‘Good artists copy. Great artists steal. ศิลปินที่ดีลอกเลียนแบบ ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ขโมย’
เป็นคำกล่าวที่ สตีฟ จ็อบส์ อ้างว่าหยิบยกมาจากคำพูดของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่างปิกัสโซ่ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปิกัสโซ่พูดจริงๆ หรือแกไปหยิบยืมจากใครมาอีกที)
ในวงการศิลปะ การก๊อปปี้ หรือลอกเลียนแบบ นั้นดูจะเป็นเรื่องที่ผิดบาปร้ายแรงจนไม่อาจให้อภัย แต่เหรียญมีสองด้านฉันใด การลอกเลียนแบบก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเลวร้ายจนหาดีไม่ได้ฉันนั้น อย่างที่เราเคยกล่าวถึงภาพก๊อปปี้ The Night Watch ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ได้รู้ความจริงว่าภาพของแท้ถูกเฉือนออกไปตั้งหลายนิ้ว
ในตอนนี้เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินที่ทำงานศิลปะด้วยการก๊อปปี้ หรือลอกเลียนแบบผลงานศิลปะของคนอื่นแบบเป็นล่ำเป็นสันกันเลยแล้วกัน ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เอเลน สตัวร์เดอวันด์ (Elaine Sturtevant)
หรือที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆ ว่า ‘สตัวร์เดอวันด์’ (Sturtevant) ศิลปินหญิงชาวอเมริกันผู้เป็นที่รู้จักจากการลอกเลียน ทำซ้ำ และสร้างผลงานของศิลปินคนอื่นขึ้นมาใหม่ ซึ่งผลงานของเธอได้ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความแท้เทียมในงานศิลปะ รวมถึงความเป็นลิขสิทธิ์ ความเป็นต้นแบบ และการเป็นผู้สร้างสรรค์ที่มีสิทธิ์ขาดในศิลปะของตนแต่เพียงผู้เดียวของศิลปิน การเลียนแบบทางศิลปะของเธอก่อให้เกิดการถกเถียงในวงการศิลปะช่วงปลายยุค 1960 และ 1970 อย่างกว้างขวาง จนเธอได้รับฉายาว่า Queen of Copycats (ราชินีแห่งการลอกเลียนแบบ) เลยทีเดียว
สตัวร์เดอวันด์ เปิดตัวสู่วงการศิลปะอย่างอื้อฉาวในปี 1965 ที่นิทรรศการในหอศิลป์ Bianchini เมืองนิวยอร์ก โดยเธอทำการผลิตซ้ำผลงานภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนรูปดอกไม้อันลือลั่นของ แอนดี้ วอร์ฮอล ที่ถูกแสดงในที่เดียวกันเพียงสองอาทิตย์ก่อนหน้า
ถึงแม้ทุกวันนี้การลอกเลียน ผลิตซ้ำ และดัดแปลงผลงานของศิลปินคนอื่นขึ้นมาใหม่ จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างปกติธรรมดาในวงการศิลปะร่วมสมัย อาทิเช่นในผลงานชุด Gazing Ball ของ เจฟฟ์ คูนส์ ที่ลอกเลียนแบบภาพวาดอมตะของจิตรกรชั้นครูอย่าง เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci), ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (Peter Paul Rubens) วินเซนต์ ฟาน โก๊ะห์ (Vincent Van Gogh) และอีกหลายคน โดยติดตั้งลูกบอลสีน้ำเงินผิวมันปลาบเหมือนกระจกเงาเอาไว้บนภาพ ราวกับจะให้ผู้ชมดูภาพสะท้อนบนผิวทรงกลมอันบิดเบี้ยวของตัวเองไปพร้อมๆ กับภาพวาดที่ถูกลอกเลียนแบบมา ที่สำคัญพี่คูนส์แกก็เอาภาพวาดเลียนแบบเหล่านี้ไปพิมพ์ลงกระเป๋าในคอลเล็กชั่นของแบรนด์ไฮเอนด์อย่าง Louis Vuitton รับทรัพย์ไปสบายใจเฉิบ แต่ในช่วงยุค 1960s การทำอะไรแบบนี้ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยกันในโลกศิลปะเท่าไหร่นัก
การที่ถูกสตัวร์เดอวันด์ลอกงานนั้นตัววอร์ฮอลเองก็ไม่ได้รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจแต่อย่างใด หนำซ้ำเขายังเปิดเผยเทคนิคในการทำงานให้แก่เธออย่างหมดเปลือก แถมยังให้เธอยืมแม่พิมพ์ซิลก์สกรีนไปใช้ผลิตซ้ำงานของเขาขึ้นมาใหม่ด้วย เพราะวอร์ฮอลเข้าใจว่าสตัวร์เดอวันด์กำลังเสาะแสวงหาสิ่งเดียวกับเขา นั่นก็คือการแสดงให้เห็นว่าวัตถุต่ำต้อยด้อยค่าและกรรมวิธีของกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมนั้นมีคุณค่าพอที่จะเป็นศิลปะได้ เช่นผลงานภาพกระป๋องซุปแคมป์เบล อันลือเลื่อง ที่เขาใช้เทคนิคภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนทำใน’factory’ หรือ ‘โรงานศิลป์’ ของเขา นั่นเอง ในทำนองเดียวกัน สตัวร์เดอวันด์นั้นไปไกลยิ่งกว่า ด้วยการเล่นสนุกและรื้อถอนมายาคติ (myth) อันสูงส่งว่าศิลปินต้องเป็นผู้เดียวที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ รวมถึงลบเลือนรัศมีอันเจิดจ้า (aura) แห่งความเป็นของแท้ที่มีเพียงหนึ่งเดียวของงานศิลปะเหล่านั้นลงอย่างสิ้นเชิง
การทำซ้ำทางศิลปะของสตัวร์เดอวันด์ นั้นไม่ใช่สักแต่ลอกเลียนแบบ เพราะเป้าหมายของเธอไม่ใช่การสร้างของเลียนแบบที่เหมือนเป๊ะ แต่เธอสร้างงานศิลปะเหล่านั้นขึ้นมาใหม่จากความทรงจำของเธอ และศึกษาเทคนิคการสร้างงานของศิลปินที่เธอกำลังเลียนแบบอย่างลึกซึ้ง (ถ้าใครเคยอ่านการ์ตูน Zero – The Man of the Creation การ์ตูนญี่ปุ่นเก่าเมื่อปีมะโว้ ที่เล่าเรื่องราวของชายหนุ่มปริศนาชื่อ Zero ผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะล้ำค่า, โบราณวัตถุ และสิ่งประดิษฐ์โบราณ ด้วยการศึกษารากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของสิ่งเหล่านั้น รวมถึงใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ค้นหาต้นตอของวัตถุดิบและกระบวนการในการสร้าง ทำให้เขาสามารถสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ใหม่อีกครั้ง ก็คงพอจะนึกภาพออกแหละนะ) และด้วยความที่เธอเลียนแบบวิธีการทำงานของวอร์ฮอลอย่างใกล้ชิดและละเอียดลออ เวลาวอร์ฮอลถูกใครถามเกี่ยวกับเทคนิคที่เขาทำงานมากๆ เข้า เขาจึงตอบไปว่า “ผมไม่รู้หรอก ไปถามเอเลน (สตัวร์เดอวันด์) ดูสิ!”
วิธีคิดที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำงานของสตัวร์เดอวันด์ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการทำซ้ำ และความแตกต่างจากผลงานศิลปะต้นฉบับ ที่กระตุ้นให้ผู้ชมมองข้ามผิวหน้าที่ทำเลียนแบบไปสู่ความคิดของเธอ ซึ่งเธอได้สร้างความแตกต่างอันสำคัญนี้ด้วยสมองและสองมือของเธอเอง โดยไม่อาศัยเครื่องจักรกลใดๆ ในการช่วยบันทึก คัดลอก หรือทำสำเนาแต่อย่างใด ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า
“ผลงานทั้งหมดมาจากความทรงจำของฉัน และใช้เทคนิค รวมถึงข้อบกพร่องผิดพลาดแบบเดียวกันกับที่ศิลปินเหล่านั้นสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาออกมา”
สตัวร์เดอวันด์เกิดในเมืองเลกวูด, รัฐโอไฮโอ สตัวร์เดอวันด์เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไอโอวา ในสาขาจิตวิทยา เธออ่านผลงานของนักปรัชญาหลายคน ไม่ว่าจะเป็นสปิโนซา (Spinoza), นิทเชอ (Nietzsche), เฮเกล (Hegel), โชเปนฮาวเออร์ (Schopenhauer), ฌียส์ เดอเลอซ (Gilles Deleuze) และ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ทำให้ส่งอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของเธออย่างมหาศาล (โครงการสุดท้ายที่เธอเสียชีวิตก่อนที่จะได้ลงมือทำก็คือการเขียนบทละครโอเปร่าเกี่ยวกับนักปรัชญาเหล่านี้)
ในช่วงปี 1959s เธอย้ายไปอยู่นิวยอร์ก และจบการศึกษาปริญญาโทในสาขาเดียวกันที่ วิทยาลัยครู (Teachers College) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเข้าศึกษาในสถาบัน Art Students League นิวยอร์ก อีกด้วย
ในช่วงนั้นเองที่เธอได้เริ่มทำงานจิตรกรรมจากหลอดหลากสีสันที่ถูกเฉือนจนเปิดออก บีบจนแบนและติดลงบนผ้าใบ โดยให้สีที่เหลืออยู่ในหลอดไหลเลอะรวมกัน ต่อมาด้วยความที่เธอเป็นเพื่อนสนิทกับศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้นอย่าง โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg) และ แจสเปอร์ จอห์น (Jasper Johns) ทำให้เธอได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพวกเขามาด้วย อีกทั้งพวกเขายังซื้อผลงานในช่วงนี้ของเธอเก็บเอาไว้ด้วย
ในปี 1964 เธอเริ่มต้นเลียนแบบและผลิตซ้ำภาพวาดและศิลปวัตถุของศิลปินร่วมสมัยในยุคนั้นขึ้นจากความทรงจำเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าสามารถแยกออกจากของจริงได้ทันทีที่เห็น โดยในช่วงแรก เธอมุ่งลอกเลียนแบบงานของศิลปินอเมริกันอย่าง รอย ลิคเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein), คเลส์ โอเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg), แจสเปอร์ จอห์น และ แอนดี้ วอร์ฮอล โดยไม่มีการขออนุญาตศิลปินเหล่านั้นแต่อย่างใด (ถึงแม้วอร์ฮอลจะอนุญาตให้เธอลอกงาน รวมถึงเปิดเผยเทคนิคและให้ยืมอุปกรณ์ดังที่กล่าวไปข้างต้นก็เหอะนะ) มีเรื่องสนุกๆ ตรงที่ หลังจากผลงานภาพวาด ‘ธงชาติอเมริกัน’ ของ แจสเปอร์ จอห์น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาพวาด Short Circuit (Combine Painting) (1955) ของเราเชนเบิร์ก ได้ถูกมือดีขโมยไป เราเชนเบิร์กจึงจ้างให้สตัวร์เดอวันด์วาดมันขึ้นมาใหม่และนำไปติดแทนที่ภาพของแจสเปอร์ จอห์น ที่ถูกขโมยไปนั่นเอง
ในช่วงปลายยุค 1960s สตัวร์เดอวันด์มุ่งเน้นไปที่การเลียนแบบและผลิตซ้ำผลงานของศิลปินหัวก้าวหน้าคนสำคัญของยุคสมัยอย่าง โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) และ มาร์เซล ดูชองป์ ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Fat chair (เก้าอี้ไขมัน) (1964) ของ บอยส์ หรือเลียนแบบภาพถ่ายนู้ดที่มาร์เซล ดูชองป์ โพสท่าเปลือยเปล่าคู่กับ บรอกนา เพิร์ลมัตเตอร์ (Brogna Perlmutter) ที่ถ่ายโดย แมน เรย์ (Man Ray) อย่างภาพ Adam and Eve (1924) โดยสตัวร์เดอวันด์และเราเชนเบิร์กถึงกับลงทุนแก้ผ้าถ่ายรูปในท่าเดียวกันกับภาพต้นฉบับกันเลยทีเดียว นอกจากนั้นเธอยังทำศิลปะการแสดงสดประกอบนิทรรศการของเธอด้วย
สตัวร์เดอวันด์ใช้การเลียนแบบและทำซ้ำ สำรวจสิ่งที่เธอเรียกว่า ‘พลังอำนาจอันเงียบงันของศิลปะ’ ด้วยการขุดลึกไปใต้พื้นผิวของรูปลักษณ์ และแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างของกรอบความคิด เพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา
แต่น่าเสียดายที่คนในประเทศบ้านเกิดของเธออย่างสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนในวงการศิลปะกลับไม่เข้าใจความคิดที่ว่านี้ แถมยังแสดงความขุ่นเคืองต่อการ ‘ลอกเลียนแบบงานศิลปะ’ ของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าบรรดาศิลปินที่เธอไปลอกเลียนแบบผลงานมา ด้วยเหตุนี้เอง ในช่วงต้นยุค 1970s เธอจึงหยุดกิจกรรมทางศิลปะและการแสดงงานไปเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี เช่นเดียวกันกับดูชองป์ ศิลปินในยุคก่อนหน้าเธอที่ละทิ้งการทำงานศิลปะ แล้วหันไปทุ่มเทเวลาให้กับการเล่นหมากรุก สตัวร์เดอวันด์เองก็หันไปทุ่มเทเวลาให้กับการเล่นเทนนิสแทน (ก็ไม่รู้ว่าการที่เธอทำแบบนี้นั้นเป็นการเลียนแบบดูชองป์หรือเปล่า?)
ในช่วงต้นยุค 1980s เมื่อศิลปินรุ่นหลังๆ เริ่มนิยมใช้วิธีทำงานศิลปะด้วยการหยิบฉวยและต่อยอด (Appropriation) จากผลงานศิลปะของศิลปินรุ่นก่อนหน้า ผลงานของเธอก็เริ่มได้รับการยอมรับและส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น เธอจึงหันกลับมาทำงานศิลปะอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นในการผลิตซ้ำผลงานของศิลปินคลื่นลูกใหม่ในยุคนั้นอย่าง โรเบิร์ต โกเบอร์ (Robert Gober), แอนเซล์ม คีเฟอร์ (Anselm Kiefer), พอล แมคคาร์ธี (Paul McCarthy) และ เฟลิกซ์ กอนซาเลส-ตอร์เรส (Felix Gonzalez-Torres) เป็นอาทิ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หลายครั้งการตัดสินใจเลือกลอกเลียนแบบงานของศิลปินคนใดคนหนึ่งนั้น เธอเลือกตั้งแต่ก่อนที่ศิลปินเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในระดับสากลเสียอีก และศิลปินเกือบทุกคนที่เธอเลือกเลียนแบบก็ประสบความสำเร็จและกลายเป็นไอคอนในยุคสมัยของตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งนี้ได้สร้างความสงสัยใคร่รู้แก่เหล่านักวิจารณ์ศิลปะว่าเธอหยั่งรู้อนาคตหรืออย่างไร แต่อันที่จริงคงเป็นเพราะเธอมีสายตาที่แหลมคมเสียมากกว่า
ในช่วงยุค 2000 สตัวร์เดอวันด์ เริ่มโอบรับภาพยนตร์, วิดีโอ, โฆษณา และภาพจากสื่ออินเทอร์เน็ต ผลงานศิลปะแห่งการลอกเลียนและผลิตซ้ำของเธอเองก็ได้รับการยอมรับว่ามีส่วนในการทำนายทายทักถึงสภาวะของข้อมูลอันล้นหลาก และการผลิตซ้ำของภาพอันไม่มีที่สิ้นสุดที่ปรากกฏในวัฒนธรรมทางสายตาของโลกในยุคดิจิทัลในปัจจุบัน
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต สตัวร์เดอวันด์ได้รับรางวัลทางศิลปะมากมาย อาทิ รางวัลสิงโตทองคำ (Golden Lion for lifetime achievement) จากมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 54 ในปี 2011 และรางวัล Kurt Schwitters prize for lifetime achievement จากพิพิธภัณฑ์ Sprengel ในปี 2013 ต่อมาในปี 2014 เธอมีนิทรรศการแสดงครั้งใหญ่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) และในปีเดียวกันเธอได้เสียชีวิตด้วยวัย 89 ปี
สตัวร์เดอวันด์ได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งความนิยมเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าความคิดสร้างสรรค์ในการหยิบยืม ทำซ้ำ และลอกเลียนแบบภาพลักษณ์อันหลากหลายในวัฒนธรรมทางสายตาของเธอนั้นกลับมาได้รับการยอมรับและเป็นอะไรที่ ‘ปัง’ เอามากๆ ในยุคอินเทอร์เน็ตเช่นนี้
ดังคำกล่าวของ ปีเตอร์ เอลลี (Peter Eleey) ภัณฑารักษ์ ของนิทรรศการของสตัวร์เดอวันด์ในปี 2014 ที่ MoMA ที่ว่า “เธอเป็นศิลปินโพสต์โมเดิร์นคนแรก (ก่อนที่คำว่าโพสต์โมเดิร์นจะถูกบัญญัติขึ้นมาเสียอีก) และคงจะเป็นคนสุดท้ายด้วยแหละนะ”
อ้างอิงข้อมูลจาก