ถึงแม้จะผ่าตัดเอาบรรดา ‘เหรียญ’ แต้มบุญจำนวนกว่า 915 เหรียญ ที่พี่ๆ มนุษย์ใจสว่าง สะอาด สงบ ช่วยกันแชร์ลงไปในบ่อเต่าออกไปได้แล้ว แต่สุดท้ายมันก็ทำได้แค่เป็นการยืดอายุ ‘น้องออมสิน’ เต่าตนุวัย 25 ขวบ ออกมาได้เพียงพักเล็กๆ เท่านั้นแหละนะครับ เพราะในท้ายที่สุด ออมสินก็ต้องจากเราไปด้วยอาการกระแสเลือดเป็นพิษจากโลหะหนักอยู่ดี
ว่ากันว่าที่บรรดานักท่องเที่ยวพากันโยนเหรียญลงไปในบ่อของน้องออมสินนั้น เป็นเพราะเชื่อว่าการโยนเหรียญลงไปในบ่อเต่านั้นจะทำให้โชคดี แถมยังช่วยให้มีอายุยืนยาวอีกต่างหาก
ถึงแม้ว่า ‘เต่า’ จะเป็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการมี ‘อายุยืน’ และหลายครั้งจะเป็นสัญลักษณ์ของ ‘โชคลาภ’ อยู่บ้างในบางวัฒนธรรมก็ตาม แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ใครเป็นผู้คิดค้นประเพณีการโยนเหรียญลงไปในบ่อเต่า โดยหวังว่าเจ้าเต่าเหล่านี้จะอำนวยโชคลาภ และทำให้ผู้ที่พากันแชร์เหรียญเหล่านี้ลงไปบ่อตายช้าลงไปอีกนิด รู้ก็แต่ธรรมเนียมอย่างนี้ไม่ใช่ประเพณีของไทยมาแต่เดิมแน่
เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ในสังคมไทยแต่เดิมนั้นมี ‘เหรียญ’ ที่ผลิตขึ้นจากโลหะพวกนี้เหลือเฟือพอที่จะเอาไปโยนทิ้งลงบ่อ ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่า จะมีเต่าที่ไหนช่วยบันดาลโชคลาภ หรืออายุยืนขึ้นอีกหน่อยที่ไหนกัน?
ถึงแม้ว่า นักโบราณคดีจะพบ ‘เหรียญ’ ในประเทศไทย อยู่เป็นกะตั้ก มาตั้งแต่ช่วงเริ่มเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ที่เพิ่งจะมีการอิมพอร์ตตัวอักษรจากอินเดียเข้ามาใช้กัน เมื่อราวหลัง พ.ศ. 1000 ลงมาไม่มากก็ตาม แต่เหรียญพวกนั้นก็ไม่เคยถูกนำมาใช้สำหรับเป็น ‘สื่อกลาง’ ในการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือสิ่งของกันอย่าง เหรียญกษาปณ์ ที่เราใช้กันจนชาชินอย่างในปัจจุบันนี้หรอกนะครับ
เหรียญในยุคโน้นถูกสร้างขึ้นเพื่อการทำบุญ และอุทิศให้ศาสนาบ้าง เป็นเครื่องมือในพิธีกรรมที่ว่าด้วยอำนาจของกษัตริย์บ้าง (และนี่ก็คือจุดตั้งต้นของการที่ด้านหนึ่งของเหรียญ มักจะพิมพ์ไว้ด้วยรูปของพระมหากษัตริย์ มาจนกระทั่งทุกวันนี้) ยิ่งหากเป็นเหรียญจากบ้านอื่นเมืองไกล ไม่ว่าจะอินเดีย โรมัน หรือแม้กระทั่งจีน ก็จะถูกยึดถือในแง่ของสิ่งของมีค่า และหลายครั้งก็ดูจะเป็นของศักดิ์สิทธิ์เอาด้วยซ้ำ ผิดกันกับมูลค่าของเหรียญในปัจจุบันที่ดูจะกระจ้อยร่อยสิ้นดี เมื่อเทียบกับมูลค่าของธนบัตรใบสีเทาๆ ทั้งที่มูลค่าของโลหะที่นำมาผลิตนั้น ก็ย่อมมีราคาสูงกว่ากระดาษอย่างไม่ต้องสืบ?
และก็เป็นเพราะมูลค่าของโลหะที่นำมาผลิตเป็นเหรียญนั้น มีราคาสูงลิ่วมาโดยตลอดนี่แหละ ที่ทำให้การนำโลหะมาผลิตเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (พูดด้วยภาษาบ้านๆ ก็คือ เอามาใช้เป็น เงิน) มีปัญหามาโดยตลอดในโลกยุคโบราณ แม้กระทั่งในอารยธรรมอภิมหาใหญ่ยักษ์ ที่เคยเป็นศูนย์กลางของโลกอย่าง จีน ในสมัยราชวงศ์ถัง (ระหว่าง พ.ศ. 1161-1450) ก็ยังประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนโลหะในการนำมาทำเป็นเหรียญ จนบางพื้นที่ในปริมณฑลอำนาจของราชวงศ์ถัง ต้องนำวัตถุอื่นมาใช้เป็น ‘เงิน’ หรือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทนอย่างเช่น ผ้าไหม เป็นต้น (ใช่ครับใช่ อาณาบริเวณที่เราเรียกว่า เส้นทางสายแพรไหมนั้น ที่จริงแล้วในยุคที่ราชวงศ์ถังเรืองอำนาจ ซึ่งก็คือยุคที่เส้นทางสายนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุดนั้น เขาใช้ผ้าไหมแทนเงินกัน มากกว่าที่จะเอาเงินไปซื้อผ้าไหม)
ยิ่งไม่ต้องอ้างถึงรัฐที่มีขนาด และปริมณฑลของอำนาจจุ๋มจิ๋มสิ้นดี เมื่อเทียบกับราชวงศ์ถังเมื่อครั้งกระโน้น อย่างบรรดาบ้านเมืองต่างๆ ในเขตประเทศไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น อยุธยา สุโขทัย กรุงธนบุรี หรือแม้กระทั่งกรุงเทพฯ ยุคก่อนจะรีโนเวทตัวเองรัฐชาติสมัยใหม่หรอกนะครับ
เรียกได้ว่า ในสมัยโบราณ ไม่มีใครที่ไหนในบ้านนี้ เมืองนี้ เขาจะเอาเหรียญไปโปรยเล่นให้เต่ากินกันแน่ๆ
และจึงไม่ใช่แค่การโยนเหรียญลงบ่อเต่าเท่านั้น ที่ไม่ใช่ธรรมเนียมไทยมาแต่เดิม การโยนเหรียญลงบ่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบ่อจระเข้ ปลาคาร์ฟ ปลาดุกอุย น้ำพุ หรือรอยพระพุทธบาทที่ไหนนี่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเพณีไทย ที่ประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมาใหม่ ไม่ต่างกันทั้งนั้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะไม่มีประเพณีการนำเหรียญไปโยนทิ้ง ในฐานะของงานพิธีกรรม ความเชื่อหรืออะไรทำนองนั้น ในวัฒนธรรมโบราณที่อื่นเลยสักหน่อย
ชาวกรีก ผู้ทึ่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์โลกอย่าง เฮโรโดตุส (Herodotus, มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 59-118) บันทึกเอาไว้ในหนังสือ The Histories ว่า ในดินแดนแห่งลุ่มน้ำไทกริส และยูเฟรติส หญิงสาวชาวบาบิโลนโบราณพาจะต้องนั่งคอยชายแปลกหน้าในวิหารองค์เทวีซึ่งมีอยู่มากมาย เพื่อเข้าสู่พิธีสละพรหมจารีกับชายแปลกหน้า ถ้าชายพึงใจในหญิงคนใดก็จะโยน ‘เหรียญ’ มาที่ตักของเธอ หญิงที่ได้รับเหรียญจะต้องลุกตามเขาไปทันทีเพื่อประกอบพิธีภายในห้องภายในวิหารนั้นเอง ไม่ว่าหน้าเหรียญที่ชายโยนให้นั้นจะมีค่ามากน้อยเพียงไรก็ตาม โดยชายผู้นั้นจะต้องเอ่ยประโยคที่ว่า
“ขัาขอเชิญท่านในนามแห่งเทวีไมลิตตา”
ถูกต้องแล้วนะครับ เขาและเธอเข้าไปฟีเจอริ่งกันนั่นแหละ โดยชาวบาบิโลเนียนถือว่านี่เป็น ‘การร่วมประเวณีอันศักดิ์สิทธิ์’ เพราะถือกันว่าเป็นการกระทำเพื่อสังเวยแก่เทวีไมลิตตา (Mylitta) อันเป็นชื่อเทวีองค์หนึ่งของชาวอัสซีเรียน แต่เฮโรโดตุสเข้าใจว่าเทวีองค์นี้คือ เทวีอโฟรไดต์ (Aphrodite, หรือ วีนัส, Venus, ของพวกโรมัน) ของพวกบาบิโลเนียน จึงเรียกชื่อวิหารที่มีการประกอบกามกิจอันศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า วิหารแห่งเทพีอโฟรไดต์เสมอ
และเมื่อได้กระทำความฟีเจอริ่งพลีพรหมจรรย์แล้ว ก็เป็นอันหมดหน้าที่ หญิงเหล่านั้นจะได้กลับไปบ้านเมืองและครองชีวิตอย่างมีเกียรติพร้อมกับตั้งหน้าคอยโชคลาภต่อไป โดยผู้หญิงทุกคนจำต้องปฏิบัติพิธีกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นหญิงสูงศักดิ์หรือหญิงสาวชาวบ้านก็ตาม แถมเฮโรโดตุสยังเล่าต่อไปด้วยว่า หญิงสูงศักดิ์อาจจะนั่งโดยที่มีผ้าม่านกั้นคลุมเอาไว้ ในขณะที่หญิงที่รูปไม่งามอาจต้องนั่งรอชายแปลกหน้าเป็นเวลานานกว่า
ไม่ว่าพิธีดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ตรรกะวิบัติสำหรับเฮโรโดตุสขนาดไหนก็ตาม (ก็ขนาดที่เขาเรียกพิธีกรรมนี้ว่า ‘พิธีกรรมที่โง่เขลา’ เลยเหอะ) แต่พิธีกรรมที่ว่าของชาวบาบิโลนก็แสดงให้เห็นฐานะของ ‘เหรียญ’ ว่า เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงตนเองเข้ากำกับอำนาจของเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์
อย่าลืมนะครับว่า เมื่อชายคนนั้นโยนเหรียญไปที่สาวนางไหนแล้วก็ตาม เขาต้องเชิญเธอนางนั้นขึ้นมาด้วยพระนามของ ‘เทพีไมลิตตา’ ไม่ใช่ด้วยนามของนายไก่กาที่ไหนเสียหน่อย?
และก็คงเป็นด้วยแนวคิดทำนองนี้นี่เอง ที่ทำให้ชาวตะวันตกยังคงมีประเพณีทำนองนี้สืบทอดกันมา เช่น ธรรมเนียมการโยนเหรียญลงไปน้ำพุบางแห่ง ที่รู้จักกันดีคือ น้ำพุเทรวิ (Trevi fountain) ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่เชื่อกันว่า การโยนเหรียญลงไปในบ่อน้ำพุแห่งนี้ จะทำให้ผู้โยนได้กลับไปเยือนกรุงโรมอีกครั้ง ซึ่งก็แน่นอนว่า การที่ใครจะกลับไปที่กรุงโรมอีกหนได้จากพลานุภาพของการโยนเหรียญนั้น ก็เพราะว่าเหรียญต้องไปทำปฏิกิริยากับอำนาจศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่าง จนผู้โยนเหรียญต้องกลับไปเยี่ยมโรมอีกสักทีนั่นเอง
ถึงจะไม่รู้ว่าโดยใคร? และเมื่อไหร่? แต่พี่ไทยเราก็คงจะเอาประเพณีทำนองนี้มาจากฝรั่งนี่แหละครับ เพียงแต่ว่าเมื่อเอาของเขามาแล้ว ก็ต้องจับเซ็ตเสื้อผ้าหน้าผมของธรรมเนียมให้แลดูเป็น ผี พราหมณ์ พุทธ กันเสียหน่อย ไม่อย่างนั้นจะให้คนส่วนใหญ่ในบ้านนี้ เมืองนี้ ‘อิน’ กันที่ตรงไหน?
โชคร้ายก็แต่ความเป็นไทยที่ถูกนำไปเซ็ตลงในประเพณีที่อิมพอร์ตเข้ามาใหม่นี้ ให้ความสำคัญอยู่เฉพาะในส่วนของความเชื่อ แต่ไม่ได้สนใจเงื่อนไขอื่นๆ อย่างเช่น ในน้ำพุของฝรั่งเขา ไม่ได้มีสัตว์น้ำชนิดไหน ที่พร้อมจะงาบอะไรก็ตามที่มนุษย์โยนลงไปด้วยนึกว่าเป็นอาหาร ให้มันรู้สึกหนักท้อง น้องออมสินของใครหลายคนก็เลยต้องจบชีวิตลงด้วยการนำเอาเฉพาะรูปแบบ และความเชื่อของคนอื่นเขามาประแป้ง แต่งตัวใหม่กันอย่างเพียวๆ แต่ไม่ได้สนใจเงื่อนไขอะไรอื่นๆ ที่แวดล้อมอยู่รอบตัวของธรรมเนียม หรือประเพณีเอาเสียเลย