[คำเตือน : เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในหนัง The Conjuring 2]
1
Peggy Hodgson เป็นม่ายสาวชาวอังกฤษที่ดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยความยากลำบาก นอกจากจะขัดสนทางการเงินแล้ว เธอยังอาศัยอยู่ในบ้านเก่าโทรมซอมซ่ออีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้เพ็กกี้ยังเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกทั้ง 4 คนเพียงลำพัง บ่อยครั้งเพ็กกี้รู้สึกกดดันจากปัญหาต่างๆ จนในบางครั้งเธอถึงขนาดเผลอตวาดใส่ลูกๆ แต่ถึงที่สุดแล้ว เพ็กกี้ก็รักลูกของเธอ
แม้เพ็กกี้จะเป็นหญิงม่าย แต่เธอก็ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการหล่อเลี้ยงความสุขให้ดำรงอยู่ในครอบครัวชนชั้นล่างของเธอได้ สมาชิกทั้ง 5 ยังคงมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่งที่วิญญาณร้ายได้ปรากฏขึ้นพร้อมกับช่วงชิงแสงสว่างของครอบครัวฮอดจ์สันไป
The Conjuring 2 ย้ายพื้นที่การดำเนินเรื่องจากฝั่งสหรัฐฯ มายังแผ่นดินอังกฤษ เมื่อ Ed และ Lauren Warren จำต้องเดินทางข้ามสมุทรมาสู่ผืนประเทศใหม่ตามการไหว้วานของศาสนจักรที่อยากให้พวกเขาช่วยเป็นหูเป็นตา ตรวจสอบว่าเหตุการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับครอบครัวฮอดจ์สันเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่การแต่งเรื่องสร้างกระแส ในทีแรก สามี-ภรรยานักปราบผีเหมือนจะเชื่อว่าการรุกรานของผีร้ายเป็นเรื่องจริง แต่แล้วพวกเขาก็ได้พบหลักฐานที่แย้งขึ้นว่า เป็นไปได้ที่การคุกคามของวิญญาณต่อครอบครัวฮอดจ์สันอาจเป็นเพียงแค่การกุเรื่องขึ้นเพื่อผลประโยชน์หนึ่งเท่านั้น
2
แน่นอนว่า The Conjuring 2 ได้ตอกย้ำถึงความเก่งกาจของ James Wan ในการสร้างสร้างความกลัวให้กับคนดู ด้วยบรรยากาศที่ชวนให้หวาดระแวง และการจัดวางจังหวะตกใจที่แม่นยำ แต่สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ผีเสียทีเดียว ประเด็นเรื่อง ‘ความแปลกแยก’ ต่างหากที่ผมคิดว่าหนังผีภาคต่อเรื่องนี้นำเสนอออกมาได้อย่างเข้มข้น
ครอบครัวฮอดจ์สันคือภาพแทนของครอบครัวชนชั้นล่างที่แปลกแยกออกจากสังคมรอบข้าง ทั้งด้วยว่าครอบครัวนี้ถูกขับเคลื่อนด้วย ‘แม่’ เพียงคนเดียว ขัดแย้งกับกรอบคิดครอบครัวแบบอนุรักษ์นิยมที่หนังนำเสนอว่า ครอบครัวที่สมบูรณ์พร้อม ต้องมีทั้ง ‘พ่อและแม่’ ไม่ใช่แค่เพียงคนใดคนหนึ่ง จุดนี้เองที่ทำให้เพ็กกี้และลูกๆ ของเธอที่ขาดพ่อไม่อาจสอดคล้องกับกรอบคิดนี้ได้ จนอาจเรียกได้ว่าครอบครัวฮอดจ์สัน ‘ไม่ปกติ’
นอกเหนือจากสถานะครอบครัวแล้ว สมาชิกแต่ละคนในบ้านเองก็ล้วนแต่เผชิญปัญหาที่ยิ่งขับเน้นสถานะ ‘คนนอก’ ของแต่ละคนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การที่เพ็กกี้ถูกสามีทิ้ง ทำให้เธอต้องตกอยู่ใต้สถานะของม่ายผู้ไม่อาจเติมเต็มภาพของครอบครัวอันสมบูรณ์พร้อมได้ Jenet Hodgson เด็กสาวที่พยายามไขว่คว้าหาตัวตนที่ชัดเจนเพื่อที่จะได้มีพื้นที่ยืนในโรงเรียน เธอตัดสินใจเลียนแบบพฤติกรรมของเพื่อนคนหนึ่งที่เห็นว่าโดดเด่นและน่าจะทำให้เธอเป็นที่ยอมรับในโรงเรียนได้สักที หรือ Billy Hodgson น้องชายคนเล็กของตระกูลที่มีอาการพูดติดอ่างจนถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนล้อเลียนอยู่เป็นประจำ
เห็นได้ว่าพวกฮอดจ์สันต่างก็แบกรับความเจ็บปวดจากความนอกคอก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจำยอมต่อกรอบสังคมที่กดทับ เห็นได้จากความพยายามแสวงหากระบวนการที่พาตัวเองไปสู่การเป็นที่ยอมรับ หรือก็คือการเป็น ‘คนใน’ ของสังคม เราอาจกล่าวได้ว่า The Conjuring 2 คือภาพสะท้อนการต่อสู้ระหว่างคนนอกและกรอบของสังคมที่พยายามกั้นขวางพวกเขาออกไป
แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อวิญญาณร้ายได้เข้ามารุกรานครอบครัวฮอดจ์สัน ผลที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้ได้แสดงให้เห็นมุมมองที่น่าคิดว่า แม้เหตุการณ์เหนือธรรมชาติจะยิ่งขับเน้นสถานะคนนอกของพวกเขาให้ชัดเจนขึ้น เพราะการเผชิญกับวิญญาณร้ายไม่ใช่ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ แต่ในทางกลับกัน เหตุการณ์นี้ก็ได้ช่วยให้ตระกูลนี้ได้เป็นที่รู้จักและมีตัวตนขึ้นมาในวงกว้าง แม้การได้มาซึ่งสิ่งนี้จะสวนทางกับความแปลกแยกที่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม
3
ไม่เพียงแค่ตระกูลฮอดจ์สันที่ตกอยู่ในสถานะคนนอก คู่รักนักปราบผีเอ็ดและลอว์เรนเองก็ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้สถานะเดียวกัน บ่อยครั้งพวกเขาต้องทนถูกสังคมกล่าวหาว่าวิชาชีพปราบผีเป็นแค่เรื่องแหกตาที่ได้แต่หลอกเอาเงินชาวบ้านไปวันๆ
ตรงนี้หากมองว่า การเจอผีเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยที่เกิดขึ้นไม่บ่อยแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากตัวละครในเรื่องจะโดนผลักไสและไม่ถูกยอมรับ แต่เมื่อลองมองจากอีกมุมหนึ่ง เป็นไปได้ไหมว่าการเผชิญกับวิญญาณร้ายเกิดขึ้นแค่กับบางคนเท่านั้น เหตุการณ์นี้จึงเปรียบได้ดั่งประสบการณ์พิเศษที่เข้ามา ‘แทรกแซง’ ทำให้สภาวะปกติ(ไม่มีผี) กลายเป็นไม่ปกติ(มีผี) และด้วยการนี้จึงทำให้ ‘เมื่อผีถูกปราบได้สำเร็จ’ และครอบครัวฮอดจ์สันได้กลับสู่สภาวะปกติ(ไม่มีผี) อีกครั้ง การได้กลับคืนสู่สภาวะปกติมีนัยยะสำคัญที่ทำให้ความเป็นปกติครั้งนี้มีสถานะที่ต่างออกไป
พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เพราะการถูกรุกรานจากผีร้ายนี่เอง ที่ทำให้พวกเขาได้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต พร้อมกับที่ได้รู้จักความหวัง
4
ฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเอ็ดร้องเพลง Falling In Love With You ของ Elvis Presley ให้เด็กๆ ฮอดจ์สันฟัง เพื่อช่วยแผ้วทางให้ความหวัง รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะได้คืนกลับมาอีกครั้งแม้แค่ชั่วระยะสั้นๆ
นอกเหนือจากการคืนความสุขแค่เพียงชั่วคราวแล้ว นัยยะหนึ่งที่ปรากฏในฉากนี้คือ การตอกย้ำภาพฝันของครอบครัวอันอบอุ่นให้กับเหล่าเด็กๆ (อาจรวมถึงแม่ด้วย) ว่า การจะตรึงภาพความสุขนี้อย่างถาวรได้นั้น ไม่สามารถเกิดจาก ‘แม่’ แต่เพียงลำพังได้ แต่อาจต้องเกิดจากครอบครัวที่มีพร้อมทั้ง ‘พ่อและแม่’ เท่านั้น นี่เป็นอีกครั้งที่หนังเน้นย้ำถึงแนวคิดอนุรักษ์นิยมต่อเรื่องครอบครัว
5
อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบ (จนถึงกับเสียน้ำตา) คือการเลือกใช้เพลง I Started A Joke
ด้วยเนื้อเพลงที่ร้องว่า ‘I started a joke which started the whole world crying’ อาจมองได้ว่าเป็นการตอกย้ำสถานะอันแปลกแยกของบรรดาตัวละครในเรื่องทั้งของครอบครัวฮอดจ์สัน และสามี-ภรรยาวอร์เรน ที่สวนทางกับสังคมอยู่เสมอ พวกเขาเจ็บปวดในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รับรู้ และพวกเขาต้องเผชิญกับภยันตรายที่คนส่วนใหญ่หัวเราะเยาะเพราะไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งที่สุดแล้วการได้ไปถึงความสุขของทั้งสองครอบครัวจึงอาจไม่ใช่อะไรที่พ้องตรงกับคนทั่วไปเสียทีเดียว เพราะความสุขที่ว่า เกิดขึ้นได้เฉพาะจากสถานะความเป็นคนนอกแค่เท่านั้น