เมื่อครั้งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (16 ธันวาคม พ.ศ. 2481-1 สิงหาคม พ.ศ. 2487) นั้น รัฐบาลของท่านผู้นำแปลก (ใช่ครับใช่ ป. ตัวที่คุ้นๆ กันอยู่ เป็นตัวอักษรย่อมาจากชื่อ ‘แปลก’ ของท่านผู้นำเองนี่แหละ) ก้าวขึ้นมาพร้อมกับ ‘ลัทธิชาตินิยม’ เช่นเดียวกับรัฐบาลทหารทั่วโลก เรียกได้ว่าไม่ตกเทรนด์ยอดนิยมของช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะนั้นเลยสักนิด
แต่ก็ไม่ใช่ว่าท่านผู้นำ ป. (เอ่อ.. ผมหมายถึง จอมพลแปลก นะครับ ไม่ใช่ท่านผู้นำ ป. คนปัจจุบัน) จะไม่ได้นำเสนอนวัตกรรมอะไรที่แตกต่างไปจากรัฐบาลทหารอื่นๆ ในโลก เพราะอย่างน้อยในสมัยของท่านได้มีการประกาศสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐนิยม’ จำนวนถึง 12 ฉบับ ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 2482-2485 เลยทีเดียว
เจ้า ‘รัฐนิยม’ ที่ว่านี้ก็พูดง่ายๆ ก็คือประกาศของทางการ เกี่ยวกับรูปแบบการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของประชาชนที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติ (แต่เป็นชาติเฉยๆ เท่านั้นไม่ได้นะ ต้องเป็นชาติที่มีอารยะด้วย) ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมบางอย่างของชาติ สำหรับให้ใช้เป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัตินั่นเอง
รัฐนิยมทั้ง 12 นี้จึงว่าด้วยเรื่องตั้งแต่ การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย, การเคารพธงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี, การบังคับให้ภาคภูมิใจในหนังสือและภาษาไทย, หรือแม้กระทั่งการบังคับเรื่องกิจวัตรประจำวัน (อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว อย่าเพิ่งงงนะครับ นี่ผมกำลังพูดถึง รัฐนิยม 12 ฉบับ ของท่านผู้นำ ป. ในอดีต ไม่ใช่ ค่านิยม 12 ประการ ของท่านผู้นำ ป. คนปัจจุบัน)
แต่ฉบับที่ผมอยากจะเขียนถึงในข้อเขียนชิ้นนี้ก็คือ รัฐนิยมฉบับที่ 10 ‘เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย’ ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2484
ถึงแม้ว่าประกาศรัฐนิยมฉบับที่อ่านแต่ชื่อแล้ว เหมือนจะออกโดยคุณครูฝ่ายปกครองฉบับนี้ จะไม่ได้กล่าวอะไรมากไปกว่าการบังคับให้ประชาชนแต่งกายสุภาพ แต่ประกาศฉบับนี้ก็ออกมาพร้อมกับแผ่นภาพโฆษณาของทางการ ที่มีภาพตัวอย่างแสดงให้เห็นกันอย่างชัดเจนว่า ประชาชนชาวไทยควรจะแต่งตัวเช่นไร?
ภาพทางด้านขวามือในแผ่นภาพโฆษณา รัฐท่านมีข้อความระบุเอาไว้ว่า ‘จงทำ ไทยอารยะต้องแต่งกายแบบนี้’ หมายความว่า นี่เป็นสิ่งที่รัฐคาดหวังว่าประชาชนจะทำ
ส่วนภาพทางด้านซ้าย ก็มีข้อความจั่วหัวเอาไว้เช่นกันว่า ‘อย่าทำ แต่งกายแบบนี้ไม่ใช่ไทยอารยะ’ นั่นก็หมายความอยู่ชัดๆ ว่า นี่เป็นสภาพที่เป็นจริง ประชาชนชาวไทยในรัฐของท่านผู้นำเมื่อครั้งกระโน้น แต่งกายกันอย่างนี้ให้เกลื่อน แต่รัฐท่านไม่แฮปปี้ด้วยนั่นแหละ
ที่น่าสนใจก็คือภาพทางด้านซ้ายสุดของภาพ และภาพถัดมา วาดเป็นรูปผู้หญิงเปลือยท่อนบน (แน่นอนด้วยว่า หน้าอกหน้าใจของสาวเจ้าทั้งสองนางนี้ ก็พุ่งทะลุแผ่นภาพโฆษณาสมัยจอมพลแปลกท่าน มากันแบบ Full HD เลยทีเดียว) ซ้ำยังมีข้อความย้ำอยู่ทางด้านล่างด้วยว่า
‘อย่า เปลือยกายท่อนบน หรือใช้ผ้าแถบคาดอก สรวมเสื้อชั้นในตัวเดียว’
แปลง่ายๆ ว่า ในแผ่นดินสยามประเทศไทย นับจนถึงวันที่ประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ 10 (ซึ่งน่าจะออกคู่กันมากับแผ่นภาพโฆษณา ไม่ห่างกันเท่าไหร่นักหรอก) เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2484 บรรพสตรี ‘ผู้หญิงไทย’ เค้าก็เปลือยอกกันเป็นปกตินั่นแหละครับ เพียงแต่รัฐท่านเห็นแล้วมันดูไม่ศิวิไลซ์เท่าใจท่าน ก็เลยต้องจัดระเบียบ ให้มันเจริญหู เจริญตา และไม่ชวนให้คันหู ในสายตาของอำนาจขึ้นเสียหน่อย
เพราะฉะนั้นก็อย่าเสียเวลาเถียงกันเลยเถอะ มันไม่ใช่มีแต่ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่หญิงไทยสมัยนั้นท่านจะโชว์นมกันให้อะร้าอร่ามตา โดยไม่ต้องพึ่งท่าเต้นของสายย่อ
ไอ้สไบมันก็มีอยู่หรอกนะครับ แต่สมัยนั้นพวกเธอก็ไม่ได้เอาใช้ปิดหน้าอกหน้าใจ อย่างใครนึกมโนกันไปเองในยุคหลัง ภาพปูนปั้นสมัยทวารวดี ที่จังหวัดราชบุรี ทำขึ้นตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 1300 นิดๆ มีรูป ‘นางใน’ ที่ก็สวม ‘สไบ’ อยู่เหมือนกัน แต่พวกนางก็คล้องไว้เฉยๆ พาดเอาไว้ที่ร่องอก แล้วโชว์เต้าปทุมถันทั้งสองข้าง เหมือนอย่างพ่อกำนันถอดเสื้อ แล้วพาดผ้าขะม้าไว้บนบ่าอย่างนั้นแหละ เรียกได้ว่า ผู้หญิงแถวนี้เค้ามั่นหน้า และเปลือยหน้าอก กันอย่างชิคๆ มาเป็นพันปีแล้วนั่นเลย
รูปถ่ายเก่าของไทยยุคต้นกรุงเทพฯ ที่ฝรั่งเค้ามาถ่ายเก็บเอาไว้กันก็ยิ่งเห็นได้ชัด หลายรูปเลยทีเดียวที่พวกเธอ topless จัดเต็ม กันแบบไม่มีเม้ม ซึ่งก็แน่แหละครับ การเปลือยอกมันเป็นเรื่องปกติ ในสังคม และยุคสมัยของพวกเธอ แล้วจะมาเสียเวลาเขินอายเวลามีใครมาขอถ่ายรูปไปทำไมกัน?
อันที่จริงแล้ว การที่สาวๆ เปลือยอกอย่างนี้ ก็พบอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคเก่าก่อน ไม่ว่าจะไทย ลาว พม่า เขมร เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เปลือยเหมือนกันหมด ไม่ใช่เอกลักษณ์เฉพาะของชาติไหน เห็นได้ง่ายๆ จากในภาพถ่ายเก่าที่เค้าก็มีไม่ต่างกับเราเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นจึงไม่ ‘แปลก’ อะไรที่พอท่านผู้นำ ‘แปลก’ ท่านลุกขึ้นมาให้คนไทยแต่งกายอย่างมีอารยะ แล้วจะต้องระบุว่าห้ามสาวๆ เปลือยหน้าอก เข้าไปในแผ่นโฆษณาด้วย ก็ในเมื่อการเปลือยมันดูไม่ศิวิไลซ์เอาเสียเลยในดินแดนที่อากาศหนาว เสียจนชวนให้ขนที่ไม่ใช่เฉพาะส่วนแขน stand up กันตลอดเวลาอย่างพวกฝรั่งเขานี่นะ
แต่ฝรั่งไม่ใช่คนพวกแรก ที่มาชี้นิ้วบอกเราว่า การที่พวก you เปลือยกายแล้วจะไม่อารยะ เพราะเป็นพราหมณ์จากอินเดียต่างหาก ที่มาบอกกับบรรพชนคนอาเซียนว่า การเปลือยนี่มันไม่ศิวิไลซ์เอาเสียเลย
เรื่องของเรื่องมีอยู่ในบันทึกของราชฑูตจีน ยุคสามก๊ก (แต่เป็นราชฑูตของซุนกวน ไม่ใช่ก๊กของเล่าปี่ หรือโจโฉ) ที่จดบันทึกนิทานการกำเนิดรัฐฝูหนาน (แน่ล่ะ ก็คนจีนเป็นคนบันทึก ชื่อรัฐก็เลยออกเสียงเป็นสำเนียงจีนไป แต่ชื่อจริงๆ จะออกเสียงยังไง นักวิชาการเขายังเถียงกันไม่จบ ก็เลยต้องใช้ชื่อนี้กันไปก่อน) ซึ่งก็คือต้นกระแสของอารยธรรมขอม (เช่น นครวัด นครธม) เอาไว้ว่า
พราหมณ์อินเดียคนหนึ่งชื่อ ฮวนเตียน (พราหมณ์อินเดียที่ไหนจะชื่อ ฮวนเตียน? นี่ก็เป็นชื่อแขก ที่ออกเสียงตามสำเนียงท่านราชฑูตจีนอีกชื่อ) ฝันว่าเทวดาประจำตระกูลได้มอบศรและสั่งให้ขึ้นเรือออกเดินทาง ตื่นเช้ามาฮวนเตียนก็พบศรอยู่ที่โคนต้นไม้ใกล้เทวาลัย จึงขึ้นเรือออกเดินทางมาจนถึงฝูหนาน ซึ่งมีนางพญาชื่อ หลิวเย่ (นี่ก็สำเนียงจีนเหมือนกัน) ต้องการปล้นสะดมเรือ ฮวนเตียนจึงแผลงศรไปทะลุเรือของนางหลิวเย่ นางจึงตกใจกลัวและอ่อนน้อมจนยอมเป็นภรรยาของฮวนเตียน (ได้กันง่ายๆ แบบนี้แหละ) ฮวนเตียนจึงได้ครองราชย์ที่ฝูหนานสืบมา
แต่เรื่องมันไม่ได้จบง่ายๆ แค่นี้นะครับ เพราะมีรายละเอียดตอนหนึ่งเล่าว่า นางหลิวเย่ เธอเป็นคนเปลือย พูดง่ายๆ ว่าไม่ได้นุ่งผ้า ฮวนเตียนเมื่อจะได้นางเป็นภรรยาแล้ว ก็เลยเอาผ้ามาสวมให้เธอใส่ แต่มันจะเป็นไปได้จริงเหรอครับ? ในเมื่อชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ดึกดำบรรพ์ก็มีผ้าสวมใส่มาตั้งนานนมแล้ว ยิ่งเมื่อเป็นรัฐใหญ่อย่างฝูหนาน ถ้าหลิวเย่นางจะเปลือยก็เปลือยแค่หน้าอกเธอเท่านั้นแหละ
และต่อให้ ‘เปลือย’ ในนิทานมันจะหมายถึงแค่การเปลือยกายท่อนบนก็เถอะ เหตุการณ์นี้ก็เป็นฉากสัญลักษณ์ในเชิงเหยียดๆ ว่า ชาวอินเดียเป็นผู้นำอารยธรรมมามอบให้ชนพื้นเมืองที่ป่าเถื่อน และยังไม่ศิวิไลซ์เสียมากกว่า
แน่นอนว่า นิทานเรื่องนี้ก็ต้องเล่าผ่านปากคนอินเดียมาก่อน และไม่ใช่ชาวพื้นเมืองแน่ เพราะพวกเขาคงไม่คิดที่จะเหยียดตัวเองหรอก เอาเข้าจริงแล้ว จากข้อมูลทางโบราณคดีที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ ชาวอุษาคเนย์ (ชื่อเพราะๆ ที่ถูกหลักไวยกรณ์ทางภาษา ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เราอารยะมาก่อนที่จะรู้จักกับอินเดีย เรื่องอย่างนี้จึงอยู่ที่ว่าจะเป็นเรื่องที่เล่าผ่านปากของใคร โดยจุดประสงค์อะไรต่างหาก?