ทำไมเสื้อผ้าต้องแบ่งเพศ? คำถามนี้เกิดขึ้นกับคุณแม่ชาวสหรัฐฯ หลังลูกชายเธอขอซื้อกางเกงในลายมินนี่เมาส์ แต่เธอกลับพบว่าสินค้าเหล่านี้ถูกจำกัดไว้แค่สำหรับ ‘เด็กผู้หญิง’
เรื่องราวเริ่มจาก ลูกชายของ อวานี ชาห์ (Avni Shah) บอกว่า อยากได้กางเกงในลายนี้ เธอก็ไม่รอช้าที่จะหาซื้อให้แก่ลูกชาย แต่เธอกลับพบว่า มินนี่เมาส์และตัวการ์ตูนหญิงอื่นๆ มักจะอยู่คู่กับสินค้าที่มีข้อความ ‘สำหรับผู้หญิง’ กำกับเสมอ ไม่ว่าจะในป้ายสินค้า หรือโซนขายสินค้าก็ตาม นอกจากนี้ สินค้าประเภทของเล่น เสื้อผ้า และรองเท้าก็ถูกแบ่งออกเป็นสำหรับเพศหญิงและชายเช่นกัน
“เมื่อฉันถามผู้ปกครองคนอื่นว่าพวกเขาพาลูกชายไปซื้อเสื้อผ้าอย่างไร? ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาจะตอบว่า ‘เราจะจูงลูกๆ ไปที่แผนกเด็กผู้ชาย ถึงแม้ว่าพวกเขาอยากได้ของสีชมพูหรือลายยูนิคอร์นก็ตาม เพราะเราไม่อยากให้พวกเขาอับอาย’”
แม้ชาห์ได้รับความคิดเห็นของผู้ปกครองคนอื่นๆ แล้ว แต่เธอก็ตัดสินใจซื้อกางเกงในลายมินนี่ให้แก่ลูกชายของเธออยู่ดี และพอหนูน้อยได้รับสิ่งที่เขาต้องการ เขาก็ใส่ไปโรงเรียนอย่างมีความสุข ถึงกระนั้นเขากลับถูกเพื่อนๆ ล้อเลียน ในขณะกำลังเปลี่ยนเสื้อผ้าด้วยกัน
หลังเหตุการณ์นี้ เขาก็เริ่มตระหนักได้ว่าการที่เขาใส่เสื้อผ้าลายลักษณะนี้ ทำให้เขาถูกมองว่าแปลกประหลาด และไม่สมกับการเป็นผู้ชาย
นอกจากนี้ คุณแม่ก็เกิดคำถามว่า “ถ้าหากเราเชื่อในความเท่าเทียมและการไม่แบ่งแยก ดังนั้น มันก็เป็นหน้าที่ของเรา (พ่อแม่) ในการสั่งสอนเด็กๆ ให้พวกเขารับรู้และเข้าใจไม่ใช่หรอ?” และการกำหนดเพศเหล่านี้ก็ยังทำให้เกิดคำถามด้วยว่า ทำไมเราจึงจะต้องแยกเพศตั้งแต่แรก? และการแบ่งแยกนี้ส่งผลต่อการมองโลกของเราแต่ละคนอย่างไร?”
ผลจากการวิจัยของกรมการศึกษาของรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Education) ระบุว่า การแบ่งแยกผู้คนหรือเพศออกเป็นประเภทต่างๆ มีผลเสียต่อโลกทัศน์ของเด็ก เพราะก่อให้เกิดทัศนคติเหมารวมที่เป็นอันตรายตั้งแต่อายุยังน้อย
ตัวอย่างเช่น คนที่ชอบสีชมพูได้มีแค่ผู้หญิง ผู้ชายห้ามร้องไห้ หรือคนที่เป็น LGBTQ+ มักจะมีอารมณ์แปรปวน ดังนั้น การที่มีหลักสูตรหรือวิธีที่ให้เด็กๆ เข้าใจถึงความแตกต่างได้ ทั้งเรื่องเพศ เชื้อชาติ และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็น
กรมการศึกษาฯ ยังยกตัวอย่างงานวิจัยที่พบว่า ‘การสร้างความเห็นอกเห็นใจให้แก่เด็กๆ มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะเข้าใจมุมมองของบุคคลอื่นมากขึ้นเท่านั้น’ สรุปง่ายๆ คือการมีความเห็นอกเห็นใจจะช่วยลดอคติของมนุษย์ต่อความแตกต่างได้ ทั้งเพศ สีผิว เชื้อชาติ และก่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ซึ่งแนวคิดที่ปิดกั้นความแตกต่าง อาทิ การแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างคนขาวและคนดำในสหรัฐฯ ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นการขัดขวางสังคมไม่ให้เจริญรุ่งเรืองและก่อให้เกิดการแตกแยกในสังคมมากกว่า
ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากต้องการพื้นที่ที่มีความเปิดกว้างในความแตกต่างที่ไม่แบ่งแยก เช่น ในวัฒนธรรมป๊อปที่ผู้คนต่างชื่นชอบที่ศิลปินอย่าง แฮร์รี่ สไตล์ (Harry Styles) สวมจั๊มสูทสีสันสดใสขึ้นแสดงคอนเสิร์ต หรือ นักแสดงชายผิวดำบิลลี่ พอร์เตอร์ (Billy Porter) ที่สวมชุดทักซิโด้ พร้อมกระโปรงยาวเดินพรมแดงในงานประกาศรางวัลออสการ์ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก
อ้างอิงจาก