สำหรับใครที่ไม่ใช่โอตะ (เพี้ยนมาจาก โอตาคุ) และโวตะ (วงในขั้นกว่าแบบไม่ต้องเติม suffix ‘-er’ ไว้ข้างท้ายคำ ของโอตะ เพราะเป็นศัพท์เฉพาะที่รู้กันในหมู่โอตะของวงต้นแบบอย่าง AKB48 และอื่นๆ ในญี่ปุ่น) หรือว่าเป็นโอชิ (เป็นติ่งของใครในวงเป็นพิเศษ) ของน้องคนไหน ไม่ว่าจะเป็น เฌอปราง อรอุ๋ง เจนนิส มิวสิค และอีกสารพัดบลาๆๆ ก็อยากให้ทราบไว้นะครับว่า BNK48 ไม่ได้มีเฉพาะเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย แต่ยังมีเพลงที่ชื่อว่า BNK48 เหมือนกับชื่อวง หรือที่ในหมู่โอตะ โอชิ และอีกให้เพียบโอ เรียกกันแบบสั้นๆ ว่า ‘เพลงชาติ’ อีกด้วย
ที่จริงแล้วคำว่า BNK48 ทั้งที่เป็นชื่อเพลง และชื่อวงนั้น ก็คือคำย่อมาจากคำว่า ‘Bangkok 48’ ซึ่งก็คือชื่อเมือง ‘กรุงเทพฯ’ หรือ ‘บางกอก’ เช่นเดียวกับที่วงเกิร์ลกรุ๊ปต้นแบบ เมด อิน เจแแปน อย่าง AKB48 หมายถึง ‘Akihabara 48’ คือย่านอากิฮาบาระ ที่ถือได้ว่าเป็น ดินแดน ‘มักกะฮ์’ ของบรรดาศาสนิกชนชาวโอตาคุทั่วโลก ที่ใจกลางกรุงโตเกียวนั่นแหละครับ
และสำหรับแฟรนไชส์ของวงอะไรก็ตามที่ลงท้ายด้วย 48 ซึ่งก็มีทั้ง SKE48 (ย่านซาคาเอะ เมืองนาโกย่า จังหวัดไอจิ), NMB48 (ย่านนัมบะ จังหวัดโอซาก้า), HKT48 (ย่านฮาคาตะ จังหวัดฟุกุโอกะ), JKT48 (กรุงจาการ์ตา บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย) และอีกสารพัดวงในตระกูล 48 รวมไปถึง MUM48 คือมุมไบ 48 ที่กำลังจะคลอดเร็วๆ นี้ในประเทศอินเดีย ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ชื่อของแต่ละวงนั้น เป็นชื่อของย่าน (หรือจังหวัด ในกรณีของวงที่ไม่ได้มีกำพืดอยู่ในญี่ปุ่น) ซึ่งในกรณีของไทย ก็คือ ‘กรุงเทพฯ’
ส่วนคำว่า 48 นั้น เป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับชื่อของ ชิบะ โคทาโร่ ประธานบริษัท Office 48 ต้นสังกัดของ AKB48 และเจ้าของแฟรนไชส์นี้ โดยคำว่า ‘ชิ’ พ้องเสียงกับ ‘4’ ส่วน ‘บะ’ พ้องกับเสียงเรียกเลข ‘8’ ในภาษาญี่ปุ่น จึงเอาตัวเลข 48 มาห้อยท้ายในทุกๆ วง โดยไม่แคร์สื่อว่า คนชาติอื่นเขาจะเก็ตมุกคำพ้องเสียงในภาษาญี่ปุ่นของคุณพี่ชิบะแกหรือเปล่า?
แต่จะเป็นเพราะด้วยวิธีการตั้งชื่อวง ตามชื่อย่าน หรือจังหวัดอย่างนี้นี่เอง ที่ทำให้มีการทำเพลงที่ว่าด้วยสรรพคุณของย่าน หรือจังหวัดของชื่อแต่ละวงหรือเปล่านั้น? ผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่เอาเป็นว่ามันมีการทำเพลงอย่างนี้ออกมาจริงก็แล้วกัน
ในวง AKB48 ซึ่งถือได้ว่าเป็น ‘โปรโตไทป์’ ของ BNK48 ก็มีเพลงสำนึกรักบ้านเกิด (เอิ่มม… ถึงแม้ว่าสมาชิกในวงอาจจะไม่ได้เกิดและโตที่อากิฮาบาระเลยก็เหอะ) ที่มีชื่อเดียวกับวงเหมือนกัน เช่นเดียวกับเพลงอื่นๆ อย่าง Koisuru Fortune Cookie หรือ คุกกี้เสี่ยงทาย ในเวอร์ชั่นไทยคัฟเวอร์ ที่ก็ร้องมันทุกวงในสปีชีส์ 48 นั่นแหละ
แต่จะต่างกันก็ตรงที่เนื้อเพลงสำนึกรักบ้านเกิด ชื่อเดียวกับชื่อวง (แต่พี่ไทยเรากลับไปตั้งชื่อใหม่ให้ว่า เพลงชาติ) ก็จะแตกต่างกันออกไปนะครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นที่ อากิฮาบาระ มุมไบ จาการ์ตา นัมบะ ฯลฯ คงจะไม่มีทั้งเสาชิงช้า วัดโพธิ์ ปากคลองตลาด และอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัดไปยาลใหญ่ ที่มีพูดถึงอยู่ในเนื้อเพลงชาติไทย ฉบับที่นำทีมร้องโดยกัปตันน้องเฌอปราง เช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ เองก็คงจะไม่มีอะไรต่างๆ อย่างในเพลงชาติของวงอื่นในสปีชีส์ 48 นี้เช่นกัน
และอะไรต่างๆ ที่ประกอบกันเข้ามาเป็นเนื้อเพลงชาติ เวอร์ชั่น BNK48 นี้ จึงเป็นภาพของกรุงเทพฯ ที่คนแต่งเนื้อร้องเพลงนี้คิดว่าเป็นภาพจำของกรุงเทพฯ ในหัวของผู้ฟัง (ซึ่งก็ย่อมจะหมายถึงคนไทยทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของวงนั่นแหละ) หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นผู้แต่งเพลงนี้เองนั่นแหละ ที่นึกถึงกรุงเทพฯ ในแง่มุมอย่างนี้
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลย ที่ในเนื้อเพลงจะมีชื่อย่านที่ศิวิไล้ ศิวิไลซ์ อย่าง อโศก บางกะปิ ลาดพร้าว จตุจักร รัชดา ที่ชวนให้นึกถึงภาพของความเป็นเมืองใหญ่ และอะไรที่ชวนให้มโนตามถึงความชิคๆ เก๋ๆ อย่างอาคารทรงเรทโทรที่หัวลำโพง หรือย่านปากคลองตลาด ที่ชวนให้พาฝันถึงดอกไม้สวยๆ ควบด้วยลุคเดิร์นๆ อย่าง MRT และ BTS แต่กลับไม่พูดถึงชุมชนแออัดต่างๆ รวมไปถึงย่านชานเมืองที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาอยู่อาศัย จนแทบจะกลายสภาพเป็นค่ายผู้ลี้ภัย
และก็ยิ่งไม่แปลกอะไรอีกเช่นกันที่เนื้อเพลงจะพูดถึงสารพัดวัด ไม่ว่าจะเป็นวัดอรุณฯ วัดพระแก้ว วัดระฆัง วัดสระเกศ วัดบวรฯ วัดโพธิ์ ลากยันไปถึงวัดสุทัศน์ ที่มีเสาชิงช้าเป็นแลนด์มาร์ก เพราะนี่คือภาพของกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย และความเป็นไทย ที่ชอบถูกนำไปผูกอยู่กับศาสนาพุทธ จนแทบจะไม่เห็นหัวคนที่นับถือศาสนาอื่น
แต่วัดพุทธในเพลงนี้ ก็ล้วนแต่เป็นวัดที่พร้อมจะให้คนเมือง คนชั้นกลาง แต่งตัวชิคๆ ไปเช็กอิน แล้วเซลฟี่เก๋ๆ กันทั้งนั้นนะครับ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยืนหว่องๆ แถบๆ ฐานพระปรางค์วัดอรุณฯ (เอ่อ… ถึงแม้ว่าซ่อมใหม่แล้ว กระเบื้องจะดูไม่ค่อยเก๋เหมือนเก่าก็เถอะ), โพสท่าเกรียนแตกกับยักษ์ หรือลิง ที่ฐานเจดีย์ในวัดพระแก้ว, ปล่อยปลา ให้อาหารนก ดูดี แถมยังอิ่มแต้มบุญกันที่ริมน้ำวัดระฆัง, ภาพเหงื่อหยดติ๋งๆๆ บนยอดภูเขาทอง วัดสระเกศ พร้อมแคปชั่นแสดงความอุตสาหะ บวกด้วยแคลอรีที่ถูกเบิร์นออกไป (ก่อนที่จะลงไปแวะกินไข่เจียวปู ระดับมิชลิน สตาร์ ที่ร้านเจ๊ไฝ พอให้ถ่ายรูปอวดเพื่อนได้พอหอมปากหอมคอ ก่อนกลับ), สวดมนต์ข้ามปีกันที่วัดบวรฯ, ถ่ายรูปกับกระเบื้องจีนอลังการดาวล้านดวงในวัดโพธิ์ (อย่าลืมแต่งภาพ ให้สีออกมาให้ซีดๆ ฮิปๆ!) ไปจนถึงโพสท่าเก๋ๆ คู่กับเสาชิงช้า
ไม่มีหรอกครับ พวกวัดโทรมๆ ประเภทเดินเข้าไปแล้ว เต็มไปด้วยขี้น้องหมา น้องแมว (และอีกสารพัดสรรพสัตว์สุดแต่ใครสักคนจะเคยเลี้ยงอะไรไว้ แล้วหมดตัว หรือหมดใจจนแอบเอาไปปล่อยในวัด) หรือวัดประเภทที่คนไปขอหวย และอะไรเทือกๆ นั้น
เอาเข้าจริงแล้ว วัดที่ถูกพูดถึงไว้ในเพลงจึงไม่ได้จะเป็นวัดไหนก็ได้ ต้องเป็นระดับวัดหลวง ที่ดูดีมีชาติตระกูล ให้เหมาะสมกับความเป็นเมืองชิคๆ ของกรุงเทพฯ และศูนย์กลางของความเป็นไทย
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ อาหาร และขนม ที่ก็จัดเต็มมาด้วย สารพัดภาพจำของอาหารไทย ไม่ว่าจะเป็น แกงเขียวหวาน มัสมั่น ส้มตำ ผัดไทย แกงส้ม พะแนงหมู ต้มยำกุ้ง ทองหยิบทองหยอด กล้วยบวชชี วุ้นมะพร้าว และอะไรที่ชวนให้รู้สึก exotic บวกอเมซิ่งในความเป็นไทย สำหรับชาวต่างชาติอย่าง ข้าวยำ (ถ้าจะมีอาหารอะไรที่หลุดเทรนด์ของความเป็นไทย สำหรับชาวต่างชาติ จากลิสต์เมนูอาหารในเพลงที่ว่า ก็คงจะมีแต่ ขาวมันไก่ ที่เป็นภาพจำของสิงคโปร์ และมาเลเซียมากกว่า)
แน่นอนนะครับว่า ภาพจำที่สำคัญอีกอย่างของกรุงเทพฯ และความเป็นไทยก็คือ ‘อาหาร’ นี่แหละ โดยเฉพาะอะไรที่เรียกว่า ‘สตรีทฟู้ด’ มันจึงตลกอีกเหมือนกัน เพราะเมื่อตัดภาพมาในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แล้ว ก็ชวนให้ไว้อาลัยถึงการจัดระเบียบบาทวิถี (อ่อ! ยกเว้นเยาวราช ซึ่งก็มีพูดถึง ไชน่าทาวน์ อยู่ในเพลงด้วยนี่เนอะ โทดๆ)
มวยไทย และตะกร้อ ซึ่งเป็นกีฬาที่หลายครั้งก็เป็นเพียงแค่โชว์สำหรับนักท่องเที่ยว ก็ถูกพูดถึงอยู่ในเพลง เช่นเดียวกับโปรแกรมการล่องเรือดูวิวในแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วขึ้นมาเข้าสปานวดตัวอย่างที่ในเนื้อเพลงว่าไว้
เอาเข้าจริงแล้ว ภาพจำของกรุงเทพฯ ที่ถูกนำมาพูดถึงในเพลง BNK48 หรือ ‘เพลงชาติ’ ของบรรดาโอตะ และโอชินั้น จึงเป็นกรุงเทพฯ สำหรับนักท่องเที่ยว (แถมยังเป็นนักท่องเที่ยวแบบทัวริสต์ดาดๆ) มากกว่าที่จะเป็นกรุงเทพฯ ที่มันเป็นจริงๆ เพราะมันไม่มีทั้งวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหว ไม่มีทั้งผู้คน และวิถีชีวิต แต่เต็มไปด้วยโชว์ ร้านอาหาร และสถานที่ที่ต้องเช็กอิน เพื่ออวดให้คนรู้ว่ามาถึงกรุงเทพฯ แล้วนะมากกว่าอะไรอื่น
แต่ที่ตลกร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เพลงนี้เป็นเพลงไทยนะครับ แต่งขึ้นด้วยภาษาไทย และมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือบรรดาโอตะ และโอชิของ BNK48 ซึ่งเกือบทั้งหมดย่อมต้องเป็นคนไทยแน่
ดังนั้นความเป็นกรุงเทพฯ (ซึ่งพอจะเหมารวมว่า แทบจะเป็นภาพแทนของความเป็นไทย ในสายตาของใครหลายคนได้นั้น) จึงอาจจะเป็นอะไรที่กลวงพอๆ กับโปรแกรมทัวร์ของนักท่องเที่ยว ระดับทัวริสต์ดาดๆ ที่ผ่านทางเข้ามาก็ได้นะครับ และบางทีก็นี่แหละที่คือ ความเป็นไทยที่แท้ทรู