ความผิดปกติที่ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้เนืองๆ ทั่วไป สำหรับผู้เฝ้าสังเกตการณ์การเมืองไทยไปเสียแล้ว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เช่นกัน มีเรื่องชวนงง ชวนโมโหทางการเมืองเกิดขึ้นไม่น้อยเรื่อง แต่มี 2 เรื่องที่ผมคิดว่ามีน้ำหนักที่สำคัญมาก นั่นก็คือ การพาเหรดกันออกมาปกป้อง ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐในกรณีที่ดินฟาร์มไก่ ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจรุกล้ำพื้นที่ป่า และอีกกรณีหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆ เลยก็คือ การตั้งเรื่องจะยุบพรรคอนาคตใหม่ หลังจากปลดธนาธรออกจากตำแหน่ง ส.ส.
2 เรื่องนี้ดูเผินๆ แล้วเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลย นอกเสียจากเป็นความอยุติธรรมสองมาตรฐานเหมือนกัน แต่ผมอยากจะบอกว่าจริงๆ แล้ว กรณีทั้งสองนี้วางอยู่บนฐานคิดแบบเดียวกันเลยครับ ซึ่งเป็นฐานคิดแบบนักความมั่นคงมหาอำนาจในช่วงยุคสงครามเย็นโน่นแน่ะ
ก่อนที่ผมจะอภิปรายถึงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ทั้งสองนี้ ผมขอเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องเล่าในช่วงสงครามเย็นให้ฟังเล็กน้อย เรื่องที่จะเล่านี้มาจากงานเขียนขนาดสั้นของนักคิดคนสำคัญแห่งยุคอย่าง โนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) หรือปู่โนมที่หลายๆ คนเรียก งานชิ้นนี้ชื่อ What Uncle Sam Really Wants (แปลไทยโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ ในชื่อ ‘อเมริกาอเมริกาอเมริกา’) หากผมจำไม่ผิดนี่น่าจะเป็นหนังสือของปู่โนมเล่มแรกที่ผมได้อ่าน และหากใครสนใจที่จะเริ่มอ่านงานด้านการเมืองของปู่โนมแล้ว เล่มนี้เป็นเล่มหนึ่งที่ผมคิดว่าเหมาะแก่การใช้เป็นเล่มแรกเข้า (entry work) เลยล่ะครับ โดยรวมๆ แล้วเล่มนี้พูดถึงท่าทีและนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น แต่มีมุมมองที่น่าสนใจและไม่ได้แน่นิ่งตามคำอธิบายกระแสหลักที่มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
บทที่ผมอ่านแล้วยังจำได้ฝังใจที่สุดจนทุกวันนี้
คือบทที่ชื่อว่า ‘The threat of a good example’ ครับ
สำหรับผมแล้วความน่าสนใจของบทนี้อยู่ที่การชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและพลังของ ‘ตัวอย่างเล็กๆ’ ที่โดยปกติแล้วคนมักจะมองข้ามไป ชอมสกี้เริ่มต้นอภิปรายโดยการเล่าเรื่องของประเทศลาวในช่วงทศวรรษ 1960s ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก(และปัจจุบันก็ยังนับว่ายากจนมากอยู่) และประชากรลาวจำนวนมากเองก็ยังไม่ได้มีสำนึกร่วมของการเป็นชาติหรือรับรู้ตัวตนของสิ่งที่เรียกว่าประเทศลาวอะไรมากนักเสียด้วยซ้ำ พวกเขารับรู้ถึงเฉพาะชุมชนท้องถิ่นที่พวกเขาอาศัยอยู่และเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาเป็นหลักเท่านั้น
อย่างไรก็ดี มีการพยายามปฏิวัติในลาวขึ้น (social revolution) ซึ่งหากมองด้วยสายตาของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่กำลังเล่นอยู่ในหมากกระดานใหญ่สเกลโลกทั้งใบแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในลาว ณ เวลานั้นเรียกได้ว่าจิ๊บจ๊อยกะจิดริดมากๆ หากพิจารณากันตามปกติแล้วก็พูดได้แบบไม่เกินจริงว่า “ไม่คุ้มค่าพอให้สหรัฐอเมริกามาเสียเวลา เสียกำลังสนใจอะไรกับมันด้วย” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นกลับไม่ใช่ดังที่หลายคนคาดการณ์ไว้ สหรัฐอเมริกามีปฏิบัติการลับ ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่ลาว จนฝั่งปฏิวัติยอมจำนนลง
รูปแบบปฏิบัติการลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่เกรนาด้าด้วย เกรนาด้าเป็นประเทศเล็กๆ ที่แทบจะไร้พิษภัยใดๆ หากมองจากฐานคิดด้านความมั่นคงกระแสหลัก เพราะมีประชากรหลักแสนคน และมีผลผลิตหลักคือลูกจันทน์เทศ (nutmeg) แต่เมื่อมีแน้วโน้มจะเกิดการปฏิวัติขึ้นในเกรนาด้าเท่านั้นแหละครับ สหรัฐอเมริกาขยับตัวเข้าไปจัดการจนศิโรราบในบัดดล
นักความมั่นคงเองก็งงไม่น้อยกับพฤติกรรมนี้ของสหรัฐอเมริกา แต่ปู่โนมอธิบายอย่างน่าสนใจว่ายิ่งเพราะมันเล็กนี่แหละ ยิ่งสำคัญและต้องจัดการ ปู่โนมถึงกับใช้คำนี้เลยว่า “The weaker and poorer the country is, the more dangerous it is as an example.” (คำเน้นตามต้นฉบับ) หรือพอจะแปลได้ว่า
“ยิ่งประเทศนั้นอ่อนแอและยากจนมากเท่าไหร่
ก็ยิ่งอันตรายมากเท่านั้นในฐานะของการเป็นตัวอย่าง/แบบอย่าง”
เพราะหากว่า ‘กระทั่ง’ ประเทศที่ไร้อำนาจไร้พลังแบบนี้ยังสามารถทำได้ แล้วทำไมประเทศอย่างเราที่เหนือกว่าพวกนั้นตั้งไม่รู้เท่าไหร่จะทำบ้างไม่ได้เล่า? นี่คือพลังของเรื่องเล่าของความอ่อนแอ ของตัวตนซึ่งไร้ความจำเป็น ว่ามันสำคัญอย่างไรกับภาพรวมในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงครับ และมันอธิบายพฤติกรรมของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
เพราะฉะนั้นแล้ว ‘คู่ต่อสู้หลัก’ ของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็นนั้น จึงแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ ประเทศมหาอำนาจด้วยกัน (สหภาพโซเวียต, จีน, ฯลฯ) กับประเทศเล็กๆ ยิบย่อยเหล่านี้ กลุ่มแรกเอาไว้เพื่อบอกให้โลกเห็นถึงระดับของอำนาจแท้จริงของสหรัฐอเมริกาว่าสามารถงัดข้อกับประเทศบิ๊กๆ เหล่านี้ได้โดยไม่ยำเกรงใดๆ ในขณะที่กลุ่มที่สองทำหน้าที่เพื่อเป็นตัวอย่างว่า “อย่าคิดว่าเล็กแล้วจะหลุดรอดไปจากสายตาของชั้นได้ อย่าได้คิดหือนะ” สองอย่างนี้ทำงานคู่กันไป เป็น 2 ด้านของเหรียญหรือนโยบายความมั่นคงชุดเดียวกันนั่นเอง
แล้วเรื่องนี้เกี่ยวอย่างไรกับปารีณาและอนาคตใหม่ที่เกริ่นไว้แต่ต้น ถ้าจะพูดถึงตัวอย่างเล็กๆ ที่โดนเล่นงาน กรณีแบบจ่านิว แบบไผ่ ดาวดิน หรือคนตัวเล็กตัวน้อยอื่นๆ ไม่ตรงกว่าหรือ? คำตอบคือ “ใช่ครับ” นั่นก็ตรงอยู่ แต่พร้อมๆ กันไป มันก็เป็นสิ่งที่เราเห็นๆ กันอยู่แล้วคาตาด้วย ว่าจัดการคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ให้สังคมกลัว และก็ไม่กล้าหือกับรัฐ แต่ผมจะบอกว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับการตบเท้าออกมาปกป้องปารีณา ทั้งโดยองค์กรอิสระ หรือกระทั่งคนระดับ วิษณุ เครืองาม นั้น วางอยู่บนฐานคิดเดียวกันนี้เลย แค่ปรับทิศทางของตัวอย่างใหม่เสียหน่อย
“ปารีณามีไว้ทำไม?”
ว่ากันตรงๆ การมีอยู่ของปารีณาในฐานะ ส.ส. นั้นอาจไม่ได้ช่วยอะไรให้พรรคพลังประชารัฐดูดีขึ้น หรือได้เครดิตทางการเมืองมากขึ้นเลย แม้กระทั่งประธานสภาอย่าง ชวน หลีกภัย เอง ที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งสังกัดอยู่ใน ‘ค่ายรัฐบาลด้วยกัน’ ยังแสดงออกไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งถึงความเอือมระอาต่อปารีณา บทบาทเดียวที่อาจจะพอนับเป็นผลงานได้ก็คือ การขัดแข้งขัดขาจังหวะที่กำลังเข้าได้เข้าเข็มในสภา หรือไม่ก็การชิงพื้นที่สื่อ ซึ่งไม่ใช่การชิงมาแล้วได้พื้นที่ที่ดีอะไรไปด้วย ว่ากันอีกแบบก็คือ คนแบบปารีณานั้นจะหาอีกกี่คนก็ได้ ถ้าต้องการแค่เลเวลนี้ สาระไม่ต้อง มุ่งแต่เอนเตอร์เทน
ถ้าเป็นแบบนี้ คือ ปารีณาไม่ได้มีมูลค่าสูงส่งอะไรในฐานะ ‘กำลังในการต่อสู้ทางการเมืองของพลังประชารัฐ’ แล้วทำไมจะต้องช่วยเหลือปารีณาขนาดนี้? ระดับที่องค์กรอิสระต้องออกมาปัดป้อง และคนอย่างวิษณุต้องลงมาช่วยเลยหรือ? และคนที่ไม่พอใจกับความผิดที่ฟ้องปารีณาอยู่นั้น ก็มีกระทั่งคนที่ร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย อย่าง ดำรงค์ พิเดช เป็นต้น ไม่ต้องนับว่าที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมในร่มเงา คสช. นั้น ก็สูญเสียเครดิตมานับมูลค่าแทบจะไม่ถ้วนแล้ว (นาฬิกา, เฮลิคอปเตอร์, ฮาวาย, ยุบพรรค ทษช., ตัดสิทธิ์ ส.ส. ของธนาธร, ฯลฯ) การจะหาทางเพิ่มความน่าเชื่อถือสักนิดอย่างการจัดการคนที่ไม่ได้มีมูลค่าอะไรนักในทางเกมการเมืองแบบปารีณาจะไม่สมเหตุสมผลกว่าหรือ?
แต่ไม่เลย รัฐบาลนี้กลับทำในสิ่งที่ดูจะไม่เป็นเหตุเป็นผลมากนักอย่างการปกป้องตัวหมากนี้อย่างเต็มตัว ความไม่เป็นเหตุเป็นผลจนยากจะเข้าใจนี้ก็เป็นทำนองเดียวกับที่นักความมั่นคงงุนงงกับพฤติกรรมของสหรัฐฯ ที่มีต่อลาวและเกรนาด้านั่นแหละครับว่า “ทำไปทำไม?”
แต่หากมองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้บนฐานคิดที่ชอมสกี้เสนอขึ้นมาแล้ว เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า นี่คือเมสเสจที่ไม่ได้ต้องการจะสื่อกับเรา แต่ต้องการจะสื่อกับ ‘ส.ส. ตัวเล็กตัวน้อยในสภาทุกคน’ ว่าต่อให้คุณเป็นตัวหมากที่ไร้มูลค่าเพียงใดก็ตาม หากท่านอยู่ฝั่งเราแล้ว ท่านจะได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่แยแสต่อการต่อต้านใดๆ เลย เพราะฉะนั้นความน่ารังเกียจ เครดิตที่ติดลบทางการเมืองของปารีณาที่ทำให้เธอกลายเป็นบุคคลที่ไม่พึงจะไปช่วยเหลือที่สุดนั้น จึงกลายมาเป็นตัวอย่างที่ทรงพลังที่สุดในการจะช่วยเหลือปกป้อง
เพราะแม้แต่คนอย่างปารีณาเรายังปกป้องอย่างเต็มที่เลย
ฉะนั้นใครก็แล้วแต่ที่อยู่กับเราก็ไม่ต้องเป็นห่วง
จริงๆ แล้วกรณีของปารีณานี้ทำให้ผมหวนนึกไปถึงคดีเมื่อราวๆ 1 ปีก่อน ที่มีข่าวรุ่นพี่พลทหารสามนายกระทืบซ่อมพลทหารรุ่นน้องจนสุดท้ายเสียชีวิต แน่นอนว่าทหารระดับพลทหารที่หลักๆ แล้วกลายไปเป็นคนรับใช้ของเหล่าบรรดานายพลนั้น นับได้ว่าเป็นเพียง ‘ตัวตนที่เล็กกะจิดริด’ ในสายตาเหล่านายพลและกองทัพทั้งหลาย ทั้งภายใต้กระแสดราม่ารุมโจมตีกองทัพในครานั้น ผมก็คิดในใจว่าพลทหารสามคนนี้คงจะโดนลอยแพกระมัง แต่เปล่าเลย เหล่านายพลและคนใหญ่คนโตในกองทัพกลับเดินสายออกมาปกป้องพลทหารสามคนนี้อย่างถึงพริกถึงขิง
ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพลทหารทั้งสามนี้ก็คือสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นกับปารีณานั่นแหละครับ คือ วิธีคิดแบบกองทัพและนักความมั่นคงยุคสงครามเย็น คือ พวกเขาไม่ได้สนใจว่าจะสูญเสียเครดิตอะไรปานใด (อย่างที่สหรัฐฯ เองก็ไม่ได้แคร์เสียงก่นด่าจากชาวโลกมากนักจากสิ่งที่ทำในตอนนั้น) เพราะพวกเขารู้ว่าเสียงก่นด่าของคนเหล่านี้ หรือเสียงชื่นชมจะไม่ทำให้พวกเขาชนะสงครามนี้ไปได้
ปัจจัยที่จะทำให้เขาสามารถชนะในสงครามนี้อยู่ที่การสามารถยึดเหนี่ยวตัวหมากให้ ‘ยอมตาม’ พวกเขาได้อย่างเต็มที่ อย่างสุดจิตสุดใจ เขาเชื่อว่าแค่มีกองทัพที่เชื่อมั่นในการเป็นพวกกับเขาอย่างเหนี่ยวแน่นพอในมือก็สามารถยุติทุกอย่างได้แล้ว พวกเขาเชื่อว่าการมีเสียงและตัวหมากในสภาที่จะยอมทำตามพวกเขาโดยไม่แยแสอะไรใดๆ จะนำมาซึ่งชัยชนะให้พวกเขา และอาจจะกระทั่งดึงดูดหมากตัวใหม่ๆ ให้อยากมาอยู่ใต้ร่มเงาของพวกเขาด้วย นี่คือพลังอำนาจของ ‘ตัวอย่างเล็กๆ ที่ทรงพลัง’ อย่างที่กองทัพหรือพลังประชารัฐ (ซึ่งก็คิดแบบทหารๆ นี่แหละ) เหมือนจะกำลังทำอยู่
พร้อมๆ กันไป การพร้อมสู้และทำลาย ‘อริ’ ที่ไม่ว่าจะดูแข็งแกร่ง ยิ่งใหญ่แค่ไหน อย่างที่สหรัฐอเมริกางัดข้อกับโซเวียตและจีนควบคู่ไปกับการสร้างตัวอย่างเล็กๆ นี้ตลอดเวลาด้วยนั้น มันก็วางฐานอยู่บนตรรกะเดียวกันครับ คือ การแสดงอำนาจให้เห็นชัดว่าไม่ได้เล่นแต่เฉพาะกับ ‘ตัวเล็กๆ’ นะ ศัตรูที่ตัวใหญ่และมีอำนาจก็พร้อมจะจัดการ เพราะฉะนั้นไทยรักษาชาติจึงเป็นเหยื่อ อนาคตใหม่จึงเป็นเหยื่อ เพื่อจะบอกให้หมากในสังกัดมั่นใจในฝั่งฟากที่ตนเลือกแล้ว หากทำลายอีกฝั่งสำเร็จ ตัวอย่างที่สร้างขึ้นอย่างกรณีปารีณานี้ ยิ่งจะน่าดึงดูดให้อยากมาอยู่กับพลังประชารัฐแทน เพราะพลังประชารัฐทั้งปกป้องได้ ทั้งแข็งแกร่งพอจะฟัดและล้มทุกคน
ว่าแต่ทำไมต้องเป็นอนาคตใหม่ ไม่ใช่เพื่อไทยที่โดนเล่น
หลายคนพยายามอธิบายว่าเพราะอนาคตใหม่ ‘แรงกว่า’ มุ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงมากกว่า หรือไม่คิดจะเจรจาใดๆ มากกว่า ผมคิดว่าอาจจะพอมีความจริงบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดแน่ๆ
หากพูดกันในฐานะการ ‘จุดไฟในเชิงอุดมการณ์’ ก็อาจจะพอพูดได้ถึงความเข้มแข็งของอนาคตใหม่ แต่ในแง่ความเปลี่ยนแปลงนั้น ยังถกเถียงได้มาก เราปฏิเสธนโยบายสารพัดของไทยรักไทยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในทางวิถีชีวิตและอุดมการณ์ทางการเมืองของคนในสังคมไม่ได้หรอกครับ เราปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงที่ 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, โอท็อป, ปลดหนี้ IMF จากวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 ฯลฯ นำมาได้หรือ? และเราบอกได้หรือว่ามันสร้างความเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าอนาคตใหม่? ผมคิดว่าไม่มีทางหรอกครับ ต่อให้รักหรือเชียร์อนาคตใหม่เพียงใด ก็ต้องยอมรับว่า ณ จุดนี้อนาคตใหม่ยังไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงชนิดนี้จนชนชั้นนำไทยต้องหวาดกลัวและหาทางกำจัดก่อนเพื่อไทยแน่ๆ ไม่ต้องนับถึงความสามารถในการปลุกมวลชนให้ออกมาสู้ด้วย ที่แม้การชุมนุมที่สกายวอล์กจะมีคนมากมายมาร่วม แต่หากเทียบกับสิ่งที่เสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยเคยทำแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ถึงจุดนั้น (แต่ถามว่ามีโอกาสไหมที่จะไปได้ไกลขนาดนั้น ก็คิดว่ามีครับ และอยากให้กำลังใจผ่านไปตรงนี้ด้วย)
เช่นนั้นแล้วทำไม ‘เหยื่อ’ ที่เป็นตัวอย่างของการโค่นล้มศัตรูที่ทรงพลังของกลุ่มอำนาจเก่าจึงเป็นอนาคตใหม่ ไม่ใช่เพื่อไทย? ผมคิดว่าคำตอบหลักๆ อยู่ที่กลไกที่เกิดขึ้นมาควบคู่กับการเกิดขึ้นของอนาคตใหม่นั่นเองครับ ซึ่งหลักๆ แล้วกลไกที่ว่านี้มี 2 ประการ คือ
- อนาคตใหม่ มีกลไกหนึ่งที่เพื่อไทยไม่มี และนั่นคือสิ่งที่พลังประชารัฐเกรงกลัว นั่นก็คือ ความสามารถในการ ‘แย่งมวลชนของตนไป’ คือคงต้องยอมรับกันตรงนี้ครับว่า เป็นเรื่องยากมากที่คนที่เคยสวมเสื้อเหลืองจะหันไปนิยมชมชอบเพื่อไทย หากมีก็น้อยมากๆ แต่คนที่เปลี่ยนจากเสื้อเหลือง ไปเป็นอนาคตใหม่นั้นมี และผมอนุมานไปเองว่ามีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ไม่ต้องนับคนที่นิ่งเฉยทางการเมืองมาโดยตลอดก็โดนดึงให้หันมาสนใจการเมืองผ่านการมีอยู่ของอนาคตใหม่ อนาคตใหม่จึงถูกมองว่าควรกำจัดมากกว่าเพื่อไทย เพราะคนที่จะหันมาเชียร์อนาคตใหม่ก็คงไม่ไปเลือกพลังประชารัฐหรอกนะครับ แต่จะออกมาประกาศกร้าวเป็นศัตรูอย่างชัดเจนแบบตอนนี้เลยไหม ก็อาจจะไม่ (อย่างน้อยๆ ในความเห็นของผมนะ) ฉะนั้นกลไกการเป็นที่ยืนอย่างเต็มที่ให้กับ “อดีตมิตรของ คสช.” จึงสำคัญและเฉพาะตัวสำหรับอนาคตใหม่
- ผมคิดว่า คสช. และกลุ่มอำนาจเก่าเองก็รู้ดีว่าการยุบพรรคนั้นมันมีต้นทุนทางการเมืองที่สูงมากอยู่ ฉะนั้นจึงพยายามหากลไกอื่นมาจัดการแทน เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงวิธีการนี้ (จะเรียกว่าเป็นไม้สุดท้ายก็ว่าได้) เพราะเหตุนี้เองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ป้องกันพรรคอย่างไทยรักไทยไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกจึงกำเนิดขึ้น และจัดเตรียมทุกวิถีทางให้พรรคอย่างเพื่อไทยไม่ได้ผุดได้เกิดง่ายๆ เอากันตรงๆ ก็คือ สำหรับเพื่อไทยนั้น เขาเตรียมการรับมือไว้แล้ว ไม่ต้องไปเล่นมุกยุบพรรคอีก ก็อยู่ในอวย ฉะนั้นไม้ตายสุดท้ายที่พยายามไม่ใช้หากไม่จำเป็นนั้น จึงจะใช้ก็ต่อเมื่อต้องรับมือกับของใหม่ที่อยู่นอกเหนือการเตรียมการรับมือนั่นเอง
อย่างพรรคไทยรักษาชาติ ก็แทบจะเรียกได้ว่าไม่ได้ถูกให้ภาษีอะไรเป็นพิเศษจากฝั่งอำนาจเก่าเสียด้วยซ้ำ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ ‘แผ่นดินไหว’ ขึ้น ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขที่นอกเหนือการเตรียมการไว้ ไม่มีกลไกการรับมืออย่างเป็นทางการได้ ก็ต้องงัดไม้ตายสุดท้ายมาใช้ นั่นคือ “ยุบพรรคทิ้งไปเลย” ส่วนพรรคอนาคตใหม่เองก็มีลักษณะพิเศษนี้อยู่ คือ เป็นพรรคที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และพรรคตั้งขึ้นรวมทั้งหาเสียงโดยอาศัยช่องทางที่จะได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (เช่นเดียวกับที่พลังประชารัฐทำ) ทำให้ได้คะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ชนิดล้นหลาม จากคะแนนรวมทั่วประเทศเยอะ ได้ที่นั่งเกินคาดไปมาก (จนต้องมาใช้วิธีนับคะแนนแบบหลุดโลกอย่างที่คงจะจำกันได้) พูดอีกแบบก็คือ กลไกที่สร้างขึ้นใหม่นี้ สร้างขึ้นมาให้รับมือพรรคแบบเพื่อไทยได้ แต่ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อรับมือพรรคอย่างอนาคตใหม่ ฉะนั้นจึงต้องจัดการด้วยวิธีเดิมๆ คือ ไม้ตายสุดท้ายอย่างการยุบพรรคนั่นเอง