ในโลกใบที่เรียกว่าชายเป็นใหญ่รักต่างเพศนิยม เพศสภาพหญิงไม่เพียงถูกนิยามให้ต่ำกว่าเพศสภาพชาย ผู้หญิงถูกวางให้เป็นรองผู้ชาย ยังสร้างโลก ‘ผู้หญิงผอมเป็นใหญ่’ ผู้หญิงอ้วนไม่เอวเอส ถูกจัดวางให้เป็นรองและถูกผลักให้เป็นชายขอบอีกที และผู้หญิงที่รักเพศเดียวกันก็มีอัตลักษณ์ ‘ทอม’ ก็ยิ่งถูกผลักออกไปอีกเกือบตกขอบจักรวาล ผู้ชายก็ชอบรังแก หมั่นใส้ ผู้หญิงก็ระแวง และถ้าเป็นทอมอ้วนในโลกเช่นนี้จะเป็นชายขอบของชายขอบของชายขอบอีกทีหรือเปล่า?
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักทอมกันก่อน
‘ทอมบอย’ หรือ ‘tomboy’ มีประวัติศาสตร์มายาวนาน เป็นคำที่มีการเปลี่ยนเพศในแต่ละยุคสมัย ในOxford English Dictionary คริสต์ศตวรรษที่ 16 ใช้เรียกเด็กหนุ่มที่เอะอะมะเทิ่งโหวกเหวกโวยวาย หยาบๆคาบๆ ก่อความวุ่นวาย แต่ในศตวรรษถัดมากลายไปหมายถึงเด็กหญิงห้าวก๋ากั่น กล้าหาญ อาจ ทะลึ่งจกเปรต หรือไม่ก็เด็กหญิงที่เกกมะเหรกเกเร จอมแก่นเหมือนผู้ชาย และในปลายศตวรรษที่ 18 หมายถึงเด็กหญิงที่ซุกซน ชอบเล่นกีฬาเหมือนเด็กชาย เช่นเดียวกับคำว่า ‘hoyden’ ที่เปลี่ยนเพศและความหมายจาก ชายหนุ่มๆ งุ่มๆ ง่ามๆ เฉิ่มเปิ่น กลายมาเรียกเด็กหญิงที่มีอากัปตึงตัง แก่นแก้วแสนซน
มีบุคคลสำคัญหลายคนที่เคยมีชีวิตวันเด็กจอมแก่นเป็นทอมบอย เช่น นักบินหญิงคนแรกๆ แห่งอเมริกา Blanche Stuart Scott (1884 –1970) Amelia Mary Earhart (1897 – หายสาบสูญ 1937)นักกีฬาหญิงอย่าง Didrikson Zaharias เธอเก่งทั้งกอล์ฟ บาส เบสบอลและกรีฑา (1911 –1956) นักร้องนักแสดง Ava Gardner (1922 –1990) และนักแสดงสาวในตำนานอย่าง Katharine Hepburn (1907 –2003)[1]
แม้ว่าทอมบอยจะไม่ใช่คำดุด่าอีกต่อไป และกลายเป็นไอคอนของหญิงสาวที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่อ่อนแอปวกเปียก และยืดหยุ่นกับสังคม แต่ในบางวาทกรรมของนักจิตวิทยา ทอมบอยเป็นเพียงพฤติกรรมข้ามเพศสภาพของเด็กหญิง ที่สุดท้ายพวกเธอก็จะคืนสู่เพศสภาพหญิงในวัยสาว แต่ก็เป็นเพศสภาพที่ถูกทำให้เป็นวัตถุในการจับจ้องศึกษาทางจิตวิเคราะห์ มีงานศึกษามากมายพยายามอธิบายความเป็นไปไม่ได้หรือได้ว่า ทอมบอยในวัยเด็กโตมาจะกลายเป็นหญิงรักหญิง เช่นงานวิจัยของ Grellert, Newcomb, และBentler เสนอว่าทอมบอยโตมามักเป็นเลสเบี้ยน[2] แต่ Phillips, Gabriel, และ Over วิจัยมาบอกว่าไม่เกี่ยวกันสักหน่อย[3]
เหมือนกับการโต้แย้งการนิยามภายในกลุ่ม LGBTQ ว่า เพศสภาพเพศวิถีมันลื่นไหลได้ ช่วงนึงอาจจะรักต่างเพศต่อมาอาจจะรักเพศเดียวกันและอาจจะรักต่างเพศได้อีก ขณะที่มีอีกฝ่ายประกาศกร้าวว่า “born this way” จ้า แต่จะดีกว่าตรงที่พวกเขาและเธอนิยามตัวตนด้วยตนเอง ไม่ใช่วาทกรรมทางการแพทย์ที่ไหนมาศึกษาวิจัยวิเคราะห์พวกเธอเหมือนกับเพิ่งเกิดมาบนจานเพาะเชื้อ
สำหรับ ‘ทอมบอย’ ในโลกภาษาไทยถูกใช้แทนคำว่า ‘butch’ และกร่อนจนเหลือเพียง ‘ทอม’ แต่จะเป็นคำที่มีทัศนคติแฝงเชิงบวกหรือลบ หรือกลางๆ ขึ้นอยู่กับ attitude ของใครเป็นคนนิยาม เจ้าตัวหรือคนอื่นนิยาม หรือขี้ปากคนคนนั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรปฏิเสธไม่ได้ว่าเพศสภาพกลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกายโดยผู้ชาย เพราะทอมสามารถสั่นคลอนสถานภาพของผู้ชายได้ในโลกชายเป็นใหญ่ได้ สร้างความไม่มั่นคงให้กับผู้ชายที่คิดว่ามี ‘ความเป็นชาย’ ติดจู๋มาแต่กำเนิด ยิ่งทอมมีแฟนสาวสวยยิ่งทำให้ผู้ชายบางคนหงุดหงิด รู้สึกถูกคุกคาม และไม่มั่นใจในสถานะ ‘ความเป็นเพศ’ ของตนเอง เพราะในโลกผู้ชายเป็นใหญ่อีกนั่นแหละ ผู้หญิงคือทรัพยากรที่ผู้ชายต้องได้
การข่มขืนทุบตีทอมจึงเป็นการแสดงความเกลียดชังและหวาดระแวงว่าถูกช่วงชิง ‘ความเป็นชาย’ โดยอีกเพศสรีระหนึ่ง ชดเชยความไม่มั่นใจใน ‘ความเป็นชาย’ ของตนเอง และที่กากไปกว่านั้น ผู้ชายบางมั่นใจอีกว่าการชกต่อยกับทอม ตนเองได้เปรียบกว่าเพราะเกิดมามีเพศสรีระชาย
ขณะที่กะเทยจึงถูกมองว่าเป็นที่รองรับความต้องการทางเพศ สนองความใคร่ผู้ชาย นำไปสู่การตีตรากะเทยให้สัมพันธ์กับ HIV ทอมกลับถูกตีตราเชื่อมโยงกับความอ้วนที่ถูกนิยามให้เป็นความเจ็บไข้ได้ป่วยอีกประการ คือ ‘โรคอ้วน’ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเพศสภาพของพวกเขา
มีความเชื่อกันในวาทกรรมทางการแพทย์ว่า ไขมันจะนำไปสู่โรคต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือมันจะนำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันมหาศาลจากการใช้จ่ายเพื่อรักษาอาการต่างๆ จากความอ้วนต่างหาก ความอ้วนถูกมองว่าเป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะต้องดูแลตัวเอง ใครที่อ้วนก็จะถือว่าเป็นคนไม่รู้จักควบคุมตัวเอง ไม่มีวินัยในการกินการออกกำลัง นำไปสู่ความเจ็บป่วยที่เรียกว่า ‘โรคอ้วน’ มีงานวิจัยมองว่า คนที่เข้าข่าย ‘ผู้ป่วย’ โรคนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้หญิง เด็ก ชนชาติพันธุ์ต่างๆ คนจน คนใช้แรงงาน คนที่อยู่นอกเมืองปริมณฑล รวมๆ แล้วก็แค่จะบอกว่าคือ ‘คนชายขอบ’ นั่นแหละ พวกนี้ถูกตีตราว่าเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง เพราะจากสถิติแล้วก็ดันมีความเสี่ยงสูงสุด เพราะฉะนั้นคนพวกนี้ก็จะถูกควบคุมกำกับในมิติต่างๆ ในการต่อต้านโรคอ้วนไปด้วย และเลสเบี้ยนเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเสี่ยงนั้น[4]
เพราะไขมันในร่างกายไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ แต่ยังถูกนิยามว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ความเป็นหญิง’ เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสืบพันธุ์ด้วยงานที่ศึกษา ‘ไขมันส่วนเกิน’ ในร่างกายผู้ชายก็มักจะถูกอธิบายว่าไขมันมันทำให้ร่างกายผู้ชายมี ‘ความเป็นหญิง’ ผู้ชายอวบอ้วนมักถูกมองว่ามี ‘ความเป็นชาย’ น้อยกว่าผู้ชายที่มีกล้ามเนื้อชัดเจน หุ่นและเรือนร่างจึงมีผลกระทบต่ออัตลักษณ์ทางเพศของหลายๆ เพศอย่างมีนัยสำคัญ[5]
และด้วยมายาคติการเอาไขมันไปผูกกับ ‘ความเป็นหญิง’ นี้ส่งผลต่อสุขภาพของทรานส์แมน (transman-หญิงที่ข้ามเพศเป็นชาย) ในอเมริกาตามงานวิจัย เพราะในที่สุดพวกเขาจะพยายามกินอาหารอย่างผิดโภชนาการเพื่อลดไขมันในร่างกายให้น้อยที่สุด เพื่อให้ตัวเองดูแมนขึ้น[6]
แต่ก็มีงานที่แย้งว่า ‘ไขมัน’ ก็เป็นตัวแทนของ ‘ความเป็นชาย’ ได้เหมือนกัน แฟตเฟมินิสต์ (fat feminism) บอกว่า ผู้หญิงอ้วนต้องเผชิญกับความยากลำบากในชีวิตนานับประการภายใต้สำนึกเกลียดกลัวคนอ้วน (fat phobia) เธอถูกให้ค่าว่าเป็นหญิงไม่สวย ไม่มี ‘ความเป็นผู้หญิง’ กินที่ ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองในระบบเศรษฐกิจแบบปิตาธิปไตย หญิงอ้วนกลายเป็นเป้าหมายแห่งการกดทับเลือกปฏิบัติ ไปพร้อมกับตัวเธอไปสร้างการกดทับตัวเองอีกที พวกเธอหลายคนมักคิดว่าตัวเองไม่สามารถเป็นอย่างที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ควรจะเป็นได้ พวกเธอถูกจัดวางโดยสังคมปิตาธิปไตยนิยมคนผอมอยู่ในกลุ่มผู้หญิงไม่ sexy ไม่น่าจะเป็นที่ปราถนาสำหรับใครได้ ไม่น่าจะมีครอบครัวหาผัวได้ ร้ายไปกว่านั้นคือมองว่าพวกเธอ asexual
ทำให้นึกถึงหนังดราม่าฝรั่งเศสเรื่อง À ma sœur! หรือ Fat Girl (2001) ของ Catherine Breillat เลย เรื่องราวของเด็กอ้วนขี้ริ้วขี้เหร่ มีพี่สาวสุดแรด เปรี้ยวเยี่ยวราด ที่มักตกเป็นเป้าเสน่หา คนในครอบครัวก็คิดว่าเธอไม่มีความใคร่และความเป็นเพศ ทั้งๆที่เธอต้องการมีผัวใจจะขาด แต่ก็ได้แต่มองพี่สาวมีเพศสัมพันธ์ตาปริบๆ
หรือเลวไปกว่านั้นคือ ก็คือไปวางคนอ้วนอยู่ในอีก genre นึงของหนังโป๊นอกกระแสเอาไว้ให้พวกชอบของแปลก ที่มีมายาคติว่าหญิงอ้วนเป็นพวก hyper sexual เพราะเชื่อว่าความต้องการทั้งทางเพศและอาหารจะเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกันเรื่อยๆ ยิ่งกินเกินอัตราก็ยิ่งมีความต้องการทางเพศเกินอัตราไปด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ไขมันและความอ้วนก็สะท้อนถึง ‘ความเป็นชาย’ ที่นึกจะทำอะไรก็ได้ในโลกชายเป็นใหญ่ ขณะที่ผู้หญิงต้องรักสวยรักงาม เลือกกินอย่างมีวินัย พะวักพะวงกับอาหารเพื่อรักษาทรวดทรงสำหรับเอาใจชาย และง่ายต่อการหาผู้ ผู้ชายมีสถานะพิเศษบางอย่างที่ไม่ต้องรักษาหุ่นเพื่อเอาใจสาว ปล่อยเนื้อปล่อยตัวได้อย่างปลอดภัยกว่าผู้หญิงอย่างไม่ถูกสังคมกดดัน หญิงอ้วนจึงมีแนวโน้มที่จะถูกประเมินว่ามี “ความเป็นหญิง” น้อยกว่า เขยิบให้ไกลห่างจากความสวยความงามแบบผู้หญิงมากกว่า ซึ่งก็ช่วยส่งเสริมให้ผู้หญิงเควียร์ และทอมบางคนเลือกที่จะแสดงออกถึง ‘ความเป็นชาย’ ได้ เพราะไขมันและความอ้วนนำพาพวกเขาก้าวล้ำเข้าไปใช้พื้นที่ในโลกที่เคยสงวนไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น ทำให้ความอ้วนและไขมันกลายเป็นคุณลักษณะด้านดีสำหรับทอมบางคน แต่ก็ทำให้ผู้ชายบางคนเกลียดทอมมากขึ้น เพราะมองว่าทอมไปเบียดเบียน ‘ความเป็นชาย’ ในเชิงกายภาพอีกด้วย[7]
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความอ้วนโดยตัวมันเองก็สุดแสนจะ queer เพราะมันเป็นได้ทั้ง ‘ความเป็นชาย’ ‘ความเป็นหญิง’ เป็นได้ทุกอัตลักษณ์เพศสภาพ เหมือนกับที่ความอ้วนและไขมันสามารถผลักคนไปอยู่ชายขอบ ขณะเดียวกันก็พาคนที่ถูกผลักไปอยู่ชายขอบได้ มีคุณลักษณะเหมือนคนที่อยู่ในศูนย์กลางสังคม
มีงานวิจัยด้านสาธารณสุขว่า เลสเบี้ยนมีแนวโน้มจะอ้วนกว่า มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานกว่ากลุ่มผู้หญิงรักต่างเพศ และอยู่ในกลุ่มโรคอ้วน แม้จะไม่มีข้อสรุปในการศึกษาที่เห็นตรงกันว่าอะไรทำให้เลสเบี้ยนอ้วนง่ายกว่าผู้หญิงรักต่างเพศ แต่งานหลายชิ้นมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน บางงานศึกษาอื่นยังขยี้อีกว่า เลสเบี้ยนกินผักและผลไม้น้อยกว่าผู้หญิงกลุ่มอื่น นอกจากนี้ยังออกกำลังกายน้อยกว่าเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีงานอื่นออกมามาบอกว่าก็มีเลสเบี้ยนที่กินผักผลไม้ออกกำลังกายดูแลสุขภาพ แต่ทุกงานวิจัยก็ออกมาวิเคราะห์ว่าเลสเบี้ยนมีแนวโน้มที่จะอ้วน โดยเฉพาะทอมซึ่งจากการสำรวจพวกเขาบางคนมีลักษณะ enjoy eating ซึ่งก็ส่งผลต่อพลานามัยพวกเขาตามมา[8]
มีอีกงานศึกษาที่ไม่รู้ว่ามี bias อีกหรือเปล่า ของ D. J. Aaron และทีมงานว่าที่เลสเบี้ยนอ้วนจนเกินไปอาจเป็นเพราะลักษณะบางประการของ ‘วัฒนธรรมเลสเบี้ยน’ อาทิเช่น การใช้บาร์เป็นที่พบปะสังสรรค์ (อ้าวอีนี่! ไม่ว่าเพศสภาพเพศวิถีไหนมันก็ใช้บาร์เป็นที่สังสรรค์เปล่าวะ) และจากงานศึกษาเดิมยังกล่าวว่า ความบ่อยของการมีเซ็กส์กับความอ้วนสัมพันธ์กันในทางสถิติ คือยิ่งอ้วนยิ่งถี่ แต่งานวิจัยก็ไม่ได้บอกว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น[9]
กลายเป็นว่างานวิจัยด้านสาธารณสุขไม่เพียงจะมาจับจ้องเนื้อตัวนำหนักร่างกายของคนอื่นแล้ว ยังมายุ่มย่ามจับประเภทลักษณะนิสัยพฤติกรรมของเพศสภาพใดเพศสภาพหนึ่งอีกด้วย
แต่ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เสนอว่า เลสเบี้ยนและทอมโอเคกับร่างกายที่อ้วนของตัวเอง และมีแนวโน้มที่จะยอมรับได้กับรูปร่างที่หลากหลายในกลุ่มเดียวกันเอง เพราะได้อิทธิพลแนวคิดจากเฟมินิสต์คลื่นลูกที่ 2 เรื่องความสวยงามในฐานะผลผลิตของปิตาธิปไตยรักต่างเพศ จึงผละตัวเองออกจากความสวยงามแบบผู้หญิงที่ผู้ชายจับจ้อง ทำให้ทอมปล่อยตัวให้อ้วนได้มากกว่าเพศสภาพอื่นๆ
นอกจากนี้เพศวิถีของพวกเธอยังส่งผลต่อความกังวลและความโล่งใจในเรื่องน้ำหนักอีกด้วย พอๆ กับคู่ชีวิตของพวกเธอ จากการสำรวจผู้หญิงไบเซ็กช่วลพบว่า ถ้าคู่นอนของพวกเธอเป็นเพศชาย พวกเธอจะมีความกังวลเรื่องหุ่นและน้ำหนักมากกว่า แต่ถ้าคู่นอนเป็นเพศหญิงด้วยกัน น้ำหนักตัวไม่ใช่ปัญหา ถ้าเชื่องานวิจัยเหล่านี้ก็อาจจะสรุปไปได้ว่า ความอ้วนของเลสเบี้ยนก็มาจากการเป็นเลสเบี้ยนนี่แหละ
กลายเป็นว่า ไม่เพียงมายาคติความอ้วนจะส่งผลต่อเพศสภาพเพศวิถีและมายาคติต่อเพศสภาพเพศวิถีก็มีผลต่อชุดอธิบายสุขภาพ แต่ยังส่งผลต่อการผลิตงานวิจัยการศึกษาเกี่ยวกับเพศสภาพเพศวิถีและสาธารณสุขด้วยอีกแหนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[2] Grellert, E. A., M. D. Newcomb, and P. M. Bentler. “Childhood Play Activities of Male and Female Homosexuals and Heterosexuals.” Archives of Sexual Behavior 11 (1982): 451-78.
[3] Phillips, Gabriel, and Ray Over. “Differences between Heterosexual, Bisexual and Lesbian Women in Recalled Childhood Experiences.” Archives of Sexual Behavior 24.1 (February 1995): 1-20.
[4] Deborah McPhail, Andrea E. Bombak. Fat, queer and sick? A critical analysis of ‘lesbian obesity’ in public health discourse. Critical Public Health, 2015 Vol. 25, No. 5, 539–553.
[5] อ่านเพิ่มเติม Forth, C. D. (2013). Nobody loves a fat man’: Masculinity and food in film noir. Men and Masculinities, 16, 387–406.
[6] อ่านเพิ่มเติม Cooper, C. Robinson, M., & Giles, L. (2014).Fact sheet: A critical understanding of weight in LGBT communities. Toronto: Rainbow Health Ontario.
[7] Deborah McPhail, Andrea E. Bombak. Fat, queer and sick? A critical analysis of ‘lesbian obesity’ in public health discourse. Critical Public Health, 2015 Vol. 25, No. 5, 539–553.
[8] อ่านเพิ่มเติมFredriksen-Goldsen, K. I., Emlet, C. A., Kim, H., Muraco, A., Erosheva, E. A., Goldsen, J., & Hoy-Ellis, C. P. (2013). The physical and mental health of lesbian, gay male, and bisexual (LGB) older adults: The role of key health indicators and risk and protective factors. The Gerontologist, 53, 664–675.
[9] Aaron, D. J., Markovic, N., Danielson, M. E., Honnold, J. A., Janosky, J. E., & Schmidt, N. J. (2001). Behavioral risk factors for disease and preventive health practices among lesbians. American Journal of Public Health, 91, 972–97