ตลอดห้าปีที่ผ่านมา นอกจากคำว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เราก็คงจะได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึง “การพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง” อยู่เนืองๆ ฟังแล้วก็นึกสงสัยว่า กับดักที่ว่าหน้าตาเป็นยังไง ทำไมอยู่ดีๆ ถึงไปติดกับดัก คนธรรมดาหาเช้ากินค่ำแบบเราๆ เกี่ยวอะไร และถ้าประเทศหลุดพ้นจากกับดักนี้แล้วเราจะรวยขึ้นไหม
ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ.2007 Indermit Gill และ Homi Kharas อดีตนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ได้คิดค้นคำว่า ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ (middle-income trap) ใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่ประเทศประเทศหนึ่งสามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถพัฒนาต่อจนเป็นประเทศรายได้สูงหรือประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ตัวอย่างของประเทศที่ถูกตีตราว่ากำลังติดกับดัก เช่น จีน มาเลเซีย รวมถึงไทยด้วย
แล้วรายได้ต่ำ-รายได้สูงดูยังไง?
ธนาคารโลกแบ่งประเทศในโลกออกเป็นสี่กลุ่ม ประกอบด้วย ประเทศรายได้สูง ประเทศรายได้ปานกลาง (ระดับบนและล่าง) และประเทศรายได้ต่ำ โดยใช้ ‘รายได้ประจำชาติต่อหัว’ หรือ Gross National Income (GNI) per capita มาเป็นตัววัด ซึ่งเกณฑ์ในแต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน ล่าสุดนั้น ประเทศรายได้ปานกลางคือประเทศที่มี GNI per capita อยู่ระหว่าง 1,026 ถึง 12,375 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ซึ่ง GNI per capita ของไทยอยู่ที่ 6,610 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยก็เลยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ‘ระดับบน’ เช่นเดียวกับ เวเนซูเอลา มาเลเซีย และจีน
นับตั้งแต่ที่มีการจัดกลุ่มประเทศ ไทยเริ่มต้นด้วยการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง (lower-middle income country) และกลายเป็น ‘ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน’ เมื่อปี ค.ศ.2010 แต่ก่อนที่จะถามว่า แล้วเราจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางเมื่อไหร่ คำถามนี่น่าสนใจกว่าก็คือ แล้วเกณฑ์ที่ธนาคารโลกใช้นั้นมาจากไหน? Overseas Development Institute (2016) และ Center for Global Development (2017) พบว่า เกณฑ์ที่ธนาคารโลกใช้ ไม่ได้มีหลักฐานทางวิชาการมารองรับ และการเลื่อนขั้น (ยกระดับ) จากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ยิ่งไปกว่านั้น มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคน เช่น Lant Pritchett และ Lawrence Summers รวมไปถึงบทความใน The Economist ได้ออกมาบอกว่า จริง ๆ แล้ว ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ อาจไม่มีอยู่จริง
มาดูที่ประเทศเพื่อนบ้านกันบ้าง มาเลเซียเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบนตั้งแต่ปี ค.ศ.1992 ขณะที่อินโดนีเซียก้าวพ้นจากประเทศรายได้ต่ำมาเป็นรายได้ปานกลางเมื่อปี ค.ศ.1993 แต่ที่น่าสนใจก็คือว่า อินโดนีเซียได้กลับไปเป็นประเทศรายได้ต่ำอีกครั้งช่วงปี ค.ศ.1998-2002 ซึ่งในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ รวมถึงเศรษฐกิจบอบช้ำจากวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2003 เป็นต้นมา อินโดนีเซียยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง แม้ว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจโดยรวม (วัดโดย GDP) ในอันดับ 16 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน
ตัวอย่างประเทศที่สามารถก้าวจากประเทศรายได้ปานกลางระดับบนมาเป็นประเทศรายได้สูง (กระโดดขึ้นหนึ่งระดับ) เช่น อุรุกวัยและโอมาน อีกกลุ่มประเทศที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่สามารถเลื่อนขั้นมาได้สองระดับ คือจากประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างเป็นประเทศรายได้สูง เช่น สาธารณรัฐเช็ก ที่เป็นประเทศปานกลางระดับบนในปี ค.ศ.1994 และกลายเป็นประเทศรายได้สูงในปี ค.ศ.2006 ใช้เวลาเพียง 12 ปี และโปแลนด์ ที่เป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบนในปี ค.ศ.1996 และเป็นประเทศรายได้สูงในปี ค.ศ.2009
นอกจากนั้น ยังมีหลายประเทศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่ต้อง ‘ตกชั้น’ กลับไปอยู่สถานะเก่าดังเดิม เช่น เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย รัสเซีย อุซเบกิสถาน และแอฟริกาใต้ นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายประเทศที่เลื่อนขั้นไปได้เพียงแค่ปีเดียวก็ตกชั้น เช่น มองโกเลีย ซูดานใต้ และนาอูรู รวมไปถึง ประเทศในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (The Commonwealth of Independent States) ในช่วงปี 1990s ที่บอกเราว่า แม้จะเป็นประเทศรายได้สูง แต่หากประมาท ดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ก็กลับไปเป็นประเทศยากจนได้เหมือนเดิมเช่นกัน
ประเด็นต่อมาก็คือว่า เกณฑ์การจัดกลุ่มเหล่านี้ใช้แต่เพียง GNI per capita ซึ่งไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าค่าเฉลี่ยของรายได้ประชากรทั้งประเทศ เศรษฐกิจอาจจะโตขึ้นแต่เราอาจจะไม่รู้สึก ประเทศที่มี GNI per capita เท่ากัน ไม่ได้หมายความว่าความกินดีอยู่ดีจะต้องเท่ากันเสมอไป ในทางเศรษฐศาสตร์ GNI per capita เองก็มีข้อจำกัดในการใช้ เพราะตัวชี้วัดที่พูดถึงตามสื่ออย่าง GNI/GDP ไม่ได้บอกว่า ใครกันแน่ที่ยากดีมีจน ไม่บอกคุณภาพของสินค้าที่ผลิต ไม่บอกความหลากหลายทางเพศและชาติพันธุ์ ไม่บอกคุณภาพทางการศึกษา ระบบประกันสุขภาพ ระดับอาชญากรรม สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความสุขของคน การเป็น ‘ประเทศรายได้สูง’ (หรือหลุดพ้นจากดับดักรายได้ปานกลาง) ไม่ได้การันตีว่า ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจจะหมดไป
วิสัยทัศน์ของการพัฒนาประเทศ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจึงไม่ได้หยุดอยู่ที่ ‘สถานะ’ ว่าเป็นรายได้สูงหรือเปล่า จะมีประโยชน์อะไรหากเป็นประเทศรายได้สูงแล้ว แต่ยังมีปัญหาอย่างทางเท้าคนพิการไม่เรียบ หนี้นอกระบบ เผาป่า รวมไปถึงฝุ่น PM2.5
จริงๆ แล้ว ไทยก็เข้าใกล้ความจริงจากการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเพราะเศรษฐกิจก็โตขึ้นทุกปี
แต่ดูเหมือนจะเข้าตำรา ‘หน้าชื่นอกตรม’ เพราะมีปัญหาบางอย่างที่ซุกไว้ใต้พรม
ในปี ค.ศ.2018 GDP ของไทยโตขึ้น 4% สูงสุดในรอบหกปี ทีมเศรษฐกิจปิดซอยเลี้ยงฉลอง แต่ในปีเดียวกันนี้เอง ‘จำนวนคนจน’ เพิ่มขึ้นกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกพอสมควร เพราะคงไม่มีประเทศรายได้ปานกลางไหนในโลกที่สามารถ ‘เพิ่ม’ ความยากจนได้กว่า 1 ล้านคนภายในปีเดียว ทั้งๆ ที่รัฐบาลใช้งบประมาณไปกว่าแสนล้านในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และประเทศก็ไม่ได้เผชิญภาวะถดถอยหรือไปสู้รบกับใคร คำถามที่ต้องตอบนอกจากการวิ่งตามล่า ‘สายสะพายประเทศรายได้สูง’ ก็คือ ทำไมความยากจนถึงเพิ่มขึ้นมากขนาดนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปกว่า 30 ปี ความยากจนในไทยเพิ่มขึ้นเพียงแค่สามครั้งเท่านั้น คือ 1)เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี ค.ศ.1997 2)วิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ค.ศ.2008 และ 3) ปี ค.ศ.2016 (ไม่มีสาเหตุแน่ชัดอีกเช่นกัน) ที่น่าสังเกตก็คือว่า การเพิ่มขึ้นของคนจนในไทยสองครั้งหลังสุด เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียงห้าปี และประเทศก็อยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดนี้
อีกปัญหาที่อาจจะยังอยู่ แม้ว่าจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางก็คือ เรื่องของความเหลื่อมล้ำ (ทั้งในแง่ของรายได้ ทรัพย์สิน และที่ดิน) ซึ่งก็อาจเกิดมาจากการเติบโตที่ไม่เท่าเทียมในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จากรายงานที่เผยแพร่ใน Asia Times พบว่า ธุรกิจของห้าตระกูล (ประกอบด้วย ซีพีกรุ๊ป ไทยเบพ บุญรอดบริวเวอรี่ คิงพาวเวอร์ และกลุ่มเซ็นทรัล) เติบโตอย่างมากในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้งในแง่ของส่วนแบ่งตลาดและกำไร แต่ตระกูลเหล่านี้ร่ำรวยมานานแล้ว งานวิจัยชิ้นล่าสุดของ Kevin Hewinson แห่งมหาวิทยาลัย North Carolina at Chapel Hill ที่มีชื่อว่า ‘Crazy Rich Thais’ พบว่า ความร่ำรวยของทั้งห้าตระกูลนี้ (ยกเว้นคิงพาวเวอร์) อยู่คู่กับสังคมไทยมาหลายสิบปี ซึ่งแม้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจนเกือบได้เป็นเสือตัวที่ห้า ก็นับว่าเป็นเรื่องยากที่คนจากชนชั้นกลางจะสามารถเบียดพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในชิ้นเค้กเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
การตั้งธงว่าจะเป็น ‘ประเทศรายได้สูง’ นั้น ไม่ต่างอะไรกับสำนวน “race to the top” เป็นเรื่องที่ดี ประเทศไหนในโลกก็อยากเดินตาม แต่นอกเหนือจากการถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘ประเทศรายได้สูง’ การพัฒนาอย่างทั่วถึงก็น่าจะสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คนที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต้องไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มิเช่นนั้น อาจจะกลายเป็นว่าเรา “race to the bottom” แทน