ในหลายบริบทสังคม ไม่เพียงมีประเพณีเก่าแก่โบราณมากมายสำหรับคนตาย แต่ยังมีพิธีกรรมสำหรับคนเป็นเพื่อคนตายที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติตาม มีทั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ยอมรับและปฏิเสธต่อต้านให้มันสูญหายไปสักที ยิ่งในบริบทที่ให้ความสำคัญกับมนุษยธรรม
เช่นพิธีกรรมสำหรับหญิงที่สามีตายแล้ว ที่ไม่เพียงจะเลือกปฏิบัติไม่มีพิธีกรรมเฉพาะเจาะจงชายที่ภรรยาตายแล้ว แต่พิธีสำหรับแม่ม่าย (หรือหม้าย) ยังกดขี่ กดทับ ทอดทิ้งและดูถูกดูแคลน ให้หญิงม่ายที่ลำพังก็เสียใจที่ผัวตายเป็นทุนแล้ว ยังต้องเจ็บป่วย ทุกข์ระทม
ในประเทศไนจีเรีย สิทธิของหญิงหม้ายขึ้นอยู่กับว่าเข้าพิธีสมรสแบบใด ตามกฎหมาย ตามประเพณีดั้งเดิม ตามศาสนาคริสต์ หรือ อิสลาม ซึ่งถ้าแต่งงานตามประเพณีดั้งเดิม ก็จะได้ไม่ได้รับสมบัติมรดกอะไรจากสามีที่ตายไป เพราะว่าเธอเองก็ไม่ต่างจากสิ่งของสมบัติของผู้ชายที่กลายเป็นมรดกให้ต้องส่งทอดไปยังเครือญาติสามีเช่นกัน ซ้ำร้ายหญิงหม้ายชาวไนจีเรียนบางเผ่าอาจต้องตกเป็นเมียพี่ชายน้องชายสามีเธออีกทอดหนึ่ง[1]
สภาวะเมียไนจีเรียนย่ำแย่มากทันทีที่ผัวหมดลมหายใจ ไม่ว่าผัวของเธอจะตายด้วยเหตุผลกลใด เธอจะถูกสันนิษฐานก่อนว่าเธอเป็นผู้ลงมือฆ่า ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างน้อยก็คุณไสย การพิสูจน์ก็คือ เธอจะต้องดื่มน้ำล้างศพผัว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ถ้าปฏิเสธแสดงว่าเธอคือฆาตรกรรม
และในฐานะแม่หม้าย นอกจากสบถสาบานกับซากศพผัว พวกเธอยังต้องแยกตัวเองออกไปอยู่ต่างหาก ต้องปล่อยผมเผ้ารุงรังยุ่งเหยิง ไม่ก็โกนจนโล้นเลี่ยน ไม่เพียงผมบน แต่รวมไปถึง ‘ผมล่าง’ ของเธอ นุ่งห่มสีดำไม่ก็ขาว ไม่อาบน้ำ ไม่เปลี่ยนผ้า นอนบนพื้นหรือเสื่อ กินข้าวดัวยภาชนะดินเผาที่แตกแล้ว ระหว่างไว้ทุกข์ บางชาติพันธุ์เธอต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อร้องไห้ต่อสามีที่ตายและพร่ำเรียกชื่อเขาตลอดช่วงไว้ทุกข์
แต่ละชาติพันธุ์ในไนจีเรีย มีวัฒนธรรมท้องถิ่นต่อแม่หม้ายแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ทุกวัฒนธรรมท้องถิ่น แม่หม้ายต่างทนทุกข์ทรมาน กล้ำกลืนฝืนทน กับการถูกลดทอนคุณค่าความเป็นคน นอกเหนือจากสูญเสียสามี
เช่นชาว Yoruba แม่หม้ายถูกคาดหวังจากสมาชิกในเผ่าให้เศร้าเสียใจรุนแรง เธอถูกคาดหวังให้ต้องเล่นใหญ่ร้องไห้จนสติสมประดีหลายรอบ ต่อหน้าธารกำนัลผู้คนรอบข้าง ต้องแยกตัวอยู่อย่างสันโดษ 7 วัน ไม่โกนหัวก็ถูกสั่งห้ามหวีผมเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์สายสัมพันธ์ระหว่างเธอกับผู้ตาย กินข้าวด้วยจานชามที่แตกที่ปรุงด้วยหม้อที่แตก เช่นเดียวกับที่ต้องดื่มน้ำศพสาบาน เธอต้องปฏิบัติเช่นนั้นตลอดระยะเวลาที่ไว้ทุกข์ ซึ่งกินเวลา 40 วัน 3 เดือน หรือ 4 เดือน เชื่อกันว่าเพื่อป้องกันวิญญาณสามีทำร้าย และที่สำคัญเพื่อให้ครอบครัวผู้ตายมั่นใจว่าหากเธอตั้งครรภ์ระหว่างไว้ทุกข์จะได้ดูแลลูกที่เกิดมา และเจียดมรดกบางส่วนให้ เพราะเป็นลูกที่เกิดกับสมาชิกในครอบครัวเธอ
เช่นเดียวกับวัฒนธรรมไว้ทุกข์ดั้งเดิมของชาว Igbo เพิ่มเติมคือหญิงหม้ายห้ามสัมผัสร่างกายเธอเองและทุกวัตถุสสารที่สะอาด เธอจึงได้รับก้านไม้สำหรับเการ่างกายเวลาคัน เธอต้องนอนบนเสื่อเก่าๆ กินข้าวจานชามเก่าๆ แทนภาชนะปรกติที่สมาชิกในครอบครัวกินกัน
ชาว Igbo มีสุภาษิตว่า “สามีสถาปนาเกียรติยศและศักดิ์ศรีให้กับลูกผู้หญิง” (Di bu ugwa nwanyi) คล้ายกับสามีคือฉัตรแก้วกั้นเกศงามหน้างามเนตรทุกเวลาของไทย ผู้หญิงจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อวัดกันที่ผู้ชายในเผ่า
นักสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีแอฟริกา และนักกฎหมายไนจีเรียน กังวลใจอย่างมากต่อวิธีปฏิบัติกับหญิงหม้าย เพราะเป็นความรุนแรงทางเพศอย่างหนึ่ง ที่กระทำเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องการให้ผู้ชายมีประสบการณ์ความรุนแรงจากประเพณีม่ายเช่นเดียวกับผู้หญิง หากแต่ต้องการขจัดพิธีกรรมนี้ออกไปเท่านั้น และแม้ว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ แต่ก็ยังมีการปฏิบัติกันอยู่[2]
เช่นเดียวกับอีกประเทศแต่คนละทวีปกัน ในบางพื้นที่ของอินเดียมีพิธีสตีอันเป็นส่วนหนึ่งของงานศพผู้ชายที่มีเมียแล้ว ก็คือการให้ภรรยาที่สามีตาย ตายตามสามีระหว่างฌาปนกิจด้วยการเข้าไปถูกเผาพร้อมศพสามี
และเพื่อไม่ให้หญิงหม้ายหลบหนีจึงต้องมีมาตรการหรือเครื่องมือให้ถูกเผาไปพร้อมกัน เช่นใช้เชือกมัดพวกเธอรวมไปกับกับศพสามีแล้วเผาพร้อมกันทีเดียว ห่อด้วยเสื่อไม้ ใช้ท่อนซุงกดทับเอาไว้ เธอจะได้ถูกย่างสดโดยหนีออกไปไหนไม่ได้ และถ้าหากหญิงม่ายคนใดหลบหนีจากสตี เธอและญาติพี่น้องจะถูกเนรเทศออกจากสังคม [3]
หลายคนเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมของชนชั้นปกครองแห่งราชวงศ์ราชบุตรสืบทอดมาหลายศตวรรษที่แล้ว ขณะเดียวกันก็มีหลักฐานมากมายเป็นลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงพิธีกรรมสตี มีศิลาจารึกถูกค้นพบเป็นหลักฐานชัดเจนในเนปาลว่าเริ่มเมื่อปี 464 ศิลาจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดียสร้างขึ้นใน ค.ศ. 510 พบในเมืองเก่าแก่ Eran ก่อนจะกลายเป็นรัฐมัธยประเทศ สร้างขึ้นเพื่อเป็นการสรรเสริญหญิงที่บูชายัญตัวเอง เผาตัวตายตามสามีเพื่อแสดงถึงความรักภักดี แต่ศิลาจารึกสตีพบมากที่สุดในเมืองราชสถาน ซึ่งมีอายุน้อยกว่าที่มัธยประเทศหลายร้อยปี
ขณะนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่เคยเดินทางมาอินเดียพร้อมกับอเล็กซานเดอร์มหาราช บันทึกไว้ว่าเคยมีหญิงหม้ายต่างอยากตายตามสามี และสตีก็เป็นกฎจารีตเพื่อป้องกันฆาตรกรรม ไม่ให้เมียที่เบื่อผัววางยาพิษผัวตัวเองแล้วหาคนรักใหม่ จึงกำหนดให้หญิงต้องตายตามผัวไปหรือเป็นหม้ายอยู่อย่างไม่มีความสุขไปตลอดชีวิต
ไม่ว่าที่มาจะเป็นเช่นไรวัฒนธรรมท้องถิ่นนี้ก็ได้แพร่กระจายไปทั่วอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชสถาน และเบงกอลที่มีพิธีสตีมากกว่าที่อื่นๆ[4] ลำพังเฉพาะในเบงกอล บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษบันทึกว่าในเบงกอลระหว่างปี 1813 – 1828 มีหญิงที่ประกอบพิธีสตี 8,135 ราย บางแห่งก็ระบุว่าระหว่าง1815 – 1828 มีสตี 7,941 นาง เฉลี่ยแล้วพิธีนี้จัดประมาณ 618 ครั้งต่อปี แต่จำนวนตัวเลขนี้เป็นการประเมิณต่ำเกินไป เพราะสถิติในปี 1823 ก็มีสตีไปแล้วถึง 575 คน[5]
‘สตี’ คือชื่อเทพเจ้าผู้หญิงในศาสนาพหุเทวนิยมฮินดู นางเป็นลูกสาวของทักษะ แต่งงานกับศิวะ เทพเจ้าผู้ซึ่งอาศัยบนเขาไกรลาส แต่งตัวเป็นนักพรต นุ่งห่มหนังสัตว์ ห้อยลูกประคำหัวกะโหลกเศษกระดูก ผมเผ้ายาวหนวดเครารุงรัง เนื้อตัวเลอะเทอะเถ้ากระดูก ไม่ชวนดูสง่างาม จนกลายเป็นที่รังเกียจของพ่อตา ทักษะจึงดูถูกเหยียดหยามศิวะ เมื่อทักษะจัดงานศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ต้องเชิญเทพเจ้าทุกคนมาร่วมงาน ทั้งสตีและศิวะจึงไม่ได้รับเชิญเข้าร่วม เมื่อสตีทราบเข้าจึงรุดไปต่อว่าพ่อของเธอกลางงาน แต่ก็ถูกทักษะด่าตอกหน้าเสียเอง ซ้ำพาลด่าสามีของนางด้วยต่อหน้าเทวดาประชาชี เธอไม่สามารถอดทนต่อการให้สามีถูกดูหมิ่นได้จึงแสดงอภินิหารเผาร่างตนเองตาย บางปกรณัมก็เล่าว่าเธอกระโดดเข้ากองไฟในพิธีตาย
ไม่ว่าจะตายด้วยไฟใคร หรือตำนานปกรณัมจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ สตีก็ได้กลายมาเป็นพิธีกรรมท้องถิ่นเก่าแก่ ที่หญิงผู้ประกอบพิธีจะได้รับการสรรเสริญว่าเป็นการอุทิศตนสูงสุดแด่สามี เป็นสตรีผู้สง่างามหาที่เปรียบมิได้ เคร่งครัดในศีลธรรม ไฟที่เผาร่างจะ ไฟที่ครอกเธอจะไถ่บาปให้กับสามีและ 7 ชั่วโคตร และชำระล้างให้เธอกลายเป็นหญิงศักดิ์สิทธิ์บริสุทธิ์ และได้รับการเรียกชื่อของเธอใหม่ว่า ‘สตี’
ความเก่าแก่และตำนานเทพเจ้าของมันไม่ได้หมายความว่ามันจะชอบธรรม แม้พิธีกรรมจะประกอบในนามทางศาสนาฮินดู ทว่ากลุ่มพราหมณ์ก็ต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์ ชาวฮินดูจำนวนมากเองก็ปฏิเสธมาตลอดหลายศตวรรษ สตีกลายเป็นสิ่งต้องห้ามของศาสนาซิกข์ นักปกครองชาวมุสลิมในยุคโมกุลก็ออกกฎหมายเพื่อหยุดยั้งพิธีกรรมนี้ในฐานะความป่าเถื่อน และเมื่อจักรรวรรดิตะวันตกคริสเตียนเข้ามาปกครองอินเดียก็พยายามจะกำจัดพิธีกรรมฮินดูนี้ กลุ่มมิชชันนารี นักเดินทาง เจ้าหน้าที่ ข้าหลวงอังกฤษต่างเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลอินเดียขจัดพิธีกรรมนี้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 กระทั่งใน 1829 จักรวรรดินิยมอังกฤษประกาศให้พิธีสตีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดย Lord William Bentinck ข้าหลวงใหญ่จากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ โดยร่วมกับการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมปฏิรูปศาสนาชาวอินเดีย Raja Ram Mohan Roy
ในมิติเศรษฐกิจอธิบายว่า ที่พิธีสตีได้รับการสนับสนุนมาตลอดทั้งกับผู้หญิงด้วยกันเอง ไม่ว่าวรรณะระดับชั้นใด ทุกระดับการศึกษา ก็เพราะทรัพย์สินต่างๆ ของชายผู้ตายจะตกเป็นมรดกของภรรยาหม้าย แต่ถ้าภรรยายหม้ายเข้าพิธีสตี ทรัพย์สมบัติต่างๆ ก็จะตกทอดเป็นของพ่อแม่สามี[6]
และในมิติวัฒนธรรมชุมชนฮินดู ถ้าไม่ไปเป็นสตี ชีวิตหญิงหม้ายของเธอที่เหลือก็คือละทิ้งตัดขาดกิจกรรมความสุขทางโลกย์ทางสังคมต่างๆ โกนหัว นอนบนเสื่อหยาบๆ บางๆ กินข้าวต้มเป็นอาหาร กวาดลานวัด อุทิศตัวเพื่อศาสนา จนบางทีการตายตกไปตามผัวอาจจะดีกว่า
นับตั้งแต่ 1987 Roop Kanwar หญิงสาวอายุ 18 ปี จากรัฐราชสถาน เข้าพิธีสตีตายตามสามีกลายเป็นสตีคนที่ 40 หลังจากอินเดียเป็นเอกราชสมบูรณ์จากอังกฤษปี 1947 ได้สร้างความเจ็บปวดตกใจอย่างมาก ไม่เพียงต่อชาวอินเดียแต่ทั่วโลก
พ่อแม่สามีถูกดำเนินคดีข้อหาบังคับให้ลูกสะใภ้นั่งบนกองฟอนร่วมกับศพสามีแล้วเผาไปพร้อมกับลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของพวกเขา สองพ่อแม่สามีได้รับการปล่อยตัวในปี 1966[7] อย่างไรก็ตาม พิธีสตีก็ยังประกอบขึ้นและมีสตีเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในนาม ‘ความสมัครใจ’ ของหญิงเอง และ ‘ความโรแมนติก’ ที่หญิงจะยอมอุทิศตัวเพื่อชายคนรักที่จากไป แทนจารีตประเพณี
ในศตวรรษที่ 21 แล้ว จึงยังมีพิธีกรรมนี้อยู่ แต่เป็นที่พบได้ยากมาก ใน 2002 มีรายงานว่า มีหญิงอายุ 65 ปี ตายตามสามีด้วยการเผาตนเองบนกองฟืนศพสามี ในหมู่บ้านรัฐมัธยประเทศของอินเดีย และอีกครั้งใน 2006 เป็นหญิงวัย 40 ที่เข้าสตีด้วยความสมัครใจ ในวันเผาสามีขณะที่ครอบครัวและเพื่อนบ้านต่างแยกย้ายกันกลับบ้านจากงานเผา ปล่อยให้ศพสามีเธอไหม้บนกองฟอน เธอโกหกทุกคนว่าจะออกไปสะสางงานบางอย่าง แต่ก็วกกลับมายังกองฟอนสามีอีกครั้ง และทำพิธีสตี และในปี 2009 หญิงวัย 60 ชาวรัฐราชสถานพยายามประกอบพิธีสตีแต่ไม่สำเร็จเพราะชาวบ้านและตำรวจเข้าขัดขวาง[8]
เฟมินิสต์และนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีอินเดียกังวลใจว่าสตีจะได้รับความนิยมอีกครั้งด้วยเหตุผลทางการตลาด เพราะทั่วอินเดียมีวัดประจำเทวีสตรีจำนวนมาก อย่างต่ำ 250 แห่ง ซึ่งยังทรงอิทธิพลในชุมชน และเชื่อว่ามีพิธีวัตรดั้งเดิมสืบทอดมาหลายศตวรรษ พิธีกรรมบูชาก็ไม่ชัดเจนจนไม่สามารถห้ามปรามได้[9] เพราะการที่สตียังคงยืนเด่นโดยท้าทายโลกมาหลายศตวรรษขนาดนี้ มันย่อมไม่ใช่ความเชื่อส่วนบุคคลแล้ว แต่เป็นผลผลิตของบริบทสังคม ที่ผู้หญิงจะมีค่าเมื่อพิจารณาจากการปรนนิบัติรับใช้สามี ยิ่งแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสามี ยิ่งได้ชื่อว่าเป็นภรรยาที่ดี เพราะคำว่า ‘สามี’ หรือ ‘สวามี’ ตามตัวอักษรแปลว่า ผู้เป็นใหญ่หรือเจ้าของ
กลับมาชำเลืองประเทศไทย แม้จะได้รับอิทธิพลอินเดียหรือ ‘ภารตภิวัฒน์’ (Indianization) ในเรื่องของพิธีกรรมความเชื่อ เช่นพิธีกรรมต่างๆ แต่โชคดีที่สตีไม่รวมอยู่ในวัฒนธรรมนำเข้าด้วย เราจึงไม่เห็นภรรยาของผู้ตายกระโจนหรือถูกถีบเข้ากองไฟ ตายตกไปพร้อมกับสามี หากแต่ภาวะแม่หม้ายนั้นก็ถูกทำให้มองไม่เห็นเสมือนวิญญาณ ที่ไม่มีตัวตนแต่ให้คุณให้โทษได้อยู่
จากการศึกษาวัฒนธรรมประชาชนของนิธิ เอียวศรีวงศ์[10] ‘ผีแม่ม่าย’ เป็นผีที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นใครก็ไม่รู้ มีกี่ตนก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่ามีความต้องการทางเพศสูงเที่ยวอาละวาดเอาชายแต่งงานแล้วไปอยู่ด้วย เป็นภัยให้โทษ จนต้องทำหุ่นฟาง หุ่นผู้ชายมีจู๋ขนาดใหญ่ พกปลัดขิก หรือเอามาตั้งตระหง่านกลางหมู่บ้าน เอาเสื้อสีแดงแขวนไว้หน้าประตูบ้าน ทาเล็บแดง ทาปาก นุ่งโสร่งนอน ติดป้าย “บ้านนี้ไม่มีผู้ชาย” หน้าบ้าน พวกผู้ชายบางคนยังทาเล็บมือ ทาปาก นุ่งโสร่งนอน ป้องกันไม่ให้ผีแม่ม่ายฉุดคร่าวิญญาณ อันเป็น ‘วัฒนธรรมใหม่’ ในวัฒนธรรมอีสานราวๆ ทศวรรษ 2540 มานี่เอง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภาคอีสานที่ถูกให้เกิดการผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้น รายได้หลักของครอบครัวเปลี่ยนผ่านจากภาคเกษตรกรรมมาสู่รับจ้างแรงงานตามที่ต่างๆ ทั้งจากการเดินทางไปเป็นแรงงานในเมืองแรงงานภาคการเกษตรรับจ้างทำไรไถนาเพราะได้ขายผืนนาไปแล้ว หรือแรงงานเร่รอน บ้างส่งลูกเรียนในเมืองจนจบทำงานแล้วส่งเงินมาให้ใช้ ซ้ำแรงงานไร้ฝีมือก็จ้างแรงงานอพยพแทนผู้ชาย และแรงงานหัตถอุตสาหกรรมนิยมจ้างผู้หญิงมากกว่า เพราะค่าแรงต่ำกว่าและเชื่อว่าควบคุมได้ง่าย ทำให้ผู้ชายที่อยู่ในหมู่บ้านไม่มีงานขาดรายได้ประจำ สูญเสียบทบาททางเศรษฐกิจในครอบครัว ผู้หญิงกลับมีบทบาทมากขึ้นเพิ่มเติมจากงานหลักซึ่งก็คืองานบ้านในฐานะแม่บ้าน งานผู้ชายต่อชุมชนก็น้อยลงเพราะกลายเป็นหน้าที่ของอบต.หน่วยงานรัฐที่ไปจ้างผู้รับเหมาภายนอกแทน แถมการบวชที่ผูกขาดเฉพาะผู้ชายก็ค่อยๆ ลดความจำเป็นลง
ผู้หญิงในชุมชนจึงปลุกความเชื่อเพื่อปลอบใจผู้ชายในหมู่บ้านที่นับวันยิ่งว่างเปล่า ไม่มีอำนาจบทบาทสำคัญในชุมชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ด้วยการผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมในไทยเช่นเดียวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางพื้นที่ ที่เชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพศหญิง เป็นนามธรรมที่ให้คุณให้โทษได้ จนต้องทำเครื่องป้องกันเช่นถวายปลัดขิกเพื่อให้ผีพึงพอใจ
เพราะตามที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า เครื่องลางแก้เคล็ดหลอกผีแม่ม่ายตั้งแต่หุ่นผู้ชายยังอวัยวะเพศชายเทียมนั้น ก็ประกอบโดยผู้หญิงเอง เพราะเกรงว่าจะเสียผัวให้ผีแม่ม่าย[11]
แล้วตัวเองกลายเป็นม่ายแทน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Joseph Olukayode Akinbi. Widowhood Practices in Some Nigerian Societies: A Retrospective Examination. International Journal of Humanities and Social Science. Vol. 5, No. 4 (April 2015). Pp. 67-74.
[2] Gbenga Emmanuel Afolayan. Widowhood Practices and the Rights of Women: The Case of South-Western Nigeria. Master Degree of Arts in Development Studies,Human Rights, Development and Social Justice, 2011.
[4] Auboyer, Jeannine 2002. Daily Life in Ancient India: From 200 BC to 700 AD. Phoenix Press, London.
[5] Dipti Mayee Sahoo. Analysis Of Hindu Widowhood In Indian Literature. IOSR Journal Of Humanities And Social Science, Vol. 21, No. 9, Ver. 7 (Sep. 2016). Pp. 64-71.
[6] kashgar.com.au/blogs/history/the-practice-of-sati-widow-burning
[8] timesofindia.indiatimes.com
[9] timesofindia.indiatimes.com/Why-sati-is-still-a-burning-issue
[10] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ผีแม่ม่าย. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่29 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2551), น. 116-127.
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.