ข่าวเกี่ยวกับการเตรียมตัวรับการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (ซึ่งต่อไปจะขออนุญาตใช้คำว่า ‘ควีน’ แทนนะครับ) มีมาให้เห็นทุกปี
Business Insider เคยทำเรื่องนี้ไว้ละเอียดมากในปี 2015 แล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว ตอนที่ควีนไม่ได้ทรงไปร่วมพิธีมิสซาฉลองคริสต์มาสอย่างที่เคยเพราะประชวร ประกอบกับพระชนมายุที่มากแล้ว ก็ทำให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดอีกครั้ง จนหลายสำนักข่าวหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึงอีกในช่วงปลายปีต่อต้นปี
ล่าสุด สำนักข่าวใหญ่อย่าง The Guardian (ที่ถึงจะดูใหญ่ แต่ก็กำลังเปิดขอรับการสนับสนุนทางการเงินอยู่ด้วย) ก็มีบทความของแซม ไนท์ (Sam Knight) เล่าถึงรายละเอียดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากควีนสิ้นพระชนม์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สื่ออังกฤษเห็นว่าเรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องที่พูดถึงได้ เตรียมการได้ เพื่อให้เกิดความพร้อมในทุกด้านหากเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดได้เกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ
ตอนที่พระเจ้าจอร์จที่หกเสด็จสวรรคตในปี 1952 คือเมื่อหกสิบกว่าปีที่แล้ว ข้าราชบริพารพบว่าทรงสิ้นพระชนม์บนแท่นบรรทมในพระราชวังซานดริงแฮมตอนเจ็ดโมงครึ่ง แต่กว่า BBC จะประกาศข่าวนี้ ก็เมื่อเวลา 11.15 น. คือใช้เวลาราวสี่ชั่วโมงกว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ
แต่ตอนที่เจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรอย่างโรบิน คุ้ก ที่กำลังเดินทางเยือนฟิลิปปินส์อยู่ รู้เรื่องภายใน 15 นาที (แม้แต่ตัวผมเองซึ่งอยู่อีกซีกโลกโพ้นทะเลและไม่มีความสลักสำคัญใดๆ ก็ยังรู้ข่าวนี้เมื่อเดินเล่นอยู่ในห้างสรรพสินค้าแล้วห้างเปิดทีวีช่อง CNN ที่มีข่าวนี้พอดี) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ‘ข่าว’ เดินทางเร็วกว่าสมัยก่อนมาก เขาบอกว่าสมัยก่อนโน้น BBC จะเป็นสื่อแรกที่ประกาศข่าวเศร้านี้ แต่ในตอนหลังสื่อทุกสื่อต่างแข่งขันกันเสนอข่าว และมีผู้สื่อข่าววังที่เรียกว่า Royal Correspondent อยู่มากมาย ทำให้ไม่มีสื่อไหนเป็นสื่อหลักได้อีกต่อไป ยิ่งในสมัยนี้ ทุกอย่างก็ยิ่งเร็วขึ้นอีกหลายเท่า
ถ้าใครได้ดูซีรีส์เรื่อง The Crown อาจทราบว่าการคาดการณ์การเสด็จสวรรคตของกษัตริย์อังกฤษนั้นเป็นเรื่องปกติ และทางการจะมี ‘โค้ดลับ’ เอาไว้เรียกสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างเช่นการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าจอร์จที่หกนั้น มีรหัสลับเรียกว่า Hyde Park Corner โดยเลขานุการในพระองค์ของพระเจ้าจอร์จที่หก ได้โทรศัพท์บอกผู้ช่วยถึงเหตุการณ์นี้ว่า “Hyde Park Corner. Go and tell Mr Churchill and Queen Mary.” และวินสตัน เชอร์ชิล ก็สื่อสารต่อโดยใช้โค้ดลับนี้ด้วย
ไม่มีใครรู้ว่าทำไมถึงต้องใช้โค้ดว่า Hyde Park Corner บางทีอาจเพราะไม่อยากให้สื่อรู้ก็ได้ว่ากำลังพูดกันเรื่องอะไรอยู่
แต่สำหรับควีนเอลิซาเบธ แทบจะเป็นที่รู้กันในแวดวงสื่อในปัจจุบันแล้วว่า โค้ดลับแบบเดียวกับ Hyde Park Corner สำหรับพระองค์คือ London Bridge
โดยหากนายกรัฐมนตรี (ซึ่งในตอนนี้คือเธเรซา เมย์) ได้รับแจ้งข่าว เธอจะได้รับแจ้งเป็นรหัส บอกว่า “London Bridge is down.”
แซม ไนท์ บอกว่า ในวันที่ ‘ควีนมาเธอร์’ เสด็จสวรรคตในปี 2002 พระองค์มีเวลาในการโทรศัพท์ไปสั่งเสียพระสหาย ทั้งยังพระราชทานม้าส่วนพระองค์ให้คนอื่น โดยมีแพทย์ประจำพระองค์มาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นแพทย์ผู้นี้ที่จะควบคุมการเข้าออกห้องของคนอื่นๆ รวมไปถึงข้อมูลข่าวสารที่จะออกสู่สาธารณะด้วย คือมีการจัดการที่เป็นระบบ ดังนั้น กับควีนเองก็จะเกิดการจัดการที่เป็นระบบด้วยเช่นเดียวกัน โดยมีการเตรียมการเอาไว้รับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสวรรคตในหรือนอกประเทศ เป็นการสวรรคตแบบกะทันหันหรือแบบที่คาดการณ์ได้ ทุกอย่างมีแผนชัดเจนว่าควรจัดการแบบไหน และต้องนำเสนอข่าวแบบไหนบ้าง ในทุกกรณี จะมีการนำเสนอข่าวสั้นจากสำนักพระราชวังออกมาเป็นระยะ ไม่ได้มีจำนวนไม่มากนัก แต่มากพอที่จะให้ประชาชนรับรู้ถึงรายละเอียด เขายกตัวอย่างการให้ข่าวของ เซอร์เจมส์ รีด (James Reid) ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของควีนวิคตอเรีย ที่ให้ข่าวว่า “The Queen is suffering from great physical prostration, accompanied by symptoms which cause much anxiety” หรือตอนที่พระเจ้าจอร์จที่ห้าสิ้นพระชนม์ แพทย์ก็ให้ข่าวว่า “The King’s life is moving peacefully towards its close” เป็นต้น ที่น่าสนใจก็คือ แซมเขียนไว้ด้วยว่า แพทย์ประจำพระองค์ได้ฉีดมอร์ฟีนและโคเคนถวายพระเจ้าจอร์จที่ห้า ซึ่งมีปริมาณมากพอจะทำให้คนทั่วไปเสียชีวิตได้เพื่อคลายความเจ็บปวด ทำให้พระองค์สวรรคตก่อนการปิดเล่มของ Times ในตอนเที่ยงคืน
ในส่วนของควีนเอลิซาเบธ หากถึงวันนั้น เซอร์คริสโตเฟอร์ ฌีดต์ (Christopher Geidt) ซึ่งเป็นเลขานุการประจำพระองค์ จะเป็นผู้ติดต่อกับนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งข่าว แล้วข่าวก็จะแพร่ไปยังรัฐบาลอีก 15 ประเทศ ที่ควีนทรงเป็นพระประมุข ตามด้วยอีก 36 ประเทศ ที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ แต่ในระยะแรก คนทั่วไปจะยังไม่รู้ข่าว คนที่รู้ข่าวนี้ก่อนจะเป็นเหล่าข้าราชการระดับสูงและเหล่าทูตก่อน แต่แน่นอน-ในยุคนี้ ข่าวจะแพร่ไปอย่างรวดเร็วผ่านโซเชียลมีเดีย
ที่ BBC มีระบบที่เรียกว่า Rats หรือ Radio Alert Transmission System ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยสมัยสงครามเย็นได้รับการออกแบบมาให้ทรหดอดทนต่อการโจมตีทุกอย่าง ระบบนี้จะดังขึ้นเมื่อข่าวนี้มาถึง แต่ด้วยความที่ควีนทรงครองราชย์ยาวนานมาก (ทรงมีนายกรัฐมนตรี 18 คน และทรงเห็นประธานาธิบดีสหรัฐ 15 คน) ทำให้คนจำนวนมากไม่รู้ว่ามีระบบนี้อยู่ และต่อให้ระบบนี้ส่งเสียงเตือนขึ้นมา ก็เป็นไปได้ที่หลายคนจะไม่รู้ว่าเป็นเสียงของระบบนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยืนยันข่าวแล้ว ข่าวนี้จะแพร่ไปในสถานีโทรทัศน์หลักๆ ทุกช่อง โดยเฉพาะ BBC โดยสำนักข่าวทั้งหลายได้เตรียมรายงานข่าวต่างๆ กันเอาไว้เรียบร้อยแล้ว Business Insider รายงานไว้ตั้งแต่ปี 2015 ว่า CNN เตรียมข่าวนี้ไว้แล้วเป็นชุด (เป็น packages) เพื่อจะได้นำออกฉายได้ทันท่วงที เดอะการ์เดี้ยนก็มีรายงานว่าเตรียมพร้อมเอาไว้แล้วเช่นกัน ในขณะที่ Times เตรียมไว้มากมายถึงขนาดที่บอกเอาไว้ว่าสามารถนำเสนอได้ติดกันนาน 11 วัน โดยไม่ซ้ำกันเลย และบางช่องก็ถึงขั้นมีการ ‘ซ้อม’ ทำข่าวนี้เอาไว้แล้วด้วย โดยใช้ชื่อแฝงว่าเป็นข่าวของ ‘มิสซิสโรบินสัน’ โดยได้ตกลงไว้กับเหล่าผู้เชี่ยวชาญเรื่องราชวงศ์อังกฤษเพื่อให้สามารถสัมภาษณ์สดได้ทันท่วงที
ในส่วนของสถานีวิทยุที่ยังคงเป็นสื่อหลักของคนจำนวนมากนั้น ในอังกฤษจะมีสิ่งที่เรียกว่า obit lights ซึ่งเป็นแสงสีฟ้า จะกระพริบขึ้นมาเวลาเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ของประเทศ
โดยมีการทดสอบกันสัปดาห์ละครั้งเป็นปกติอยู่แล้วว่าหากเกิดเหตุการณ์คับขันต่างๆ ขึ้น ดีเจจะตัดจากรายการปกติเข้าสู่รายงานข่าวทันที ที่น่าทึ่งก็คือ แซม ไนท์ รายงานว่า ทุกสถานีวิทยุมีการเตรียมเพลงเอาไว้เป็นเซ็ตเพื่อเปิดยามเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ โดยจะเป็นเพลงที่เรียกว่า inoffensive music คือเป็นเพลงที่ไม่ทำให้ใครรู้สึกแย่ เพลงเหล่านี้มีอยู่สองชุด คือระดับ Mood 2 (คือแค่ sad เฉยๆ) กับระดับ Mood 1 (คือ saddest หรือเศร้ามากๆ) ซึ่งหากเกิดเหตุนี้ขึ้นกับควีน สถานีวิทยุจะเปลี่ยนเพลงไปเป็นระดับ Mood 1
อย่างไรก็ตาม การเตรียมการบางอย่างอาจจะล้มเหลวก็ได้ เช่นในปี 2002 ตอนที่ควีนมาเธอร์สิ้นพระชนม์ ปรากฏว่า obit lights ไม่ทำงาน เพราะมีการกดปุ่มนี้ผิดพลาด (เลยทำให้ต่อมาต้องซ้อมกันทุกสัปดาห์) ดังนั้น การ ‘ซ้อม’ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เรื่องของถ้อยคำที่จะใช้ในการให้ข่าวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเครื่องแต่งกายของผู้ประกาศ และการเตรียมการอื่นๆ ด้วย
ที่จริงแล้ว การเตรียมการสำหรับโค้ดลับอย่าง London Bridge ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาตั้งแต่ยุคหกศูนย์แล้ว โดยมีการประชุมกันเรื่องนี้ปีละสองหรือสามครั้ง ส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดต่างๆ ในเชิงพิธีกรรม เช่นหารือกันเรื่องการแห่จากประตูของพระราชวังเซนต์เจมส์ไปถึงทางเข้าของเวสต์มินสเตอร์ฮอลที่ต้องใช้เวลานาน 28 นาที ฯลฯ เพื่อให้งานทั้งหมดเป็นไปอย่างราบรื่นและสมบูรณ์แบบที่สุด โดยแผนนี้ได้รับการดูแลปรับปรุงให้ละเอียดขึ้นหลังเปลี่ยนศตวรรษเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม การเตรียมการเหล่านี้เป็นเพียง ‘ยอด’ ของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น สิ่งที่ต้องเตรียมการต่อเนื่อง ยังมีอีกมากมายหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องพิธีการเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของ ‘จิตใจ’ ของผู้คนด้วย
แซม ไนท์ บอกว่า ควีนนั้นทรงเป็นเหมือน Link เดียวที่เหลืออยู่ เป็นลิงค์ที่เชื่อมกับ ‘ความยิ่งใหญ่’ ในอดีตของสหราชอาณาจักร ซึ่งเขาใช้คำแบบฟรอยด์ว่าเป็น National Id หรือทรงเป็นตัวตนในระดับลึกของประเทศที่นิยามตัวเองจากชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง การครองราชย์ยาวนานของควีนจะทำให้เกิดผลลัพธ์สั่นสะเทือนยิ่งใหญ่ มีคนเปรียบเทียบเอาไว้ว่า จะส่งผลสะเทือนยิ่งกว่าตอนที่ วินสตัน เชอร์ชิล เสียชีวิตมากนัก เพราะควีนไม่เหมือนกับผู้บริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรี และไม่เหมือนประมุขของสหรัฐอเมริกาในตำแหน่งประธานาธิบดีที่มีวาระ จึงมีการคาดหมายกันว่า อาจเกิดความโศกเศร้าและการปฏิเสธครั้งใหญ่แบบเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้วเมื่อควีนวิคตอเรียสวรรคต แต่ในสมัยของควีนวิคตอเรียนั้น อังกฤษเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่มาก ในขณะที่ตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงยากคาดเดา
แซม ไนท์ บอกด้วยว่า ในสหราชอาณาจักรเองไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางเปิดเผยมากนัก อย่างหนึ่งเพราะการไปคาดหมายถึงความตายของคนอื่นไม่ใช่เรื่องที่พึงกระทำ แต่อีกอย่างหนึ่ง แซม ไนท์ บอกว่าเป็นเพราะคนอังกฤษมีความกลัวบางอย่างแฝงอยู่ ความกลัวที่ว่าก็คือกลัวการสูญเสียความเชื่อมโยงกับอดีตที่เคยยิ่งใหญ่ ซึ่งมีควีนเป็น Link สำคัญ ทั้งที่ในทางทฤษฎีแล้ว ทุกอย่างน่าจะเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ แต่อาการ ‘คาดเดาไม่ได้’ ประกอบกับเหตุการณ์ Brexit ที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจทำให้สหราชอาณาจักรไปถึงจุดหักเหที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ไม่ใช่แค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างหมวกของตำรวจที่มีตราพระปรมาภิไธยของควีน หรือพาสปอร์ตของคนอังกฤษและตราประทับเวลาผ่านเข้าเมืองเท่านั้นที่จะเปลี่ยนไป แต่ Business Insider คาดการณ์ไปถึงขั้นที่ว่า อาจเป็นการสิ้นสุดเครือจักรภพอังกฤษด้วยซ้ำ เพราะในปัจจุบันนี้ การเป็นเครือจักรภพอังกฤษแทบไม่ได้มีความสำคัญอะไรมากนัก เมื่อไม่มีควีน หลายประเทศจึงอาจเลือกไม่อยู่ในเครือจักรภพอีก และบางประเทศที่มีควีนเป็นพระประมุขอย่างออสเตรเลีย ก็อาจทำประชามติเลือกเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้ (อย่างที่เคยทำมาแล้วในปี 1999)
หลังจากบทความของ แซม ไนท์ ได้รับการเผยแพร่ออกไปแล้ว มีเสียงตอบรับมากมาย ส่วนใหญ่เป็นไปในแง่บวก เช่น มีหญิงวัย 92 ปี เขียนมาบอกว่า แม้การอ่านบทความนี้จะเป็นเรื่องเศร้า แต่เธอก็เพิ่งจะเตรียมการต่างๆ นานากับตัวเองเอาไว้เผื่อเวลาที่ตัวเธอจากไปด้วย เธอคิดว่าแม้ควีนอาจไม่ต้องกังวลเรื่องเหล่านี้มากนัก เพราะมีผู้ดูแลจัดการให้อยู่แล้ว แต่การอ่านเรื่องนี้ก็ช่วยเตือนให้เธอนึกถึงสิ่งที่ต้องทำด้วยเหมือนกัน
สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีร่วมกัน-น่าจะคือความโศกเศร้า แต่ในเวลาเดียวกัน-นี่ก็เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งด้วย