“จงกล่าวความจริง แม้เสียงของท่านจะสั่นเทิ้ม”[1]
(Speak the truth, even if your voice shakes.)
ข้อความดังกล่าวคือคำแรกที่ลอยเข้ามาในหัวผมหลังจากได้อ่านเอกสารคำตัดสิน 25 หน้าของคุณคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจังหวัดยะลาที่ตัดสินใจยิงตัวเองจบลง[2] ผมคิดว่าตัวผมเองคงจะอยู่ในสภาพอารมณ์และความคิดแบบเดียวกับคนอีกมากมายที่ได้อ่านข่าวเดียวกันนี้ ว่าประเทศนี้มันจะต้องพิกลพิการมากเพียงใด ขนาดที่ผู้พิพากษาที่ดูจะเป็นตัวแทนของสถาบันความยุติธรรมนั้นยังต้องออกมาเรียกร้องถามหาความยุติธรรมเอง และมากไปกว่านั้นผมรู้สึกเศร้าปนตื้นตันใจต่อการตัดสินใจของคุณคณากร ที่ขนาดนี้แล้วยังมีคนพยายามจะบอกว่าเป็นการ ‘จัดฉากทางการเมือง’
หากการเอาปืนจริงยิงหน้าอกตัวเอง เป็นการจัดฉาก เป็นละครการเมือง ผมก็ไม่อาจจะทราบได้โดยง่ายแล้วล่ะครับว่าอะไรคือ ‘ความจริงที่ปราศจากการแสดง’ หรือจะเป็นความรักชาติบ้านเมืองแบบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากระนั้นหรือที่เป็น ‘ความจริงที่ไม่ใช่การแสดง’ หากท่านเป็นส่วนหนึ่งของคนที่มองโลกอย่างหยาบช้าเช่นนี้ ผมเองก็คงไม่ขอเสียเวลาไปพยายามเสวนาอะไรด้วย เพราะการพูดคุยกับก้อนหินตามทางเท้ายังดูจะมีประโยชน์มากกว่า
อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะชวนให้นึกย้อนไปก็คือ กรณีของคุณคณากรนั้นไม่ใช่กรณีแรกๆ ในช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ที่มีคน(พยายาม)ปลิดชีวิตตนเองอันเนื่องมาจากเงื่อนไขที่มาจากรัฐบาล การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง หรือในช่วงต้นรัฐบาลประยุทธ์ 1 เองหากยังจำกันได้ก็มีชาวสวนยางผูกคอตายจากปัญหายางและพยายามเรียกร้องเรื่องราคายางด้วย[3] ว่ากันอีกแบบก็คือ การต้องหาทางออกของชีวิตในฐานะมนุษย์ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ด้วยการตายโดยจงใจนั้นไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น มันมีขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเราแทบจะชาชิน และเมื่อมาคิดดูเช่นนี้ มันก็ยิ่งน่าสลดใจว่าราคาของชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าไพร่ในสังคมเผด็จการนั้นมันช่างไร้ราคาอย่างเหลือเชื่อ
ความทุกข์ยากและน้ำตาของไพร่ก็ดูจะไม่ได้ถูกนับเป็นมูลค่าอะไรเลย
ในสังเวียนการช่วงชิงอำนาจของนักเผด็จการในคราบประชาธิปไตยเหล่านี้
อนึ่ง ผมไม่ได้เขียนมานี่เพื่อจะกระแนะกระแหนคนที่เผลอหลงลืมหรือชาชินกับความตายในลักษณะเดียวกันนี้ที่ผ่านมานะครับ ตรงกันข้ามการลืมและความชาชินนั้นเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมที่ความเป็นจริงมันสวนทางกับความคาดหวังของเราเท่าไหร่ สมองก็ดูจะเล่นตลกกับเรามากเท่านั้น แล้วหาทาง ‘ปรับสภาพ’ ให้เราสามารถทนอยู่กับมันไปได้โดยไม่บ้าตายไปเสียก่อน อีกทั้งกรณีของคุณคณากรนั้นมีลักษณะจำเพาะอยู่บ้างที่ทำให้เราสามารถหลุดจากมนต์สะกดของความชาชินอันเฮงซวยนี้ขึ้นมาได้ นั่นก็คือ เงื่อนไขส่วนตัวในฐานะปัจเจกของคุณคณากรเอง
กรณีของการเลือกการ(พยายาม)ปลิดชีวิตของตนเองโดยจงใจจากเหตุทางการเมืองนั้น มักจะมองได้ว่ามีปัจจัยหลักคือเรื่องความลำบาก ข้นแค้นทางการเงินและความเป็นอยู่ผสมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเรื่องราคายาง ไปจนถึงการฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจที่แม้จะเลวร้าย แต่เราก็ดูจะเผลอเคยชินกับมันไประดับหนึ่งเสียแล้ว แต่กรณีของคุณคณากรนั้นมีความพิเศษในจุดที่ว่าสถานะของคุณคณากรนั้นมีความมั่นคงสูง อาชีพเป็นข้าราชการตุลาการที่มีเงินเดือนที่มั่นคง พิษภัยเศรษฐกิจมีผลกระทบด้วยน้อย ว่าง่ายๆ ก็คือ ชีวิตในทางส่วนตัวไม่ได้ลำบากอะไรเลย แต่กลับเลือกที่จะตัดสินใจเช่นนี้
ลักษณะเฉพาะดังกล่าวนี้เองที่มันทำให้การตัดสินใจยิงตัวเองของคุณคณากรนั้น กล่าวได้ว่ามันเป็นเรื่องเหตุผลทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ (Purely Political) หรือว่าอีกแบบก็คือ เป็นการตัดสินใจเพื่ออุดมการณ์/ความเชื่อ/จุดยืนทางการเมืองของตนในฐานะปัจเจกล้วนๆ อย่างที่ไม่ได้มีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมาเป็นประเด็นผลักดัน (ทั้งนี้ไม่ได้จะสื่อว่ากรณีการฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจนั้น ‘ไม่การเมือง’ นะครับ เปล่าเลย มันการเมืองมากๆ ด้วย แค่จะสื่อว่ามันสร้างอารมณ์และการรับรู้คนละแบบกับกรณีของคุณคณากร และทำไมมันจึงเข้าใจได้ที่กรณีนี้จึงเป็นที่สนใจขึ้นมาเป็นพิเศษ)
ไม่เพียงเท่านั้น เนื้อหาในเอกสารคำแถลงการณ์ 25 หน้าของคุณคณากรยังมีจุดที่น่าสนใจมาก และสะท้อนในประเด็นที่ผมได้เกริ่นไว้แต่ต้น นั่นก็คือ หากคุณคณากรไม่ได้ยึดมั่นกับจุดยืนทางอุดมการณ์ของตน คือประชาธิปไตยที่ปกครองด้วยนิติรัฐที่มีความยุติธรรมเป็นที่ตั้งแล้ว
“รัฐกำลังสั่งฆ่าคนผ่านอำนาจของกฎหมายและตุลาการอยู่ อย่างน้อย 3 ชีวิต
และจำคุกตลอดชีวิตอีกอย่างน้อย 2 ชีวิต”
นี่มันคือเรื่องใหญ่มากๆ นะครับ
และหากอ่านเนื้อหาโดยครบถ้วนแล้ว เราจะเข้าใจได้ทันทีว่าทั้งการพยายามบังคับ ‘ผลการตัดสิน’ เองก็ดี ทั้งการสร้าง ‘กระแสภาพลบให้กับผู้ต้องสงสัยผ่านสื่อก่อนการตัดสินคดี’ ก็ดี ทั้งการ ‘กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้ต้องสงสัยเพื่อให้ได้คำให้การแบบที่รัฐต้องการ’ ก็ดี ล้วนแต่เรียกได้ว่าเป็น ‘ละครฉากใหญ่โดยตัวรัฐเอง’ ทั้งสิ้น เป็นดั่งรัฐโรงละครที่กำลังเขียนบทสดๆ ให้คนแสดงไปเรื่อยๆ หลอกผู้ชม ซึ่งก็คือประชากรในรัฐเอง หรือหากใช้คำของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็คงเรียกได้ว่าเป็น ‘รัฐนาฏกรรม’ เข้าอย่างจังๆ ด้วย
แล้วใครเล่าคือ ‘คนแสดง’ ในโรงละครโรงใหญ่แห่งนี้? คนแสดงเหล่านี้ก็คือ ‘ข้าราชการและระบบราชการ’ นั่นเอง ที่ทำหน้าที่แสดงตามบทบาท/คำสั่งที่ผู้กำกับอย่างรัฐบาลกำหนดมาให้ อาจจะมีมือเขียนบทประจำแต่ละตำแหน่ง (หรือกระทรวง) เป็นอธิบดี หรือปลัดกระทรวงก็ว่าไป ว่าอีกแบบก็คือ เนื้อหาของคุณคณากรนั้นได้บอกกับเราว่า คนเขียนบทหรือคนที่เป็นใหญ่เป็นโตในระบบราชการตอนนี้ ก็คือคนที่ยอมตามบทที่ผู้กำกับอย่างรัฐบาลสั่งมาชนิดไม่บิดพริ้ว ไม่มีท้วงติง
ส่วนตัวคุณคณากรเองนั้นดูจะมีความคล้ายคลึงกับคนอย่างเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน คือคนซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งในระบบดังกล่าวนี้ เคยเป็นฟันเฟืองหนึ่งของจักรกลแห่งการริบเรื้อนความเป็นคน พวกเขาคือกลุ่มคนที่รับรู้และเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าคนทั่วๆ ไปที่เป็นเพียงผู้ชม ไม่ได้เห็นอะไรต่อมิอะไรที่อยู่หลังม่านแบบชัดนัก และพวกเขาก็เป็นคนที่ไม่อาจจะทนรับกับการเป็นส่วนหนึ่งในละครอันเหี้ยมโหดนี้ได้อีกต่อไป และก็ตัดสินใจเปิดเผยมันต่อสาธารณะ
ฉะนั้นการตัดสินใจของคุณคณากรนี้ มันไม่ใช่การตั้งคำถามต่อความไม่ถูกต้องในระบบ ราคาของความยุติธรรมที่ต่ำปานปาหี่ราคาถูก หรือเรื่องราวน่าประทับใจของฮีโร่แห่งอุดมการณ์เท่านั้น แต่มันยังชี้ชวนให้เราต้องตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่แปะป้าย ‘ลับ/ลับมาก/ลับมากที่สุด’ ทั้งหลายนี้ของรัฐด้วย ว่ามันควรจะมีอยู่หรือไม่? ถ้าหากจะมีอยู่ จะมีในลักษณะใด จะตรวจสอบมันกลับได้อย่างไร?
เพราะเราต้องไม่ลืมว่ากระดาษคำสั่ง หรือบทละครเหล่านี้
คือ กระดาษที่มีอำนาจในการ “ฆ่าคนได้จริงๆ”
และทำให้การฆ่าที่ไม่ควรจะถูกต้องตามกฏหมายกลับเป็นถูกต้องและชอบธรรมตามระบอบไปเสีย มันน่าเศร้ามากนะครับ ที่ชีวิตของประชาชนอย่างเรา ถูกกำหนดราคาให้เหมือนกับตัวละครในบทประพันธ์ไปจริงๆ การมีชีวิตของเราถูกทอนลงให้ไร้ซึ่งชีวิตไป คุณค่าเหลือเพียงการเป็นส่วนหนึ่งของพล็อตที่จะไปถางทางให้ละครฉากถัดไปของผู้กำกับสามารถดำเนินขึ้นได้
แต่ที่ยิ่งน่าตลกก็คือ มีคนจำพวกหนึ่งในสังคมนี้กลับมองว่าคนที่เล่นละครคือคนที่ยอมละทิ้งทุกอย่างในชีวิตเอาข้อมูลหลังม่านนี้ออกมาบอก ทั้งยังใช้ปืนจริงยิงเข้าหน้าอกตัวเองกลางศาล แต่เชื่อว่าละครฉากใหญ่นั้นคือความเป็นจริง มันคงสะท้อนอะไรที่น่าเศร้ายิ่งขึ้นไปอีกขั้นเสียกระมังว่า ไม่ใช่เพียงแค่ผู้กำกับอย่างรัฐบาลที่มองชีวิตของไพร่อย่างไร้ราคา แต่ไพร่ด้วยกันเองก็มองว่าชีวิตของคนร่วมชนชั้นกับตนนั้นไม่มีราคาค่างวดใดๆ ไปด้วย ไพร่เหล่านี้ดูท่าจะเป็นคนดูที่เสพละครปาหี่ชุดนี้หนักมากเสียจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘บท’ โดยไม่รู้ตัว และไม่คิดจะเข้าใจ
ผมทราบดีครับว่าการมาถามหาราคาให้กับน้ำตาของเหล่าไพร่อย่างเราๆ อาจจะเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ แต่ผมก็ยังยืนยันคำเดิมกับที่ผมใช้เปิดบทความชิ้นนี้ โดยเฉพาะในเวลาแบบนี้ว่า “จงกล่าวความจริง แม้เสียงของท่านจะสั่นเทิ้ม” เพราะมีแต่ความจริงที่ไม่ได้ถูกเขียนมาให้เป็นบทละครของรัฐ อย่างที่คุณคณากรได้ทำเท่านั้นที่จะปลุกให้เหล่าผู้ชมที่กลายไปเป็นส่วนหนึ่งของบทลืมตาตื่นได้ และที่สำคัญที่สุด มันจะทำให้บทละครถูกลดทอนอำนาจลงไปได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ข้อความที่เชื่อกันว่าเริ่มต้นกล่าวโดย Maggie Khun (แต่ยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอน)