เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดให้มีพิธีเปิดกิจกรรม ‘เสวนาบูชาสักการะเอกสารโบราณ’ ที่มีเหตุผลประกอบเก๋ๆ เป็นคำสร้อยห้อยท้ายอยู่ในข่าวจากทางกลุ่มเผยแพร่ฯ ของกรมศิลปากรเองด้วยว่า ‘ในฐานะเป็นมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าในเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา’ ซึ่งก็คงจะชวนให้รู้สึกอิหลักอิเหลื่อเหลือกำลังเลยนะครับ สำหรับใครที่อาจจะอยู่ห่างไกลไปจากแวดวงภายใต้โลโก้พระพิฆเนศวรภายใต้กำกับของรัฐออกไป
ยิ่งเมื่อในภาพข่าว มีรูปประกอบที่จัดเต็มมาทั้ง สมุดไทย หนังสือเก่า ไม่เว้นแม้กระทั่งศิลาจารึก มาโชว์ตัวเซลฟี่ร่วมกันอยู่บนโต๊ะหมู่บูชา พร้อมธูปเทียน พานพุ่ม และสายสิญจน์ระโยงระยาง ให้ใครต่อใครได้กราบไหว้ ราวกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กระหน่ำซ้ำด้วยรูปพระอันดับกระทำความ ‘เจริญพระพุทธมนต์’ ภายใต้แคปชั่นประกอบภาพถ่ายเดียวกันนี่แหละ ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามอะไรต่อมิอะไรสารพัดจะมากมายขึ้นในใจของใครหลายต่อหลายคน
ก็ไอ้ที่กรมศิลปากรกำลังบูชาสักการะอยู่นี่มันก็ศิลาจารึก ไม่ก็หนังสือเก่าธรรมดาๆ นี่ครับ ไม่ใช่วัตถุมงคลที่ไหน หน้าที่การใช้งานที่ควรจะเป็นของอะไรต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่บูชาพวกนี้ จึงน่าจะเป็นเรื่องราวของข้อความที่ถูกจดบันทึกไว้ หรือไม่ก็ในฐานะของโบราณวัตถุต่างหาก ไม่ใช่เอามากราบไหว้ให้เอิกเกริกกันอย่างกับเป็นงานอีเวนต์อย่างนี้?
แต่ถ้าจะว่ากันตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์แล้ว ในสังคมที่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์เสียจนเชื่อกันเป็นปกติว่า การเอามวลสารอะไรสักอย่างมาห้อยคอไว้ มีดดาบและลูกปืนจะยิงแทงไม่เข้า (แถมหลายทีต่อให้รถคว่ำจนพังยับเยินก็ยังช่วยให้รอดชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์!) นั้น การที่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหนังสือหนังหาโดยตรงอย่าง ‘สำนักหอสมุดแห่งชาติ’ จะบูชาสักการะหนังสือ ก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ใช่ว่าในสังคมแห่งนั้นจะไม่เคยเอาหนังสือมากราบไหว้บูชาเสียเมื่อไหร่?
มีข้อมูลเก่าแก่ระบุว่า การเรียนหนังสือของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 4 จะต้องใช้สมุดไทยดำ ลงเส้นบันทึกเนื้อหาที่จะเรียนด้วยหรดาล (แร่ชนิดหนึ่งประกอบไปด้วยธาตุสารหนู และกำมะถัน ให้สีแดงอมเหลือง) ใส่พานรองนำไปในวันแรกเข้าเรียน ซึ่งต้องเป็นช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (คือวันครู ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์) นอกจากนี้ยังต้องมีพานเครื่องบูชาที่ประกอบด้วยธูปเทียน ดอกเข็ม ดอกมะเขือ และหญ้าแพรก (เพื่อให้ปัญญาแหลมคมเหมือนดอกเข็ม มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือ และรู้เร็วฉับไวเหมือนหญ้าแพรกขึ้น) เมื่อถึงสำนักครูให้ยกพานเข้าไปตั้งตรงหน้า จุดธูปเทียนกราบไหว้บูชา ‘หนังสือ’ ที่ลงเส้นหรดาลเอาไว้นั่นแหละนะครับ
ข้อมูลข้างต้นนี้ผมเอามาจากพระนิพนธ์เรื่อง ‘ความทรงจำ’ ซึ่งก็เขียนขึ้นจากความทรงจำตามอย่างชื่อเรื่องนั่นแหละ ส่วนเจ้าของความทรงจำที่เป็นผู้บันทึกเอาไว้นั้นคือ บุคคลระดับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ดังนั้นถ้าใครจะไม่เชื่อผมก็ไปเถียงกับ สมเด็จฯท่านเอาเองนะครับ ผมไม่เกี่ยว 😛
ใช่ครับใช่ นี่คือข้อมูลเกี่ยวกับการ ‘ไหว้ครู’ ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยมีหลงเหลืออยู่ แต่เดิมนั้นเราไม่ได้ไหว้ครูที่เป็นมนุษย์ แต่ไหว้ความศักดิ์สิทธิ์ของครู ซึ่งโดยนัยนี้ก็อาจหมายถึง ‘ความรู้’ ต่างๆ ที่บันทึกเอาไว้ในหนังสือต่างหาก การไหว้ครูที่ยังเป็นมนุษย์ขี้เหม็นตัวเป็นๆ เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในยุคหลัง เพราะเพิ่งจะได้เริ่มกำหนดแบบแผนของพิธีไหว้ครูให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติอย่างเดียวกัน และได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีแรกของเดือนมิถุนายน ประจำทุกปีนั้นเป็นวันไหว้ครู เมื่อภาคการศึกษาต้นของปี พ.ศ. 2486
การไหว้ครู ด้วยการไหว้หนังสือ ที่จริงแล้วก็จึงไม่ต่างอะไรกับพิธีเลี้ยงผีประจำปี ซึ่งก็มีกันเป็นปกติทั่วไปทั้งอุษาคเนย์นั่นแหละครับ
แต่ดั้งเดิมมักประกอบพิธีกันในช่วงหน้าแล้ง หลังฤดูเก็บเกี่ยว ก่อนฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ผิดกับปัจจุบันที่มักจะทำกันตามสะดวก พร้อมเดือนไหนทำเดือนนั้น (ปัจจุบันนี้ ชุมชนในภาคอีสานหลายชุมชน ยังประกอบพิธีตามธรรมเนียมเดิม คือนับเอาช่วงสงกรานต์เป็นช่วงประกอบพิธีเลี้ยงผีไหว้ครู ครอบครู ‘ช่าง’ ต่างๆ เช่น ช่างฟ้อน ช่างขับ ฯลฯ)
พิธีเลี้ยงผีเหล่านี้ยังมีการเลี้ยงผีเรือน ผีบ้าน (หมายถึง หมู่บ้าน) รวมถึงผีที่สิงอยู่ในเครื่องมือทำมาหากินทุกอย่าง ซึ่งมีชื่อเรียกตามเครื่องมือทำมาหากินเหล่านั้น เช่น ผีนางด้ง (หมายถึง ผีที่สิงอยู่ในกระด้งฝัดข้าว) ผีครก ผีสาก (หมายถึง ผีที่สิงอยู่ในครก สากตำข้าว) เป็นต้น การเลี้ยงผีเหล่านี้จะต้องมีพิธีเข้าทรง แล้วมี ‘ผีลง’ หรือ ‘ผีเข้า’ เพื่อทำการเสี่ยงทายว่าฤดูกาลข้างหน้าจะมีความอุดมสมบูรณ์หรือไม่?
และก็เป็นพิธีกรรมเหล่านี้เองที่ทั้งสืบทอด ทั้งพัฒนามาเป็นการไหว้ครูโขนละคร รวมถึงดนตรีและการแสดงทุกชนิด ดังจะเห็นร่องรอยได้ว่า เครื่องมือที่ใช้เป็นสะพานเชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์ของครูผีมาไว้ในครูมนุษย์ ด้วยกรรมวิธีฮิปๆ ที่เรียกว่า ‘การเข้าทรง’ นั้นก็คือ เครื่องมือในการแสดง เช่น เศียรพระฤาษี เศียรพระพิราพ ไม่ต่างไปจาก ผีนางด้ง หรือผีครกผีสากเลยสักนิด
ความเชื่อ และชุดความคิดแบบนี้นั่นแหละครับ ที่ทำให้สิ่งของที่เป็นสื่อกลางถึงความศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น พลอยศักดิ์สิทธิ์กับเขาขึ้นมาด้วย เศียรพ่อแก่ เศียรพระพิราพ ถูกเทิดทูน และเต็มไปด้วยเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติ ไม่ต่างไปจากหนังสือหนังหาต่างๆ ที่เคยมีชุดความเชื่อเก่าๆ เป็นนักเรียน (หรือจะเป็นนักศึกษา นิสิต และที่จริงแล้วเป็นอะไรก็ได้) อย่าเหยียบ หรืออย่าเดินข้าม เพราะถ้าเดินข้ามแล้วจะโง่ สมองทึบ เรียนอะไรก็ไม่สำเร็จ ไม่รู้เรื่อง เป็นต้น
ด้วยพื้นฐานทางวัฒนธรรมอย่างนี้ ถ้าสำนักหอสมุดแห่งชาติจะทำพิธีการไหว้บูชาสักการะเอกสารโบราณ แล้วเจริญพระพุทธมนต์ซ้ำ ผมก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรนัก (เอ่อ ว่าแต่ที่บอก ‘เสวนา’ ตามอย่างชื่อโครงการฯ นี่มันอยู่ตรงไหนในพิธีครับ?) ถ้ารัฐไทยยังจัดให้มีพิธีไหว้ครูตามโรงเรียนอย่างเป็นปกติอยู่ทุกปี
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นปีนี้ ปีหน้า หรือปีไหน ถ้าสำนักหอสมุดแห่งชาติจัดพิธีกราบไหว้หนังสือโบราณอีกกี่หน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรในสังคมที่อุดมไปด้วยความเชื่อ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ แต่ที่แปลกก็คือ การที่สำนักหอสมุดแห่งชาติจะไม่มีคำอธิบายให้กับประชาชนว่าไหว้หนังสือไปทำไมกัน? เพื่อเผยแพร่ความรู้ (อย่างน้อยก็ความรู้เกี่ยวกับ การไหว้ครู นี่แหละ) และความรู้อื่นๆ ที่ถูกบันทึกเอาไว้ในเอกสารโบราณที่เอามากราบไหว้นั้น ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยเท่าเทียม ในสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดพิมพ์เผยแพร่ การเปิดให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปค้นคว้าได้โดยสะดวก หรือการจัดทำเป็นไฟล์ PDF เพื่อเผยแพร่ความรู้ในวงกว้าง
เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็หมายความว่า สำหรับสำนักหอสมุดแห่งชาติแล้ว หนังสือโบราณและศิลาจารึกเหล่านี้ ก็มีความหมายและคุณค่าเฉพาะในแง่ของความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่ไม่เห็นคุณค่าในเชิงวิชาความรู้ ประวัติศาสตร์ และอะไรอื่นอีกสารพัดในเอกสารเก่าแก่เหล่านี้เลย