ช่วงนี้ กระแสของภาพยนตร์เกาหลี เป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ ‘Parasite’ หรือ ชนชั้นปรสิต ไปคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในเวทีออสการ์มาได้ ซึ่งเป็นเหมือนการยืนยันว่า อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ ไปไกลจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และไม่ใช่แค่ในระดับเอเชียแล้ว
และเมื่อพูดถึงภาพยนตร์เกาหลีใต้ สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นคือการเล่าเรื่อง ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของประเทศผ่านหนังในมุมต่างๆ ซึ่ง รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ศึกษาวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ได้เล่าให้เราฟังว่า หนังเกาหลีสามารถนำมาเล่าประวัติศาสตร์ไทม์ไลน์เกาหลีใต้สมัยใหม่ ตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้าไปปกครอง ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ตามด้วยสงครามเกาหลี และไล่มาจนปัจจุบัน ที่มีความท้าทายหลายอย่างได้หมด
ในระหว่างที่เราสัมภาษณ์อาจารย์ เราจึงขอให้อาจารย์แนะนำภาพยนตร์เกาหลี 5 เรื่อง ที่จะทำให้เราดู และได้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาหลีใต้ไปในตัว
Spirits’ Homecoming (2016)
เรื่องแรกที่ อ.จักรกริช แนะนำคือเรื่อง Spirits’ Homecoming ที่ออกฉายเมื่อปี 2016 อาจารย์เล่าว่า เรื่องนี้เป็นหนังที่พูดถึงเรื่องของบาดแผลของเกาหลี จากการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น และการเข้ามาปกครองของญี่ปุ่น โดมีประเด็นของการบังคับใช้แรงงาน และการเอาเด็กผู้หญิงไปเป็นผู้ให้บริการทางเพศ หรือที่เรียกว่า comfort women
ผู้กำกับของหนังเรื่องนี้ ใช้เวลาในการสร้างหนังถึง 14 ปี และได้แรงบันดาลใจในการสร้างจากภาพวาดของหญิงชราที่เคยมีประสบการณ์เป็นหญิงบำเรอกามของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อออกฉาย ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศเกาหลีใต้
Ode to My Father (2014)
Ode to My Father เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ อ.จักรกริชแนะนำ โดยอาจารย์บอกว่าเป็นเรื่องที่ชอบมาก เพราะถ้าดูเรื่องนี้เรื่องเดียว จะได้ครบเลย ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การสร้างชาติสมัยใหม่หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม และก็เกิดสงครามเกาหลี เกิดการแบ่งแยกเหนือใต้ และเกาหลีใต้ มาถึงพัฒนาประเทศตั้งแต่ 1950
ภาพยนตร์ฉายให้เห็นภาพผ่านแต่ละยุคสมัย จนกระทั่งยุคปัจจุบัน โดยเล่าผ่านชีวิตของคนหนึ่งคน ที่ให้ภาพว่า สังคมเปลี่ยนผ่านอย่างไรมาบ้าง และผู้คนต้องต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
A Single Spark (1995)
A Single Spark เป็นเรื่องที่ อ.จักรกริชบอกว่า เป็นเรื่องที่หาดูได้ยากหน่อย เพราะเป็นหนังที่ออกฉายตั้งแต่ปี 1995 เนื้อเรื่องพูดถึงคนที่เป็นผู้นำการเรียกร้อง หรือสิทธิแรงงาน ที่ชื่อว่า ชอน แทอิล เขาเป็นเด็กหนุ่มที่ทำงานอยู่ในโรงงานทอผ้า ย่านทงแดมุน ซึ่งตอนนี้อยู่ในโซล และเขาพยายามเรียกร้องสิทธิแรงงานในสมัย 1960
“ท้ายที่สุดแล้ว แทอิลได้จุดไฟเผาตัวเอง วิ่งไปตามท้องถนนในโซล และถือกฎหมายซึ่งไม่เคยได้รับการปฏิบัติใช้จริง เรียกร้องให้เกิดการหันมาสนใจแรงงานมากขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นการแสดงออกของความเจ็บปวดรวดร้าวของผู้คน”
“และเรื่องของชอน แทอิล ก็เป็นที่พูดถึงในหมู่นักศึกษาหัวก้าวหน้ามากมาย และเป็นแรงบันดาลใจให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อคนในสังคม เกิดเป็นกระบวนการที่ชื่อว่า มินจู หรือขบวนการภาคประชาชนเกิดขึ้นในเกาหลี” อาจารย์เล่า
Taxi Driver (2017)
Taxi Driver เป็นเรื่องที่เพิ่งฉายไม่นานมานี้ ในปี 2017 เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่กวางจู ที่เป็นการใช้ความรุนแรงที่รุนแรงที่สุดของเกาหลี ซึ่งคนเกาหลีก็ยังคงพูดถึงประเด็นนี้อยู่อยู่ และก็เป็นหมุดหมายที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเรียกร้องทางการเมืองในช่วงเวลาต่อมา
ซึ่งเกาหลีใต้ ก็มีภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องเหตุการณ์นี้มาหลายครั้งแล้ว แต่เรื่องนี้ก็ถูกนำมาเล่าอีกครั้งผ่านเรื่องของคนขับแท็กซี่
1987: When the Day Comes (2017)
เรื่องสุดท้าย ที่อาจารย์แนะนำ คือ ‘1987: When the Day Comes’ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดถึงการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี และเป็นการเรียกร้องที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการ และประชาธิปไตยสำเร็จ
อาจารย์จักรกริชเล่าว่า ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู ในปี 1980 ไม่ได้ทำให้ประเทศเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาชนพ่ายแพ้ให้กับรัฐบาล แต่เหตุการณ์ในเรื่องนี้ เกิดขึ้นในปี 1987 ซึ่งได้ตอบคำถามและฉายภาพว่า เกิดอะไรขึ้นในวันนั้นบ้าง และทำไมถึงพลิกประวัติศาสตร์ จากเหตุการณ์ในไม่กี่เหตุการณ์ ซึ่งอาจารย์คิดว่าเรื่องนี้บอกได้ดีว่า ทำไมเกาหลีถึงเปลี่ยนมาถึงจุดนี้ได้