“คนบนเรือคือผู้บริสุทธิ์ ฆาตกรตัวจริงคือคนตัดสินใจ”
คำกล่าวด้วยน้ำเสียงอันอัดอั้นของผู้สูญเสีย ในงานศพของหนึ่งในกองพลที่เสียชีวิตจากเหตุเรือหลวงสุโขทัยล่มไปเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมปีที่แล้ว จนวันนี้ ผ่านมา 1 เดือนแล้ว ก็ยังคงมีผู้สูญหายที่ตามหากันไม่ครบทุกคน
ไม่เพียงเท่านั้น คำแถลงของกองทัพเรือก็ยังชวนให้งงงวย เพราะในทีแรกกองทัพเรือบอกว่าช่วยกำลังพลได้ทุกนายแล้ว ต่อมาจึงค่อยกล่าวว่ามีอีก 30 กว่านายที่ยังต้องเร่งช่วยเหลือ หรือแม้แต่คำแถลงที่ตอนแรกอ้างว่า ทุกคนบนเรือมีเสื้อชูชีพ แต่ต่อมากลับพบว่า มีกำลังพล 30 นายที่ไม่มีเสื้อชูชีพ
ยังไม่นับคำแถลงของผู้บัญชาการกองทัพเรือที่บอกว่า “อย่ามองว่า คนไม่มีเสื้อชูชีพ ทั้ง 30 คน จะสูญเสียทั้งหมด” สร้างกระแสความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่มีคำอธิบายเรื่องเสื้อชูชีพไม่เพียงพอแล้ว ยังเป็นเหมือนการปัดความรับผิดชอบไปอีกด้วย
ในวันครบรอบ 1 เดือนเรือหลวงอับปางล่มนี้ The MATTER ขอรวมคำแถลงของกองทัพเรือมาเพื่อให้ดูกันว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุ กองทัพเรือกล่าวอะไรไปบ้าง
18 ธันวาคม 2565
วันเริ่มต้นเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ที่ในช่วงแรกมีการแชร์กันในโลกออนไลน์ว่าเรืออับปางแล้ว แต่ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรือหลวงสุโขทัยยังไม่อับปาง แต่เรือเอียงจากกระแสคลื่นแรง ทำให้น้ำทะเลทะลักเข้าไปอย่างรวดเร็ว จนเรือเอียง
ก่อนที่ เวลา 23.30 น. สำนักงานโฆษกกองทัพเรือจะออกมาระบุว่า เรือหลวงสุโขทัยจมลงใต้ผิวน้ำแล้ว เนื่องจากมีน้ำเข้าเรือเป็นจำนวนมาก และกำลังพลทั้งหมดได้รับความปลอดภัยแล้ว
19 ธันวาคม 2565
ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ระบุว่า ก่อนที่เรือจะจมกำลังพลทั้งหมดอยู่ครบ แต่เมื่อเรือจม กำลังพลกระจัดกระจายกันออกไป เรือเล็กลงไปช่วยไม่ได้เพราะคลื่นลมแรง แต่ยืนยันว่ากำลังพลมีเสื้อชูชีพทุกนาย
ขณะเดียวกัน กองทัพเรือก็อัพเดทในวันนั้นว่า มีการช่วยเหลือกำลังพลขึ้นมาจากน้ำได้แล้ว 75 นาย สูญหาย 31 นาย โดยยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากเหตุเรืออับปาง และได้ตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัยขึ้นมา พร้อมประสานหน่วยภายนอกเข้าร่วมให้การช่วยเหลือ
20 ธันวาคม 2565
นับตั้งแต่วันที่เรืออับปาง ได้มีรายงานข่าวการช่วยเหลือกำลังพลอยู่ตลอด และในวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็มีการพบกำลังพล 7 นาย รอดชีวิต 1 นาย เสียชีวิต 6 นาย และยังคงเหลือผู้สูญหายอีก 23 นาย
ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวว่า บนเรือดังกล่าวไม่มีเสื้อชูชีพ ซึ่ง พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือได้แถลงข่าวยืนยันว่า กำลังพล 30 นายบนเรือไม่มีเสื้อชูชีพจริง พร้อมระบุว่า ภารกิจของเรือหลวงสุโขทัยนอกจากการลาดตระเวนแล้ว ยังต้องนำกำลังพลของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาชายฝั่งหน่วยละ 15 นาย ไปร่วมพิธีครบรอบ 100 ปี ‘เสด็จเตี่ย’ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพรด้วย ซึ่งต่อให้มีกำลังพลเพิ่มมา ก็จะต้องมีเสื้อชูชีพมาด้วย และบนเรือเองก็มีเสื้อชูชีพสำรองอยู่แล้ว
แต่ก็ยืนยันว่า เสื้อชูชีพยังขาดไปสำหรับกำลังพล 30 นายจริง
ประเด็นที่คนไม่พอใจอย่างยิ่งกับคำแถลงนี้คือ คำกล่าวของ พล.ร.อ.เชิงชาย ที่บอกว่า “การมีเสื้อชูชีพไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะรอดชีวิต แล้วได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาบนเรือ เพราะเขายังมีมาตรการในการช่วยเหลือ เขามีการกำหนดว่าใครเป็นบัดดี้ใคร ในกรณีที่ไม่มีเสื้อชูชีพ แล้วมีอุปกรณ์อื่นๆ เขามีการกำหนดว่าใครจะขึ้นแพชูชีพก่อน ก็คือผู้ไม่มีเสื้อชูชีพต้องขึ้นแพชูชีพก่อน”
“อย่ามองว่า คนไม่มีเสื้อชูชีพ ทั้ง 30 คน จะสูญเสียทั้งหมด เพราะตัวเลขแสดงให้เห็นแล้วว่า 18 คนที่ไม่มีเสื้อชูชีพขึ้นมากับ 75 คนแรกยังเหลือในทะเล 12 คน แล้ว 18 คนที่มีเสื้อชูชีพเองยังอยู่ในทะเลอยู่”
ขณะที่ พล.ร.ท. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ปกติจะมีเสื้อชูชีพสำรองประมาณ 20-30 ตัวแต่เขาไม่มีข้อมูลว่าบนเรือหลวงสุโขทัยนี้มีเสื้อชูชีพสำรองกี่ตัว
23 ธันวาคม 2565
พล.ร.ท. พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ให้สัมภาษณ์เรื่องการช่วยเหลือผู้ที่ยังคงสูญหาย และย้ำกับสื่อมวลชนว่า “ประเด็นต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ ขออนุญาตไม่ตอบ”
26 ธันวาคม 2565
พล.ร.อ. ปกครอง โฆษกกองทัพเรือ ระบุว่า มีการตั้งคณกรรมการสอบสวนเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางแล้ว โดยจะสอบสวนหาข้อเท็จจริงที่ทำให้เรืออับปาง และเพื่อตรวจสอบการดำเนินการในขั้นตอนของการสละเรือใหญ่ การค้นหา และช่วยเหลือกำลังพลภายหลังประสบเหตุ
อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญด้ายความมั่นคงว่า ควรจะมีคณะผู้ตรวจสอบภายนอก หรือ คณะกรรมการกลางเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์หรือร่วมตรวจสอบกระบวนการไต่สวนครั้งนี้ แต่ทางโฆษกกองทัพเรือระบุว่า ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
“ต้องเรียนว่า จริง ๆ แล้ว เรื่องนี้ในระเบียบ กระทำไม่ได้นะครับ ในการตั้งคณะกรรมการต่างๆ เพื่อมาเป็นคณะกรรมการของหน่วยราชการนั้น หรือผู้ดำเนินการ ส่วนเรื่องการตอบข้อซักถามหลังจากสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการต่างๆ ทางทหาร สามารถเรียกเข้าไปให้ชี้แจงเพิ่มเติม กรณีเช่นนี้ สามารถทำได้”
“เบื้องต้นเท่าที่ผมได้ทราบมา น่าจะเป็นคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยกองทัพเรือเท่านั้น” โฆษกกองทัพเรือกล่าว
28 ธันวาคม 2565
มีการเปิดเผยภาพเรือหลวงสุโขทัยที่อับปางอยู่ใต้ทะเล ซึ่งจมอยู่ใต้ทะเลราว 50 เมตร ขณะเดียวกัน ก็มีการอัพเดทตัวเลขยืนยันผู้เสียชีวิต 24 นาย สูญหายอีก 5 นาย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค้างมาจนถึงวันนี้
11 มกราคม 2566
กองทัพเรือคาดว่า จะใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาท ในการกู้ซากเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งกองทัพเรือต้องดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และนำเสนอกระทรวงกลาโหม เพื่อพิจารณากรอบวงเงินต่อไป
โฆษกกองทัพเรืออธิบายอีกว่า มูลค่าของเรือหลวงสุโขทัยที่อับปางลงไปนั้นมีค่ามาก โดยกองทัพเรือจัดซื้อเรือหลวงสุโขทัยมาเมื่อ 36 ปีที่แล้ว ราคาประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ในขณะนั้นมีเรือฝาแฝดอีกลำหนึ่ง ซึ่งราคาทั้งสองลำรวมกับอาวุธ รวมเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท
“ค่อนข้างมีคุณภาพ และคุณค่ามหาศาลครับ”
17 มกราคม 2566
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงการค้นหาผู้สูญหายอีก 5 นายว่า ยังไม่พบผู้สูญหายเพิ่มเติม
สรุปได้ว่า 1 เดือนที่ผ่านมา คำถามที่หลายคนสงสัยก็ยังค้างคาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของการที่เสื้อชูชีพไม่เพียงพอ ปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้เรือหลวงลำนี้อับปาง รวมไปถึง ความน่าเชื่อถือของกองทัพเรือ ซึ่งในช่วงแรกของเหตุการณ์ คำแถลงของกองทัพเรือก็ไม่ตรงกัน ดังนั้น ยิ่งคณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์มีแต่คนวงใน ก็ยิ่งไม่แปลกใจที่ประชาชนจะเคลือบแคลงต่อหน่วยงานดังกล่าว
คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลอย่างเปิดเผยและโปร่งใสหรือเปล่า
อ้างอิงจาก