เมื่อราวหนึ่งเดือนก่อนผมได้มีโอกาสกลับประเทศไทยด้วยเหตุเร่งด่วนครับ (คือตอนนี้เรียน ป.เอกอยู่ญี่ปุ่น) ระหว่างที่กลับไทยนั้น ผมก็เจอกับเรื่องที่ขัดใจผมแรงมากมาโดยตลอด แต่ไม่ได้มีโอกาสพูดถึงสักที นั่นคือปัญหาของกระดาษชำระที่ใช้เช็ดอึนี่แหละครับ ว่ากระดาษชำระและระบบระบายน้ำเสียของไทยนั้นมันผิดมากๆ เกิดมาเป็นกระดาษชำระทั้งที เช็ดอึเสร็จแล้วทั้งที เสือกไม่สามารถทิ้งลงโถได้ เพราะจะทำให้ส้วมตัน … มึงบ้ารึเปล่า! ผมก็ได้แต่เก็บงำความอึดอัดนี้ไว้ จนกระทั่งช่วงนี้รู้สึกเป็นจังหวะประจวบเหมาะแก่การเขียนถึงเรื่องนี้ดูสักที
(ประจวบเหมาะเพราะใจจริงอยากเขียนเรื่องเลือกตั้งมาเลเซีย แต่ไม่มีความรู้พอจะเขียน 555)
เมื่อเป็นดังว่าแล้ว ผมก็ลองเช็กก่อนว่า ไอ้ความรู้สึกหงุดหงิดใจนี้ผมบ้าไปเองคนเดียวหรือเปล่า หรือมีคนคิดอย่างผมจริงๆ คือ ผมรู้อยู่แต่ต้นแล้วนะครับว่าที่ญี่ปุ่นหรือในยุโรปส่วนใหญ่จะให้ทิ้งกระดาษชำระลงโถเลย ทั้งยังเป็นมารยาทด้วยว่า ‘ห้ามทิ้งลงขยะ’ เพราะไม่มีใครควรจะต้องมารับผิดชอบเก็บซากของคนอื่น แต่ก็ไม่รู้ว่าเค้าถือเป็นเรื่องใหญ่ชวนหงุดหงิดกันไหม เลยต้องเช็กเพื่อความชัวร์
ปรากฏว่า เรื่องนี้เป็นดีเบตไม่น้อยทีเดียวครับในสังคมตะวันตก อย่างในสื่อก็มีโผล่มาให้เห็นบ้างในบางครั้ง อย่าง Express ของสหราชอาณาจักรเองก็เคยเขียนถึงประเด็นนี้[1]ว่าในปัจจุบันมีประเทศในยุโรปเพียง 10 ประเทศที่ยังคงต้องทิ้งกระดาษชำระหลังเช็ดแล้วในถังขยะ เพราะระบบบำบัดน้ำเสียยังไม่ค่อยอำนวย
ว่าง่ายๆ ก็คือ การไม่ได้ทิ้งทิชชูลงโถเป็นเรื่องที่ ‘ต่ำกว่ามาตรฐาน’ ในสายตาโลกตะวันตกแล้วนั่นเองครับ
แต่พร้อมๆ กันไปนิตยสารที่ชื่อ TWM หรือ Tissue World Magazine (ครับ ผมก็เพิ่งรู้ว่ามันมีนิตยสารว่าด้วยการดาษทิชชูด้วย) ก็เคยเขียนถึงปัญหานี้อย่างน่าสนใจทีเดียวว่า กรณีการ ‘ทิ้งหรือไม่ทิ้ง’ ทิชชูลงในโถนั้น ยังคงเป็นปัญหาโดยทั่วไป แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ใช่ตะวันตก กล่าวคือนิตยสารนี้ได้อธิบายว่าปริมาณการใช้กระดาษชำระนั้นเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความก้าวหน้าของระบบบำบัดน้ำเสียภายในประเทศของรัฐหนึ่งๆ[2]
กล่าวคือ รัฐที่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ก้าวหน้านั้น ระบบบำบัดน้ำเสียจะได้รับการออกแบบมาให้สามารถจัดการกับกระดาษชำระชนิดเส้นใยสั้น (short-fibred tissue paper) ได้โดยท่อไม่ตัน อย่างไรก็ตามแม้จะมีระบบที่ ‘รองรับ’ ในหลายๆ ครั้งก็ยังเกิดข้อถกเถียงขึ้นมาอยู่ว่า ‘จะทิ้งลงโถหรือไม่?’ เพราะการทิ้งลงโถหรือไม่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางสังคมในการเช็ดตูดและทิ้งซากด้วย ไม่ได้ขึ้นอยู่แต่กับระบบว่ารองรับหรือไม่เท่านั้น และในแทบทุกที่ทั่วโลกก็ยังมีการวางถังขยะไว้ข้างโถส้วมในห้องน้ำอยู่ด้วย
แต่ก็อย่างที่บอกไปแต่ตอนต้นแหละครับว่าในโลกตะวันตกนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะถือว่าการทิ้งลงโถเป็น ‘วิถีปกติอันพึงปฏิบัติ’ เพราะไม่ควรมีใครต้องไปเสี่ยงเก็บซากของคนอื่น และถังขยะพวกนั้นก็เอาไว้ให้ทิ้งขยะอื่นๆ ที่อาจจะมี หรือกระทั่งถุงใส่ผ้าอนามัยไปโน่นเลย ไม่ได้มีไว้รองรับกระดาษชำระหลังการใช้งาน
กระนั้นประเทศที่ถือว่าค่อนข้างเจริญแล้วหลายที่ก็ยังคงไม่ได้ปรับตัวแบบนั้น โดยเฉพาะในรัสเซีย คาบสมุทรบอลข่าน และอีกหลายที่ในเอเชีย ที่รัสเซียนั้นถึงกับมีการติดป้ายว่า “อย่าทิ้งกระดาษชำระลงโถ ให้ทิ้งลงในถังขยะ” ซึ่งประเทศไทยเองก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ แต่ที่ต่างก็คือ ระบบบำบัดน้ำเสียของเราดูจะไม่พร้อมเข้าไปอีกขั้น (หรืออาจจะเป็นที่ตัวกระดาษก็ได้ เดี๋ยวจะเขียนถึงต่อไป) หรืออย่างกรณีของไต้หวันเอง ที่มีพัฒนาการของระบบน้ำเสียที่ก้าวหน้ามากแล้ว แต่คนก็ยังไม่คุ้นชินนัก ยังทิ้งขยะลงถังกันอยู่ดี จนทางหน่วยงานต่างๆ ต้องพากันรณรงค์และยืนยันว่า ให้ทิ้งกระดาษชำระลงถังได้ กระดาษทิชชูชนิดเส้นใยสั้นจะไม่ทำให้ท่อท่านตัน
แม้จะพูดได้ว่าในตอนนี้มันยังมีการตบตีดีเบตกันพอสมควร แต่โดยแนวโน้มแล้ว ก็พูดได้ชัดเจนพอๆ กันด้วยว่า ทิศทางที่จะเป็นไปของโลกนี้คือ ‘กระดาษชำระต้องทิ้งลงโถได้’ หากทิ้งไม่ได้ แปลว่าระบบการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของเมืองนั้นยังต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ แถมในเชิงความคิดก็ยังเป็นการคิดอย่างไม่แยแสนักด้วยว่า จะมีคนต้องมาเสี่ยงทนกับซากขี้ติดกระดาษของตัวเองต่อไปก็ไม่เป็นไร แต่ของแบบนี้มันต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนน่ะครับ ฉะนั้นต่อให้ประเทศที่ระดับความก้าวหน้าสูงพอแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลาในการปรับตัว อย่างกรณีของไต้หวัน แต่สักวันมันก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งคนเรานั่งโถส้วมแบบนั่งนี้ไม่เป็น นั่งไม่ถนัด นั่งแล้วขี้ไม่ออก ต้องแบบยองๆ เท่านั้น เวลาผ่านไป ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไป ‘วิถีทางพฤติกรรมของสังคม’ ก็จะเปลี่ยนตามไปเอง
แต่นั่นอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า ประเทศนั้นๆ จะต้องมีระบบที่พร้อม และดีพอมารองรับได้เสียก่อน แต่ประเทศไทยเรานั้น ต่อให้คิดอยากจะทิ้งลงโถอย่างอารยะประเทศเขาก็ทิ้งไม่ได้อย่างใจ เพราะโยนลงไปก็จะตัน ซึ่งก็เป็นตัวชี้วัดที่บ่งว่า ระบบบำบัดน้ำเสียของบ้านเรานั้นยังเลวทรามมากอยู่ และดูไม่พัฒนามาเลยไม่รู้กี่ทศวรรษแล้ว ทิ้งแล้วตันอย่างไรก็ยังคงตันแบบนั้นอยู่
นอกจากนี้ แนวโน้มของตัวกระดาษชำระเอง ในประเทศที่ ‘อารยะทางการใช้กระดาษชำระ’ แล้วนั้น มีแนวโน้มที่จะพัฒนากระดาษชำระให้บางที่สุดแต่มีความเหนียวในตัว เพื่อประกันว่ามันจะไม่ตันท่อแน่ๆ มักจะเป็นกระดาษแบบ Single Ply หรือชั้นเดียวเสียด้วยซ้ำ (คือแบบหลายชั้นในตะวันตกหรือญี่ปุ่นก็มีนะครับ ไม่ใช่ไม่มี แค่ไม่ได้เกลื่อนเมืองนัก) แค่เป็นชั้นเดียวแบบนุ่มเหนียวไม่กระดากรูตูดหรือชั้นเดียวแบบเช็ดแล้วตูดแหกบ้าง ตรงกันข้ามกับกระดาษชำระของไทย ที่ยิ่งกระดาษดี กระดาษแพงก็คือ กระดาษที่ทบชั้นกันเข้าไปให้หนาขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ก็ 2 ชั้น 3 ชั้นก็มีให้เห็นบ้าง และแบบ 5-6 ชั้นซ้อนกันก็เคยเห็นมาแล้ว สภาพกระดาษชำระจึงหนาประหนึ่งกระดาษร้อยปอนด์ที่ถูกทำให้เนื้อนุ่มนิ่ม ฉะนั้นนอกจากตัวระบบบำบัดน้ำเสียจะไม่อารยะแล้ว ตัวการอัพเกรดกระดาษเองก็ทำไปในทิศทางที่ดูจะทำให้ท่อตันหนักขึ้นเรื่อยๆ ลดโอกาสทิ้งลงโถได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
การพัฒนาเมืองที่ผูกโยงอยู่กับเรื่องการเมืองนคร (Urban Politics) และมุมมองที่มีต่อมนุษย์ร่วมสังคมอื่นๆ มันจึงถูกแสดงออกมาผ่านวิถีของการใช้และทิ้งกระดาษชำระด้วยครับ
ขนาดที่มีเว็บไซต์ที่พยายามรวบรวมข้อมูลเรื่องวิถีการใช้และทิ้งกระดาษชำระนี้ขึ้นมาอย่างจริงจังเลยนะครับ ชื่อ wheredoiputthepaper.com
ผมเข้าใจดีครับว่าที่ประเทศไทยนั้นนิยมใช้สายฉีดตูด ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการชำระล้างที่ผมนิยมชมชอบที่สุดแล้ว แม้ความเสถียรของระดับความแรงน้ำอาจจะต้องจูนกันเพิ่มเติมบ้าง เพราะบางที่ก็มาเบาเหลือเกินแต่บางที่ก็แรงจนจุกถึงขั้นได้ขี้กันใหม่อีกรอบก็มี แต่การใช้สายชำระเป็นช่องทางหลัก ก็ไม่ใช่ข้ออ้างใดๆ อยู่ดีครับ ประเทศญี่ปุ่นเอง ก็ใช้วิธีการฉีดน้ำชำระล้างเป็นหลักเช่นเดียวกัน (แม้จะคนละอุปกรณ์กับเรา) แต่กระดาษชำระก็ยังต้องทิ้งลงโถได้ด้วย และไต้หวันเองที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้ก็เช่นกัน ที่เริ่มใช้ระบบฝาส้วมฉีดชำระอัตโนมัติแบบญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ก็รณรงค์ให้คนหันมาทิ้งกระดาษชำระลงโถแทนทิ้งลงขยะ ฉะนั้นการที่ไทยใช้สายฉีดตูด มันไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียและพัฒนากระดาษชำระเราให้อารยะเยี่ยงที่อื่นเขานะครับ
การถกเถียงตบตีที่ร้อนแรงในโลกของกระดาษชำระนั้นยังมีอีกเรื่องนึงครับ นั่นคือ จะแขวนกระดาษชำระแบบไหน การแขวนกระดาษชำระนั้นโดยมากแล้วก็แขวนในแนวนอนนี่แหละครับ (เราไม่พูดการแขวนแนวตั้งที่นานๆ เจอทีเนาะ) แต่จะเอากระดาษแผ่นที่จะดึงใช้ไว้ด้านนอกหรือด้านในดีเล่า?
การแขวนที่เอากระดาษชำระแผ่นที่จะเริ่มใช้ไว้ด้านนอก เรียกว่า Over Orientationครับ ในขณะที่การแขวนโดยเอากระดาษชำระแผ่นที่จะเริ่มใช้ไว้ด้านใน เรียกว่า Under Orientation (ดูตามรูปนะครับ)
เรื่องนี้แหละคุณเอ๊ย ฝรั่งมันเถียงกันไฟแลบ และผมเองนี่บอกเลยว่าอยู่สาย Over Orientation ครับ ชนิดที่ส่วมแห่งไหนใส่กระดาษแบบ Under Orientation แล้วจะทนไม่ได้เลย จับเปลี่ยนกระดาษทุกม้วนในส้วมทุกคราไป
ที่สหรัฐอเมริกานั้นถึงกับมีการทำโพลล์สำรวจเป็นระยะๆ ว่าคนนิยมการแขวนกระดาษชำระแบบไหน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว คน 60–70% จะนิยมแบบ Over Orientation ครับ (เย้!) แต่จะเห็นได้ว่าส่วนต่างไม่หนีกันมาก ทำให้มีการดีเบตกันอย่างแข็งขัน ขนาดที่กลายเป็นหัวข้อการต่อล้อต่อเถียงที่ร้อนแรงที่สุดในคอลัมน์ขอ Ann Landers แห่ง Chicago Sun Times กันเลยทีเดียว โดยมีคนโต้ตอบกันมากกว่า 15,000 ฉบับ (ซึ่งมันเยอะมากนะคุณ คิดดูว่าขนาดตอนนี้ในเฟซบุ๊ก จะหาโพสต์ที่มีคอมเมนต์ 15,000 คอมเมนต์ยังยากเลย แต่นี่มันเหตุการณ์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1986 โน่น ที่ต้องเขียนจดหมายส่งไปด่ากันเลย)
ข้อถกเถียงหลักๆ ของฝั่ง Over มีดังนี้ครับ (1) แบบ Over ลดโอกาสที่กระดาษจะไปสัมผัสโดนกำแพง และอาจจะนำเอาเชื้อโรคมาติดรูตูดเราได้ (โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าเป็นข้อถกเถียงที่ดีนะ เพราะขี้ที่ติดรูตูดอยู่นั้นก็เต็มไปด้วยเชื้อโรคอยู่แล้ว ห่าน) (2) แบบ Overทำให้เห็นตัวเส้นแบ่งท่อนกระดาษได้ง่ายกว่า ชัดเจนกว่า (อันนี้เมกเซนส์มาก) (3) แบบ Over อนุญาตให้สามารถพับกระดาษแผ่นแรกให้ดูเรียบร้อยและเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้เข้าใช้เห็นได้ว่า ห้องน้ำได้รับการทำความสะอาดแล้ว และ (4) การตีตราแบรนด์ต่างๆ ถูกออกแบบมาให้จัดวางแบบ Over ฉะนั้นเมื่อจัดวางแบบนี้ จึงออกมาดูดีกว่า …ประมาณนี้ครับ
ฝั่ง Under เขาก็มีให้เหตุผลว่า (1) แบบ Under นี้ ดูเรียบร้อยกว่า เพราะสามารถซ่อนส่วนปลายไว้ด้านหลังได้ (ซึ่งข้อเดียวกันนี้ฝั่ง Over ก็มองว่าเป็นข้อดีของเค้า ที่มันเห็นง่าย) (2) แบบ Under นี้ลดโอกาสที่หมา แมว หรือสัตว์เลี้ยงซาฟารีในบ้านท่าน จะมาหมุนกลิ้งกระดาษชำระให้ไหลย้วยไปทั่ว (โอเค ข้อนี้ฟังดูดี) และ (3) ในพาหนะที่ใส่กระดาษชำระได้ อย่างพวกรถบ้าน การใส่กระดาษชำระแบบ Under นี้จะช่วยให้กระดาษไม่ไหลได้ดีขึ้น
ไม่ใช่แค่มีการจัดข้อโต้แย้งของการดีเบตนะครับ แต่การจัดทำสถิติที่ชัดเจนก็มี อย่างในปี ค.ศ. 1989 Poretz กับ Sinrod ได้สำรวจกลุ่มอายุ และอื่นๆ ของคนที่นิยมวางกระดาษชำระแบบ Over แล้วแบ่งได้แบบนี้ครับ[3]
จากสถิตินี้เอง Poretz กับ Sinrod จึงมองว่า คนวัยรุ่นถึงวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะนิยมการวางกระดาษชำระแบบ Over เป็นหลัก ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อพวกเขามองข้อมูลเชิงลึกขึ้น ก็ได้ข้อสรุปเพิ่มเติมด้วยว่า 60% ของคนที่มีรายได้ 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปีหรือมากกว่านั้น นิยมแบบ Over ในขณะที่ 73% ของผู้ที่มีรายได้ 20,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปีหรือน้อยกว่านั้น นิยมแบบ Under (นี่คือตัวเลขรายได้ในปี ค.ศ. 1989 นะครับ)
แม้ Sinrod กับ Poretz จะไม่แน่ใจมากนักว่าตัวเลขเหล่านี้มันสะท้อนอะไรจริงจังได้ไหม แต่ก็มีแนวโน้มว่า รสนิยมของผู้มีรายได้สูงกับผู้มีรายได้น้อยที่แสดงออกผ่านตำแหน่งการวางกระดาษชำระน่าจะมีอยู่จริง ไม่เพียงเท่านั้น ในปี ค.ศ. 1997 – 1998 ยังได้มีการลองถามผู้ซึ่งมาใช้สิทธิเลือกตั้งในเมือง Saskatoon ว่า นิยมแขวนกระดาษชำระแบบใด ผ่านเครื่องลงคะแนนเสียงรุ่นใหม่ ซึ่งผลออกมาว่า “นิยมแบบ Over มากกว่า Under ถึง 768 : 196 เสียง” หรือราว 80% เลือกแบบ Over โดยผู้มาเลือกตั้งไม่รู้ว่าคำถามดังกล่าวนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง
แต่หลังจากนั้น ทีมวิจัยจาก Southern Appalachian Science and Engineering Fair ก็ได้นำคำตอบที่ได้รับ มาโยงกับผลการเลือกตั้ง แล้วได้ผลลัพธ์ออกมาว่า ฝั่งลิเบอรัลมีแนวโน้มที่จะชอบการวางกระดาษชำระแบบ Over และฝั่งอนุรักษ์นิยมมีแนวโน้มจะชอบการวางกระดาษแบบ Under ครับ[4]
เรื่องราวของกระดาษชำระก็คงต้องขอจบลงประมาณนี้แหละครับ จะเห็นได้ว่าแม้แต่เรื่องกระดาษที่มาเช็ดก้นเรา สุดท้ายก็อาจจะสัมพันธ์กับประเด็นการเมืองอย่างไม่น่าเชื่อนะครับ …ขอให้มีความสุขในการเข้าห้องน้ำครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.express.co.uk
[2] โปรดดู www.tissueworldmagazine.com
[3] โปรดดู Poretz, Mel; Sinrod, Barry (19 July 1989), The First Really Important Survey of American Habits, Price Stern Sloan
[4] โปรดดู Keim, David (7 April 1997), “Science fair has 301 entries from 40 schools”, The Knoxville News-Sentinel, p. A4