ปี ค.ศ.2020 ผ่านไปยังไม่ถึงสองเดือน แฮชแท็ก #รัฐบาลเฮงซวย และล่าสุด #ผนงรจตกม วิ่งติดลมบนในทวิตเตอร์ไปแล้วหลายรอบ สะท้อนความไม่พอใจของประชาชนต่อความด้อยประสิทธิภาพ รวมถึงท่าทีไม่แยแสและไร้ความรับผิดของรัฐบาล ผู้มีอำนาจทางการเมือง และองค์กรอิสระแทบทุกแห่งต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย
ล่าสุดในกรณี #กราดยิงโคราช หลังจากที่สื่อหลายค่ายพยายามกระพือข่าวปัญหา ‘เงินทอน’ ในโครงการกู้สร้างบ้านสวัสดิการทหารบก มูลเหตุสำคัญในการก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ ผู้บัญชาการกองทัพบกก็แถลงข่าวขึงขังว่า “ผมขีดเส้นตาย เดดไลน์ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สำหรับผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้ว และยังพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ทหาร และย้ายจากกองทัพบกไปอยู่หน่วยงานใดก็ต้องย้ายออก เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีบ้านมาอยู่” ทว่าหลังจากนั้นเพียงไม่ถึง 48 ชั่วโมง ก็มีรายงานข่าวว่า ผบ.ทบ. สั่งการไปยังกรมสวัสดิการทหารบกให้แบ่งทหารที่เกษียณแล้วยังอาศัยในพื้นที่ทหารออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ ‘ไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศ’ ต้องออกจากบ้านพักภายในเส้นตายปลายเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนกลุ่มที่ ‘ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศ’ ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ต่อไปได้ กลุ่มที่สองในข่าวระบุว่าหมายถึง ‘นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และองคมนตรี’
รายงานข่าวไม่ได้ระบุว่าทหารเกษียณกลุ่มที่ ‘ไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศ’ นั้นเอาอะไรมาวัด แต่ชัดเจนว่าลำพังการดำรงตำแหน่งต่างๆ ก็เพียงพอแล้วที่จะถือว่า ‘ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ’ รวมทหารกว่า 80 คนที่ได้รับแต่งตั้งจากพวกเดียวกันก็คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาโหวตเลือกหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี รับเงินเดือนจากทั้งกองทัพและสภา ผลประโยชน์ทับซ้อนเห็นๆ แต่เรื่องนี้ผู้มีอำนาจก็ไม่เห็นเป็นเดือดเป็นร้อน ไม่ต่างจากเรื่องน่าครหาอื่นๆ ที่เห็นอยู่ตำตา อาทิ การที่นายกฯ ไม่กล่าวคำถวายสัตย์อย่างครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ, รัฐมนตรีที่เคยต้องคดีเกี่ยวกับยาเสพติดในต่างประเทศ, ส.ส. ฟากรัฐบาลเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ฯลฯ ฯลฯ
กรณีเหล่านี้และกรณีอื่นอีกมากมายผ่านมาแล้วก็ผ่านไปโดยที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ประชาชนไม่เคยได้ยินแม้แต่คำว่า ‘ขอโทษ’ หลุดจากปากผู้นำทางการเมืองแม้แต่ครั้งเดียว
การเล่นพรรคเล่นพวกและเลือกปฏิบัติชนิดที่ไร้ยางอายของผู้มีอำนาจทางการเมืองสมัยนี้นับว่า ‘น่าเกลียด’ ที่สุดตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้ ทำให้นึกถึงเกมเจ๋งที่กำลังเล่นติดหนึบหนับ นอกจากเจ๋งแล้วยังกระตุกให้คิดว่า ‘ระบอบอุปถัมภ์’ ไม่จำเป็นต้อง ‘เลวร้าย’ แบบที่เราเห็นก็เป็นได้ ถ้าผู้ที่อุปถัมภ์ค้ำจุนพวกพ้องแสดงออกอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าทำไปเพื่อ ‘ประโยชน์ส่วนรวม’ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตากอบโกยให้ตัวเอง หรือปกป้องการกอบโกยของพรรคพวกตัวเองอย่างเดียว
ระบอบอุปถัมภ์ที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ ของโลกหนีไม่พ้น ‘วัฒนธรรมกวนซี่’ ในจีน อันหมายถึงระเบียบแบบแผนทางสังคมที่สลับซับซ้อนตั้งแต่จีนโบราณ คำว่า ‘กวนซี่’ มาจากอักษรจีนสองตัว ‘กวน’ (关) หมายถึงประตู ด่านหรืออุปสรรค ส่วน ‘ซี่’ (系) หมายถึง ผูก ความผูกพัน ความสัมพันธ์ หรือการเชื่อมต่อ ดังนั้นกวนซี่ (สะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า Guanxi) จึงหมายถึง “การผ่านประตูหรือด่าน ได้รับการเชื่อมต่อกัน” กวนซี่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาของลัทธิขงจื่อ ซึ่งมองว่าสังคมคือ ‘เครือข่าย’ ขนาดใหญ่ คนทุกคนย่อมมีบทบาทและหน้าที่ในเครือข่ายที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ แม่ ลูก พ่อ สามี ภรรยา ประชาชน หรือผู้ปกครอง สังคมจะสงบสุขและมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างมีระเบียบเรียบร้อย และ ‘ระเบียบ’ ในสังคมก็ต้องตั้งอยู่บน ‘กวนซี่’ ที่ถูกต้อง คนทุกคนเมื่อรู้หน้าที่แล้วก็ต้องรู้จักวิธีคบค้าสมาคมกับคนอื่น สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน การทำงานจะราบรื่นเพราะรู้สึกเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง กวนซี่จะยึดถือเรื่องผลประโยชน์ร่วมกัน เน้นการเกื้อกูลเอื้อเฟื้อที่ให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทน ซึ่งผลตอบแทนนั้นอาจเป็นด้านวัตถุหรือด้านจิตใจก็ได้ (เช่น ความรู้สึกสำนึกในบุญคุณของผู้ที่ได้รับอุปถัมภ์) และกวนซี่ที่ดีก็ต้องผ่านการขัดเกลาและพิสูจน์ในระยะยาวระหว่างทั้งสองฝ่าย ต้องหมั่นกระชับความสัมพันธ์ผ่านพฤติกรรมเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระงับภาระผูกพันและปัดความรับผิดชอบ กวนซี่ก็อาจเลือนรางจางลง หรือแม้แต่ถูกทำลาย สายสัมพันธ์ขาดสะบั้นไม่เหลือเยื่อใย
บทความอธิบาย “วัฒนธรรมกวนซี่” โดย หม่ากุยทง มหาวิทยาลัยทักษิณ สรุปอย่างเห็นภาพว่า “ชาวจีนมีความเชื่อเรื่องแนวคิด “หยินกับหยาง” คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีสองด้าน ซึ่งเรื่องชั่วร้ายกับเรื่องดีมักจักเหมือนกับเงาติดตัว จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกเมื่อ ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ “กวนซี่” เพื่อได้รับผลดี ถือได้ว่าเป็นวิธีการสะสมทรัพยากรในยามสงบสุขเพื่อป้องกันวิกฤติในยามทุกข์ เพราะว่าในช่วงชีวิตอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ สามารถอาศัยระบบ “กวนซี่” คว้าทรัพยากรที่หายากโดยผ่านความผูกพันและฐานะหน้าตาทางสังคม แต่ถ้านิยาม “กวนซี่” เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมของส่วนบุคคลนั้น ก็ควรจะแสดงความสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในเครือข่าย “กวนซี่” ให้ชัดเจนก่อน สังคมตะวันตกปกติแล้วจะเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมในฐานะเป็นคนแปลกหน้าก่อน แล้วค่อย ๆ ศึกษาดูใจจนกลายเป็นคนที่สนิทสนมและใกล้ชิดกันได้ แต่ตรงกันข้ามในสังคมชาวจีน มักจะต้องเริ่มต้นพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมจากการยืนยันว่า บุคคลนี้เป็นสมาชิกหรือส่วนหนึ่งในเครือข่าย “กวนซี่” ของตนเองหรือไม่ก่อน แม้กระทั่งพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ก็ต้องสร้างบนพื้นฐานเครือข่าย “กวนซี่” ที่มีอยู่ในปัจจุบัน”
ระบอบอุปถัมภ์ของผู้ครองอำนาจที่วางอยู่บนวัฒนธรรมกวนซี่จะอยู่ยั้งยืนยงได้อย่างไร เกม Total War: Three Kingdoms ภาคล่าสุดของ Total War ซีรีส์เกมวางแผนทีละตา (turn-based strategy) ชื่อก้อง เสนอหลากคำตอบจากหลายมุมมองที่แยบยลและสนุกสนานชนิดยากจะถอนสายตาจากหน้าจอ
Total War รอบนี้พาเราย้อนกลับไปจีนสมัยสามก๊ก เล่นเป็นผู้นำก๊กไหนก็ได้ตามชอบใจ มีให้เลือก 15 ก๊ก ไม่ว่าจะเป็น โจโฉ เล่าปี่ ซุนเกี๋ยน ม้าเท้ง กองซุนจ้าน หรือแม้แต่อ้วนสุดและอ้วนเสี้ยว ถ้าอยากเล่นเป็นจอมทรราชตั๋งโต๊ะก็ได้เช่นกัน แต่ต้องเอาชนะในแคมเปญอย่างน้อยหนึ่งรอบก่อน รวมชาติจีนสถาปนาตัวเองเป็นฮ่องเต้ หรือไม่ก็ปราบกองทัพตั๋งโต๊ะในเกม แน่นอนว่าถ้าเราเลือกเล่นเป็นก๊กใหญ่อย่างเล่าปี่ อ้วนเสี้ยวหรือโจโฉ ความท้าทายจะน้อยกว่าเลือกเล่นเป็นผู้นำก๊กเล็กอย่าง อุยเซียว (หนึ่งในหัวโจกโจรโพกผ้าเหลือง) ขงหยง เจิ้งเจียงหรือเตียวเอี๋ยน
เป้าหมายหลักของเราในเกมคือการรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่น ขึ้นสู่อำนาจเป็นฮ่องเต้
ระบบเกมหลักๆ ไม่ต่างจากเกมก่อนหน้านี้ในซีรีส์ Total War คือให้เราควบคุมกองทัพเดินบนแผนที่สามมิติ สั่งให้ไปตีเมือง โจมตีกองทัพศัตรู หรือยึดชัยภูมิสำคัญๆ ทุกครั้งที่เราต่อสู้เกมจะซูมลงไปในระดับสมรภูมิให้เราคุมกองทหารแต่ละหน่วยในกองทัพ เฝ้ามองการสู้รบของทหารหลายพันหรือนับหมื่นคนอย่างน่าตื่นเต้น หรือจะเลือกให้เกมคุมทัพต่อสู้แทนให้ก็ได้ แต่แบบนั้นสนุกน้อยกว่ากันมาก โดยเฉพาะในเมื่อตัวเอกทุกคนในเกมนี้มี ‘ท่าพิเศษ’ ในสมรภูมิ น่าตื่นตะลึงทุกครั้งที่ได้เห็นตัวละครโปรดของเราจากนิยายเรื่อง สามก๊ก ออกมาโลดแล่นบนหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นท่าง้าวพิฆาตของกวนอู เสียงหัวเราะกัมปนาทของเตียวหุย ท่าควงอาวุธสุดสง่าของจูล่ง ฯลฯ แถมยิ่งสู้ยิ่งเก่ง เอาค่าประสบการณ์ไปเพิ่มความสามารถในด้านต่างๆ และติดอาวุธเพิ่มได้อีก น่าเสียดายที่เกมนี้ไม่มีฉากการสู้รบในทะเล เลยไม่ได้เห็นแอ๊กชั่นของจิวยี่และขงเบ้งตอนโจโฉแตกทัพเรือ
(ถ้าใครไม่ชอบโหมดแม่ทัพฮีโร่นี้ก็สามารถเปลี่ยนเป็นโหมด ‘records’ ซึ่งจะทำให้การสู้รบในเกม ‘สมจริง’ ตามประวัติศาสตร์มากขึ้น เช่น ทหารจะเหนื่อยง่ายกว่าเดิม แม่ทัพไม่มีท่าพิเศษ แต่โหมดนี้ก็จะทำให้การต่อสู้ในเกมยาวกว่าเดิมมาก และทำไมเราถึงจะไม่อยากเห็นตัวเอกในนิยายออกมาวาดลวดลายล่ะ)
ต่อให้เราต้องสั่งกองทัพทุกตาว่าจะให้ทำอะไร Total War ก็เป็นเกมวางแผนมากกว่าเกมสงคราม เราจะบุกตะลุยไปดื้อๆ เน้นการทหารอย่างเดียวก็ไม่ได้เพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้อง ทรัพยากรอย่างเงินตราที่ต้องใช้ในการจ่ายค่าจ้างทหารมาจากการเก็บภาษีและค้าขาย ออกกฎหมาย (‘ปฏิรูป’ หรือ reform) หาจังหวะอัพเกรดและสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวทรัพยากรและปลดล็อกทหารประเภทใหม่ๆ
สิ่งที่แปลกใหม่และโดดเด่นเมื่อเทียบกับทุกเกมก่อนหน้านี้ในซีรีส์ Total War คือการให้ความสำคัญกับการทูตและ ‘อิทธิพลส่วนตัว’ เป็นพิเศษ ผู้นำแต่ละก๊กและตัวละครหลัก (มีหลายร้อยคน) ในเกมนี้มีคุณสมบัติและความสามารถไม่เหมือนกัน บางคนเป็นที่รักของชาวบ้าน ทำให้ได้โบนัสเวลาระดมคนเข้าก๊ก บางคนมียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่ง ทำให้หว่านล้อมศัตรูให้ยกธงขาวหรือแปรพักตร์มาเป็นพวกเราได้ง่ายกว่า ส่วนวิธีทำงานของ ‘กวนซี่’ ในเกมนี้ก็สนุกมาก ตัวละครทุกคนที่ทำงานให้เรา ตั้งแต่แม่ทัพ ขุนนาง ลูกหลาน เครือญาติ ลูกเขย ฯลฯ รวมถึงพันธมิตร (หัวหน้าก๊กอื่นที่เราต้องส่งทูตไปผูกมิตร เพราะเราไม่สามารถเป็นศัตรูกับทุกก๊กพร้อมกันในคราวเดียวได้) ล้วนมีความต้องการไม่เหมือนกัน และเราต้องคอยเฝ้าสังเกตว่าพวกเขาและเธอต้องการอะไรและตอบสนองความต้องการให้ได้ ไม่อย่างนั้นจู่ๆ แม่ทัพตัวกลั่นอาจแปรพักตร์ไปอยู่ก๊กศัตรูที่เดินทัพมาประชิดพรมแดน เพราะน้อยใจที่เราปล่อยปละละเลย ไม่เคยเลื่อนยศให้กับเขาแต่กลับไปปูนบำเหน็จให้คนอื่น โชคดีที่เกมนี้ชี้เป้าชัดเจนว่าตัวละครแต่ละคนต้องการอะไร ไม่ต้องคอยคาดเดาอย่างในโลกจริง
Total War: Three Kingdoms ภาคหลักว่าเจ๋งมากแล้ว แต่ภาคเสริม Mandate of Heaven (โองการสวรรค์) ทำให้เกมเจ๋งกว่าเดิมและขับเน้นพลังของ ‘กวนซี่’ และความเป็นผู้นำแบบจีนให้โดดเด่นยิ่งกว่าเดิมอีก เวลาที่เราเล่นภาคหลัก บางคนอาจสงสัยว่าทำไมฮ่องเต้สมัยนั้นคือพระเจ้าเลนเต้ถึงไม่สามารถบัญชากองทัพมากำราบกบฏ ‘โจรโพกผ้าเหลือง’ ที่เหิมเกริมจนสะสมไพร่พลได้หลายแสนและประกาศว่าจะโค่นราชวงศ์ฮั่น ทำไมจักรพรรดิถึงจนตรอกจนต้องส่งสาส์นขอความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองต่างๆ (หัวหน้าก๊กในเกม) ให้ยกทัพมาปราบกบฏ ภาคเสริมนี้จะทำให้เราถึงบางอ้อว่า ราชวงศ์ฮั่นยุคนั้นเสื่อมอำนาจลงมากแล้วจากภายใน ขันทีในพระราชวังสิบคนที่ใกล้ชิดกับฮ่องเต้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม ‘สิบขันที’ ลุแก่อำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวงเพื่อกอบโกยเข้ากระเป๋าตัวเอง พระเจ้าเลนเต้ก็ทรงอ่อนแอหูเบาถึงขั้นนับถือ เตียวเหยียง หนึ่งในสิบขันที ว่าเป็น ‘พระชนกบุญธรรม’ เลยทีเดียว
Mandate of Heaven ถ่ายทอดความเสื่อมของรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ด้วยการให้เราตกที่นั่งลำบากตั้งแต่ต้น ถ้าเราเลือกเล่นเป็นพระเจ้าเลนเต้ หรือชื่อภาษากลาง หลิวหง – Liu Hong ในเกม เราเริ่มต้นด้วยเมืองหลวงใหญ่ยักษ์หนึ่งเมือง ท้องพระคลังที่มีเงินเหลือเฟือ และกองทัพที่แข็งแกร่งมากหนึ่งกองทัพ แต่ว่าสิ่งที่ดูเหมือนเป็นจุดแข็งทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีจุดอ่อน ประชากรในเมืองหลวงกำลังอดอยากขาดอาหาร เนื่องจากชาวนาประสบภัยจากน้ำท่วมแม่น้ำฮวงโหและถูกซ้ำเติมด้วยภาษีสูงลิ่วที่รัฐรีดไปสร้างป้อมปราการตามเส้นทางสายไหม สถานการณ์กดดันให้ชาวนาจำนวนมากลุกฮือไปเข้ากับกบฏโจรโพกผ้าเหลือง การก่อสร้างทุกสิ่งราคาแพงลิ่ว เงินในท้องพระคลังเรากำลังร่อยหรอไม่หยุด (ส่วนหนึ่งจากการถลุงอย่างไม่บันยะบันยังของสิบขันที) และกองทัพหลวงใต้บัญชาโอรสสวรรค์ก็ระดมไพร่พลมาเสริมทัพยากเต็มที
ครั้นพอหันไปดูในวัง เราก็จะเจอขุนนางที่ด้อยประสิทธิภาพแต่กินเงินเดือนแพงระยับ หลายคนกินหรูอยู่สบายในตำแหน่งที่ดูไม่จำเป็น (ละม้ายคล้าย ส.ว. แต่งตั้งในไทยยุคปัจจุบัน) ในฐานะฮ่องเต้ เราต้องใช้ ‘อิทธิพล’ (influence) ปรับสมดุลให้เข้าที่ระหว่างคนสามกลุ่ม นั่นคือ ขุนนาง (ขันที) พระราชวงศ์ (เครือญาติของเรา) และขุนศึกที่ตอบรับสาส์นขอความช่วยเหลือมาสู้กับกบฏโพกผ้าเหลือง (ขุนศึกเหล่านี้เริ่มต้นเป็นพันธมิตร แต่ทรยศได้ทุกเมื่อ) ระดับอิทธิพลของแต่ละกลุ่มในสามกลุ่มนี้สร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนสมดุลแห่งอำนาจ เราก็จะเริ่มกำจัดจุดอ่อนตอนต้นเกม หยุดการเลือดไหลของท้องพระคลัง สะสมทรัพยากรเพื่อเสริมทัพหลวง และชักจูงหรือชักใยให้กลุ่มต่างๆ ไปปราบกบฏโพกผ้าเหลืองได้สำเร็จ
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่าเราไม่สามารถใช้อิทธิพลปรับสมดุลระหว่างฝ่ายต่างๆ ได้ กบฏโพกผ้าเหลืองก็จะได้ใจ และขุนศึกที่เคยปวารณาว่าจะช่วยเราก็อาจเปลี่ยนใจ แปรพักตร์ไปเข้ากับกบฏแทนเพราะเห็นว่าเราอ่อนแอและประชาชนทุกวันนี้นิยมยกย่องหัวหน้ากบฏมากกว่าฮ่องเต้
ก๊กที่อยู่ตรงกันข้ามกับพระเจ้าเลนเต้ในภาคเสริม Mandate of Heaven คือสามศรีพี่น้องตระกูลเตียว (“จาง” หรือ Zhang ในเกม) หัวโจกกบฏโจรโพกผ้าเหลือง ซึ่งก๊กนี้ที่จริงตัวเอกบางตัวเราก็เลือกเล่นในเกมภาคหลักได้ แต่ไม่มีความสามารถพิเศษและระบบเกมใหม่ที่โดดเด่นเท่ากับในภาคเสริม กบฏโพกผ้าเหลืองในเกมไม่เพียงแต่อยู่คนละฟากกับพระเจ้าเลนเต้ แต่ระบบเกมและกลยุทธ์ที่ต้องใช้ยังแตกต่างอย่างสุดขั้ว ในฐานะสามพี่น้องตระกูลเตียวที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านโอรสสวรรค์ เราจะต้องใช้ทรัพยากรใหม่ชื่อ ‘ค่าความเร่าร้อน’ (Zeal) ซึ่งเป็นก๊กเดียวที่มีทรัพยากรนี้ เราสะสมค่านี้ด้วยการใช้จุดเด่นของพี่น้องทั้งสามอย่างเหมาะสม คนหนึ่งเก่งการรุก คนหนึ่งเก่งการรับ และอีกคนเก่งการเยียวยา (ในมหากาพย์ สามก๊ก เตียวก๊กแต่งตั้งตัวเองเป็นจอมพลสวรรค์ แต่งตั้งเตียวโป้น้องคนกลางเป็นจอมพิภพ และเตียวเหลียงน้องสุดท้ายท้องเป็นจอมพลบาดาล แถมยังแต่งเพลงปลุกใจ) ยิ่งปลุกระดมชาวบ้านให้มาเข้ากับเราได้มากและยิ่งรบชนะ ค่าความเร่าร้อนยิ่งเพิ่ม เราจะยิ่งได้โบนัส แต่ถ้าหากค่าความเร่าร้อนต่ำ นั่นหมายถึงขบวนการกบฏของเราเริ่มเสื่อมความนิยม ชาวบ้านจะเริ่มเปลี่ยนใจไปสนับสนุนราชวงศ์ดังเดิมและกลายมาต่อต้านเราแทน
ระบบเกม จุดด้อย และจุดเด่นที่แตกต่างกันมากระหว่างก๊กพระเจ้าเลนเต้กับก๊กกบฏโพกผ้าเหลืองแปลว่าเราจะต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันมาก และแตกต่างมากกว่าถ้าเล่นเป็นก๊กอื่น ในฐานะพระเจ้าเลนเต้ เราต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองที่ถูกยึดคืน ไม่ให้มันวุ่นวายปั่นป่วนจนเป็นบ่อเกิดของกองกำลังกบฏ มากกว่าจะส่งทัพหลวงออกไปตีเมืองขยายดินแดน ในทางกลับกัน ในฐานะสามพี่น้องตระกูลเตียว เราต้องระวังไม่บุกตะลุยไปข้างหน้าอย่างมุทะลุรวดเร็วเกินไปจนกองกำลังถูกแยกส่วนจนเปราะบาง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาโมเมนตัมของชัยชนะเอาไว้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นค่าความเร่าร้อนจะลดลง (ชาวนาที่ไหนจะอยากลุกฮือเข้าร่วมถ้าหากว่านานๆ ทีถึงจะมีข่าวดี)
Total War: Three Kingdoms – Mandate of Heaven ทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงแก่นว่า อำนาจนั้นช่างเป็นสิ่งที่ลื่นไหลไม่จีรัง โดยเฉพาะถ้าหากผู้นำทางการเมืองไร้ซึ่งความรับผิด ไม่เคยคิดที่จะรักษา ‘กวนซี่’ ให้งอกเงย และไร้ซึ่งภาวะผู้นำอย่างสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของขันทีบ้าอำนาจ ผู้นำกบฏชาวนาที่มัวแต่หลงระเริงกับชัยชนะในสนามรบ
ขนาดในยุค สามก๊ก แห่งสงครามอลวน ยุควุ่นวายอลเวงที่ความสงบสุขยังอยู่ไกลโพ้นและชีวิตประชาชนทุกคนแขวนอยู่บนเส้นด้าย การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ดูแลผลประโยชน์ต่างตอบแทนตามวัฒนธรรม ‘กวนซี่’ ยังเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงสังวรณ์
นับประสาอะไรกับยุคปัจจุบัน กว่าหนึ่งพันเจ็ดร้อยปีให้หลัง ผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมที่ดีแต่ ‘สั่ง’ และใช้ ‘กำลัง’ บังคับ ไร้ซึ่งความรับผิดใดๆ และไม่แยแสที่จะผูกใจประชาชน
มีหรือที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะในเมื่อประชาชนเสื่อมความนิยมแล้วไซร้ ต่อให้มีอำนาจก็ขาดความชอบธรรม