คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเกม Dropsy
‘ตัวตลก’ ฟังเผินๆ คล้ายเป็นงานอารมณ์ดีเพราะอยู่กับเสียงหัวเราะ แต่ถ้าถามกันจริงจัง โลกนี้ก็มีน้อยคนนักที่อยากเป็นตัวตลก
ชีวิตของนักแสดงตลกนั้นไม่ง่าย ความที่พวกเขาได้รับอภิสิทธิ์ให้ออกนอกขนบธรรมเนียมของสังคม สามารถล้อเลียนและเสียดสีวัฒนธรรม ผู้มีอำนาจ และสิ่งต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ ช่วยให้สังคมได้ระบายอารมณ์รวมหมู่ แต่ในขณะเดียวกัน ตัวตลกต้องทรงตัวตลอดเวลาอยู่บนเส้นลวดบางๆ ที่กั้นกลางระหว่าง ‘ความตลกขบขัน’ อันเป็นคุณค่าเชิงบันเทิง กับ ‘การลามปามสามหาว’ ในความรู้สึกของคนดู โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจประกาศิต ‘เส้น’ ที่ตัวตลกจะข้ามไปไม่ได้ (ซึ่งก็แน่นอนว่า สังคมยิ่งเป็นเผด็จการ ยิ่งเปิดพื้นที่ให้กับตัวตลกน้อยมากหรือไม่มีเลย)
กล่าวเฉพาะตัวตลกแบบละครสัตว์ คนที่ทาหน้าขาววอก ตาและปากสีแจ๋น ใส่คอสตูมหลากสีหลวมโพรก แบบที่เราคุ้นตามานานกว่า 150 ปี งานวิจัยชิ้นหนึ่งในอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 2008 พบว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ชอบตัวตลก โดยให้เหตุผลว่าตัวตลกดู ‘น่ากลัว’ และ ‘เข้าใจไม่ได้’ ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นในปี ค.ศ. 2015 ที่ศึกษาความรู้สึก ‘น่าขนลุก’ (creepiness) ของผู้คน ก็พบว่าตัวตลกเป็นอาชีพที่ทำให้คนรู้สึกว่า ‘น่าขนลุก’ เป็นอันดับหนึ่ง (ตามมาด้วยอาชีพสตัฟฟ์สัตว์ให้ดูเหมือนยังมีชีวิต (taxidermist) เจ้าของร้านเซ็กซ์ทอย และนักจัดพิธีฌาปนกิจ)
ความน่ากลัวของตัวตลกถูกตอกย้ำขับเน้นตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผ่านตัวละคร ‘ตัวตลกชั่ว’ หรือ evil clown อย่าง ‘โจ๊กเกอร์’ ใน ‘แบทแมน’ หรือตัวร้ายในนิยายสยองขวัญ ‘IT’ โดย สตีเฟน คิง ถึงกับมีการบัญญัติคำว่า ‘coulrophobia’ ขึ้นมาอธิบายอาการ ‘กลัวตัวตลก’ ถึงแม้วงการแพทย์จะยังไม่นับว่าเป็นอาการผิดปกติทางจิต หรือ disorder ก็ตาม
ทำไมทั้งผู้ใหญ่และเด็กถึงได้รู้สึกว่าตัวตลกน่ากลัวหรือน่าขนหัวลุก? รามิ เนเดอร์ (Rami Nader) นักจิตวิทยาชาวแคนาดา ผู้ศึกษาอาการกลัวตัวตลก เชื่อว่าความกลัวนี้มาจากการที่ตัวตลกแต่งหน้าและสวมใส่คอสตูมที่ปกปิดตัวตนและความรู้สึก ทำให้ ‘เขา’ ดูแตกต่างจาก ‘เรา’ อย่างชัดเจน และ ‘ความเป็นอื่น’ นี้เองคือสิ่งที่ทำให้เราไม่สบายใจ โดยเฉพาะในเมื่อเราคาดเดาไม่ได้ว่าตัวตลกจะทำอะไร เพราะการ ‘เล่นตลก’ (โดยเฉพาะกับคนดู) ของตัวตลกนั้นคลุมเครือโดยธรรมชาติ คุยกันอยู่ดีๆ เราอาจจะโดนเขาเอาเค้กปาเสื้อ หรือตกเป็นเป้าของมุกตลกที่ทำให้คนอื่นขำ แต่เราไม่ขำด้วย
ความไม่แน่นอนที่ว่าตัวตลกอาจเล่นตลกกับเรา เข้ามาล่วงล้ำเนื้อตัวของเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ทำให้ตัวตลก ‘น่าขนลุก’ ในความ ‘เป็นอื่น’ สำหรับเราเสมอ
แต่ถ้าเราลองมองโลกจากมุมของตัวตลกบ้างล่ะ?
Dropsy เกมผจญภัยไม่ธรรมดาจากความคิดสร้างสรรค์ของ เจย์ โธเลน (Jay Tholen) ศิลปินชาวอเมริกัน ให้เราเล่นเป็น ‘ดร็อพซี’ ตามชื่อเรื่อง ตัวตลกละครสัตว์ที่ดูจากหน้าตาก็น่าขนพองสยองเกล้า ความที่ตาสองข้างสีเหลืองอ๋อยไม่เห็นลูกตา แสยะยิ้มเห็นฟันหลอสีเหลืองซีดตลอดเวลา น่ากลัวกว่าโจ๊กเกอร์ในเรื่อง ‘แบทแมน’ เสียอีก แถมมือทั้งสองข้างยังไม่มีนิ้วเลยสักนิ้วเดียว!
เราในหมวกดร็อพซีไม่รู้อะไรมากนัก รู้แต่ว่าอยากทำให้ทุกคนมีความสุข อยากให้คนอื่นรู้สึกดีกับเรา แต่คนในเมืองแทบทุกคนเกลียดหรือกลัวไม่อยากให้เราเข้าใกล้ หลายคนปักใจเชื่อข่าวลือที่ว่า ดร็อพซีเป็นคนเผาละครสัตว์ที่เขาสังกัด ซึ่งส่งผลให้มีคนตายมากมาย เราไม่รู้หรอกว่าจะล้างมลทินให้กับตัวเองได้อย่างไร ใครเป็นตัวการสั่งวางเพลิงที่แท้จริง
รู้แต่ว่าอยาก ‘กอด’ ทุกคนและทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่สิงสาราสัตว์ ต้นไม้ กระทั่งส้วมก็อยากเข้าไปสวมกอด
ในเมื่อเราอยากกอด แต่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมให้กอด เพราะเกลียด กลัว ไม่ไว้ใจ หรือมีปัญหาหนักอกที่ทำให้ไม่มีอารมณ์จะให้ใครกอด อย่าว่าแต่ตัวตลกน่าขนลุก ฉะนั้น ‘ปริศนา’ หลักๆ ในเกมนี้จึงเป็นการหาวิธีช่วยแก้ปัญหาให้กับคนอื่น ให้เขารู้สึกดีกับเรา เราจะได้เข้าไปกอด (ซึ่งก็แน่นอนว่า ‘กอด’ เป็นแอคชั่นหลักที่เราจะใช้มากที่สุดในเกม)
แต่การแก้ปัญหาให้คนอื่นนั้นไม่ง่ายเลย เพราะเราไม่เข้าใจภาษาที่คนในเมืองนี้ใช้สื่อสารกัน ตัวเขียนทั้งหมดในเกมเป็นรหัสยึกยืออ่านไม่ออก (แต่ถ้าใครใจเย็นนั่งถอดรหัสแบบที่แฟนพันธุ์แท้หลายคนนั่งทำ ก็จะได้เข้าใจเรื่องราวมากขึ้น) ฟังเขาพูดก็ไม่เข้าใจ รับรู้ความหมายแต่เพียงลางๆ ผ่าน ‘ฟองสบู่คำพูด’ หรือ speech bubble ที่นักอ่านการ์ตูนรู้จักดี แต่สิ่งที่อยู่ในฟองสบู่ไม่ได้ลอยออกมาเป็นภาษาเขียน แต่แสดงเป็นภาษาภาพ ซึ่งเราต้องมาตีความเอาเอง เช่น ภาพหน้าบึ้งเขียวปั้ดคู่กับปรอทสีแดง น่าจะแปลว่าคนคนนั้นกำลังระทมจากพิษไข้ ภาพขากับลูกศร น่าจะแปลว่าเขาอยากให้เราเดินไปที่ไหนสักแห่ง
การตีความจากภาษาภาพให้ถูกต้องเป็นความท้าทายในเกม แต่ก็สนุกดีและไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง (ไม่อย่างนั้นคนเล่นส่วนใหญ่คงหงุดหงิดจนเล่นเกมนี้ไม่จบ) แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การที่ดร็อพซีไม่เข้าใจภาษาของชาวเมืองแปลว่าเขาสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ ทำให้การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ในขณะเดียวกัน ดร็อพซีกลับสนทนาภาษาสัตว์ได้ (โดยที่เราคนเล่นฟังไม่ออกว่าคุยอะไรกัน) แถมเล่นๆ ไป ยังมีสัตว์คู่ใจสามตัว คือ สุนัข หนู และลูกนก เป็นเพื่อนมาเดินตามเป็นพรวน และหลายครั้งเราก็จำเป็นจะต้องสลับไปเล่นเป็นสัตว์คู่ใจเหล่านี้ในการแก้ปริศนาหลายจุดในเกม เช่น ให้สุนัขขุดสิ่งที่ถูกฝังดินขึ้นมา ให้หนูมุดรูใต้ดินไปกัดสายไฟ ทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยไม่ทำงาน ให้นกบินไปคาบสิ่งที่อยู่สูงเกินเอื้อมของดร็อพซี ฯลฯ
การที่ดร็อพซีไม่เพียงแต่เป็นตัวตลก แต่เป็นตัวตลกที่คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง คุยกับสัตว์รู้เรื่อง ส่งผลให้เขา ‘เป็นอื่น’ ถึงขั้นเป็น ‘คนนอก’ ของสังคมนี้อย่างแทบจะสมบูรณ์แบบ
ลองคิดดูว่า ถ้าอยู่มาวันหนึ่ง จู่ๆ เราพบว่าคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ตกเป็นเป้าของการดูถูกเหยียดหยาม เลือกปฏิบัติ หวาดกลัวหรือเกลียดชังสารพัดวิธี เราจะรู้สึกอย่างไร จะยังทำตัวดีต่อคนเหล่านี้หรือไม่?
ดร็อพซีนอกจากจะไม่เคยคิด ‘เอาคืน’ กับคนที่ทำตัวแย่กับเขาแล้ว ยังพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้คนทุกคน และสัตว์ทุกตัวมีความสุขหรืออย่างน้อยก็ทุกข์น้อยลง บางครั้งการทำแบบนี้ก็เป็นเรื่องง่าย อย่างตอนที่เด็กผู้หญิงเศร้าโศกเสียใจที่ดอกไม้แห้งเหี่ยวโรยรา ดร็อพซีเพียงแต่หาดอกใหม่มาทดแทน (ต้องปลูกตอนกลางคืนตอนที่เด็กไม่อยู่ ไม่อย่างนั้นเธอจะไม่ยอม เพราะคิดว่าจะมาถอนดอกไม้ไปเฉยๆ) เธอก็ลิงโลดดีใจเต้นรำรอบดอกไม้ และให้ดร็อพซีคว้าตัวมากอดอย่างเต็มใจ หรืออย่างตอนที่เจ้าของร้านขายคอสตูมยังทำใจไม่ได้กับการจากไปของภรรยา ดร็อพซีเพียงแต่มอบภาพถ่ายของเธอให้กับเขา เท่านั้นเจ้าของร้านก็ซาบซึ้งใจแล้วที่ได้มีอนุสรณ์ไว้ระลึกถึง
ในแง่หนึ่ง เกมนี้จึงเท่ากับสอนโดยไม่สั่งสอนว่า นิยาม ‘ความสุข’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีวิธีมากมายที่เราจะช่วยให้คนรู้สึกดีขึ้น โดยไม่ต้องไป ‘ตัดสิน’ ว่าใครคิดผิดคิดถูก ตัวอย่างในเกม เช่น ดร็อพซีแก้ปัญหาสาวนักเทศนาในโบสถ์ ผู้พร่ำโพนทะนาว่าเพลงร็อคคือเสียงเพลงของซาตาน (เป็น ‘ปัญหา’ ของคนอื่นในโบสถ์ที่รำคาญเสียงป่าวร้องฆ้องแตกของเธอ) อย่างง่ายๆ ด้วยการเปิดหน้าต่าง พลันที่สายตานักเทศน์มองเห็นป้ายากจนด้านนอก (ผู้ซึ่งเราช่วยไปก่อนหน้านี้แล้วด้วยการเอาแซนด์วิชไปให้) เธอก็ปิ๊งไอเดีย แปลงโบสถ์ให้กลายเป็นสถานที่พักพิงสำหรับคนไร้บ้าน
เพียงเท่านี้ทุกฝ่ายก็แฮปปี้ ดร็อพซีได้กอดสาวนักเทศน์และคนอื่นอีกหลายคน ก่อนที่จะไปช่วยจัดแจงให้วงดนตรีร็อคได้แสดงคอนเสิร์ตสมใจอยาก!
การช่วยให้คนมีความสุขมากขึ้นในตัวมันเองก็เป็นรางวัลแล้ว ไม่ต้องมีสิ่งตอบแทนใดๆ เมื่อหัวใจของเราพองโตขึ้นอีกนิด ในเกมนี้ดร็อพซีเก็บบันทึกคน สัตว์ และสิ่งของที่เขาได้กอดในรูปวาดลายมือไก่เขี่ยในห้องนอนที่เต็นท์ละครสัตว์ มีคนมากมายที่เราไม่จำเป็นต้องช่วย (เพื่อกอด) ก่อนจะถึงฉากจบ นับเป็น optional puzzles แต่ก็สร้างแรงจูงใจให้กลับไปเล่นใหม่อีกรอบ
อย่างไรก็ตาม การได้ช่วยเหลือและกอดคนก็ไม่ช่วยขจัดฝันร้ายของดร็อพซีได้ เขาฝันร้ายแทบทุกครั้งที่นอนในห้องนอนของตัวเอง และฝันร้ายก็ทวีความน่าเกลียดน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ
จนสุดท้ายมันไม่ใช่ฝันร้ายอีกต่อไป แต่กลายเป็นความจริงอันเหี้ยมโหด
นักธุรกิจใหญ่ที่สัญญาว่าจะจ้างดร็อพซีกับผองเพื่อนคู่ใจไปแสดงในละครสัตว์แห่งใหม่ที่เขาทุ่มทุนสร้าง (และดร็อพซีก็ตอบตกลงเพราะอยากได้เงินมาซื้อยารักษาพ่อ) กลับกลายเป็นคนร้ายในคราบนักบุญ แอบฉีดยาเปลี่ยนสัตว์คู่ใจดร็อพซีทั้งสามตัวให้กลายเป็นสัตว์ประหลาดดุร้าย หวังว่าดร็อพซีจะถูกคมเขี้ยวฉีกทิ้งเป็นชิ้นๆ ต่อหน้าคนดู – ซึ่งก็กำลังโห่ร้องอย่างสะใจ ในขณะที่ดร็อพซีขวัญผวาใกล้สิ้นสติ
การณ์กลับพลิกผัน เมื่อสัตว์ทั้งสามจำ ‘เพื่อน’ ของพวกมันได้ แทนที่จะปรี่เข้าขย้ำ กลับจับตัวดร็อพซีขึ้นมาเลียหน้าเลียตาด้วยความรัก นักธุรกิจใหญ่หนีออกนอกละครสัตว์ไปอย่างคับแค้นใจ พร้อมเสียงปรบมือกึกก้องต่อดร็อพซีจากเหล่าคนดู (ซึ่งเมื่อไม่ถึงหนึ่งนาทีที่แล้วยังโห่ให้เขาถูกฆ่า!)
ในฉากสุดท้ายของเกม เราเห็นนักธุรกิจใหญ่ ‘วาร์ป’ เข้าประตูต่างมิติ ณ แท่นหินประหลาดจากต่างดาว เมื่อดร็อพซีตามเข้าไป เขาก็ถูกนักธุรกิจชักปืนออกมายิงระยะเผาขน
ดร็อพซีล้มลง… แต่ไม่ตาย ฉับพลันจานบินก็โผล่ ดูดตัวเขาขึ้นไปบนฟ้า สุดท้ายดร็อพซีก็ได้พบกับแม่ที่แท้จริงของตัวเอง – แม่ผู้เป็นราชินีจากต่างดาว
โลกของดร็อพซีส่งตัวเขาและพี่อีกสองคนมายังโลกตั้งแต่เมื่อครั้งเขายังแบเบาะ นักธุรกิจใหญ่ก็คือพี่ชายต่างดาวของดร็อพซี ผู้เฝ้าฝันมาตลอดว่า วันหนึ่งเขาจะได้กลับโลกเกิด ขึ้นครองบัลลังก์แทนบิดา แต่ก็ต้องอกหักเพราะความอาฆาตมาดร้าย ถึงขนาดวางแผนฆ่าน้องในไส้ของตัวเองได้ลงคอ
สุดท้าย ดร็อพซีก็เป็น ‘คนนอก’ โดยแท้ เพราะโลกของเขาไม่ใช่โลกของเราตั้งแต่แรก
ถึงแม้จะไม่เคยขับไล่ไสส่งซึ่งหน้า อากัปกิริยาของคนในเมืองก็มีค่าไม่ต่างกัน มีแต่เพียงความพยายามอย่างยิ่งยวดเหนือมนุษย์ (ซึ่งพล็อตเรื่องก็เผยให้เห็นว่า ไม่ใช่มนุษย์!) ที่อยากให้คนเมืองยอมรับเขา ความพยายามของดร็อพซีเองเท่านั้นที่ช่วยระงับไม่ให้สถานการณ์เลยเถิด กระนั้นก็ไม่อาจหยุดแววตากระเหี้ยนกระหือรือของฝูงชนในละครสัตว์ฉากสุดท้ายได้ – ฉากที่ทำให้ผู้เขียนนึกถึง ‘ไอ้ฟัก’ ใน ‘คำพิพากษา’ นวนิยายชิ้นเอกของ ชาติ กอบจิตติ