ทุกวันพฤหัสที่ 2 ของเดือนมิถุนายน หรือสักวันพฤหัสบดีในเดือนพฤษภาหรือมิถุนา เป็นวันจัดพิธีกรรมไหว้ครูตามประเพณีโรงเรียน ด้วยความเชื่อว่าเทวดาประจำวันพฤหัสบดี เป็นเทวดาแห่งครูบาอาจารย์และสติปัญญา ใครจะร่ำเรียนศึกษาวิชาอะไรก็ให้เริ่มเรียนวันพฤหัสเป็นฤกษ์มงคล ได้รับพรให้เฉลียวฉลาด เรียนรู้แตกฉาน ส่วนที่เลือกจัดในเดือนเหล่านี้ก็เพราะโรงเรียนเพิ่งเปิดเทอม ส่วนมหา’ลัยก็คงต้องเลื่อนไปจัดกันเดือนสิงหา กันยา แทน
บรรดานักเรียนมีหน้าที่ตระเตรียมเครื่องบูชา คัดเลือกตัวแทนนักเรียนไปหมอบกราบ นักเรียนหญิงถือพานพุ่มดอกไม้ นักเรียนชายถือพานธูปเทียนตั้งโด่ เพื่อมาระลึกนึกถึงบุญคุณครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา นักเรียนที่เหลือก็ไปเด็ดหญ้าแพรกข้าวตอกดอกเข็มดอกมะเขือมาไหว้ อธิบายกันปากต่อปากว่า หญ้าแพรกเป็นพืชแพร่พันธุ์ไว สติปัญญานักเรียนจะได้งอกงามเรียนรู้ว่องไว (ห้ะ?) ดอกมะเขือเป็นดอกที่โน้มต่ำลงมา ลูกศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่ดื้อรั้นปีกกล้าขาแข็ง (ห้ะ??) ข้าวตอกเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย เอาชนะความขี้เกียจซุกซน เหมือนข้าวสีขาวสะอาดตาแตกออกมาจากเปลือกข้าว (ห้ะ???) และดอกเข็มก็เพื่อสติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนเข็ม (ห้ะ????) เป็นปริศนาธรรมที่หาความเชื่อมโยง GAT อะไรไม่ได้เลย
ในส่วนของพิธีกรรมนั้น ก็มีตั้งแต่สวดมนต์ภาษาบาลี ไปจนถึงร้องเพลงสตริงซึ้งๆรำลึกถึงพระคุณที่ 3 ว่ารองจากพ่อแม่บังเกิดเกล้าก็มีคุณครูนี่แหละที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักเรียน จนต้องเทิดทูนไว้เหนือเกล้ากระทั่ง บุญเคยทำมาตั้งแต่ปางใดๆ ก็ต้องยกให้ท่าน
ราวกับว่าการเป็นครูคือการสะสมบารมี จัดลำดับช่วงชั้นผ่านการประสิทธิ์ประสาทวิชา กันเป็นทอดๆ ครูของครูก็ยิ่งทวีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นไปอีก กลายเป็นอีกฐานันดรหนึ่งของหน่วยเล็กๆ ทางสังคมที่เรียนกว่าสถานศึกษา โรงเรียน มหา’ลัย ไม่เพียงต้องจัดพิธีหมอบกราบบูชา แม้แต่ห้องน้ำก็ยังต้องจัดไว้เฉพาะ ไม่สามารถขี้เยี่ยวปะปนกับลูกศิษย์ได้ ทั้งๆ ที่อาชีพครูบาอาจารย์ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้เกิดความเท่าเทียมเสมอภาค เช่นความเสมอภาคทางเพศ และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติและขบวนการเคลื่อนไหวทางเพศ
เพราะแต่ก่อนมีแต่ผู้ชายสามัญชนเท่านั้นที่ได้เรียนหนังสือในวัดพุทธผ่านการบวชเรียน และหญิงชายชนชั้นสูงก็เรียนวิทยาการกันภายในวัง เพื่อรักษาสถานภาพทางชนชั้นตนเอง กว่าหญิงสามัญชนจะเริ่มมีการศึกษาก็ได้อานิสงส์จากคณะมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาและสอนหนังสืออย่างเป็นระบบให้เด็กๆ ทั้งชายและหญิง จนทำให้เกิดโรงเรียนสมัยใหม่เริ่มแพร่หลาย โรงเรียนสำหรับราษฎรชายแห่งแรกในปี พ.ศ. 2395 คือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนหญิงแห่งแรก โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ในจังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. 2408, จากนั้นจึงเริ่มมี พ.ศ. 2417 กุลสตรีวังหลัง พ.ศ. 2443 สตรีวิทยา, พ.ศ. 2447 อัสสัมชัญคอนแวนต์, ซางตาครู้สคอนแวนต์ พ.ศ. 2449, เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ในพ.ศ. 2450 เซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ในพ.ศ. 2468, มาแตร์เดอีวิทยาลัย ในพ.ศ. 2470
คนไทยพุทธก็เริ่มตื่นตัวตาม สร้างโรงเรียนทำธุรกิจเพื่อการศึกษามากมายเช่น โรงเรียนบำรุงวิชา โดยบุญเกิด ปาจินพยัคฆ์เป็นเจ้าของและครูผู้สอน ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2442, โรงเรียนราชินีเปิดสอนในปี พ.ศ. 2447 ปีเดียวกับโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์, ศึกษานารี ปี พ.ศ. 2453, โรงเรียนเสาวภาปี พ.ศ. 2449 บนเกาะสีชัง, โสตรีบำรุงวิชาที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2444 , โรงเรียนวิเชียรมาตุ พ.ศ. 2460 ในจังหวัดตรัง, ราชินีบูรณะ พ.ศ. 2461 ประจำมณฑลนครไชยศรี, โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ พ.ศ. 2462 ประจำมณฑลอยุธยา
โรงเรียนแบบใหม่ไม่เพียงทำให้ผู้หญิงมีโอกาสได้รับการศึกษาสมัยใหม่เหมือนกับผู้ชาย สามารถอ่านออกเขียนได้ คำนวณเป็น เรียนรู้วิชาชีพ ยังนำไปสู่การเกิดอาชีพใหม่ของผู้หญิง
เนื่องจากรู้หนังสือสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย และด้วยการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนในยุคแรกเป็นการแบ่งหลักสูตรและโรงเรียนตามเพศสภาพชายหญิง จึงเกิดความต้องการอาชีพครูสำหรับสอนนักเรียนหญิงโดยเฉพาะ
แต่ขณะนั้น ‘ครู’ ยังเป็นอาชีพที่ให้ความหมายถึงผู้ชาย เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่เมื่อเอ่ยถึงตำรวจ ทหาร แพทย์ นักการเมือง ภาพที่นึกถึงอาชีพนี้มักเป็นผู้ชายผุดขึ้นมาก่อนเสมอ เมื่อผู้หญิงมาประกอบอาชีพเหล่านี้เลยต้องมีเพศมาเป็นคำพ่วง ในยุคนั้นจึงเรียกว่า ‘ครูผู้หญิง’
โรงเรียนฝึกหัดครูผู้หญิงเพื่อเร่งผลิต ‘ครูผู้หญิง’ ออกมารองรับการเรียนการสอนนักเรียนหญิงจึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2456 ‘โรงเรียนเบญจมราชาลัย’ เกิดช้ากว่าโรงเรียนฝึกหัดครูผู้ชายถึง 21 ปี ‘โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์’ ที่ผลิตครูผู้ชายออกมาถือกำเนิดไปพร้อมกับกระทรวงธรรมการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2435 เนื่องจากรัฐฏาธิปัตย์ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาสำหรับผู้หญิง ในพ.ศ. 2445 อันเป็นปีที่โรงเรียนฝึกหัดครูผู้หญิงที่ชื่อสตรีสุนันทาต้องปิดตัวลง งบประมาณแผ่นดินมีถึง 39,028,000 บาท แต่กระทรวงธรรมการได้รับเพียง 1,138,000 บาท คิดเป็น 2.9 % ของงบประมาณทั้งหมด เพราะรัฐบาลยังคงเห็นว่าเป็น ‘การสิ้นเปลือง’ ตามรายงานของเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ต่อมาบรรดาข้าราชการก็ได้ร่างหลักสูตรการเรียนการฝึกหัดครูผู้หญิงกันเอง โดยให้โรงเรียนสตรีวิทยาเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู ภายใต้งบประมาณที่กระทรวงธรรมการได้รับ คือ 1,422,000 บาท เป็นเพียง 2.5 % จากงบประมาณแผ่นดิน 56,503,000 บาท จากนั้นก็มีการเปิดโรงเรียนฝึกหัดครูเรื่อยมา เช่นการฝึกหัดครูผู้หญิงระดับประถมของโรงเรียนเบญจมราชาลัย พ.ศ. 2456 จากนั้นมีการเรียนฝึกหัดวิชาชีพครูมัธยมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วง 2470-2474 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
อาชีพครูจึงกลายเป็นอาชีพสมัยใหม่สำหรับผู้หญิงทันสมัย เช่นเดียวกับอาชีพพยาบาลในขณะนั้น ออกไปทำงานนอกบ้านสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองหาเลี้ยงครอบครัวได้เอง ได้เสมอเหมือนกับผู้ชาย
ทว่าอาชีพครูผู้หญิงก็ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติทางเพศมาตลอด ข้าราชการครูผู้หญิงไม่ได้รับบรรดาศักดิ์เหมือนกับครูผู้ชาย มีอัตราเงินเดือนต่ำกว่า แม้จะประกอบอาชีพครูมายาวนานกว่า เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและบทบาทสำคัญแค่ไหนก็ตาม เพราะยังถือว่าเป็นเพียงข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ตามกระทรวงธรรมการมอบหมาย และรับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนเท่านั้น รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้ถือว่าเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตรหรือชั้นราชบุรุษ ด้วยเหตุนี้พวกเธอไม่มีโอกาสรับบำเหน็จบำนาญเมื่อพ้นจากตำแหน่ง
การเลือกปฏิบัตินี้นำไปสู่การเคลื่อนไหวผ่านการเขียนบทความเรียกร้องสิทธิผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชายในอาชีพครู ลงนิตยสารผู้หญิงเช่น สุภาพนารี หญิงสยาม สุภาพสตรี หญิงไทย กระทั่งครูผู้หญิงได้รับสิทธิอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับครูผู้ชาย เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ออกพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2479 โดยปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนใหม่และให้ข้าราชการหญิงมีสถานะทัดเทียมกับข้าราชการชาย ข้าราชการครูผู้หญิงจึงได้สิทธิของข้าราชการอย่างเสมอภาคตามระบอบรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินเดือนเท่ากับข้าราชการชาย รับบำเหน็จบำนาญเช่นเดียวกัน
เนื่องจากขณะที่ผู้มีบทบาทในการสอนสั่งหนังสือแต่เดิมอยู่ในวัดและโรงเรียนสอนศาสนา ผู้สอนเป็นพระ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างครูกับนักเรียนกำหนดต้องเคารพเชื่อฟังอย่างสยบยอม ซ้ำหลักสูตรการเรียนการสอนของนักเรียนหญิงเมื่อแรกมีการศึกษาก็มุ่งผลิตแม่บ้านแม่เรือน ครูผู้สอนถูกคาดหวังให้ดูแลความเป็นอยู่ อาหารการกิน สอนหนังสือ อบรมกิริยามารยาท ให้เด็กหญิงเจริญเติบโตเป็นกุลสตรี อาชีพครูผู้หญิงจึงเปรียบเสมือนแม่คนคอยอบรมสั่งสอนลูกสาว เด็กเองก็มีความรู้สึกผูกพันกับครูผู้สอนราวกับแม่
อาชีพครูถูกยอมรับและขนานนามกันว่าเป็น ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ เช่นเดียวกับวาทกรรม ‘ความเป็นแม่’ ในยุคสร้างชาติของ จอมพล ป. ที่โยนบทบาทหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ดีของประชาชนไว้กับผู้หญิง ด้วยความเชื่อว่าผู้หญิงเกิดมามีมดลูกแล้วก็ต้องเป็นแม่คน มีบทบาทสำคัญในครอบครัว ดูแลเรื่องอาหารการกิน การแต่งกาย ดูแลบ้านเรือน อบรมเลี้ยงดูลูกๆ เป็นขวัญและกำลังใจสามี เป็นบทบาทที่คลุมไปทุกๆส่วนของชาติ แม่เป็นยังไง ลูกก็จะพลอยเป็นอย่างงั้นไปด้วย ตั้งแต่สุขอนามัย แข็งแรงขี้โรค มีระเบียบวินัย ความสะอาด อดทน ขี้เกียจ บลาๆๆ
จากการปฏิรูประบบการศึกษาให้เด็กหญิงเด็กชายมีโอกาสเรียนหนังสือเหมือนกันจนนำไปสู่การเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับผู้หญิงในการประกอบอาชีพที่ทันสมัย จากการดิ้นรนเพื่อให้เกิดการเท่าเทียมทางเพศภายในอาชีพครูด้วยกัน ทว่ากลายเป็นอาชีพที่ยกระดับทางสังคมตนเองในนามของความศักดิ์สิทธิ์ พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส เป็นมากกว่าการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องทั่วๆ ไป ถูกวางให้สูงเหนือกอาชีพอื่นๆ พอเอาไปเปรียบเทียบกับคนรับจ้างพายเรือ ก็บ่นน้อยอกน้อยใจเป็นเพลง
และด้วยความเข้าใจว่าเป็นผู้มีบุญคุณ มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ควรกราบกรานสักการะด้วยพานพุ่มข้าวตอกดอกไม้ผักสวนครัวรั้วกินได้ และเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ครูบางคนตั้งแต่ในโรงเรียนยันเอกชนกวดวิชาจึงสถาปนาตนเองให้เป็น role model ของคนอื่น ใช้ตัวเองเป็นไม้บรรทัดมาตรวัดผิดชอบชั่วดี อะไรควรไม่ควร คอยชี้นำสังคม มีอำนาจเหนือเนื้อตัวร่างกายชาวบ้านชาวช่อง คาดหวังให้คนอื่นคิดอ่านเหมือนตนเอง เที่ยวเร่อบรมสอนสั่งลงโทษใครก็ได้ตามอำเภอใจ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในตำราหรือไม่ หรือแม้แต่คนๆ นั้นจะเป็นลูกศิษย์จ่ายค่าเล่าเรียนจ้างให้มาสอนหรือไม่ก็ตาม