หลายคนมีความเห็นว่า การแต่งตัวหรือใช้เครื่องใช้ข้าวของแบรนด์เนมที่ออกแนวแฟชั่นนั้น เป็นสิ่งที่มีไว้แสดง ‘สถานะ’ ที่ ‘สูงส่ง’ กว่าคนอื่น โดยเฉพาะความสูงส่งกว่าในเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ และการแสดงให้เห็นถึง ‘รสนิยม’ เฉพาะตัว โดยมีนัยบ่งชี้ว่าเป็นรสนิยมเฉพาะตัวที่ ‘เหนือ’ กว่าคนอื่น
เอาเข้าจริง การแสดงความสูงส่ง หรือการ ‘ยก’ ตัวเองขึ้นตามอุดมคติและจักรวาลวิทยาของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องผิด ใครมีเงิน มีรสนิยมอย่างไร ก็สามารถเลือกใช้ของต่างๆ ได้ตามใจต้องการ แต่คำถามที่สำคัญก็คือ – พร้อมกับการ ‘ยก’ ตัวเองขึ้นในฝั่งหนึ่ง มันเกิดกระบวนการ ‘เหยียด’ คนอื่นลงพร้อมๆ กันด้วยหรือเปล่า
เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะการยกไม่ใช่เรื่องประหลาด เป็นการ ‘เหยียด’ นั้นต่างหาก ที่น่าพิจารณาว่ามันได้เกิดขึ้นไหมในอดีต และถ้ามันเคยเกิดขึ้น มันควรเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตหรือเปล่า
ก่อนอื่น เราอาจต้องมาพิจารณาคำว่า ‘แฟชั่น’ กับคำว่า ‘ของแบรนด์เนม’ (หรือของแบรนด์เนมหรู) กันเสียก่อน
โดยรากของคำ สองคำนี้มีอะไรบางอย่างที่ขัดแย้งกันอยู่มาก
มาดูคำว่า ‘แฟชั่น’ กัน
ซูซาน ไคเซอร์ (Susan Kaiser) ซึ่งเป็นอาจารย์สอนด้านแฟชั่น เท็กซ์ไทล์และเสื้อผ้า รวมไปถึงสนใจงานด้าน Sexuality และ Women’s Studies ด้วย (เธอมีหนังสือน่าสนใจคือ The Social Psychology of Clothing: Symbolic Appearances in Context) เคยพูดประโยคหนึ่งเอาไว้น่าสนใจมากว่า – Everyone is forced to appear หรือทุกๆ คนถูกบังคับให้ต้อง ‘ปรากฏตัว’
เมื่อเราต้อง ‘ปรากฏตัว’ แปลว่าเราต้องใส่ใจดูแลเนื้อตัวร่างกายของเรา ไม่ว่าจะด้วยการประดับประดาตัวเองด้วยใบไม้หรือเสื้อผ้าโอต์กูตูร์ หรือต่อให้ไม่ใส่อะไรเลย ก็ยังต้องกังวลกับภาพปรากฏของเนื้อหนังมังสาของเรา นั่นคือสิ่งที่ฝังอยู่ในวิวัฒนาการในฐานะสัตว์สังคมเพื่อให้เกิดการ ‘รับส่ง’ (Quid pro Quo) ระหว่างกัน ทั้งในแง่ความหมายต่างๆ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยน ‘ผลประโยชน์’ เพื่อความอยู่รอดของเราด้วย
การถูกบังคับให้ปรากฏตัวทำให้ ‘ปัจเจก’ แต่ละคนเลือกวิธีปรากฏตัวของตัวเอง คำที่ใช้เรียกวิธีเลือกการปรากฏตัวนี้เรียกว่า ‘สไตล์’ คือแต่ละคนสามารถมีสไตล์เฉพาะตัวได้ ทั้งสไตล์ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ตั้งใจและที่ตั้งใจ แต่หากมีคนจำนวนหน่ึงมีสไตล์คล้ายๆ กัน ก็จะเกิดมีลักษณะ ‘รวมหมู่’ ขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง (ซึ่งไม่มีมาตรวัดแน่นอนว่าระดับไหน) เมื่อถึงระดับนั้นแล้ว จะเกิดเป็น ‘ความนิยม’ ที่เรียกกันว่าเป็น ‘แฟชั่น’ ขึ้น
ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ว แฟชั่นจึงเป็นเรื่องของ
‘คนหมู่มาก’ เป็นเรื่องของ ‘การทำซ้ำ’ ที่มี ‘รหัสทางวัฒนธรรม’
อะไรบางอย่างมากำกับอย่างซับซ้อน
ถึงได้ออกมาเป็นแฟชั่นในช่วงเวลาหนึ่งๆ ได้ และแฟชั่นในความหมายดั้งเดิมที่สุดก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ ‘แบ่ง’ ออกเป็น ‘พวกเรา’ กับ ‘พวกมัน’ ผ่านการแต่งตัวคนละแบบ อันมีรากมาจากวิถีชนเผ่าที่เมื่อสังกัดอยู่คนละกลุ่มก็ต้องแต่งตัวให้แตกต่างกันไป อย่างหนึ่งคือเพื่อสร้างอัตลักษณ์ว่าตัวเอง ‘เป็น’ อะไร แต่ที่สำคัญกว่าก็คือเพื่อ ‘นิยาม’ ว่าตัวเอง ‘ไม่เป็น’ อะไรบ้าง คือไม่มี Appreance เหมือนชนเผ่าอื่น ความเหมือนนี้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างๆ ตามมา เพราะการแต่งตัวเหมือนกันในชนเผ่าสมัยก่อนแสดงลึกไปได้ถึงความเป็นเครือญาติ (Kinship) ซึ่งแปลว่ามีพันธุกรรมคล้ายคลึงกันมากกว่าคนที่แต่งตัวไม่เหมือนกัน และมนุษย์เราก็มีแนวโน้มจะเอื้อเฟื้อต่อคนที่เหมือนกันมากกว่าคนที่ไม่เหมือนกัน
จะเห็นได้ว่า ลำพังคำว่า ‘แฟชั่น’ ที่จำกัดอยู่เฉพาะในเรื่องการแต่งตัว ก็มีความหมายที่ลึกซึ้งซับซ้อนมากทีเดียว การที่วันนี้เราหยิบเสื้อตัวไหน สีอะไร มาใส่เข้ากับกางเกงหรือกระโปรงสีอะไร สไตล์ไหน มี ‘อำนาจ’ ภายนอกมากำกับอยู่ตลอดเวลา (แค่จะเลือกใส่กางเกงหรือกระโปรงก็เห็นได้ชัดแล้ว) ไม่ใช่แค่อำนาจทางเพศ (ผู้หญิงต้องแต่งตัวแบบไหน) อำนาจทางจารีต (แต่งตัวไปพบ ‘ผู้ใหญ่’ ต้องเรียบร้อย) หรืออำนาจทางกฎเกณฑ์ (ตั้งแต่การแต่งตัวไปสถานที่ราชการจนถึง Dress Code ต่างๆ) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง ‘อำนาจทางแฟชั่น’ ซึ่งก็คือจิตสำนึกแบบ ‘รวมหมู่’ (Collectivism) แบบหนึ่งที่กำกับลึกลงมาถึงการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์เบื้องลึกของเรา – โดยที่เราไม่รู้ตัว
พูดอีกนัยหนึ่ง แฟชั่นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้มี ‘ฝูง’ ที่มีการปรากฏตัวเหมือนๆ กันให้เราสังกัดอยู่
ส่วนคำว่า ‘แบรนด์เนมหรู’ เกิดขึ้นจากความพยายามจะถีบตัวเองให้พ้นไปจากสำนึกรวมหมู่ที่กว้างใหญ่เกินไป เรื่องนี้ย้อนแย้งมาก เพราะตอนที่คำว่า ‘สไตล์’ ถือกำเนิดขึ้นมานั้น มันมักเกิดขึ้นจาก ‘ความขบถ’ ของปัจเจกก่อน แต่ไม่ใช่ความขบถแบบที่เรียกว่า Rebel ซึ่งคือการขบถรุนแรงที่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม (จนกลายเป็น Revolution) ทว่าความขบถประเภทนี้คือ ‘ความขบถอ่อนๆ’ หรือ ‘ขบถหัวอ่อน’ ที่ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไร เพราะโครงสร้างเกื้อหนุนให้ ‘ฉัน’ อยู่ของฉันได้สบายๆ อยู่แล้ว (จึงเกิดสไตล์เฉพาะตัวขึ้นมาได้) การขบถประเภทนี้เรียกว่า Idiosyncracy ซึ่งก็คือการมีพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตที่แหกออกไป แปลกออกไป โดยวิธีแสดง Idiosyncracy ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือแสดงออกผ่าน Appearance นี่เอง
Idiosyncrasy จึงก่อให้เกิด ‘สไตล์’ ที่ไม่ได้แปลว่าจะ ‘เกิด’ เสมอไป สไตล์ที่จะ ‘เกิด’ ได้ ต้องมีคนอยากทำตามมากพอสมควร กระทั่งเกิดเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ที่คิด ทำ พูด หรือมี Appearance ละม้ายคล้ายกัน ซึ่งหากคนเริ่มนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับหนึ่ง – ก็จะกลายเป็นแฟชั่นขึ้นมา
กระบวนการกลายเป็นแฟชั่น (Fashionization) ของอะไรบางอย่างนั้น มักจะสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับต้นธารความ ‘ขบถหัวอ่อน’ ผู้เป็นต้นแบบของ Idiosyncrasy เพราะสามารถผลิตสินค้าหรือบริการออกมาขายได้เป็นปริมาณมาก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเทคโนโลยีการผลิตและสภาพแวดล้อมทางการเมือง (โดยเฉพาะการ ‘ชนะ’ สงครามเย็นของค่ายทุนนิยมเสรีนิยมอย่างอเมริกา) เอื้อให้เกิดขึ้นได้ และการแข่งขันก็ยังไม่สูงมากเหมือนในปัจจุบัน
เมื่อได้รับความนิยม ราคาดุลยภาพก็ถีบตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุด มันก็ไปพ้นจากเส้นขอบอำนาจซื้อของ ‘คนชั้นกลาง’ ทั่วๆ ไป เหลือรอดให้ซื้อได้แค่คนชั้นกลางระดับบนๆ ที่พอจะมีเงินและมีรสนิยมต้องกัน ก็เลยเกิดสิ่งที่คนไทยเรียกในเวลาต่อมาว่า ‘แบรนด์เนมหรู’ ขึ้น – ซึ่งถ้ามองในมุม ‘กำเนิด’ ของมัน
จะเห็นว่าแบรนด์เนมหรูเหล่านี้เกิดจากกลไกความเป็นสัตว์สังคมธรรมดาๆ
โดยได้รับเชื้อเพลิงขับเคลื่อนโดยทุนนิยม การตลาด
และเศรษฐศาสตร์ระดับ 101 ก็เท่านั้น
แล้วทำไมสิ่งที่ควรจะ ‘ธรรมดาๆ’ (คือถ้าคุณมีเงินมากพอ และมีรสนิยมเฉพาะตัวชอบสิ่งเหล่านี้ก็ซื้อไป ไม่เห็นมีอะไรน่าตื่นเต้น) ถึงได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสถานภาพ และเลยไกลไปจนถึงกระทั่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ ‘เหยียด’ คนได้เล่า
ถ้าจะตอบคำถามนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณากันก่อนว่า แล้วคำว่าการ ‘เหยียด’ มันคืออะไรกันแน่
หากดูในภาษาอังกฤษ คำที่ตรงกับคำว่า ‘เหยียด’ ในความหมายของภาษาไทยนั้นแทบไม่มี ในภาษาอังกฤษ คำที่ใกล้เคียงที่สุดคือคำว่า Degrad หรือ Degradation แต่ก็ถูกนำไปใช้ในความหมายอื่นๆ ด้วย เช่นการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biodegradation) จนทำให้มวลความหมายของคำมันไม่หนักเท่าคำว่าเหยียดในภาษาไทย ในภาษาอังกฤษมักจะแยกแยะการเหยียดออกเป็นเรื่องๆ เช่น เหยียดทางเพศ (Sexism) เหยียดทางเชื้อชาติ (Racism) เหยียดวัย (Ageism) เป็นต้น ส่วนคำอย่าง Discriminate หรือ Insult หรือ Disrespect หรือ Humiliate ก็มีที่ทางใช้เฉพาะของมันอีกเหมือนกัน และเอาเข้าจริง แม้แต่ในภาษาไทยเอง คำว่า ‘เหยียด’ กับ ‘เหยียดหยาม’ ก็มีที่ใช้และ ‘ความหมาย’ แตกต่างกันไม่น้อย ดังนั้นจึงน่าตั้งคำถามไม่น้อยว่า คำว่า ‘เหยียด’ ในสังคมไทย เป็นคำที่มีความหมายที่ขึ้นอยู่กับบริบทสังคมในยุคปัจจุบันหรือเปล่า
ในเพจ Psychology CU ให้ความหมายของคำว่า ‘การเหยียด’ เอาไว้ว่าหมายถึง ‘เจตคติรังเกียจกลุ่ม’ (หรือ Prejudice) ซึ่งก็คือ ‘ความลำเอียง’ ที่เกิดจากการจัดกลุ่มทางสังคม แล้วก็เกิดความเชื่อเหมารวมไปว่าคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เป็นแบบนั้นแบบนี้ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติขึ้นมาอย่างไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม
แต่การเหยียดที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ดูจะไม่ค่อยเข้าแก๊ปกับการเหยียดที่เป็นชื่อหัวข้อเรื่อง คือ – แฟชั่นแบรนด์เนมมีไว้เหยียด? สักเท่าไหร่ เพราะคนที่ใช้สินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมโดยทั่วไป – ไม่ได้เหยียดคนอื่นจนทำให้เกิดความลำเอียงในระดับเลือกปฏิบัติหรือถึงขั้น ‘เหยียดหยาม’ (หรือ Insult) คนอื่น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ได้ก่อให้เกิดการ ‘เหยียดทางตรง’ ออกมาโต้งๆ เหมือนการเหยียดผิวเหยียดเพศ แต่ที่น่าตั้งคำถามต่อไปก็คือ แล้วมันเกิดกระบวนการ ‘เหยียดทางอ้อม’ หรือการเหยียดที่ละเอียดเนียนขึ้นมาหรือเปล่าเล่า – เพราะอย่างน้อยก็ต้องยอมรับว่ามีคนในสังคมที่เห็นตรงกันไม่น้อยทีเดียวว่ามีกระบวนการเหยียดเกิดขึ้น
แต่มันเป็นการเหยียดแบบไหนเล่า?
เราจะพบว่า การ ‘เหยียด’ ในสังคมสมัยใหม่นั้นซับซ้อนมาก นอกจากปรากฏการณ์ประเภทเหยียดในเหยียดที่ซ้อนทับกลับไปกลับมาแล้ว ตัวกระบวนการเหยียดเองก็ถูกซ่อนม้วนพับเอาไว้ จนเกิดการเหยียดที่ ‘ละเอียดเนียน’ จนบางครั้งทั้งผู้เหยียดและผู้ถูกเหยียดเองอาจไม่รู้ตัวก็ได้ว่าเกิดกระบวนการเหยียดขึ้นมา
ถ้าสังเกตให้ดี การเหยียดแบบใหม่ที่ละเอียดเนียนนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เหยียดและผู้ถูกเหยียดไม่ได้อยู่ต่างสถานะกันมากนักในสังคมชนชั้น เพราะถ้าอยู่ต่างกันมาก – โดยเฉพาะความต่างทางอำนาจ ความต่างนั้นจะมากเกินไปจนเราไม่รู้สึกว่าเกิดการเหยียดขึ้นมา เพราะมันต่างกันมากเกินไปจนเราไม่อาจรับรู้ความรู้สึกนั้นได้ เหมือนดวงดาวบนฟ้าที่อยู่ไกลจนเราไม่มีวันไขว่คว้ามาได้ เราจึงไม่คิดจะครอบครองมัน
ตัวอย่างความห่างไกลในทางสถานภาพจนเราไม่รู้สึกถึงการเหยียด ก็อย่างเช่นระบบเจ้ากับไพร่ในหลายประเทศ รวมไปถึงทาสติดที่ดินในระบบฟิวดัลส่วนใหญ่ในยุคกลางที่ส่วนใหญ่มักไม่รู้สึกว่าเจ้าที่ดิน (ที่อาจเป็นได้ตั้งแต่อัศวิน ขุนนาง จนถึงกษัตริย์) ทำอะไรบางอย่างที่ ‘เหยียด’ ตัวเองอยู่ พวกเขารับคำสั่งและทำงานตามที่ถูกสั่งไปในแต่ละวันโดยไม่ได้มี ‘คอนเซ็ปต์’ เรื่องถูกเหยียดอยู่ในหัว อย่างหนึ่งเพราะประวัติศาสตร์เป็นมาเช่นนี้ คนเหล่านี้จึงถูกปลูกฝังให้อยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าเจ้าที่ดินมาก ‘คอนเซ็ปต์’ เรื่อง ‘เหยียด’ หรือ ‘ถูกเหยียด’ จึงไม่ได้อยู่ในหัวเลย พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองถูกเหยียดอยู่ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาวะจำยอมหรือถูกขังอยู่ในสภาพไพร่ทาสด้วยซ้ำ รู้แต่ว่าเมื่อมันเป็นมาเช่นนี้ก็ต้องเป็นไปเช่นนี้
แม้แต่ในระบบที่เล็กลงมากว่านั้น เช่น ขุนนางที่เลี้ยงบ่าวไพร่ไว้ในบ้าน ต่อให้ตบตีลงโทษบ่าวไพร่หรือข่มขืนเป็นเมีย บ่าวไพร่ทั้งหลายก็ไม่ได้คิดหรอกว่านั่นคือการ ‘เหยียด’ หรือคือการล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะคอนเซ็ปต์เรื่องความเป็นมนุษย์ที่เท่ากันไม่ได้มีอยู่ในหัว และตัว ‘สถานภาพ’ ก็ถูกถ่างกว้างเอามากๆ การต่อต้านจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ปกครองเริ่มผิดปกติมากๆ เช่น กดขี่ขูดรีดฆ่าฟัน ซึ่งคือการ ‘กระโดดข้าม’ คอนเซ็ปต์เรื่องการเหยียดไปสู่การถูกกดขี่และลุกฮือข้ึนต่อต้านไปเลย
การ ‘เหยียด’ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้าง ‘สมัยใหม่’ พอสมควร
การเหยียดที่ละเอียดเนียนในโลกปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นจากเจ้าที่ดินเหยียดบ่าวไพร่มากเท่ากับการที่บ่าวไพร่เหยียดกันเอง สภาพแบบนี้เกิดขึ้นเพราะคนจำนวนมากอยู่ใกล้กันในทางสถานภาพและชนชั้นมากขึ้น รวมทั้งไม่ยอมสลัดตัวเองออกจากความเป็นบ่าวไพร่ไปเป็น ‘ประชาชน’ ที่พยายามสร้างความเท่าเทียมกัน แต่ยังติดอยู่กับสำนึกชนชั้นแบบเดิม และพยายามผลักดันตัวเองขึ้นไปตามบันไดชนชั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงคือการพยายาม ‘สำแดง’ สถานภาพของตัวเองออกมาด้วยวิธีที่ง่ายและเห็นได้ชัดเจนที่สุด นั่นก็คือสำแดงผ่าน Appearance และการใช้ของแบรนด์เนมก็ตอบสนองการแสดงออกนี้ได้ง่าย
เฟซบุ๊กของ Kamonnart Ong ได้ให้นิยามของคำว่า Luxury หรือของหรูหรา (ซึ่งก็คือคอนเซ็ปต์การใช้ของแบรนด์เนมหรู) ว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความหรูหราก็เปลี่ยนตามไปด้วย โดยความหรูหราแบบเก่า หรือ Old Luxury จะมีลักษณะหายาก คนที่จะเข้าถึงได้ต้องเป็นคนชั้นสูงกลุ่มเล็กๆ ความหรูหราแบบเก่าจึงทำให้ผู้ใช้มีลักษณะที่ ‘เหนือ’ กว่าคนอื่น โลกต้องรู้ว่าฉันรวยและมีชีวิตที่ดีกว่าคนอื่นๆ แต่ความหรูหราแบบใหม่ หรือ New Luxury กลับมีคุณค่าที่ต่างออกไป คุณค่าของมันอยู่ที่การเลือกใช้ของที่มีคุณภาพดี (ซึ่งแปลว่าราคาอาจจะแพงกว่าของคุณภาพไม่ดี) ไม่จำเป็นต้องร้องตะโกนให้คนเห็นว่าฉันใช้ของแบรนด์เนม หรือใช้เพราะรู้ว่ากระบวนการผลิตนั้นแฟร์ในทุกขั้นตอน ฯลฯ
พูดง่ายๆ ก็คือ ความหรูหราแบบเก่า จะมีลักษณะที่ทำให้ผู้ใช้ดูรวยกว่า มีสถานภาพเหนือกว่าคนอื่น แต่ไม่ได้เหนือกว่ามากนัก (กระเป๋าแบรนด์เนมอาจจะแพง แต่ก็ไม่ได้แพงเกินกว่าคนชั้นกลางจะซื้อหามาได้ถ้าต้องการ) ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างสังคมบ่าวไพร่ที่ไม่ยอมเป็นประชาชนในระบอบประชาธิปไตย สังคมแบบนี้จะเหยียดกันเอง ถีบหน้ากันเองให้ขึ้นไปสูงที่สุด เหมือน ‘ไก่ในเข่ง’ ที่พยายามกระพือปีกตีกันเองเพื่อแย่งชิงเศษข้าวเปลือกที่เจ้าของเข่งโปรยให้ แต่ไม่ยอมมองออกไปนอกเข่งให้เห็นว่า ผู้ที่ ‘ได้ประโยชน์’ จากการเลี้ยงไก่ทั้งหมดคือใคร และเป้าหมายปลายทางของไก่คืออะไร จึงได้แต่แสดงความเหนือกว่าเพื่อแย่งเศษข้าวเปลือกโดยไม่ยอมลุกขึ้นรื้อทำลายเข่ง ซึ่งก็คือลักษณะเดียวกันกับความเป็น ‘ขบถหัวอ่อน’ แบบ Idiosyncracy ที่ไม่ยอมรื้อทำลายโครงสร้างเดิมเพราะคิดว่าตัวเองยังพอได้เปรียบจากเศษข้าวเปลือกอยู่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำไว้ด้วยว่า กระบวนการเหยียดซับซ้อนกว่าไก่ในเข่งมาก เพราะการเหยียดจะสัมฤทธิ์ผลได้ ก็ต่อเมื่อผู้ถูกเหยียดรู้สึกร่วมไปด้วยว่าตัวเองถูกเหยียดอยู่ ปรากฏการณ์นี้ทำให้คนจำนวนมากลุกขึ้นมา ‘เหยียดตัวเอง’ ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจทางอำนาจ ทางสังคม และทางการเมือง โดยอาจเผลอคิดไปล่วงหน้าว่าคนอื่นเหยียดตัวเอง ทั้งที่อาจมีการเหยียดหรือไม่ได้เหยียดก็ได้ การชิงเหยียดตัวเองไปล่วงหน้า จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะค้ำจุนโครงสร้างการเหยียดแบบเดิมนี้เอาไว้
การเหยียดแบบละเอียดเนียนจึงเป็นเรื่องอันตราย เพราะมันมักเกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัว และส่วนใหญ่คนประเภทที่เหยียดตัวเอง ก็มักเหยียดคนอื่นที่ตัวเองคิดว่าต่ำต้อยกว่าไปด้วยในตัว จึงธำรงโครงสร้างการเหยียดแบบนี้เอาไว้ได้อย่างค่อนข้างมั่นคง
ที่จริงแล้ว การใช้ของแบรนด์เนมหรูไม่ใช่เรื่องผิดเลย เพราะมันคือเรื่องของการใช้เงินและรสนิยม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องส่วนตัวทั้งสิ้น แต่หากจะไปให้พ้นจากสภาวะที่เรียกกันว่า ‘การเหยียด’ ก็ต้องย้อนกลับมาคิดถึงอะไรต่อมิอะไรหลายเรื่อง เพื่อจะก้าวต่อไปในอนาคต โดยที่เราสามารถชื่นชมของแบรนด์เนมหรูได้โดยไม่ต้องคิดถึงสถานภาพ และปลอดจากการเหยียด – โดยเฉพาะการเหยียดที่ไม่รู้ตัว
ประวัติศาสตร์ของความเป็นมนุษย์มักวางกับดักทางความคิดเอาไว้ให้เราตกหลุมพรางเสมอ
ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองมันเห็นหรือไม่เท่านั้น