คำถามทำนองว่า สาเหตุของปัญหาที่โลกกำลังประสบอยู่ในปัจจุบันคืออะไร? อาจนำมาซึ่งคำตอบนับพันๆ ล้านๆ เพราะนับกันแค่ปัญหา ก็มีไม่รู้ท่าไหร่แล้วหรือข้อเสนอต่างๆ ที่แน่นอนว่าย่อมแปรผันไปตามที่ผู้ให้คำตอบ พูดง่ายๆ ว่า การหยิบยื่นข้อเสนอ หรือหนทางแก้ไขปัญหา มันเป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้ตายตัว ถกเถียงไม่ได้ และเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นพลวัต
How Did We Get Into This Mess? คือหนังสือรวมบทความของ George Monbiot คอลัมนิสต์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเขาเขียนคอลัมน์ประจำสัปดาห์ให้กับ The Guardian โดยงานเขียนเล่มนี้ประกอบด้วยบทความชิ้นต่างๆ ของ Monbiot ที่มีความหลากหลายที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถสนใจต่อปัญหาต่างๆ ในสังคม รวมถึงศึกษา และวิพากษ์มันอย่างละเอียดลออ โดยการค้นหาข้อมูลอย่างเข้มข้น เดิมที Monbiot จบการศึกษาด้านสัตววิทยา (Zoology) ซึ่งส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็ถกเถียงในประเด็นของธรรมชาติ และสรรพชีวิตบนผืนโลกอย่างที่เขาถนัด แต่ก็เช่นกันที่ Monbiot ยังได้พาเราไปสำรวจข้อพิพาทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น กรณีเรื่องการศึกษา ความยากจน ความเหงาของคน รวมถึงปัญหาที่ Monbiot มักพูดถึงบ่อยๆ ในหนังสือเล่มนี้อย่างระบบทุนนิยมเสรี
เพื่อขยายความถึงประเด็นที่ Monbiot พูดถึงในหนังสือเล่มนี้อีกสักหน่อย ผมขอยกตัวอย่างข้อถกเถียงในบางบทเพื่อให้ได้เห็นภาพชัดขึ้นแล้วกันนะครับ ในบทที่ชื่อ ‘Everything is Connected’ Monbiot ได้อธิบายให้เราเห็นถึงความสำคัญของวาฬ ว่าการมีอยู่ของมันในมหาสมุทรส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างไร
Mobiot เริ่มต้นที่การให้คำนิยามของ Trophic Cascade หรือ ‘น้ำตกห่วงโซ่อาหาร’ คือกระบวนการทางนิเวศวิทยา หมายถึงผลกระทบทางอ้อมระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกัน ที่ส่งผลต่อการควบคุมระบบนิเวศ โดยกระบวนการนี้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมและการดำรงชีวิตผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร ได้ส่งผลให้เกิดการเพิ่มจำนวนของสัตว์ หรือพืช ที่เป็นเหยื่อของผู้ล่าอีกทีหนึ่ง Trophic Cascade เริ่มต้นจากยอดสุดของปีระมิด ก่อนจะค่อยๆ ส่งผลกระทบเรื่อยมาจนถึงฐานล่างสุด
ในกรณีของวาฬ ที่เราต่างก็รู้กันว่ามันบริโภคปลา และตัวเคย (krill) เป็นหลัก ทำให้นักการเมืองญี่ปุ่นบางคนถึงกับดึงดันที่จะยืนยันว่าการฆ่าวาฬจะสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ เพราะนอกจากเนื้อวาฬจะนำมาประกอบอาหารได้แล้ว การล่าวาฬจะส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณอาหารให้กับมนุษย์อีกด้วย แต่ปัญหาคือ ในขณะที่จำนวนของวาฬลดลงเรื่อยๆ จากการถูกล่า อัตราของปลาและตัวเคยก็ร่วงหล่นอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นกัน
ฟังดูย้อนแย้งพอสมควรนะครับ เพราะมันจะเป็นไปได้ยังไง ที่ปลาและตัวเคยซึ่งเป็นเหยื่อของวาฬนั้นลดจำนวนลง เมื่อผู้ล่าเบอร์หนึ่งของพวกมันค่อยๆ หายไป ไม่ใช่กลับกันหรอกหรือ ที่ปริมาณของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นควรต้องเพิ่มสูงขึ้นอีกเมื่อไม่ต้องคอยระแวดระวัง หรือถูกควบคุมปริมาณอยู่ซ้ำๆ จากวาฬ?
Monbiot ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงวาฬไม่ได้กินแค่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกัน วาฬยังส่งผลต่อการดำรงอยู่ของปลาและตัวเคยอีกด้วย เพราะความจริงแล้ว วาฬมีส่วนช่วยอย่างมากในการรักษาระบบชีวิตในท้องทะเล
พฤติกรรมของวาฬคือการดำลงไปบริโภคอาหารในบริเวณน้ำลึกที่มืดมิดดำสนิทใต้ท้องทะเล ซึ่งเป็นจุดที่แสงส่องไม่ถึง กระทั่งมันกินอิ่มจนพอใจ วาฬจึงค่อยๆ กลับคืนมายังผืนน้ำ สู่พื้นที่ที่มีแสงส่องผ่านอย่างเพียงพอต่อกระบวนการสังเคราะห์แสง ในบริเวณนี้เองวาฬจะถ่ายอุจจาระออกมา ซึ่งอุจจาระเหล่านี้อุดมไปด้วยไนโตรเจนและธาตุเหล็ก แร่ธาตุทั้งสองนี้เองที่ส่งผลต่อการขยายพันธ์ของแพลงก์ตอน ที่อาศัยอยู่เฉพาะบริเวณพื้นผิวน้ำที่มีแสงส่องถึงเท่านั้นครับ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสองแร่ธาตุนี้จะขาดแคลนบนผิวน้ำ
นอกจากนี้ อีกพฤติกรรมหนึ่งของวาฬที่ส่งผลต่อระบบนิเวศในท้องทะเลอย่างชัดเจน คือการที่มันชอบพุ่งตัวขึ้นๆ ลงๆ จากใต้ทะเล ขึ้นสู่ผืนน้ำ ซึ่งเป็นการช่วยผลักแพลงตอนที่ร่วงหล่นไปแล้วให้กลับคืนสู่ผิวน้ำอีกครั้ง สร้างโอกาสและขยายเวลาให้แพลงตอนนั้นๆ ได้แพร่พันธ์ุก่อนที่มันจะหวนกลับไปสู่ความมืดมิดใต้ท้องทะเล
ยิ่งมีแพลงก์ตอนพืชมาก ก็เท่ากับยิ่งมีแพลงก์ตอนสัตว์มาก สัตว์ใหญ่จึงได้บริโภคต่อ สืบเนื่องเป็นทอดๆ กันไป ใช่ครับ ยิ่งมีวาฬมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีปลาและตัวเคยมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ แพลงก์ตอนพืชไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่เป็นอาหารให้กับสรรพชีวิตในท้องทะเลเท่านั้น แต่ยังช่วยในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย โดยเมื่อแพลงก์ตอนได้ร่วงกลับสู่ผืนสมุทรอีกครั้ง มันก็ได้พาคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปกับมันด้วย จูงมือกันออกจากวัฏจักรไป Monbiot เล่าว่า ในสมัยที่จำนวนประชากรวาฬมีสูงกว่านี้ วาฬมีส่วนสำคัญในการช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์กว่าสิบล้านตันในทุกๆ ปี ก่อนที่จะถูกล่าและฆ่าโดยชาวประมง
ลองคิดดูสิครับว่า การมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ ในธรรมชาติ แม้ว่าในชีวิตจริงเราอาจไม่เคยปฏิสัมพันธ์ หรือกระทั่งมองเห็นตัวตนของกันและกันเลย แต่เราตอบสนองต่อกันขนาดไหน มีกรณีอีกนับไม่ถ้วน ที่การลดลงของประชากรในธรรมชาติ ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกตกใจใดๆ มากไปกว่าการสำเหนียกแค่ว่า ‘ก็แค่สัตว์ตายไปหนึ่งตัว’ แต่จริงๆ แล้ว เราแน่ใจได้แค่ไหนกันครับว่าการจากไปของหนึ่งชีวิตนั้นเป็นการสูญสิ้นไปอย่างไม่สลักสำคัญ หรือสูญพันธ์ไปอย่างไม่มีความจำเป็นอะไร
ขนาดวาฬเองที่ทั้งชีวิตเราแทบจะไม่ค่อยได้เห็น แต่การมีอยู่ของพวกเขากลับสร้างคุณูปการสำคัญให้กับโลกของเราถึงเพียงนี้ แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรกันล่ะครับว่า การฆ่าสัตว์แต่ละครั้ง แต่ละที จะไม่นำไปสู่ปัญหาหรือผลกระทบใดๆ ที่อำนาจและเทคโนโลยีของมนุษย์จะควบคุมและรับมือด้วยไม่ได้
มนุษย์เรายิ่งใหญ่ขนาดนั้นเชียวหรือครับ?