ในภาษาอังกฤษเราเรียกกันว่า Sedition ครับ หรือแปลไทยได้ประมาณว่า ‘การปลุกปั่นให้ขัดขืนการปกครอง’ หรือหากจะแปลแบบแรงๆ ว่า ‘ความพยายามล้มล้างการปกครอง’ ก็ไม่ผิดนัก อยู่ที่ว่าเราจะตีความมันด้วยน้ำหนักมากน้อยรุนแรงปานใด แต่จะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะแปล Sedition แบบเบาแค่ไหน ก็ยังต้องนับว่าเป็นข้อหาที่หนักมากอยู่ดี เพราะอยู่ในหมวดของการพยายามก่อกบฏแบบหนึ่งนั่นเอง
เนื่องจากผมไม่ใช่นักกฎหมาย ผมก็จะไม่ขอเข้าไปยุ่งกับเทคนิคการตีความมาตรานี้ในเชิงกฎหมายอะไรนัก แต่ในฐานะนักความมั่นคงศึกษาแล้ว ผมอยากจะลองพาสำรวจทำความเข้าใจของแนวคิดเรื่อง Sedition นี้สักหน่อยว่า โดยรากฐานทางความคิดแล้วมันมีขึ้นมาเพื่ออะไร และใช้ในกรณีแบบไหนกันครับ
กฎหมายปลุกปั่นให้ขัดขืนการปกครอง หรือ Sedition ถูกใช้ในความหมายแบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ครั้งแรกคือในช่วงปลายของยุคอลิซาเบธ (Elizabethan Era) หรือราวๆ ทศวรรษ 1590s
โดยข้อหานี้คือ การยุยงให้ร้ายหรือทำให้เลิกเชื่อถือต่อผู้มีอำนาจของรัฐหรือผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นตัวแทนของรัฐครับ จุดหมายหลักๆ ก็คือการบอกว่าให้เชื่อฟัง ‘authority’ หรือผู้ถือครองอำนาจสูงสุดของรัฐนั่นแหละ จะมายุแยงให้ ‘ไม่เชื่อฟัง’ ผู้ถือครองอำนาจสูงสุดของรัฐ (หรือผู้ที่ได้รับอำนาจกระทำแทน) ไม่ได้
ซึ่งในยุคอลิซาเบธนั้น ผู้ถือครองอำนาจสูงสุดของรัฐ หรือ The Sovereign ก็หนีไม่พ้นพระราชินีนั่นเอง เพราะอังกฤษในตอนนั้นยังคงเป็นรัฐในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (และเป็นยุคทองของสมบูรณาญาสิทธิราชย์เลยด้วย) ความหมายของ Sedition นั้นจึงถือว่ากินความกว้างกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Lese Majeste Law) เพราะกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเน้นไปที่การหมิ่นประมาทตัวสถานบันพระมหากษัตริย์ซึ่งดำรงตำแหน่งในฐานะ ‘พระประมุข’ ของรัฐเป็นการเฉพาะ ว่าอีกแบบก็คือ เป็นการคุ้มครอง ‘ตำแหน่ง’ โดยไม่สนใจว่า ‘ตัวระบอบการปกครอง’ จะเป็นระบอบไหน จะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะเป็นประชาธิปไตย จะเป็นเผด็จการ ตราบที่ยังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ ‘ตำแหน่งประมุขของรัฐ’ ก็จะยังคงได้รับการคุ้มครองโดยไม่เปลี่ยนไป
แต่ความหมายของ Sedition กว้างกว่านั้น เพราะไม่ใช่คำสั่งที่อิงอยู่กับตำแหน่งทางการเมืองการปกครองใดๆ แต่มันผูกโยงอยู่กับ ‘ตัวอำนาจสูงสุดและตัวแทนอำนาจสูงสุดในการปกครอง’ ตัวแทนอำนาจสูงสุดในการปกครองก็เช่น คำสั่ง กฎหมาย ตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากผู้ซึ่งถือครองอำนาจสูงสุดของรัฐนั้นๆ ด้วย เช่น สมมติควีนอลิซาเบธสั่งว่า “ห้ามดื่มเหล้าทุกๆ วันจันทร์” นะ แล้วเกิดมีใครสั่งคนออกมาบอกว่า “อย่าไปฟังคำสั่งนี้ของควีนเลย นี่เป็นคำสั่งบ้าบอที่ไร้เหตุผล เรามาดื่มเหล้าวันจันทร์กันเถอะ” การกระทำลักษณะนี้ย่อมเข้าข่ายความผิด Sedition เพราะเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ ‘ไม่ทำตามคำสั่ง’ ของผู้ถือครองอำนาจสูงสุดของรัฐ หรือ The Sovereign ณ ขณะนั้น ซึ่งก็คือ ควีนอลิซาเบธ นั่นเองครับ จากจุดนี้เองเราจะเห็นได้ว่า ‘อำนาจ’ ของ sedition นั้นกว้างกว่า lese majeste ไม่น้อย เพราะมันไม่ได้คุ้มครองเฉพาะแต่ตัวตำแหน่งประมุขเท่านั้น แต่คำสั่ง โองการ หรือกฎหมายที่ออกมาโดยผู้ถือครองอำนาจสูงสุดก็นับรวมอยู่ด้วย
แต่ในความที่มัน ‘กินความมากกว่า’ นี้เอง ก็ส่งผลให้ตัวกฎหมายมีคุณสมบัติในการ ‘ปรับเปลี่ยน’ ไม่ได้แน่นิ่งอยู่กับที่ เหมือนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ด้วย อย่างที่บอกไป กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบการปกครองใด ก็คุ้มครองที่เดิมตำแหน่งเดิมคือพระมหากษัตริย์ (ในฐานะประมุขของรัฐ) ส่วนเรื่องว่ากฎหมายนี้ควรจะมีอยู่หรือไม่ นั้นเป็นอีกเรื่องที่ต้องถกแยกไป ในทางตรงกันข้าม Sedition หรือการปลุกปั่นให้ขัดขืนการปกครองกลับผันตัวเองตามระบอบการปกครองของรัฐนั้นๆ ณ เวลานั้นๆ ครับ
ว่าง่ายๆ ก็คือ Sedition ไม่ได้คุ้มครองใครหรือตำแหน่งใดเป็นการเฉพาะ เพราะในแต่ระบอบการปกครอง เจ้าของอำนาจสูงสุดนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไป หากเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็อยู่ที่พระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็อยู่ที่ประชาชน
กฎหมายยุยงปลุกปั่นจึงไม่ได้คุ้มครองคำสั่งของผม คำสั่งของคุณ คำสั่งของประยุทธ์ หรือคำสั่งของ คสช. หรือใครๆ เป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราจะยังยืนยันกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ (คิดจะ) เป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ อยู่ หรืออย่างน้อยๆ ณ เวลาจนถึงก่อนการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตย 99.99% ตามที่ประยุทธ์เป็นคนยืนยันเอง
ทีนี้เมื่ออยู่ในระบอบประชาธิปไตย ที่ถือกันโดยชัดเจนว่า ‘ประชาชนคือเจ้าของอำนาจสูงสุด’ แล้วนั้น (เพราะหากผิดจากนี้ก็ไม่ถือเป็นประชาธิปไตย) การใช้อำนาจหรือตัวแทนอำนาจของเจ้าของอำนาจสูงสุดก็คือ ‘กฎหมาย’ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดครับ การจะผิดในข้อหานี้โดยหลักแล้วก็คือ การประกาศชักชวนคนว่า “เห้ย อย่าเชื่อฟังที่รัฐธรรมนูญ หรือที่กฎหมายบอกเลย” ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะรัฐธรรมนูญเท่านั้นนะครับ กฎหมายอื่นๆ ก็ด้วย เช่น สมมติผมออกมาเรียกร้องว่า “ทุกคน เราจงมาร่วมกันขับรถฝ่าไฟแดงเถอะ” (แล้วจบแค่นี้เลย) เช่นนี้ก็อาจจะตีความว่าผิดในข้อหา Sedition ได้ เพราะปลุกปั่นให้คนละเมิด ‘ข้อบังคับหรือข้อตกลง’ ตามกฎหมาย
แต่มันเป็นคนละเรื่องนะครับกับการบอกว่า “เสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยวิธีการ 1, 2, 3, 4, …” เพราะนั่นไม่ใช่การละเมิดตัวคำสั่งของกฎหมาย กฎหมายไม่เคยห้ามว่า “ไม่ให้ประชาชนคิดหรือพูดเรื่องการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้” คือ เค้าไม่ได้ไปละเมิด ‘ตัวบทอันเป็นข้อห้าม/คำสั่ง’ ของกฎหมายใดๆ นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ครับ ผมจะสมมติให้ดูนะครับว่าแบบไหนใช้ไม่ได้ อย่างมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ระบุว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้” แล้วสมมติว่ามีใครสักคนออกมาประกาศเรียกร้องว่า “เรามาร่วมกันแบ่งแยกประเทศไทยเถอะ!” กรณีแบบนี้ครับถึงจะผิดในกรณีที่เรียกว่า Sedition เพราะเป็นการกระทำที่ “ขัดกับข้อห้ามที่กฎหมายซึ่งมาจากอำนาจสูงสุดของรัฐได้ระบุไว้”
ว่ากันตรงๆ หากจะฟ้องร้องกันด้วยประเด็น Sedition หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จริงๆ แล้ว ตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่บอกว่า “… รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม” นั้น ผมคิดว่า กกต. ในฐานะองค์กรอิสระโดยรัฐธรรมนูญยังดูจะมีโอกาสผิดในข้อหา Sedition นี้มากกว่านักการเมืองคนไหนๆ ในเวลานี้เสียอีกนะครับ
นอกจากนี้ที่ผมควรจะอธิบายเพิ่มไปด้วยก็คือ Sedition นั้นไม่ใช่กฎหมายโบราณคร่ำครึอย่างที่หลายๆ คนอาจจะเข้าใจ
จริงๆ แล้ว Sedition law นี้มีกันในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วเลย ออสเตรเลีย แคนาดา ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอื่นๆ ก็ล้วนมีกันครับ และอาจจะมีจุดเน้นย้ำแตกต่างกันไปบ้าง อย่างของออสเตรเลียเน้นไปที่การบังคับใช้ในกรณีที่เป็นเหตุก่อการร้าย (เช่น กลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน) ในขณะที่ทางสหรัฐอเมริกาดูจะเน้นในเรื่องข้อมูลทางความมั่นคง หรือการทรยศประเทศ (หากเรียกด้วยภาษาแบบบ้านๆ หน่อย) เช่น การร่วมมือกับหน่วยสืบราชการลับอื่นๆ นำความลับของประเทศออกไป อะไรแบบนี้
ที่ผมต้องอธิบายส่วนนี้เพิ่มก็เพราะอย่างนี้ครับ หากไม่มีการขีดเส้นในทางปฏิบัติให้ชัดเจนแล้ว Sedition นั้นจะเป็นความผิดที่ถูกนำมาใช้ได้ง่ายมาก (แม้ว่าในกรณีที่ธนาธรโดนนั้น จะมองยังไงก็ไม่เข้าเคสนี้ก็ตาม) ยกตัวอย่างเช่น การที่มีกลุ่มครูอาจารย์ออกมาเรียกร้องให้ยังคงการบังคับให้เด็กตัดผมสั้นเกรียนเอาไว้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญก็ ‘ห้าม’ การบังคับลักษณะนี้ชัดเจน จริงๆ แล้วกรณีแบบนี้ กลุ่มครูหรือคนที่เคลื่อนไหวให้บังคับขืนใจเหล่านี้ก็อาจจะนับว่าผิดฐานยุยงปลุกปั่นได้ครับ เพราะพยายามให้คน ‘ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกฎหมายโดยตรง’ ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงการ ‘เรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร’ โดยม็อบพันธมิตรเมื่อหลายปีก่อนด้วย กรณีหลังนี้ชัดเจนมากว่าเป็น Sedition ไม่ว่าจะในประเทศใด จากที่ว่ามาจะเห็นได้ว่า หากไม่มีการขีดเส้นการใช้งานไว้เลย ขอบเขตของ Sedition จะ ‘กว้างขวางมาก’ จนใครๆ ก็จะผิดข้อหานี้ได้แทบทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นแล้ว โดยวิถีปฏิบัติทั่วไปก็คือ กรณีของ Sedition จะใช้ก็ต่อเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ เท่านั้น ทีนี้จุดนี้แหละครับจุดสำคัญเลย เพราะในสังคมไทย โดยเฉพาะ ‘ฝ่ายความมั่นคงไทย’ มักจะตีความสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงแบบผิดๆ รวมไปถึงคนไทยจำนวนมากด้วยที่มักจะผูกโยง คำว่า ‘ความมั่นคง’ เข้ากับวาทกรรมเรื่อง 3 สถาบันหลักของไทย คือ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ครับ นั่นเพราะโดยพื้นฐานวิธีคิดแล้ว ความมั่นคงนั้นคือเรื่องของ ‘ความอยู่รอดของตัวตนนั้นๆ’
ซึ่งความอยู่รอดของสิ่งที่เรียกว่ารัฐไทยเป็นคนละเรื่องกับสถาบันหลักของประเทศที่พูดกันซ้ำๆ มาตลอดเลยนะครับ
นอกจากข้อเท็จจริงที่ว่าสถาบันหลักทั้งสามนั้นเป็น ‘หลัก’ จริงๆ หรือไม่ อย่างชาติในมุมของ ‘ชาตินิยม’ นั้นก็ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วในหลายพื้นที่ของโลกว่าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของการเป็นรัฐในระบอบประชาธิปไตย เช่น สวีเดนเองก็ออกนโยบายลดระดับความเป็นชาตินิยมลงเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้คนในชาติกลมเกลียวกันมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ หรือศาสนาเองก็มีงานออกมามากมายที่ยืนยันว่าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในรัฐประชาธิปไตย คือ คนจะมีหรือไม่มีศาสนาก็รวมกันภายใต้ข้อตกลงร่วมของสังคมและดำเนินต่อไปในฐานะองคาพยพเดียวกันได้ ในหลายๆ ครั้งศาสนาเองต่างหากที่ดูจะเป็นภัยมากกว่าเสียด้วย อย่างกรณีบทลงโทษประหารเกย์ด้วยการโยนหินของบรูไนเร็วๆ นี้ เป็นต้น โดยสรุปคือ สถาบันหลัก ไม่ได้ปัจจัยจริงๆ ต่อความอยู่รอดของรัฐเสียด้วยซ้ำ ฉะนั้นการวิจารณ์ การด่าชาตินิยม ศาสนา หรืออะไรก็ตามแต่ โดยหลักการแล้ว ‘ไม่ควรจะเป็นเรื่องความมั่นคง’
เวลาเราพูดเรื่องความมั่นคง แปลว่าเรากำลังพูดเรื่อง ‘ความอยู่รอด’ ‘ความเป็นความตาย’ อย่างที่ผมบอกไปครับ ผมขอให้ภาพจะอะไรใกล้ๆ ตัวสักหน่อยก่อน เวลาที่เราพูดถึง ‘ความมั่นคงของมนุษย์’ เราคงไม่ได้พูดถึงความทุกข์ทรมานที่ใครสักคนกำลังได้รับขณะกำลังพยายามตัดเล็บขบของตัวเอง หรือความโศกเศร้าที่เดินเข้า 7-11 แล้วเจอแต่เป๊ปซี่ ไม่เจอโค้กใช่ไหมครับ เวลาเราพูดถึงความมั่นคงของมนุษย์ เรากำลังพูดถึงปัจจัยที่มีผลในการชี้ความเป็นความตายของมนุษย์อยู่ จะในระดับปัจเจก หรือเผ่าพันธุ์ก็ตามแต่หัวข้อ เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดถึงความมั่นคงของมนุษย์ เราจึงพูดถึงความอดอยากในแอฟริกา, เชื้อ HIV/AIDS ที่แพร่ระบาดมากขึ้น, ภัยธรรมชาติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ระดับของอาชญากรรมในเมือง หรือสงครามที่จะมาคร่าชีวิตของคนมากมายไปได้ เป็นต้น เห็นมั้ยครับ ไม่มีเรื่องตัดเล็บขบกับความอยู่รอดของมนุษย์นะครับ
เวลาเราพูดถึงความมั่นคงของรัฐก็เช่นกันครับ เราไม่ได้มาใช้เรื่อง “การบังคับตัดผมเกรียนในโรงเรียน” ในฐานะประเด็นทางความมั่นคงของรัฐ แม้ว่าผมจะเห็นว่าการบังคับที่ว่านี้มันเป็นเรื่องผิดและละเมิดสิทธิมากๆ ก็ตาม และควรหามาตราการมาตอบโต้ครูที่บังคับ แต่มันต้องไม่ใช่ความผิดในฐานความมั่นคงอย่าง Sedition เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของรัฐ และไม่ใช่แม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันหลักอะไรอย่างที่อธิบายไปแล้วด้วย
แล้วอะไรเล่าคือ ‘ปัจจัยที่ชี้ความอยู่รอดของรัฐ’ ง่ายๆ เลยครับ รัฐสมัยใหม่นั้นมีองค์ประกอบสำคัญ 4 อย่าง คือ อำนาจอธิปไตย, เขตแดนที่ชัดเจน, ประชากร, และการยอมรับโดยสากล ฉะนั้นเฉพาะอะไรก็ตามที่มันมุ่ง ‘ทำลาย’ 4 อย่างที่ว่ามานี้ จึงจะถือเป็นความผิดในฐานความมั่นคงแบบ Sedition ได้ นี่คือเส้นที่เราต้องขีดให้ชัดครับ
อย่างในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของอังกฤษที่อำนาจอธิปไตยอยู่กับตัวควีน การทำลายคำสั่งของควีนจึงเป็นเรื่อง Sedition โดยตรงไป ส่วนในรัฐประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดก็อยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่ใครที่ไหน, การศึกสงครามที่มีผลโดยตรงกับเขตแดนของรัฐ จึงเป็นเรื่องของความมั่นคงไป และหากไปละเมิดก็อาจจะโดนความผิดฐาน Sedition ได้ อย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกา, การก่อการร้าย หรือแม้แต่นโยบายทางสาธารณสุข หรือภัยธรรมชาติ ที่มีผลต่อความอยู่รอดของประชากร ก็เป็นเรื่องทางความมั่นคง และอาจใช้ความผิดฐาน Sedition ได้ อย่างในกรณีของออสเตรเลีย…ความผิดในกรณี Sedition นั้นมันเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐมากๆ ครับ
จากจุดนี้เอง เราจะเห็นได้เลยครับว่า พวกที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ของไทยนั้น ไม่เข้าใจความคิดเรื่องความมั่นคงแม้แต่น้อย เป็นการพยายามใช้ความผิดเรื่อง Sedition ไปฟ้องร้องธนาธร เพราะสิ่งที่ธนาธรทำไม่ใช่กระทั่งประเด็นในทาง ‘ความมั่นคง’ แต่แรกเสียด้วยซ้ำ ธนาธรไม่ได้สั่นคลอนความอยู่รอดของประเทศไทย การฟ้องธนาธรด้วยข้อหา Sedition ในกรณีนี้มันจึงเหมือนการเรียกคนตัดเล็บขบว่ากำลังเผชิญหน้ากับภัยที่สุ่มเสี่ยงถึงความเป็นความตายของตัวเขาเอง หากจะมีความอยู่รอดหรือความมั่นคงของอะไรสักอย่างที่ธนาธรไปสั่นคลอนเข้า ก็คงจะเป็น คสช. และเผด็จการทหารนั่นแหละครับ
และการที่ทำให้การฟ้องด้วยข้อหา Sedition นี้เป็นเรื่องความมั่นคงหนักขึ้นไปอีก ด้วยการจะส่งไปศาลทหาร (ซึ่งเป็นองค์กรที่ควรจะถูกยุบไปได้แล้ว) นั้น ยิ่งสะท้อนความไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจของฝ่ายความมั่นคงไทยเป็น 2 ชั้นเลยทีเดียว… ฝ่ายความมั่นคง ที่ไม่เข้าใจกระทั่งคอนเซ็ปต์เบื้องต้นเรื่องความมั่นคง และยังจะกล้าเรียกตัวเองแบบนี้อยู่อีก แบบนี้หากมีการสู้รบกันขึ้นมา โล่หรือเสื้อเกราะอะไรไม่ต้องใช้หรอกครับ เอาหน้าเข้าไปรับก็น่าจะกันกระสุนได้ทุกรูปแบบแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2388123