‘ความสุขคืออะไร?’ เป็นคำถามที่ตอบง่ายและยากในเวลาเดียวกัน ตอบง่ายถ้าให้นิยามในแบบของตัวเอง ตอบยากถ้าให้อธิบายว่ามันคืออะไรในความหมายของคนทั้งโลก และแต่ละคนต่างก็ให้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งก็แปลกดี ทั้งๆ ที่ทุกคนพยายามตามหา ทว่ากลับไม่มีศาสตร์ความรู้หรือวิชาไหนๆ ในโลกที่อธิบายหลักการเกี่ยวกับมันได้ชัดเจน ยิ่งเส้นทางหรือวิธีการไปสู่ความสุขยิ่งแล้วใหญ่
กระทั่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน มีกลุ่มคนที่เริ่มศึกษาวิจัยเรื่องความสุขอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การนิยามว่าความสุขคืออะไร เพื่อไปสู่การหาคำตอบที่สำคัญต่อไปว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนมีความสุข แล้วภาครัฐพอจะทำอะไรได้บ้างเพื่อคืนความสุขให้คนทั้งประเทศ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่มีชื่อเรียกว่า ‘เศรษฐศาสตร์ความสุข’ (Happiness Economics)
ถ้าดูจากชื่อก็คงรู้สึกว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก พานให้นึกภาพไม่ออกอีกด้วยว่าเศรษฐศาสตร์ วิชาที่ว่าด้วยระบบเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากรนั้น จะเชื่อมโยงหรือตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับความสุขซึ่งจับต้องยากได้อย่างไร แต่ถือเป็นโชคดีของเราที่ ‘ณัฐวุฒิ เผ่าทวี’ นักเศรษฐศาสตร์ความสุขคนแรกของประเทศไทย และศาสตราจารย์ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่ Warwick Business School ผู้มีผลงานหนังสืออย่าง THE HAPPINESS MANUAL พฤติกรรมความสุข โดยสำนักพิมพ์แซลมอน บินกลับมาบรรยายที่ไทยพอดิบพอดี เราจึงขอรบกวนให้เขาช่วยอธิบาย
อาจไม่ถึงกับเป็นหลักสูตรเร่งรัด แต่เชื่อว่าอย่างน้อยคุณจะเห็นภาพความสุขชัดขึ้นจากบทสนทนานี้
ทำไมความสุขถึงต้องจับคู่กับหลักเศรษฐศาสตร์ มันเกี่ยวข้องกันยังไง
เศรษฐศาสตร์เป็นหลักที่คิดว่าเราต้องหาทางใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ทีนี้ในปัจจุบันคนเราเข้าถึงทรัพยากรมากขึ้น แต่คำถามคือทำไมถึงยังไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ แปลว่าคนส่วนใหญ่เลือกในสิ่งที่ไม่ได้ส่งผลดีที่สุดต่อความสุขหรือเปล่า ดังนั้นการทำวิจัยในทางเศรษฐศาสตร์ความสุขก็เป็นไปเพื่อทำความเข้าใจการตัดสินใจของคน และมองหาปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความสุขมากๆ แต่คนนึกไม่ถึง รวมถึงว่าบางปัจจัยที่ส่งผลกับความสุขก็เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์โดยตรง เช่น เงิน การว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ
แต่ส่วนตัวผมจะมองว่าตัวเองศึกษาเรื่องพฤติกรรมศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งศึกษาทุกอย่างที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคน มันกว้างและครอบเศรษฐศาสตร์ความสุขอีกที ก็เลยจำเป็นต้องผนวกเอาหลายๆ ศาสตร์มาใช้ร่วมกัน อย่างการตัดสินเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของคนก็ต้องใช้จิตวิทยาเข้าช่วย ส่วนหลักเศรษฐศาสตร์จะตอบโจทย์ในระดับมหภาค
แล้วความสุขคืออะไรในทางเศรษฐศาสตร์
นิยามของมันไม่ได้เจาะจงถึงความสุขที่ได้จากสิ่งไหนเป็นพิเศษ แต่เราวัดความสุขของคนจากการถามว่า หนึ่ง—ชีวิตของคุณตอนนี้มีความพึงพอใจมากน้อยขนาดไหน สอง—รู้สึกว่าชีวิตของคุณมีความหมายมากน้อยขนาดไหน และสาม—คุณคิดว่าชีวิตประจำวันของคุณเป็นยังไง 0-10 ให้คะแนนเท่าไหร่ แล้วค่อยมาดูว่าปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวแปร และส่งผลต่อความสุขทั้งสามมิติอย่างไร
พอจะพูดได้ไหมว่ามันมีสูตรสำเร็จในการสร้างความสุข?
คงไม่ถึงกับเป็นสูตรตายตัว มันเป็นสูตรที่เราเห็นจากสถิติมากกว่า ซึ่งในทางสถิติแล้วเราพบว่าการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น การมีคนที่คอยซัพพอร์ตชีวิต และปริมาณเวลาที่ใช้กับคนรอบข้าง คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในสมการ รองลงมาคือสุขภาพกาย-จิต ส่วนส่วนเรื่องเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนเรามักจะให้ความสําคัญมาก กลับเป็นปัจจัยที่รองลงมาหลายอันดับ
ทีนี้พอเรารู้ว่าความสุขมีสามมิติ รู้ว่าปัจจัยไหนส่งผลมากน้อยอย่างไรแล้ว เราก็จะสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น เลือกแบบมีเหตุมีผล ไม่ใช่ว่าเลือกงานที่ให้เงินเยอะๆ แต่ชีวิตประจำวันต้องเดินทางไกล รถติด 2-3 ชม. ซึ่งคนส่วนใหญ่เลือกแบบนั้น ทั้งๆ ที่ข้อมูลบอกเราว่าเงินเดือนหลักหมื่น กับความทุกข์ทนจากการฝ่ารถติดไปทำงานนั้นเทียบกันไม่ได้เลย สำหรับคนกรุงเทพฯ ควรจะได้เงินเดือนเป็นล้านๆ ด้วยซ้ำถึงจะคุ้ม (หัวเราะ)
ข้อมูลจากงานวิจัยเหล่านี้จะช่วยให้คนจัดลำดับความสำคัญใหม่ สิ่งที่คิดว่าสำคัญอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด กระทั่งคนที่รู้สึกว่ามีความสุขอยู่แล้ว ก็จะตอบได้ด้วยว่า ตัวเองมีความสุขเพราะอะไร แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะมีความสุขมากกว่านี้ หรือมีความสุขได้ในราคาที่ถูกลง
เป็นไปได้ไหมว่าสมการนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ชีวิตบางคน?
ก็เป็นไปได้ ด้วยความแตกต่างทางลักษณะทางบุคลิกภาพ (personality trait) เช่น คนอินโทรเวิร์ต ก็อาจจะไม่ได้มีความสุขจากการได้เข้าสังคม ได้เจอเพื่อนเท่ากับคนที่เป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ต คนอินโทรเวิร์ตอาจจะมีความสุขกับการได้อ่านหนังสืออยู่บ้านมากกว่า ดังนั้นมันก็เป็นไปได้ว่าทั้งสามปัจจัยความสุขที่ว่าไปนั้นอาจจะส่งผลแตกต่างกันบ้างในแต่ละคน เพราะข้อมูลเหล่านั้นเป็นค่าเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่
พอจะอธิบายได้ไหมว่าทำไมเงินถึงไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญอันดับหนึ่ง
เราพบว่าคนที่รวยมากแต่ไม่ถึงกับรวยล้นฟ้า ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการทำงาน เดินทางไปเจรจาธุรกิจ แล้วถามว่ากิจกรรมพวกนี้มันทำให้เขารู้สึกดีกับชีวิตไหม ก็ไม่ใช่ แต่ภาพที่ทุกคนคิดคือคนรวยน่าจะใช้เวลาไปกับการตีกอล์ฟ ดูหนัง เที่ยว คนเราจึงให้น้ำหนักไปกับการทำยังไงก็ได้ให้รวย และงานวิจัยก็บอกอีกด้วยว่าถ้าคนเรารวยขึ้น แต่คนอื่นก็รวยขึ้นด้วย ความพึงพอใจที่ได้จากการที่เรารวยขึ้นมันหายวับไปเลย เพราะคนเรามักจะเปรียบเทียบสถานะของตัวเองกับคนอื่นเสมอ
แต่ผมไม่อยากบอกว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ เพราะเงินซื้อความสุขได้ ถ้าเราใช้มันเป็น จริงอยู่ว่าการมีเงินทำให้คุณมีโอกาสพัก หรือมีโอกาสเลือกซื้ออะไรก็ได้ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณเลือกใช้มันยังไง สิ่งนี้แหละที่ผมอยากให้ความรู้คน
แต่มีบางคนบอกว่าความสุขอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่เงินทอง
ความสุขอยู่ที่ใจจริงไหม จริง ถ้าคุณสามารถบอกตัวเองได้ตลอดว่าความสุขอยู่ที่ใจ ไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหนแต่ความสุขอยู่ที่ใจ ถ้าคุณสามารถทำแบบนั้นได้ก็โอเค แต่เราเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เรารู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่คิดแบบนั้นได้ คนส่วนใหญ่มีอารมณ์ มีความอยาก
อย่างนั้นเราควรใช้เงินไปกับอะไรถึงจะดี?
การซื้อประสบการณ์ ซื้อความรู้ ใช้ไปกับคนที่เรารัก ทำให้คนอื่นมีความสุขไปด้วย หรือใช้มันซื้อเวลา คือคนเราทำงานหนักมาก แต่ไม่เคยใช้เงินซื้อเวลาพักผ่อนเลย
อะไรคือองค์ประกอบของความสุขที่มีคุณภาพ น่าลงทุน
ต้องเป็นความสุขที่ยั่งยืน ไม่ใช่ว่าบริโภคสิ่งนั้นหมดแล้วก็จบไป และมีความ cost effective คือลงทุนน้อย แต่ได้เยอะ
มีงานวิจัยหนึ่งบอกว่า ถ้าคุณมีเงินอยู่ 1,000 บาท วิธีใช้เงินจำนวนนี้ให้ได้ความสุขมากที่สุด คือการจองตั๋วหรือที่พักไปเที่ยวกับเพื่อนในสัปดาห์หน้า เพราะเมื่อคุณจองปุ๊บ คุณจะตั้งหน้าตั้งตารอ แต่ถ้าคุณไปเที่ยวกับเพื่อนวันนี้ มันก็มีความสุขนะ เพราะอย่างที่บอกว่า social interaction หรือการเจอเพื่อนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขมาก แล้วการไปเที่ยวก็ยังสร้างความสุขในระยะยาวได้อีก เพราะเมื่อกลับมาจากทริป คุณกับเพื่อนก็ยังจะมีเรื่องคุยกันต่อ เพียงแต่ช่วงเวลาดื่มด่ำไปกับภาพในหัวว่าทริปครั้งนี้จะสนุกเพียงใดนั้นจะสั้นหน่อย
ที่เล่าไปนี้เป็นงานวิจัยจากไมเคิล นอร์ตัน เริ่มจากที่ทีม TripAdvisor เห็นข้อมูลว่าคนที่จ่ายเงินจองห้องพักในอีกสองเดือนข้างหน้าแล้วเรียบร้อย ยังกลับมาดูห้องที่เขาจองไปแล้วเกือบทุกวัน นอร์ตันก็ให้คำตอบว่า คนเหล่านั้นกำลังดื่มด่ำกับสิ่งที่เขากำลังจะได้รับ เป็นที่มาของ anticipation effect
ผิดหรือเปล่าถ้าเราอยากซื้ออยากได้ในสิ่งที่จะทำให้มีความสุขทันที?
ส่วนใหญ่แล้วตัวเลือกที่ทำให้คุณมีความพึงพอใจทันทีมักจะส่งผลไม่ดีต่ออนาคต สมมติว่าคุณหิว ให้เลือกระหว่างข้าวหมูกรอบกับสลัด คนส่วนใหญ่ก็จะเลือกข้าวหมูกรอบ เพราะมันอร่อย มันสร้างความพึงพอใจในทันที แต่มันไม่ดีต่อสุขภาพในอนาคต
แต่ในเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเรียน หน้าที่การงาน ชีวิตคู่ มันเป็นเรื่องที่ทุกคนคิดเพื่ออนาคต และคิดอย่างรอบคอบแล้วหรือเปล่า ทำไมหลายๆ คนก็ยังดูไม่มีความสุขอยู่ดี?
ต้องดูว่าตอนที่ตัดสินใจนั้น เขาใช้เหตุผลมากแค่ไหน สมมติเรื่องงาน เขาอาจจะเลือกทำงานที่นี่เพราะรายได้ดี โดยมองข้ามปัจจัยอื่นๆ คือมันก็ไม่ผิดหรอกครับ แต่ผมว่าคนส่วนใหญ่เลือกเงินจนลืมคิดถึงปัจจัยอื่นๆ ลืมคิดไปว่างานนั้นมีความหมายกับชีวิตไหม หรือมันเป็นงานที่ทำให้เราต้องใช้เวลาบนถนนมากน้อยเท่าไหร่ แล้วเราเหลือเวลาใช้เงินแค่ไหน จะดีกว่าไหมถ้าเลือกงานที่เงินน้อยกว่าหน่อย แต่เปิดโอกาสให้ได้ทำอย่างอื่นที่สร้างความสุขได้มากกว่า เงินมันเป็นแค่พาหนะไปสู่ความสุขเท่านั้นเอง เราอาจจะไม่ต้องใช้เงินซื้อความสุขมากขนาดนั้นก็ได้ ถ้าได้นอน 8 ชม. หรือไม่ต้องเดินทางไกล อย่างเรื่องเรียนก็ต้องดูว่าเขาเลือกตามเทรนด์ เลือกตามเพื่อน เลือกเพราะพ่อแม่บังคับ หรือแม้กระทั่งเลือกจากความชอบของตัวเองโดยไม่ได้มองถึงชีวิตในอนาคตหรือเปล่า คือคนเรามักจะคิดว่า ความชอบในวันนี้จะอยู่กับเราไปตลอดทั้งที่รสนิยมความชอบมันเปลี่ยนไปตามอายุ
ถ้ายุคสมัยเปลี่ยนไป พฤติกรรมที่เคยดีหรือไม่ดีต่อความสุข หรือสมการความสุขที่คุณว่ามีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงด้วยไหม?
มีโอกาส และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงยังไม่หยุดวิจัย ทำไมต้องหาข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอด เพราะมันมีวิวัฒนาการของความสุขด้วย เรายังไม่รู้เลยว่าอีกสิบปีข้างหน้าโลกจะเป็นยังไง บอกไม่ได้เลย ความสุขก็เหมือนกัน แม้แต่เรื่องที่สรุปไปแล้ว เราก็ยังต้องเก็บข้อมูลเพื่ออัพเดตว่ามันยังเป็นอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า
แล้วที่คุณบอกว่าศาสตร์นี้ยังตอบโจทย์ในระดับมหภาคได้ด้วย มันเอาไปใช้งานยังไง?
ยกตัวอย่างแล้วกัน มันมีสิ่งที่เรียกว่า misery index หรือดัชนีความทุกข์ ซึ่งที่ผ่านมานั้นการว่างงานกับอัตราเงินเฟ้อ ถูกกำหนดให้มีค่าเท่ากัน พอรัฐบาลรู้อย่างนี้แล้วเขาก็จะออกนโยบายแบบหนึ่งมา แต่พอวิจัยจริงๆ แล้วก็พบว่าการว่างงานนั้นส่งผลต่อความสุขมวลรวมของประชาชนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อประมาณ 1.4 เท่า เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็ควรใช้ข้อมูลนี้ในการทำนโยบาย และให้น้ำหนักกับแก้ปัญหาการว่างงานมากกว่าปัญหาเงินเฟ้อ
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอันนี้ผมทำวิจัยเอง โดยตั้งโจทย์ว่าความเหลื่อมล้ำนั้นส่งผลยังไงบ้างกับความสุขของคน ผลที่ออกมาคือ ยิ่งสังคมมีความเหลื่อมล้ำมาก ความเหลื่อมล้ำทางความสุขก็จะมีมากเช่นกัน จะมีคนที่สุขมากๆ กับคนที่ทุกข์มากๆ ซึ่งเราก็จะใช้ข้อมูลนั้นหาทางทำให้ช่องว่างมันลดลง นี่คือสิ่งที่เศรษฐศาสตร์ความสุขทำงานในระดับมหภาค จะทำยังไงให้คนกลุ่มใหญ่มีความสุขในชีวิตมากที่สุด
ในยุคที่การแก้ไขปัญหาระดับมหภาคทำได้ยาก สิ่งแวดล้อมหรือความเป็นอยู่ก็สร้างความพึงพอใจได้ไม่มาก เราจะหาความสุขให้ตัวเองได้จากทางไหน?
อาจจะเริ่มแก้ที่ตัวเอง เช่น ใช้เงินยังไงให้มีความสุขมากขึ้น การกลับมามองว่าสิ่งที่เราเลือกนั้นทำให้เรามีความสุขหรือเปล่า มันตอบโจทย์เรา พ่อแม่ คู่รักหรือเปล่า ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้น่าจะยังอยู่ในการควบคุมของเรา
ย้ายประเทศจะช่วยไหม?
ผมคิดว่าช่วย อย่างผมเป็นอาจารย์ที่อังกฤษ ถ้าให้กลับมาเป็นอาจารย์ที่ไทย รับรองว่าผมคงจะมีความสุขไม่เท่ากับการเป็นอาจารย์ที่อังกฤษ มันมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่อยู่ที่นั่น ผมมีความสุขได้ทั้งสามมิติเลย ความสุขระยะสั้นคือ ไปทำงานสิบโมง สัปดาห์ละ 2-3 วัน สามโมงเย็นก็สามารถกลับบ้านไปอยู่กับภรรยา กับหมา ความสุขระยะยาวคือ ผมได้ทำงานที่ชอบ ได้เงินเดือนดี ความพึงพอใจก็เลยดี และการเป็นอาจารย์ก็ยังทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย คือเราต้องถามตัวเองก่อนว่าถ้าเราอยู่ไทย จะมีโอกาสเติมเต็มความสุขทั้งสามมิตินี้หรือเปล่า ถ้าคิดว่าทำยังไงก็ไม่ได้ ด้วยสังคม หรือระบบการทำงาน การย้ายประเทศก็อาจจะเป็นทางออกที่ดี
แต่ในโซเชียลฯ ก็มักจะเห็นคอมเมนต์คนไทยที่อยู่ต่างประเทศว่า ต่างประเทศก็ไม่ได้ดีนักหนาเลย อยากกลับไทยด้วยซ้ำ
ต้องถามว่าสัดส่วนคอมเมนต์แบบนี้เทียบกับคอมเมนต์ที่อยากย้ายประเทศคือเท่าไหร่ เท่าที่ผมดู ฝั่งที่บอกว่าต่างประเทศไม่ดี อย่าย้ายเลย น่าจะเป็นส่วนที่น้อยมาก คนไทยที่อยากย้ายน่าจะเยอะกว่า อีกอย่างคือคนไทยที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้วมีความสุข เขาไม่มาพิมพ์คอมเมนต์อะไรแบบนี้หรอก (หัวเราะ) แต่ก็เป็นไปได้ที่บางคนจะไม่มีความสุขกับการอยู่ต่างประเทศ เพราะประเทศนั้นมีบางอย่างไม่ตอบโจทย์เขา หรือ skill set ของเขาเองอาจจะไม่เหมาะกับประเทศนั้นๆ
ตั้งแต่ศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุขมา มีผลวิจัยเรื่องไหนบ้างไหมที่ทำให้คุณรู้สึกเศร้า
อาจจะไม่ถึงกับเศร้ามากจนหดหู่ เรียกว่าไม่น่าเชื่อว่ามันจะส่งผลแบบนั้น เช่น คนที่ว่างงานกับคนที่โดนปล้น ความสุขของพวกเขาจะลดฮวบจนเหลือน้อยมากๆ แต่ถ้าเขารู้ว่าคนอื่นๆ ก็ว่างงาน หรือโดนปล้นเหมือนกัน เขาจะโอเคขึ้น มันเศร้าตรงที่ว่า พอสิ่งเหล่านี้กลายเป็น norm ขึ้นมา ทุกคนก็จะมองเป็นเรื่องปกติ อย่างผมกลับไทยมาสิบวัน เปิดข่าวดูทุกเช้า มีแต่ข่าวฆาตกรรม ข่าวโกง พอทุกคนเห็นแบบนี้จนชิน ก็จะรู้สึกแย่กับสิ่งเหล่านี้น้อยลงเรื่อยๆ พอผมรู้อย่างนี้แล้วมันก็เศร้า เพราะมันส่งผลให้ทุกคนกลายเป็นคนไม่มีความเห็นใจ สำหรับคนที่ได้ยินข่าวเฉยๆ ก็อาจจะไม่ได้รู้สึกทุกข์อะไร แต่คนที่ทุกข์จากเรื่องเหล่านั้นก็จะรู้สึกทุกข์ไปตลอด เพราะไม่มีใครคิดจะทำอะไรสักที
ในฐานะที่คุณเรียนรู้ถึงที่มาของความสุข คุณมีวิธีจัดการกับความทุกข์และความผิดหวังยังไง
สมมติว่าคุณสมัครฟิตเนสไว้ แต่แทบไม่ได้ไปเลย แล้วก็ไม่ยกเลิกด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยมีเหตุผล คล้ายกับคนที่มีแฟนที่ไม่โอเค แต่ก็ไม่ยอมเลิกสักที เราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า Sunk Cost Fallacy หรือทุนจม เราเสียดายต้นทุนที่ลงไปทั้งที่มันเอากลับคืนมาไม่ได้ เช่น เวลา หรือเงินที่จ่ายเพื่อซื้อบริการ แต่เรานำมันมาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจว่าเราควรจะทนต่อไปหรือเปล่า ความรู้แบบนี้ผมก็เอามาประยุกต์กับตัวเอง สิ่งไหนที่ลงทุนไปเยอะ แต่มันไม่ใช่ ก็ถอยออกมา คิดคล้ายๆ กับการ cut loss ของนักลงทุน ยอมตัดใจให้ทุกข์เพียงเท่านี้ดีกว่า
ยิ่งถ้าพูดให้แคบเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ มันไม่ใช่การตัดใจเพื่อเราฝ่ายเดียว เพราะถ้าเราไม่มีความสุขในการคบกัน อีกฝ่ายก็คงไม่มี ฝรั่งถึงมีคำพูดว่า การหย่าร้างของคนสองคนนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้คนสี่คนมีความสุข แต่คนส่วนใหญ่ถูกอารมณ์ต่างๆ บดบังจนไม่ทันคิดถึงในมุมนี้
แต่ถ้าเราแนะนำแบบนี้กับเพื่อน มันจะดูเย็นชาหรือแข็งกระด้างไปไหม
เคยบอกเรื่องนี้กับเพื่อนบางคนเหมือนกัน แล้วเขาก็เลิกกันจริงๆ แต่สุดท้ายเขาก็มาบอกนะว่าการตัดสินใจครั้งนั้นคือการตัดสินใจที่ดีที่สุดแล้ว แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่สนิทก็คงดูกันอีกที บอกไปอย่างนั้น เขาอาจจะเลิกคบเราแทน (หัวเราะ)