เชื่อว่า ณ เวลานี้ใครหลายคนก็คงจะได้ดู Train to Busan กันไปแล้ว อย่างที่ว่าหนังเรื่องนี้เองก็ได้รับคำชื่นชมจากทั้งคนดูและนักวิจารณ์ไปเสียไม่น้อย อีกทั้งกระแสปากต่อปากที่ย้ำถึงความบันเทิงที่หนังหนังเรื่องนี้มอบให้ก็เห็นจะยิ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะยืนโรงมาเกือบสามอาทิตย์ได้แล้วก็ตาม ผมเองก็ได้ดูช้ากว่าเขาไปหน่อย และแม้รอบฉายจะลดน้อยลงบ้างจากสัปดาห์ก่อนๆ กระนั้นในรอบที่ผมดูก็ยังเห็นได้ชัดว่าเก้าอี้ต่างก็ถูกจับจองจนเกือบเต็มเลยทีเดียว
ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมเพิ่งจะตระหนักว่าตัวเองใช้พื้นที่ของคอลัมน์ ‘คิดเองเออเอง’ เขียนถึงหนังเกาหลีไปตั้งสามเรื่อง คือ The Wailing, The Handmaiden และหนังเรื่องนี้ ซึ่งจุดร่วมหนึ่งของภาพยนตร์ทั้งสามที่มากไปกว่าการที่ได้ไปฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งล่าสุดแล้ว หนังทั้งสามต่างก็พาคนดูดำดิ่งไปสำรวจจิตใจของตัวละครต่างๆ ทั้งยังเปิดโปงให้เห็นถึงความชั่วร้ายที่ครอบงำมนุษย์ไว้ได้อย่างน่าดูชมทีเดียว
Train to Busan บอกเล่าเรื่องราวของ Sok-woo พ่อม่ายหนุ่มนักธุรกิจที่เพราะยุ่งอยู่แต่กับงานเลยเป็นผลให้ Soo-ahn ลูกสาวของเขา เกิดรู้สึกเหินห่าง และเลือกจะเทใจไปฝั่งแม่ซึ่งไม่ได้อยู่ด้วยกันมากกว่าพ่อผู้ถือสิทธิ์เลี้ยงดู ในวันเกิดซึ่งใกล้จะถึง ซูอานอยากไปเยี่ยมแม่ของเธอที่ปูซาน ด้วยผิดสัญญาลูกบ่อยจนบุตรสาวแทบไม่เหลือความเชื่อใจ ซุกวูจึงจำต้องพาบุตรสาวไปหาแม่ตามที่เด็กหญิงปรารถนา แต่การเดินทางสู่ปูซานทางรถไฟของพ่อ-ลูก กลับพลิกตาลปัตรเมื่อจู่ๆ เกิดมีผู้ติดเชื้อไวรัสประหลาดกระโดดขึ้นร่วมขบวน เป็นเหตุให้เชื้อปริศนาแพร่กระจายไปทั่วลำรถ เปลี่ยนผู้โดยสารให้กลายเป็นซอมบี้ล่ามนุษย์
แน่นอนครับว่าปูเรื่องมาอย่างนี้ หนังเรื่องนี้ก็ต้องว่าด้วยการเอาตัวรอดของมนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งการปะทะกันระหว่างมนุษย์กับซอมบี้นั้นเป็นตัวชูโรงหลักอยู่แล้ว ซึ่งพูดกันตรงๆ ว่า Train to Busan เองก็ยังคงเป็นหนังซอมบี้ตามขนบทั่วไป คือไม่ได้นำเสนอแง่มุมอะไรใหม่ นั่นคือการเลือกใช้ซอมบี้เป็นดั่งภัยที่ช่วยขับเน้นให้มนุษย์เปิดเผยธาตุแท้ในจิตใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่ไม่อาจต่อการได้ด้วยศักยภาพเท่าที่มี
น่าสังเกตว่าในหนังซอมบี้หลายๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องนี้เอง ความสิ้นไร้ไม้ตอกของมนุษย์นั้นอาจพูดไม่ได้เต็มปากว่าพ่ายแพ้เพราะขีดจำกัดทางร่างกาย อย่างเช่นลองนึกภาพว่าเราเอาซอมบี้สักตัวในรถไฟมาดวลกันกับคนที่มีสภาพร่างกายคล้ายๆ กันแบบหนึ่งต่อหนึ่งดูสิครับ น่าเชื่อว่าการกลายเป็นซอมบี้ไม่ได้ถือว่าไปเพิ่มขีดจำกัดของมนุษย์ในด้านพละกำลังสักเท่าไหร่ ผู้ติดเชื้อเหล่านี้ต่างก็ยังคงสมรรถนะทางกายในระดับเดียวกับก่อนที่เขาจะแปลงสภาพ พูดก็คือว่าในการดวลเดี่ยวมนุษย์ยังมีโอกาสที่จะเอาชนะตัวซอมบี้ได้ เพียงแต่เหตุแห่งความกลัวที่กลายเป็นเงื่อนไขในการถอยร่นของมนุษย์นั้นเป็นเพราะ
1. ซอมบี้ตายไปแล้ว ซึ่งการตายนี้หมายถึงสมองเป็นสำคัญ กล่าวคือด้วยพฤติกรรมของซอมบี้นั้นขับเคลื่อนด้วยความบ้าคลั่งแค่เท่านั้น สูญเสียระบบคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ไปจนหมด หรือก็คือ ซอมบี้ไม่รับฟังคำพูดหรือเหตุผลใดๆ เท่ากับว่าหากไม่ใช้แรงกำลังเพื่อประหัตประหารกันแล้ว มนุษย์ก็ไม่เหลือกลวิธีใดเพื่อมาต่อกรกับซอมบี้อีก เป็นศึกแรงชนแรงแค่เพียวๆ
2. ซอมบี้แพร่เชื้อได้ง่าย เพียงแค่กัดโดนร่างกายมนุษย์แค่สักจุด หรือแค่เพียงแค่ฟันเฉี่ยว ก็เพียงพอแล้วสำหรับการกระจายเชื้อ ซึ่งเท่ากับว่าแม้จะอาศัยกำลังที่เหนือกว่าเอาชนะซอมบี้ได้ แต่เชื้อร้ายก็จะไม่สูญหาย มนุษย์มีจุดอ่อนที่พ่ายแพ้ในทันทีหากเพียงแค่พลาดพลั้ง และเพราะความง่ายดายของการระบาดเชื้อนี่เองที่นำมาสู่ข้อได้เปรียบอีกอย่างของซอมบี้นั่นคือ
3. ซอมบี้เพิ่มจำนวนเร็วกว่ามนุษย์ โดยอาศัยแค่ร่างกายซึ่งมีพร้อมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการผลิตประชากรใหม่จากศูนย์ การแพร่กระจายของซอมบี้ในทางหนึ่งจึงสามารถมองได้ว่าเป็น ‘กบฏ’ นั่นคือการแปรพรรคจากฝั่งหนึ่งมาอีกฝั่งหนึ่ง เปลี่ยนจากฝั่งสนับสนุนมาเป็นฝั่งคัดค้าน พร้อมกันนั้นก็ยินดีที่จะใช้ความรุนแรงอย่างไม่อย่างไม่ยินยอมออมความ เราอาจพูดได้ว่า ซอมบี้เป็นดั่งวิกฤตการณ์ที่ไม่เพียงแค่ประชาชน แต่ ‘รัฐ’ เอง ก็หวาดกลัว
แม้ในทางหนึ่ง Train to Busan จะไม่ได้ให้ภาพที่ชัดเจนว่ารัฐรับมือกับภัยพิบัตินี้อย่างไร และจะว่าไปหนังเองก็ไม่ได้แสดงท่าว่ากำลังออกตีป้ายประจานความล้มเหลวทางการรับมือกับปัญหาของรัฐ เพราะท่าทีของหนังเองก็ออกจะโน้มเอียงไปในทิศทางที่บอกให้ศรัทธาในรัฐเสียด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับที่แม้เรื่องราวของมันจะเปิดเปลือยความเห็นแก่ตัวของมนุษย์สักเท่าไหร่ หากแต่ท้ายที่สุดหนังก็ยังเลือกจะสะกิดเตือนเราว่าอย่าทิ้งความหวังในตัวมนุษย์ไปจนหมด
สถานะของเพศชายในเรื่องนี้ออกจะตรงไปตรงมาและตามขนบไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับ The Handmaiden และ The Wailing ที่ต่างก็นำเสนอสถานะอันเหลวเป๋วของผู้ชาย กล่าวคือ ภาพของผู้ชายใน Train to Busan นั้นยังยึดโยงอยู่กับฐานะของผู้ปลดปล่อย ผู้ปกป้อง และผู้แผ้วทาง เห็นได้ว่าตัวละครชายหลักๆ ในเรื่องต่างก็แบกรับหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาผู้หญิงด้วยกันทั้งนั้น อย่างเช่นซกวูปกป้องลูกสาว หนุ่มมาดนักเลงปกป้องภรรยาตั้งครรภ์ และเด็กหนุ่มปกป้องหญิงสาวที่มาชอบตน หรือกระทั่งชายบ้าใบ้ที่ในทีแรกก็ดูจะไร้ประสิทธิภาพความเป็นชายในแง่ที่ว่าไม่สามารถช่วยเหลือใครๆ ก็ยังได้พาตัวเองขึ้นไปสู่ฐานะของชายผู้ปกป้องได้ในท้ายที่สุด