1
เมื่อได้ข่าวว่า คาซึโอะ อิชิกุโระ (Kazuo ishiguro) ได้รับรางวัลโนเบล ผมก็เปิด Netflix เลือกคลิกหนังเรื่อง The Remians of the Day ขึ้นมาดูอีกครั้ง
ว่ากันว่า The Remains of the Day เป็นงานเขียนที่ดีงามที่สุดของอิชิกุโระ ทั้งภาษาที่เขาเลือกใช้ วิธีการที่เขานำเสนอ ความอลังการที่ซ่อนรูปอยู่ในความเรียบง่ายลึกซึ้ง ถึงขั้นที่หลายคนยกย่องว่า งานชิ้นนี้เป็น Subtle Masterpiece หรืองานระดับปรมาจารย์ที่แสนละมุน
นี่คืองานเขียนอันหม่นเศร้า – ทว่าไร้ความฟูมฟาย
แม้อิชิกุโระจะเกิดที่นางาซากิ แต่เขาก็ย้ายไปอยู่อังกฤษตั้งแต่ห้าขวบ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคนต์ในด้านภาษาอังกฤษและปรัชญา รวมทั้งจบปริญญาโทด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ด้วย จึงไม่ต้องประหลาดใจที่งานเขียนของเขาจะได้รับการยกย่องอย่างสูงในแง่วรรณศิลป์
นี่คืองานเขียนที่เข้มข้นรุนแรงด้วยอารมณ์ความรู้สึก – ทว่าไร้การแสดงออก
The Remains of the Day หาได้เป็นเลิศในแง่วรรณศิลป์เท่านั้น ทว่ายังมีเรื่องสำคัญอื่นๆ ซ่อนแทรกอยู่ภายใต้ด้วย คล้ายพลังงานมหาศาลของคลื่นใต้น้ำลูกโตที่ขับเคลื่อนพื้นผิวเล็กจ้อย ไม่มีใครกี่คนที่สามารถสังเกตเห็นหรือรับรู้ถึงพลังงานมหาศาล และผลกระทบอันเป็นอนันต์ของพลังงานเหล่านั้นที่มีต่อคนเล็กคนน้อย
นี่คืองานเขียนที่ท้นท่วมไปด้วยความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมืองในระดับเป็นตาย – ทว่าซ่อนเร้นอยู่แสนลึก
ทั้งหมดคือซากสิ่งที่เคยเป็นของคืนวันอันเป็นนิรันดร์ในสายตาของผู้ยิ่งใหญ่ที่เคยมีชีวิตอยู่เหล่านั้น
2
นาลันทา คุปต์ เคยแปล The Remains of the Day เป็นภาษาไทยแล้วโดยให้ชื่อไว้งดงามไพเราะนักหนาว่า – เถ้าถ่านแห่งวารวัน, มันคือชื่อที่หมายไปถึงการล่วงลับของบางสิ่งในคืนวันที่ไม่อาจหวนกลับมาได้อีก แต่กระนั้น ตัวละครในเรื่องก็หาได้ก้าวย่างออกมาพ้นการลาลับไปนั้นไม่
เขายังมีชีวิตอยู่ที่นั่น ในความไร้ชีวิตและซากปรักหักพังของความรู้สึก
นี่จึงเป็นเรื่องหม่นเศร้าที่ซ้อนอยู่ในเรื่องหม่นเศร้าอีกชั้นหนึ่ง
หากให้เล่าเรื่องย่อของ ‘เถ้าถ่านแห่งวารวัน’ คุณอาจพบว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจเลย กับชีวิตของสตีเฟนส์ – ผู้ทำหน้าที่เป็นบัตเลอร์หรือคนรับใช้ต่ำต้อยผู้หนึ่งในปราสาทแห่งดาร์ลิงตัน เขาจงรักภักดีต่อลอาร์ดดาร์ลิงตันผู้เป็นเจ้านายของตนอย่างที่สุด ในเวลาเดียวกัน ปราสาทดาร์ลิงตันก็ได้ต้อนรับแม่บ้านใหม่ – คือมิสเคนตัน เข้ามาอยู่ด้วย สตีเฟนส์กับมิสเคนตันมีความรู้สึกลึกซึ้งบางอย่างระหว่างกัน แต่ด้วยความครัดเคร่ง ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษชาวอังกฤษ ด้วยความเป็นมนุษย์เข้มงวดผู้ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึก ที่สุด – มิสเคนตันก็เลือกจากไปกับใครอื่น
แต่ไม่ – ‘เถ้าถ่านแห่งวารวัน’ ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่อง ‘ฉากหน้า’ อันเป็นเรื่องความรักของปัจเจก
เพราะเรื่องราวทั้งหมดวางตัวอยู่บน ‘ฉาก’ แห่งประวัติศาสตร์รอยต่อของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง ไล่ไปถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยคนที่เกี่ยวพันกับการเมืองระหว่างประเทศอย่างแนบแน่นยิ่ง ก็คือลอร์ดดาร์ลิงตัน ผู้เป็น ‘เจ้านาย’ ของสตีเฟนส์และมิสเคนตัน
ลอร์ดดาร์ลิงตันเป็นสุภาพบุรุษชาวอังกฤษแบบโบราณที่เนี้ยบและเป็นระเบียบทุกกระเบียดนิ้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ – เขาเป็น ‘ผู้ดี’ ตามจินตนาการของผู้ดีอย่างที่สุดในทุกมิติ
หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมนีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แพ้สงครามจำต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งสร้างความเสียหายครั้งมโหฬารให้กับเยอรมนี ในตอนนั้น นอกจากจักรวรรดิเยอรมันจะล่มสลายกลายเป็นสาธารณรัฐไวมาร์แล้ว เยอรมนียังต้องรับผิดชอบค่าปฏิกรรมสงครามอีกเป็นเงินมหาศาล (ประมาณกันในตอนนั้นว่าถ้าเยอรมนีต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตามที่กำหนดจริงๆ อาจต้องใช้เวลาชำระหนี้จนถึงปี 1988 ถึงจะหมด เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่มาก)
ในตอนแรก เยอรมนีไม่ยอมรับสนธิสัญญานี้ อย่างหนึ่งเป็นเพราะนี่เป็นสนธิสัญญาที่ ‘ผู้ชนะ’ อย่างฝ่ายสัมพันธมิตร (โดยมีอังกฤษและอเมริกาเป็นหัวหอก) เป็นผู้ร่างขึ้น โดยไม่ให้กลุ่ม ‘ผู้แพ้’ มีส่วนใดๆ ในการร่างนอกจากต้องลงนามยินยอม ซึ่งนอกจากจะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแล้ว ยังต้องถูกขีดเส้นเขตแดนใหม่ด้วย เยอรมนีจึงอัปยศอดสูอย่างมาก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึก ‘รักชาติ’ ในแบบฟาสซิสม์ที่พัฒนาไปสู่ความเป็นนาซีขึ้นมา
ลอร์ดดาร์ลิงตันนั้นเห็นอกเห็นใจเยอรมนีอย่างมาก อย่างหนึ่งเป็นเพราะเขามีเพื่อนสนิทชาวเยอรมันที่ได้รับผลกระทบจากสงครามจนในที่สุดก็ฆ่าตัวตาย ลอร์ดดาร์ลิงตันสาบานกับตัวเองว่าเขาจะทำทุกอย่างเพื่อชดเชยให้กับเพื่อนและเยอรมนี เขาจึงพยายามใช้อิทธิพลที่ตนมีอยู่จัดประชุมเชื้อเชิญผู้นำระดับสูงในยุโรปมารวมตัวที่ปราสาทของเขา เพื่อหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสนธิสัญญาแวร์ซาย เขาถึงขั้นเชิญนายกรัฐมนตรีและทูตเยอรมันมาพบปะที่ปราสาทของตน เพื่อหาทางให้สองประเทศนี้จับมือกัน จะได้ไม่เกิดความขัดแย้ง แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ลอร์ดดาร์ลิงตันไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่โง่เขลาอย่างหนึ่ง
เขากำลังสนับสนุนนาซี!
ใช่ – หากเรามีชีวิตอยู่ในประวัติศาสตร์ตอนนั้น เราไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ตอนนั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังไม่เกิด และใครก็มีสิทธิเห็นอกเห็นใจหรือเข้าข้างฝ่ายการเมืองฝ่ายใดก็ได้ทั้งนั้น
แต่ปัญหาก็คือ – แล้วสตีเฟนส์เล่า, เขาคิดอย่างไร?
ในฐานะคนรับใช้ ในฐานะผู้ต่ำต้อย ในฐานะผู้เจียมตัว ในฐานะพ่อบ้านมืออาชีพ และในฐานะผู้ภักดีต่อลอร์ดดาร์ลิงตันอย่างสุดจิตสุดใจ สตีเฟนส์ไม่เคยคิด ‘วิพากษ์’ ลอร์ดดาร์ลิงตันเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหนก็ตาม
ครั้งหนึ่ง มิสเคนตันรับเด็กสาวรับใช้สองคนเข้ามาทำงานในปราสาท ทั้งคู่อพยพหนีภัยสงครามมาจากเยอรมนี แต่ทั้งคู่เป็นยิว
แรกทีเดียว ลอร์ดดาร์ลิงตันยินดีที่ได้พบกับเด็กสาวทั้งคู่ เพราะเขาต้องการฝึกภาษาเยอรมันให้คล่องปากขึ้น แต่ต่อมาภายหลัง เมื่อเขาเรียนรู้จากแนวคิดแบบนาซีเยอรมันว่าชาวยิวนั้นปรามาสพระเยซูอย่างไร เป็นชนชาติที่ชั่วร้ายอย่างไร ลอร์ดดาร์ลิงตันก็สั่งให้สตีเฟนส์ปลดเด็กสาวชาวยิวสองคนนั้นไปเสีย
แน่นอน – สตีเฟนส์ย่อมทำตามโดยไร้ข้อโต้แย้ง
แต่คนที่ลุกขึ้น ‘วิพากษ์’ ลอร์ดดาร์ลิงตัน (ให้สตีเฟนส์ฟัง) กลับเป็นมิสเคนตัน ผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงส่งอะไร เธอบอกกับสตีเฟนส์ว่า การทำอย่างนั้นย่อมเท่ากับการไสส่งให้เด็กสาวชาวยิวสองคนนั้นไม่มีที่อยู่ และที่สุดก็อาจต้องถูกส่งกลับไปเยอรมนี ซึ่งในตอนนั้น ทั้งมิสเคนตัน สตีเฟนส์ และลอร์ดดาร์ลิงตันยังไม่รู้หรอกว่า – นั่นเท่ากับการส่งพวกเธอไปตาย
พูดได้ว่า สงครามโลกทั้งสองครั้งคือ ‘ตัวละคร’ ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในหนังสือและภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะช่วงเวลา ‘ระหว่าง’ สงครามทั้งสองครั้ง
อิชิกุโระเลือกฉายภาพเหตุการณ์การเมืองระดับโลก ผ่านสายตาและมุมมองแคบๆ ของพ่อบ้านบัตเลอร์หรือ ‘ผู้รับใช้’ ที่ต่ำต้อยคนหนึ่ง สตีเฟนส์ ‘ถูกขัง’ (หรือที่จริงก็คือการ ‘ขังตัวเอง’) อยู่กับปราสาท กับพันธะ หน้าที่ และเกียรติยศของการดูแลรับใช้เจ้านายที่เขาเห็นว่าเป็นผู้ดีผู้ทรงเกียรติและหลักแหลม ทุกการรับใช้ที่เกิดขึ้นในปราสาท ทุกงานเลี้ยง และแขกทุกคน ล้วนคือความสำคัญเป็นตายที่เขาต้องดูแลให้เนี้ยบเรียบกริบที่สุด
สตีเฟนส์อาจไม่เคยรู้จัก ‘สนธิสัญญาแวร์ซาย’ เลยก็ได้ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขารู้เรื่องของ ‘โลกภายนอก’ มากแค่ไหน เพราะในหนังไม่ได้บอกเอาไว้ เขารับรู้ก็แต่เพียงสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ฝ่ายต่างๆ ลุกขึ้นกล่าว ตั้งแต่หญิงสูงศักดิ์ชาวเยอรมัน ทูตแห่งฝรั่งเศส กระทั่งถึงนักธุรกิจชาวอเมริกัน เขาอาจรู้หรือไม่รู้ก็ได้ว่าคำพูดเหล่านั้นมีนัยทางการเมืองที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่ มีความเป็นความตาย มีชีวิตเลือดเนื้อ มีอุดมการณ์ อคติ และมายาคติ รวมถึงผลประโยชน์มหาศาลซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังอย่างไรบ้าง
เขารู้แต่เพียงว่า ซุปที่ตักใส่จานนั้นทำจากอะไร วิธีตักซุปที่งดงามเรียบโก้ต้องทำอย่างไร วิธีถือถาดด้วยปลายนิ้วเป็นอย่างไร การปัดกวาดเช็ดถูเอา ‘ฝุ่น’ ออกไปจากเครื่องประดับต่างๆ ในปราสาท และการดูแลจัดการเหล่าคนรับใช้นับสิบในปราสาทควรต้องเป็นอย่างไร
สิ่งเหล่านั้นต่างหากที่ ‘สำคัญ’ จริงๆ – กับเขา
ในงานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งหนึ่ง เมื่อสตรีสูงศักดิ์จากเยอรมันและทูตจากฝรั่งเศสแสดงความเห็นพ้องในเรื่องการร่วมมือกันด้วยการแลกเปลี่ยนสุนทรพจน์อันหรูหราแล้ว นักธุรกิจชาวอเมริกันหัวสมัยใหม่ที่เห็นว่าเยอรมนีเป็นตัวร้ายที่กำลังฟูมฟักอุดมการณ์ฟาสซิสม์และนาซี – ก็ลุกขึ้นบอกทุกคนว่าพวกเขา, เหล่าชาวยุโรปที่สูงส่งทั้งหลาย – ไม่ใช่อะไรอื่นเลยนอกจาก ‘มือสมัครเล่น’
เขาหมายความว่า คน ‘หัวเก่า’ เหล่านี้อ่านสถานการณ์ไม่ออก ไม่รู้เหนือรู้ใต้ และตัดสินสิ่งต่างๆ อย่างมืดบอด
แต่ลอร์ดดาร์ลิงตันลุกขึ้นโต้ตอบอย่างสุภาพเฉียบคมว่า สิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ความมือสมัครเล่น’ (Amateurism) นั้น แท้จริงแล้วคือสิ่งที่ผู้สูงศักดิ์แห่งยุโรปเรียกมันว่า – เกียรติยศ, ต่างหากเล่า เขาไม่ได้พูดตรงไปตรงมา ทว่ามีนัยซ่อนเร้นบ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันที่ต่ำต้อยกว่า มีวัฒนธรรมที่ตื้นเขินกว่า และถนัดแต่การค้าการขายนั้น จะไปรู้ไปเข้าใจอะไรชาวยุโรปที่สูงส่งทรงศักดิ์ได้ลึกซึ้งเล่า
ในงานเลี้ยงอาหารค่ำอีกครั้งหนึ่ง นอกจากแขกชาวเยอรมันจะบอกกับลอร์ดดาร์ลิงตันถึงเรื่องของ ‘ค่ายกักกัน’ ที่เขาเห็นว่าเป็นความจำเป็นแล้ว เขายังเรียกสตีเฟนส์มาถามคำถามสองสามคำถามด้วย
คำถามเหล่านั้นเป็นคำถามยากๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลกในตอนนั้น ซึ่งสตีเฟนส์ก็ได้แต่ตอบกลับไปด้วยความประหลาดใจว่า – เขาไม่รู้ เขาไม่อาจตอบคำถามเหล่านั้นได้
แขกชาวเยอรมันคนนั้นจึงหัวเราะ แล้วบอกกับลอร์ดดาร์ลิงตันทำนองว่า – นี่ไง, ก็แล้วจะให้ ‘คนคนนี้’ และ ‘คนพวกนี้’ อีกหนึ่งหรือสองล้านคน, มามีสิทธิออกเสียงปกครองประเทศได้อย่างไรกันเล่า
ฉากสั้นๆ นี้ทำให้เราเห็นความฉูดฉาดตัดกันของแนวคิดสองอย่าง คือระหว่างฟาสซิสม์เผด็จการที่เห็นว่าผู้รู้ผู้สูงส่งเท่านั้นที่ควรปกครองประเทศ กับแนวคิดแบบประชาธิปไตยหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงที่ทุกคนควรได้ออกความเห็นอย่างเสมอภาคเท่าเทียม – ไม่ว่าจะถูกมองว่ามีความรู้หรือไม่มีความรู้อย่างไร
สตีเฟนส์ได้ยินคำพูดหยามหยันตรงไปตรงมาเหล่านั้น แต่เขาไม่ได้ตอบโต้อะไรเลย เขากลับบอกขอบคุณ ขอบคุณทั้งลอร์ดดาร์ลิงตันและขอบคุณทั้งแขกหยาบหยามคนนั้น มันคือการขอบคุณที่เขาได้รับการติดฉลากให้เป็น ‘คนพวกนี้’ คนที่ไม่มีการศึกษา คนที่ไม่รอบรู้ และถูกนับอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ควรมีสิทธิมีเสียงอะไรในการปกครองประเทศ
แต่เขาก็ขอบคุณ
3
ในตอนท้ายๆ ของเรื่อง เหตุการณ์ดำเนินมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้น ลอร์ดดาร์ลิงตันตายไปแล้ว เขาตายไปพร้อมกับความตกต่ำในชีวิต ความเศร้าซึม บ้านที่มืดมน และพื้นที่ส่วนตัวที่ไร้ระเบียบตัดกับพื้นที่อื่นในปราสาทที่สตีเฟนส์คอยดูแล หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ลอร์ดดาร์ลิงตันมีชื่อเสียงกระฉ่อนว่าเป็น ‘ผู้เห็นอกเห็นใจนาซี’ (Nazi Sympathizer) ในขณะที่อังกฤษต้องผ่านสงครามและเหตุการณ์ร้ายกาจอย่างการอพยพดันเคิร์ก เหตุการณ์ที่ทำให้ประเทศต้องสูญเสีย ‘ลูกชาย’ ของแผ่นดินที่เป็นทหารหนุ่มไปมากมาย
ปราสาทดาร์ลิงตันเสื่อมโทรมลงและถูกขายทอดตลาด โชคดีที่ชาวอเมริกันคนนั้น – คนที่เคยบอกว่าผู้สูงศักดิ์ชาวยุโรปล้วนเป็นมือสมัครเล่น, ได้ซื้อปราสาทแห่งนี้ไป นั่นทำให้สตีเฟนส์ยังได้ทำงานอยู่ที่ปราสาทแห่งเดิม แห่งที่เขาอยู่มาจนตลอดชีวิต เขาเพียงแต่เปลี่ยนเจ้านายไปก็เท่านั้น
ยี่สิบปีผ่านไป มิสเคนตันที่ลาออกไปแต่งงานได้หย่าร้างกับสามี เธอเขียนจดหมายมาหาสตีเฟนส์ เขาจึงตัดสินใจออกเดินทางกลับสู่อดีตเพื่อไปหา ‘เถ้าถ่านแห่งวารวัน’ ในรูปรอยของผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาอาจเคยหลงรักและยังหลงรักเธอจนถึงทุกวันนี้ เพียงแต่เขาไม่เคยปล่อยให้ความรู้สึกใดๆ เผยแสดงออกมาเท่านั้น
ระหว่างการเดินทาง เมื่อมีใครถามเขาว่าเขามาจากที่ไหน แม้เขาจะตอบว่ามาจากดาร์ลิงตัน แต่เขาปฏิเสธเสมอว่าไม่เคยรู้จักกับลอร์ดดาร์ลิงตัน เพราะบัดนี้ลอร์ดดาร์ลิงตันผู้ล่วงลับมีชื่อเสียงในแง่ลบ และผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ดันเคิร์กก็อาจไม่พอใจเขาได้
แต่กระนั้น ในที่สุดเขาก็สารภาพกับใครคนหนึ่งระหว่างทางที่มาช่วยเหลือเขาเพราะรถน้ำมันหมด ว่าแท้จริงแล้วเขาเคยทำงานให้กับลอร์ดดาร์ลิงตัน
ใช่ – ในฐานะคนรับใช้
ใช่ – ในฐานะ a servant man
เมื่อถูกถามถึงความเห็นที่เขามีต่อลอร์ดดาร์ลิงตันในเรื่องท้ังหมดที่เกิดขึ้น สตีเฟนส์ตอบอย่างถ่องแท้ต่อความรู้สึกของตัวเองที่สุดทำนองว่า ในฐานะคนรับใช้คนหนึ่ง – เขาไม่อาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับลอร์ดดาร์ลิงตันได้ สิ่งที่เขาทำได้ก็คือการ ‘รับใช้’ ลอร์ดดาร์ลิงตันอย่างดีที่สุดก็เท่านั้น
เขาไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่เขาภักดีได้
ในฉากจบของภาพยนตร์ สตีเฟนส์และเจ้านายใหม่ชาวอเมริกันช่วยกันจับนกพิราบที่พลัดหลงเข้ามาในปราสาท มันเป็นนกที่แลดูตื่นตระหนก หลงทาง และไม่รู้ว่าจะหาทางออกจากปราสาทแห่งนั้นได้อย่างไร
สตีเฟนส์บอกว่า – ถ้าเพียงแต่เราเปิดกระจกตรงหลังคาเอาไว้ มันก็จะบินออกไปได้ แต่กระนั้น เขาก็ไม่เคยเปิดกระจกบานนั้นเลย มันปิดสนิทอยู่เสมอ
เป็นเจ้านายใหม่ของเขาต่างหากที่คว้าจับนกพิราบตัวนั้น พามันไปที่บานประตู แล้วโยนมันขึ้นไปบนฟ้า เพื่อให้มันได้โผปีกโบยบินไปอย่างเสรีสมกับที่ได้เกิดมาเป็นนกพิราบ
ใช่ – เสรี, เหมือนที่มิสเคนตันได้เลือกเดินออกมาจากปราสาทแห่งนั้น แม้ว่าเธอจะต้องเผชิญหน้ากับชีวิตจริงที่ไม่ได้หรูหราอีกต่อไป
จะมีก็แต่สตีเฟนส์ – ผู้รับใช้ต่ำต้อยที่แสนภักดีเท่านั้น ที่ยังคงขังตัวเองอยู่ในปราสาทแห่งนั้น และมีชีวิตอยู่ในเถ้าถ่านแห่งวารวันต่อไป,
และต่อไป