1
เรื่องหนึ่งที่ ‘เด็กสมัยนี้’ อย่างเนติวิทย์ (เนติวิทย์ไหนคงไม่ต้องบอกนะครับ) ถูกตำหนิมากที่สุด ก็คือเป็นคนที่ ‘ไม่มีกาลเทศะ’
ที่จริงก็ไม่ใช่แต่เนติวิทย์เท่านั้นหรอกนะครับที่ถูกตำหนิทำนองนี้ แต่ ‘เด็กสมัยนี้’ โดยทั่วๆ ไป ก็ถูกตำหนิคล้ายๆ กันมากพอสมควร
มันทำให้ผมสงสัยว่า – เอ…คำว่า ‘กาลเทศะ’ มันคืออะไรกันแน่หนอ ก็เลยลงไปค้นแคะแกะเกาดูตามโลกออนไลน์ทั้งหลายแหล่, ว่าใครๆ พูดถึงมันว่าอย่างไรบ้าง
แน่นอน แรกสุด พลเมืองไทยที่ดีและรักภาษาไทยก็ควรจะอ้างอิงราชบัณฑิตยสถานใช่ไหมครับ กับคำนี้ ราชบัณฑิตท่านบอกไว้ว่า มันมีความหมายสองอย่าง อย่างแรกเป็นความหมายตรงตามตัว คือ ‘เวลาและสถานที่’ กับอีกอย่างหนึ่งเป็นสำนวน (คือไม่ได้มีความหมายตรงตัว แต่มีความหมายแฝงที่ย้อนยอกอยู่ในตัวพอสมควร) นั่นคือหมายถึง ‘ความควรไม่ควร’
ทีนี้ถ้าเราลองพินิจความหมายสองอย่างนี้ดู เราจะเห็นได้ชัดเจนแจ่มแจ้งแดงแจ๋เลยนะครับ ว่าความหมายแรก คือ ‘เวลาและสถานที่’ หรือ Time แอนด์ Space นี่ มันช่างเป็นความหมายที่มีลักษณะ ‘ภววิสัย’ (Objective) เอามากๆ คือไม่ได้มีนัยแฝงอะไรอยู่ข้างหลัง แต่พอเป็น ‘ความควรไม่ควร’ นี่ มันอดไม่ได้นะครับที่จะต้องถามว่า – แล้วมันเป็นความ ‘ควร’ หรือ ‘ไม่ควร’ ของ ‘ใคร’ กันแน่
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กาลเทศะในความหมายที่สองนี้ มันมีลักษณะ ‘อัตวิสัย’ (Subjective) อยู่ในอัตราส่วนที่สูงลิบลิ่วเลย คล้ายๆ กับคำว่า ‘วิจารณญาณ’ หรือ ‘ดุลพินิจ’ ของเจ้าหน้าที่ที่มักปรากฏอยู่ในกฎหมายต่างๆ ของไทยเลยนะครับ
ทีนี้ถ้าเราลองเอาสองความหมายสองอย่างนี้มารวมกัน มันก็น่าจะหมายถึงความ ‘ควร’ และ ‘ไม่ควร’ ที่จะกระทำหรือประพฤติปฏิบัติอะไรบางอย่างใน ‘สถานที่’ และ ‘เวลา’ หนึ่งๆ นั่นแปลว่าพฤติกรรมหนึ่งๆ ถ้าอยู่ในกาลเวลาหนึ่งและสถานที่หนึ่ง เป็นสิ่งที่ ‘ไม่ควร’ ทำ แต่ถ้าอยู่ในอีกกาลเวลาและสถานที่หนึ่ง – ก็อาจจะทำได้, หรือกระทั่งเป็นสิ่งที่ ‘สมควร’ ทำด้วยซ้ำไป
เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า แล้วตัว ‘เกณฑ์’ หรือ ‘เส้นขีดแบ่ง’ ที่จะใช้ขีดกั้นว่าไอ้นั่นทำได้ ไอ้นี่ทำไม่ได้ ณ ขณะเวลาหรือสถานที่หนึ่งๆ ล่ะ มันอยู่ตรงไหน
และใครเป็นคนขีด?
ที่สำคัญ มี ‘เกณฑ์’ ที่แน่นอนแข็งแรง (Solid) และมีลักษณะ ‘ภววิสัย’ ที่สามารถเห็นพ้องกันได้เป็นสากลไหม ว่าสิ่งนี้ทำได้หรือไม่ได้ใน Space แอนด์ Time หนึ่งๆ โดยเฉพาะในบริบทแบบไทยๆ อันดีงามของเรา
ผมพบว่าไม่มี!
แต่สิ่งที่มีอยู่เกลื่อนกล่น ก็คือ ‘กาลเทศะ’ ประเภทที่ยก ‘ความควรไม่ควร’ ไปให้กับ ‘ตัวกู’ เป็นผู้ตัดสินแทบทั้งนั้น
ดังนั้น ‘กาลเทศะ’ แบบไทยๆ จึงเป็นกาลเทศะที่มีลักษณะอัตวิสัยอย่างมาก เมื่อเป็นอัตวิสัย จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีเรื่องของ ‘อำนาจ’ และ ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแนบชิดสนิทใกล้ คือจะต้องมีคนที่มีอำนาจเหนือกว่า มาคอยบอกว่าใครบ้างที่ ‘ไม่มีกาลเทศะ’
ดังนั้น เวลาเราได้ยินคำว่า ‘ไม่รู้จักกาลเทศะ’ มันจึงมักไม่ใช่แค่การ ‘ชี้บอก’ เฉยๆ ว่าสิ่งนี้ไม่ควรทำในสถานที่และเวลานี้ แต่มักแฝงนัย ‘เหยียด’ ด้วย
ที่สำคัญ – มักมีนัย ‘เหยียด’ ไปถึงการอบรมเลี้ยงดูของคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะอีกต่างหาก
2
ผมไปลองเสิร์ชหลายๆ เว็บ พบว่ามีคนพูดถึงกาละเทศะเอาไว้ไม่น้อยทีเดียว
ตัวอย่างเช่น มีสุภาพสตรีอยู่คนหนึ่ง เล่าถึงการคุยโทรศัพท์ในห้องน้ำของ ‘เด็กสมัยนี้’ ซึ่งสุภาพสตรีท่านนั้นเรียกว่า ‘สาวๆ’ เธอบอกว่า สาวๆ สมัยนี้ชอบคุยโทรศัพท์ระหว่าง ‘ทำธุระ’ ในห้องน้ำ (พูดง่ายๆ ก็คือ ‘ระหว่างเข้าส้วม’) กันเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำในโรงแรม ในสนามบิน ในออฟฟิศ ฯลฯ คือฉี่ (หรือกระทั่งอึ) ไปคุยไป คุยแล้วก็กดชักโครกเสียงโกรกๆ ให้อีกฝ่ายได้ยินไปด้วย ซึ่งสุภาพสตรีท่านนี้เห็นว่าน่ารังเกียจมาก เธอบอกว่ามันเป็นเรื่อง ‘ไม่ถูกกาลเทศะ’ อย่างยิ่ง
ครั้งหนึ่ง เธออดรนทนไม่ได้ เลยต้องถามสาวคนหนึ่งว่าไม่อายหรือไงที่คุยโทรศัพท์จะได้ยินเสียงฉี่โกรกๆ ไปด้วยน่ะ สาวที่ถูกถามตอบมาว่าไม่เป็นไรหรอกค่ะ เพราะคนที่คุยด้วยน่ะ – สนิทกัน, ซึ่งสุภาพสตรีท่านนั้นได้ฟังก็ยิ่งไม่เข้าใจใหญ่ ว่าทำไมอีกฝ่ายถึงพึงพอใจที่จะมานั่งฟังเสียง ‘ทำธุระ’ ในการขับถ่าย รวมไปถึงเสียงชักโครกแกล้มบทสนทนาไปด้วย
เราจะเห็นได้ว่า กาลเทศะของสุภาพสตรีท่านนี้ เป็นกาลเทศะในความหมายที่สองอย่างแจ่มชัดเลยนะครับ เพราะในขณะที่เด็กสาวบอกว่า – การขี้เยี่ยวพร้อมคุยกับเพื่อนไปด้วยนั้นเป็นเรื่องไม่เป็นไร เนื่องจากทั้งสองฝ่ายรับรู้หรือ Consent กันอยู่แล้ว ดังนั้น จึงน่าสนใจไม่น้อยนะครับ ว่าแล้วทำไมสุภาพสตรีผู้นี้ถึงไม่พอใจกับเรื่องที่คนสองคนยินยอมพร้อมใจและเห็นพ้องต้องกันว่าจะกระทำ ถึงขั้นพยายาม ‘ยกระดับ’ สิ่งที่เกิดขึ้นให้ ‘ดูเหมือน’ เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าเรื่องระดับ Interpersonal คือกลายเป็นเรื่องของ ‘กาลเทศะ’ ที่พึงเป็นในระดับสังคม ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว นั่นไม่ใช่เรื่องสากล แต่เป็นแค่ความเห็นของสุภาพสตรีคนนั้นเท่านั้น
ถ้าคุณลองไปพิมพ์แฮชแท็ก #ไม่รู้จักกาลเทศะ ในโซเชียลมีเดีย คุณก็จะพบอะไรคล้ายๆ กับที่คุณสุภาพสตรีท่านนี้ ‘บ่น’ เอาไว้ไม่น้อย ส่วนใหญ่จะมีลักษณะ ‘อัตวิสัย’ ที่พยายามยกระดับตัวเองขึ้นไปเป็น ‘ภววิสัย’ ด้วยการตีขลุมยกคำใหญ่อย่าง ‘กาลเทศะ’ มาข่มไว้ก่อน ทั้งที่คำนี้มีลักษณะที่ไร้ความหมาย (Meaningless) เอามากๆ
ผมคิดว่า ยิ่งถ้าเป็นกาลเทศะในบริบทแบบไทยๆ ที่ถูกนำไป ‘ผูก’ ไว้กับคำว่า ‘มารยาท’ ก็จะยิ่งมีมิติเชิงอำนาจที่น่าสนใจหลายอย่างนะครับ
ตัวอย่างเช่น มีอยู่บทความหนึ่งที่เขียนถึงมารยาทตามกาลเทศะ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างแค่การยืน เดิน นั่ง ก็พอนะครับ
เขาบอกว่าการยืนที่ ‘มีมารยาท’ และ ‘รู้จักกาลเทศะ’ มีอยู่สองแบบ แบบแรกคือยืนธรรมดาๆ แต่ต้องให้ส้นเท้าชิด ปลายเท้าแยกเล็กน้อย ไม่กอดอกหรือล้วงกระเป๋า แต่ถ้ายืนต่อหน้าผู้ใหญ่ จะต้องตัวตรงเท้าชิด ไหล่และศีรษะก้มลงเล็กน้อย สองมือประสานกันไว้ข้างหน้า (คล้ายๆ การกุมเป้า) แล้วก็ต้องไม่จ้องหน้าผู้ใหญ่ด้วย
ส่วนการเดินนี่เน้นย้ำมากเรื่องการเดินกับผู้ใหญ่ เช่นต้องไม่เดินนำหน้าผู้ใหญ่เว้นแต่เมื่อเป็นคนนำทาง ถ้าเดินสวนกับผู้ใหญ่ก็ต้องก้มตัว ที่สำคัญก็คือ ถ้าจะมีมารยาทที่ถูกกาลเทศะ หากผู้ใหญ่นั่งอยู่ ควรจะเลี่ยงไปใช้ทางอื่นหรือ ‘คลานเข่า’ ผ่านผู้ใหญ่ด้วยซ้ำครับ
การนั่งก็ทำนองเดียวกัน คือจะให้ความสำคัญกับ ‘ผู้ใหญ่’ มากมายเหลือเกิน เช่น ห้ามนั่งกระดิกเท้า ไขว่ห้าง ถ้านั่งอยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่นี่ จะพิงพนักไม่ได้นะครับ ต้องน้อมตัวลงเล็กน้อย ตั้งใจฟังคำพูดของผู้ใหญ่ แต่ต้องไม่จ้องหน้า
จะเห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่ามารยาทและกาลเทศะแบบไทยๆ นี่ มันถูก ‘อำนาจ’ เข้ามาขึงตรึงกำกับเอาไว้มากมายหลายชั้น มันจะเป็นตัวคอยบอกว่า ควรจะแสดงคำพูด ภาษา ท่าทาง และพฤติกรรมต่างๆ อย่างไร ที่สำคัญก็คือ บทความนี้บอกว่า คนเราจะถือว่ามีมารยาทดีหรือมีกาลเทศะหรือไม่ ย่อมข้ึนอยู่กับการฝึกอบรมของแต่ละครอบครัวด้วย จึงเป็นการบ่งบอกเป็นนัยคล้ายๆ แฮชแท็กอีกอันหนึ่งที่มักพบคู่กันกับเรื่องกาลเทศะ นั่นคือแฮชแท็กว่า #โตมายังไง
ดังนั้น กาลเทศะแบบไทยๆ จึงไม่ใช่ของสากลที่ลอยอยู่บนฟ้า แต่มัน ‘ถูกนำมาใช้’ โดยวิธีคิดบางแบบ!
3
ทีนี้ถ้าลองไปดูเรื่องของ ‘กาลเทศะ’ ในแบบฝรั่งบ้าง ผมพบว่าถ้าจะเทียบเคียงกันได้ น่าจะมีอยู่สองเรื่อง
เรื่องแรกคือวิธีคิดแบบในไบเบิลที่พูดถึง Time หรือ ‘วาระ’ สำหรับการทำสิ่งต่างๆ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ฉบับ ‘ปัญญาจารย์’ (หรือ Ecclesiastes) กับข้อความที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดี คือประโยคที่ว่า ‘มีฤดูกาลสำหรับทุกสิ่ง และมีวาระสำหรับเรื่องราวทุกอย่างภายใต้ฟ้าสวรรค์’ เช่น ‘มีวาระเพาะปลูก และวาระถอนสิ่งที่ปลูกทิ้ง มีวาระฆ่า และวาระรักษาให้หาย มีวาระรื้อทลายลง และวาระก่อสร้างขึ้น มีวาระร้องไห้ และวาระหัวเราะ’ และอื่นๆ อีกหลายวาระ
วิธีคิดที่สองซ่อนอยู่ในคำว่า Decency ซึ่งคำนี้หมายถึงการทำสิ่งต่างๆ ที่ ‘เหมาะสม’ แม้จะไม่ได้พูดถึงเวลาและสถานที่ แต่คำว่า Decency ก็มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า decēns หมายถึงสิ่งที่ fit หรือ suitable ซึ่งก็คือความเหมาะสมต่อช่วงเวลา สถานที่ และสถานการณ์หนึ่งๆ ที่น่าสนใจก็คือ อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) เคยพูดถึงคำว่า Minimal Decency หรือความถูกต้องเหมาะสมในระดับ ‘ต่ำที่สุด’ เอาไว้ด้วย เขาหมายถึง Ethical Requirement หรือข้อกำหนดทางศีลธรรมที่ ‘จำเป็น’ (คือเป็นขีดต่ำสุดที่ต้องมี) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เรียกว่า Supererogation (อันนี้ไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอย่างไร แต่ความหมายคือความเหมาะสมที่มากเกินกว่าความเหมาะสม) ตัวอย่างเช่น ในทางศาสนา ทุกคนสามารถแต่งงานได้ แต่ถ้าจะให้ดีงามล้นพ้นเลยความจำเป็นนั้นไปอีก ก็ควรจะถือพรหมจรรย์ไปเลย การถือพรหมจรรย์ไม่ใช่แค่ Decent เท่านั้น แต่เหนือไปกว่า Decent อีก แบบนี้เองที่เรียกว่า Supererogation
ดังนั้น ถ้าเรามองในทางศาสนาและปรัชญา ตาม ‘แว่น’ ของโลกตะวันตก ก็จะเห็นว่าสิ่งที่คล้ายๆ กับ ‘กาลเทศะ’ ของไทยนั้น ถูกมองได้อย่างน้อยสองแบบ แบบแรกก็คือชีวิตเรามีวาระต่างๆ ซึ่งนัยของคำสอนนี้ก็คือ วาระต่างๆ ขึ้นอยู่กับพระเจ้า ไม่ใช่เรื่องของที่มนุษย์จะมากะเกณฑ์ตัดสินพิพากษาว่าอะไรถูกผิดดีชั่ว เพราะหากถึงเวลา มันก็จะเกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นได้เอง ดังนั้น แม้เรื่องนี้จะมี ‘อำนาจ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่เหนือพ้นความเข้าใจของมนุษย์ ไม่ใช่ ‘อำนาจ’ ของคนบางกลุ่มที่คิดว่าตัวเองอยู่ ‘เหนือ’ กว่าคนอีกบางกลุ่ม
ในเวลาเดียวกันกับที่ ‘อำนาจ’ เอื้อให้คนบางกลุ่มสามารถใช้กาลเทศะเพื่อกดข่มหรือเหยียดคนอีกบางกลุ่มได้โดยปราศจากหลักเกณฑ์หรือการตรวจสอบคำว่ากาลเทศะ (เพื่อให้คำว่า ‘กาลเทศะ’ ไป ‘อำนวยความสะดวก’ ให้กับกลไกอำนาจที่จะเหยียดได้อย่างคล่องปากโดยไม่ต้องคิดถึงโครงสร้างใดๆ) นักคิดตะวันตกอย่างคานต์ ก็กลับพยายามมองหาว่า ขีดขั้นต่ำของกาลเทศะอยู่ตรงไหน (อ่านคำว่า Minimal Decency) และขีดที่เลยพ้น Decency ไปนั้นคืออะไร ภาพของ ‘so-called กาลเทศะ’ ในแบบคานต์จึงเป็นสเปคตรัม คือทำให้เห็นว่ามีกาลเทศะขั้นต่ำหรือกาลเทศะที่จำเป็น ไล่ไปจนถึงกาลเทศะแบบที่ล้นเกินหรือไม่จำเป็น / คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามก็ได้ด้วย
กาลเทศะแบบไทยๆ และสิ่งที่คล้ายๆ กาลเทศะแบบตะวันตก จึงมีความต่างกันตรง ‘สารหล่อลื่น’ การใช้คำนี้ โดยสารหล่อลื่นที่ว่า มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า – อำนาจ, นั่นเอง
4
กาลเทศะแบบไทยๆ นั้น มักถูกนำมาใช้เพื่อชี้นิ้ว ตัดบท ราวกับเมื่อตัดสินไปแล้วว่าการกระทำบางอย่างเป็นเรื่อง ‘ไม่ถูกกาลเทศะ’ ก็เท่ากับไม่ต้องถกเถียงกันอีกต่อไปว่านั่นคือการกระทำที่ Decent หรือไม่
แต่ถ้ามองในภาพใหญ่กว่านั้นขึ้นไปอีก ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาว่า – ในโลกสมัยใหม่ (MODERN World) การใช้คำว่ากาลเทศะกันอย่างพร่ำเพรื่อและถูกกำกับโดยสำนึกเชิงอำนาจแบบโบราณนั้น มันเป็นการใช้ที่ ‘ถูกกาลเทศะ’ ของโลกสมัยใหม่หรือเปล่า
โปรดอย่าลืมว่า กาลเทศะ คือ Time แอนด์ Space นะครับ และดังนั้น – โดยตัวของมันเอง กาลเทศะจึงถือเป็นคำที่ ‘เลื่อนไหล’ ไม่ได้สถิตย์นิ่งอยู่บนหิ้ง เฉพาะคำว่า Time (หรือกาละ) ก็มีนัยบ่งชี้ถึง ‘ยุคสมัย’ อยู่ในตัวอยู่แล้ว ส่วนคำว่าเทศะหรือ Space ในปัจจุบันไม่ได้มีแค่ Physical Space เท่านั้น แต่ยังมีความคิด วิถีชีวิต และข้อมูลใหม่ๆ อีกมากมายที่ล่องลอยอยู่ใน Cyber หรือ Virtual Space ที่สำคัญ เขาบอกว่าข้อมูลทั้งหมดที่มนุษยชาติเคยสร้างขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์ 90% เพิ่งสร้างขึ้นใน 3 ปีที่ผ่านมานี่เอง ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่อยู่ใน Cyber Space ด้วย ดังนั้น ก็ต้องย้อนกลับไปถามตัวเองดูว่า ‘กาลเทศะ’ ที่เราอยากให้คนอื่นเป็นแบบเรานั้น มันสอดรับกับโลกและวิธีมองโลกของยุคนี้มากน้อยแค่ไหน
ปัญหาของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ‘กาลเทศะ’ ของใครถูกหรือผิด แต่อยู่ที่การพยายามใช้อำนาจเหนือสวม ‘กาลเทศะ’ ในแบบของตัวเองเพื่อ ‘ครอบ’ คนที่มีอำนาจน้อยกว่า ดังนั้น การชี้นิ้วกรีดร้องว่าคนอื่นที่ไม่เหมือนตัวเองเป็นคน ‘ไม่มีกาลเทศะ’ และพยายามนำกาลเทศะในแบบที่ตัวเองเชื่อไปครอบงำหรือบอกให้คนอื่นต้องเป็นตาม – จึงเป็นภาพที่ออกจะแปลกตาอยู่สักหน่อยในบริบทโลกสมัยใหม่
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้จะบอกคุณว่า – กาลเทศะเป็นสิ่งที่ไม่ต้องคำนึงถึงกันอีกต่อไป เพียงแต่เมื่อโลกเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน การใช้พื้นที่เปลี่ยน กาลเทศะก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย
คุณว่าสังคมที่ฝ่ายหนึ่งกรีดนิ้วชี้ด่าเหยียดว่าอีกฝ่ายไม่มีกาลเทศะ ในขณะที่อีกฝ่ายก็ยิ้มมุมปากยักไหล่แล้วกล่าวเหยียดด้วยคำว่ามนุษย์ป้า – เป็นสังคมที่น่าอยู่ไหมครับ