ในหนังสือที่ผู้เขียนชอบที่สุดเล่มหนึ่งเกี่ยวกับระบอบเผด็จการ เรื่อง Economic Origins of Dictatorship and Democracy (กำเนิดทางเศรษฐกิจของระบอบเผด็จการและประชาธิปไตย) ผู้เขียนทั้งสองคือ แดรอน อาเซโมกลู กับเจมส์ โรบินสัน นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชื่อดัง เสนอว่าการเปลี่ยนผ่านหรือเปลี่ยนไม่ผ่านจากระบอบเผด็จการเป็นประชาธิปไตยในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘ชนชั้นนำ’ กับ ‘ประชาชน’ เป็นสำคัญ ชนชั้นนำ (ซึ่งครองอำนาจมายาวนาน) อยากรักษาระบอบเดิมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเอาไว้ เพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของตนต่อไป ส่วนประชาชน (ซึ่งเริ่มต้นเป็นผู้ด้อยอำนาจ) อยากได้ประชาธิปไตย เพราะนั่นหมายถึงการมีส่วนแบ่งในอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ในทฤษฎีนี้ ชนชั้นนำจะ ‘ยอม’ เปิดทางให้สังคมเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถรวมตัวกันติด ชนชั้นนำเริ่มหวาดกลัวว่าประชาชนจะลุกฮือขึ้นปฏิวัติ ซึ่งก็จะทำให้พวกเขาเสียหายหนัก ดังนั้นจึงยอมเจรจาต่อรองกับประชาชน เริ่มจากการสัญญาว่าจะใช้นโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น (เช่น การกระจายรายได้ หรือสวัสดิการพื้นฐาน) โดยหวังว่าคำสัญญาเหล่านี้จะทำให้ประชาชนพอใจ ยอมอยู่ใต้โครงสร้างทางการเมืองแบบเดิมต่อไป แต่ประชาชนไม่ไว้ใจชนชั้นนำว่าจะทำตามสัญญา (ขอเวลาอีกไม่นาน) เพราะรู้ดีว่าตราบใดที่ชนชั้นนำกุมอำนาจทางการเมืองทั้งหมดเหมือนเดิม ตราบนั้นสัญญาก็ไร้ความหมาย ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจะยังคงเรียกร้องกดดันต่อไป จนกระทั่งสุดท้ายชนชั้นนำยอมถ่ายโอนอำนาจบางส่วนมาให้กับประชาชน
อาเซโมกลูกับโรบินสันเสนอว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการเป็นประชาธิปไตย (democratization) ในหลายประเทศทั่วโลกเกิดขึ้นแบบนี้ ความก้าวหน้าเกิดเป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอ และต้องใช้เวลานาน
ทฤษฎีนี้ช่วยอธิบายว่าเหตุใดสหราชอาณาจักรจึงสามารถคลี่คลายความตึงเครียดทางสังคมผ่านการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นประชาธิปไตยแบบควบแน่น (consolidated democracy) ได้ ก็ต้องอาศัยภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง และความเหลื่อมล้ำที่ไม่สูงมากนัก (มิฉะนั้นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นอาจสูงเกินกว่าจะต่อรองประนีประนอมกันได้) ในขณะเดียวกัน อีกหลายประเทศก็ไม่อาจเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยแบบควบแน่นได้ ยกตัวอย่างเช่น ชนชั้นนำในอาร์เจนตินาไม่ยอมเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง สังคมจึงสวิงกลับไปมาระหว่างระบอบคณาธิปไตยกับประชาธิปไตย ส่วนในกรณีของสิงคโปร์ รัฐบาลสามารถเปลี่ยนระบอบเศรษฐกิจในยุคหลังอาณานิคมเป็นอุตสาหกรรมที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ได้สำเร็จ เท่ากับผ่อนปรนแรงกดดันทางสังคม ลดทอนทั้งความจำเป็นของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และการใช้อำนาจกดขี่ควบคุมประชาชน
อาเซโมกลูกับโรบินสันมองว่าประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานอย่างถาวร ถึงระดับควบแน่น (consolidate) ในแต่ละประเทศได้ก็ต่อเมื่อชนชั้นนำไม่มีแรงจูงใจที่จะคว่ำประชาธิปไตย (เช่น เพราะการทำรัฐประหารมีต้นทุนสูงเกินกว่าจะรับได้) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ตั้งแต่ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม โครงสร้างของสถาบันทางการเมือง ธรรมชาติของวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตการเมือง ระดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงรูปแบบและขนาดของกระแสโลกาภิวัตน์
ผู้เขียนกระหวัดนึกถึงหนังสือเล่มนี้ระหว่างที่เล่น Tropico 6 เกมจำลองการปกครองในระบอบเผด็จการที่แสบสันและมันส์ที่สุดที่เคยเล่น
คงไม่มีช่วงไหนที่เราจะ ‘อิน’ กับเกมนี้ เท่ากับการเล่นมันในประเทศไทยกลางเดือนเมษายน 2562 เกือบหนึ่งเดือนภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่คณะเผด็จการทหารซึ่งยึดอำนาจมาเกือบห้าปีอ้างว่า จะเป็นการหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย(สมบูรณ์?) แต่เรายังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่ยอมเปิดเผยคะแนนดิบรายหน่วยเลือกตั้ง แถมยังฟ้องประชาชนผู้วิพากษ์วิจารณ์ขึ้นศาลในข้อหาหมิ่นประมาท ท่ามกลางเสียงก่นด่าหนาหูว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกเป็นอันดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์ไม่ถึงหนึ่งร้อยปีของประชาธิปไตยไทย
Tropico 6 เป็นเกมสร้างเมืองคล้าย SimCity ไม่ต่างจากห้าเกมก่อนหน้านี้ในซีรีส์สุดเก๋าซึ่งมีอายุเกือบสองทศวรรษ เราเล่นเป็นผู้นำเผด็จการทหาร สมญา El Presidente (ท่านประธานาธิบดี) ปกครองประเทศหมู่เกาะคาริบเบียนขนาดเล็กในจินตนาการ รอบนี้เราสามารถเปลี่ยนเพศ หน้าตา และเสื้อผ้าของตัวเอง รวมถึงเลือก ‘นิสัย’ (trait) ติดตัว เช่น ‘เสน่ห์แรง’ (charismatic) ปรับปรุงความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ ในประเทศและมหาอำนาจต่างแดน หรือ ‘โกง’ (corrupt) ทำให้บริเวณรอบๆ วังของเรา (ใช่สิ มีอำนาจสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวต้องอยู่วัง) เต็มไปด้วยอาชญากรรม แต่ทำให้เราได้เงินมากขึ้นจากสินบนและเงินใต้โต๊ะทั้งหลายที่โอนเข้าบัญชีส่วนตัว (ณ สวิสเซอร์แลนด์ ดินแดนแห่งการเก็บความลับของเศรษฐี) นิสัยติดตัวในเกมนี้เลือกได้เพียงข้อเดียวเท่านั้น ไม่ใช่หลายข้ออย่างใน Tropico 5 แต่เกมนี้ก็ชดเชยด้วยการเปิดให้เราสรรหาและแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมห้าคนมาเป็นคณะรัฐมนตรี ซึ่งแต่ละคนก็มีนิสัยและความสามารถพิเศษแตกต่างกันไป
Tropico 6 แตกต่างจากเกมก่อนหน้านี้ในซีรีส์ที่สุดตรงที่เราไม่ได้ปกครองเกาะเกาะเดียวอีกต่อไป แต่ปกครอง หมู่เกาะ ซึ่งประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยหลายแห่ง ไม่มีเกาะไหนมีทรัพยากรเพียบพร้อมทุกอย่าง ดังนั้นจึงต้องวางแผนการใช้เงินและหาเงินอย่างระมัดระวังกว่าที่ผ่านมา เราสามารถเชื่อมเกาะน้อยใหญ่เข้าด้วยกันได้ด้วยการสร้างสะพาน แต่กว่าจะมีเทคโนโลยีสะพานก็ต้องรอให้เกาะเข้าสู่ยุคอาณานิคม (colonial era) ก่อน
เกมนี้เราจะเล่นโหมด ‘กระบะทราย’ (sandbox) ไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้จบก็ได้ หรือจะเล่นโหมดเนื้อเรื่อง (story missions) ทำภารกิจ 15 ครั้งติดต่อกันก็ได้ เนื้อเรื่องสนุกเฮฮาแต่ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ผู้เขียนชอบโหมดกระบะทรายปลายเปิดมากกว่า เพราะได้ทดลองสร้างอะไรๆ ตามใจ แต่ก็ใช่ว่าโหมดนี้จะง่ายดายหรือทำอะไรก็ได้ เพราะเรามีโอกาสตกจากอำนาจได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะโดนมหาอำนาจจากต่างแดนบุกถ้ากองทัพไม่เข้มแข็งและไม่ยอมสวามิภักดิ์(แต่พองาม) โดนกองทัพของตัวเองปฏิวัติ โดนประชาชนโกรธแค้นมากๆ จนลุกฮือขึ้นก่อกบฏ หรือแพ้การเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขชัยชนะที่ต้องพยายามบรรลุ เช่น “หาเงินให้ถึง x เหรียญสหรัฐฯ ในท้องพระคลัง / บัญชีธนาคารสวิสส่วนตัว” “ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยือนหมู่เกาะให้ถึง y คน” “ขโมยสิ่งมหัศจรรย์ของโลกจากประเทศอื่นมาตั้งไว้บนเกาะ z ชิ้น” และอื่นๆ อีกมากมาย
Tropico 6 เล่นยากกว่า Tropico 5 เพราะนอกจากจะต้องวางแผนการพัฒนาและเชื่อมเกาะอย่างเป็นระบบ ระวังไม่ให้รายได้เข้าช้ากว่ารายจ่ายแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับ ประสิทธิภาพ ของแหล่งผลิตสินค้าทางเศรษฐกิจทุกชนิด เช่น จะทำไร่อ้อยป้อนโรงงานน้ำตาลก็ต้องหาชัยภูมิที่เหมาะสมก่อน เพราะภูมิประเทศแต่ละแบบเหมาะกับพืชต่างชนิดกัน แต่ในแง่บวก Tropico 6 ก็เติมกลไกปรับจูนระดับจุลภาคเข้ามาหลายอย่างเพื่อรับมืออย่างละเอียด โดยเฉพาะการให้เราปรับเปลี่ยน ‘โหมดทำงาน/โหมดการผลิต’ (work mode) ของอาคารแต่ละหลังได้ นี่เป็นฟีเจอร์เดิมใน Tropico 4 แต่หายไปในภาค 5
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นเรือกสวนไร่นา เราจะเปลี่ยนโหมดการผลิตจาก ‘เกษตรเชิงเดี่ยว’ (mono-culture) เป็น ‘เกษตรผสมผสาน’ (multi-culture) ก็ได้ ความแตกต่างก็คือเกษตรเชิงเดี่ยวจะได้ประสิทธิภาพเต็ม 100% แต่ดินจะค่อยๆ เสื่อมสภาพลงเมื่อเวลาผ่านไป จนถึงจุดหนึ่งก็จะปลูกอะไรไม่ขึ้นอีก ขณะที่ ‘เกษตรผสมผสาน’ จะไม่มีวันทำให้ดินเสื่อมสภาพ แต่ต้องแลกมาด้วยประสิทธิภาพลดลง 40% ถ้าเราวางอาคารประเภทเดียวกันติดกัน ประสิทธิภาพของมันจะเพิ่มขึ้นหลังละ 10% (นัยว่าสะท้อนการประหยัดจากขนาด หรือ economies of scale) ดังนั้นถ้าเราวางแผนดีๆ เราก็จะสามารถออกแบบไร่ ‘เกษตรผสมผสาน’ หลายแปลงติดกันที่ให้ประสิทธิภาพเต็ม 100% ได้
การหาโอกาสเล็กๆ น้อยๆ ในการบรรลุประสิทธิภาพเต็มที่แบบนี้คือส่วนหนึ่งของความสนุกใน Tropico 6 โดยเฉพาะสำหรับคอเกมที่หลงใหลการจัดการทุกกระเบียดนิ้ว (micro-management) ในเกมสร้างเมือง แต่ความสนุกที่เจ๋งยิ่งกว่านี้อีก คือ การพยายามรักษาอำนาจผ่านหลายยุคสมัย ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม สงครามโลก สงครามเย็น จนถึงยุคสมัยใหม่ (ซึ่งประเทศหมู่เกาะของเราก็สามารถสร้างจรวดไปอวกาศได้ไม่น้อยหน้าชาติมหาอำนาจ) ซึ่งแต่ละยุคก็มาพร้อมกับความท้าทายใหม่ๆ ยุคที่ผู้เขียนคิดว่าสนุกที่สุดคือยุคสงครามเย็น ประเทศมหาอำนาจจากทั้งค่ายคอมมิวนิสต์กับค่ายทุนนิยมจะติดต่อเรา ยื่นข้อเสนอหรือข่มขู่ราวกับหลุดออกมาจากหนังสายลับอย่าง เจมส์ บอนด์ ข้อเสนอเหล่านี้สนุกมาก เช่น เราจะยอมยกเกาะให้เป็นแหล่งทดสอบอาวุธนิวเคลียร์แลกกับเงินสดมหาศาล (แน่นอนว่ากันบางส่วนเข้าบัญชีส่วนตัว) ดีไหม นายหน้าที่พยายามทำดีลนี้พูดอย่างเยาะหยันว่า โบนัสของดีลนี้ก็คือ “ประชาชนของคุณจะประหยัดค่าตัดผมไปได้เยอะเลย!”
เราเป็นเผด็จการทหารก็จริง แต่เราต้องสนใจ ‘คะแนนนิยม’ (approval) ในเกมนี้ไม่แพ้เผด็จการในโลกจริง เพราะประชาชนยิ่งโกรธแค้นมากๆ ยิ่งมีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันติดและลุกฮือขึ้นท้าทายอำนาจ ดังที่อาเซโมกลูกับโรบินสันตั้งข้อสังเกต คะแนนนิยมของเราใน Tropico 6 เป็นตัวกำหนดสัดส่วนของประชาชนที่จะออกเสียงเลือกเราในฤดูเลือกตั้ง ถ้าหากเรายอมจัดให้มีการเลือกตั้ง (จะไม่จัดเลือกตั้งเลยก็ได้ แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนโกรธ ลุกขึ้นมาประท้วงหรือเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธ) องค์ประกอบของคะแนนนิยมมาจากสามส่วนหลัก ได้แก่ สถานะทางเศรษฐกิจของหมู่เกาะ (ยิ่งเศรษฐกิจดี คนมีกินมีใช้ ประชาชนยิ่งนิยมชมชอบเรา) คำมั่นสัญญาที่ให้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง (ยิ่งสัญญาว่าจะแก้ปัญหาเร่งด่วนในสายตาของประชาชน คะแนนนิยมยิ่งพุ่งสูง) และ ‘ความสุข’ ของประชาชน
‘ความสุข’ ของประชาชนใน Tropico 6 เป็นค่าเฉลี่ยของปัจจัยทั้งหมดที่ส่งผลต่อความสุข ตั้งแต่อาหาร (ยิ่งประชาชนได้เข้าถึงอาหารที่หลากหลาย พวกเขายิ่งมีความสุข) สาธารณสุข (มีโรงพยาบาลเพียงพอหรือไม่ รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงยาได้ง่ายดายเพียงใด) แหล่งบันเทิง (ควรมีหลากหลายชนิดและตอบโจทย์คนหลายชนชั้น) ศรัทธา (คุณภาพและปริมาณของสถานที่ทางศาสนา) ที่พักอาศัย (คนอยู่กระต๊อบย่อมมีความสุขน้อยกว่าอยู่อพาร์ตเมนต์สมัยใหม่ ถ้าเราจะตรึงคุณภาพที่อยู่อาศัยให้อยู่ในระดับสูง เราจะต้องสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ให้ทันยุค และต่อสายไฟฟ้าไปให้ถึง) คุณภาพของงาน (ความสะดวกสบายในการทำงาน ปรับปรุงได้ด้วยการอัพเกรดสถานที่ทำงาน) เสรีภาพ (ยิ่งคนสามารถเข้าถึงสื่ออิสระและสารเสพติด ยิ่งมีความสุข) ความปลอดภัย (มีโรงพักเพียงพอหรือไม่ อาชญากรรมสูงขนาดไหน)
ทั้งหมดทั้งมวล สไตล์การปกครองของเราใน Tropico 6 อาจแบ่งได้คร่าวๆ เป็นสองแบบ คือ จะเป็น ‘เผด็จการเอื้ออาทร’ หรือ ‘เผด็จการขาโหด’ ผู้เขียนชอบเล่นเป็นเผด็จการเอื้ออาทรมากกว่า เพราะพบว่าการเป็นเผด็จการขาโหดมีต้นทุนสูงกว่ากันมาก
ถ้าเราเล่นเป็นเผด็จการเอื้ออาทร หลักๆ เราจะออกแบบรัฐธรรมนูญให้ ‘ดูเป็น’ ประชาธิปไตย ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะมั่นใจว่าเราจะชนะได้แน่ๆ โดยการเร่งสร้างและรักษาคะแนนนิยมของประชาชนให้อยู่ในระดับสูง ส่วนใหญ่ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจของหมู่เกาะให้เจริญก้าวหน้า ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและเงินจากนักท่องเที่ยว เจียดเงินมาบำรุงรักษากองทัพให้เข้มแข็งและไว้ใจได้(ว่าจะไม่ปฏิวัติ) เรียกเงินใต้โต๊ะจากนักธุรกิจขนาดพอประมาณแต่สม่ำเสมอ ทุ่มงบประมาณด้านสื่ออย่างชาญฉลาดเพื่อชี้นำประชาชนให้ชื่นชอบกองทัพ ไม่ออกกฎหมายที่รีดนาทาเร้นประชาชนจนเกินไป และถ้ามั่นใจในแสนยานุภาพทางทหาร บางครั้งเราก็สามารถส่งสายลับขโมยสิ่งมหัศจรรย์ของมหาอำนาจ อย่างเช่นหอไอเฟล หรือเทพีเสรีภาพ มาอวดศักดาและเสริมบารมีตัวเองได้อีกด้วย
ครั้นถึงฤดูเลือกตั้ง เราก็สามารถโหมประโคมนโยบายเรียกคะแนนเสียงระยะสั้น โดยเฉพาะการลดภาษีซึ่งไม่มีใครไม่ชอบ เท่านี้ก็การันตีคะแนนนิยมได้ไม่ยาก ถ้าเห็นใครเริ่มหือเริ่มอือ เราก็สามารถล็อบบี้ให้ไม่ออกมาปลุกระดม หรือถ้าเงินซื้อไม่ได้ ก็แค่ส่งทหารไปจับมาเข้าค่ายปรับทัศนคติ รีดเงิน หรือสั่งลอบสังหารซะเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม (เราสามารถคลิกดูข้อมูลของประชากรได้ทุกคนตลอดเวลาว่ารู้สึกอย่างไร ทำงานอะไร พ่อแม่เป็นใคร ราวกับมีเครือข่ายสอดแนมสมบูรณ์แบบมาแต่ไหนแต่ไร)
อย่างไรก็ดี ถ้าหากถึงฤดูเลือกตั้งแล้วแต่เรายังไม่พร้อม ไม่มั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง เราก็สามารถประกาศกฎอัยการศึกเลื่อนเลือกตั้งออกไปก่อน หรือให้ทหารช่วยโกงเลือกตั้ง ยัดบัตรเกินลงหีบให้ชนะใสๆ ซึ่งแน่นอนว่ากลเม็ดโกงเหล่านี้จะทำให้ประชาชนโกรธ เราจะต้องหาทางเอาใจ ฟื้นฟูคะแนนนิยมคืนมาก่อนที่การเลือกตั้งครั้งถัดไปจะมาถึง
นี่คือหนทางสู่ชัยชนะแบบ ‘เผด็จการเอื้ออาทร’ แล้วถ้าเราอยากเป็น ‘เผด็จการขาโหด’ ต้องทำอย่างไร?
คำตอบของ Tropico 6 เรียบง่าย ชัดเจน และสมจริง–สร้างกองทัพขนาดใหญ่ ดูแลนายพลและเหล่าทหารทุกระดับให้ดี ตบรางวัลงามๆ เพื่อการันตีความจงรักภักดี แล้วพวกเขาจะสยบการลุกฮือของประชาชนทุกครั้งให้สงบเรียบร้อย รักษาความสงบด้วยการสยบประชาชนใต้กระบอกปืน สั่งลอบสังหารคนที่ดูจะตั้งตัวเป็นคู่แข่ง สั่งจับคนเข้าคุกตามอำเภอใจ ไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ ก็ได้ ก็เราจะเป็นขาโหดเสียอย่าง
อย่างไรก็ดี การเป็นเผด็จการขาโหดนั้นใช่ว่าจะไม่มีต้นทุน ประชาชนเมื่อไม่พอใจมากๆ จะไปร่วมกับกลุ่มกบฏ กบฏทุก 1 คนที่เราจับ จะมีประชากร 2 คนไปเป็นกบฏด้วยความแค้น และถ้าเราสั่งประหารกบฏ ทุก 1 คนที่ถูกประหารจะกระตุ้นให้ประชาชนอีก 10 คนไปเป็นกบฏ คณิตศาสตร์ง่ายๆ นี้บอกว่า ยิ่งเราใช้อำนาจอย่างพร่ำเพรื่อและโหดเหี้ยมเพียงใด เรายิ่งต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเพียงนั้นในการปราบกบฏ และเพิ่มกำลังพลเพื่อรักษาความสงบ นอกจากนี้มันยังมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจด้วย–รายได้หลักของเราในเกมมาจากสินค้าส่งออกและการท่องเที่ยว แต่เมื่อประชากรครึ่งเกาะถูกเกณฑ์มาเป็นทหารเพื่อควบคุมคนที่เหลือ ก็เท่ากับว่าสินค้าส่งออก (ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้แรงงาน) ของเราจะลดลงราวครึ่งหนึ่ง แปลว่ารายได้ของประเทศเราจะลดลงราวครึ่งหนึ่งเช่นกัน
Tropico 6 บอกเราว่า ยิ่งเผด็จการไม่อยากเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย ยิ่งต้องสนใจคะแนนนิยม ใส่ใจกับชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการของประชาชน ยอมประนีประนอมและเจรจาต่อรองตลอดเวลาถ้าไม่อยากถูกโค่นลงจากอำนาจ การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อกล่อมให้ประชาชนเชื่อฟัง หลอกตัวเองว่าชีวิตนี้ดีอยู่แล้วนั้นมีประสิทธิภาพจำกัด โดยเฉพาะถ้าหากปากท้องไม่ได้รับการเหลียวแล เผด็จการไม่มีปัญญาพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า
ถ้าไม่อยากหรือไม่มีปัญญาจะเป็น ‘เผด็จการเอื้ออาทร’ เผด็จการก็มีทางเลือกเดียวเท่านั้นคือใช้อำนาจลุ่นๆ ควบคุมประชาชนด้วยกองทัพติดอาวุธอย่างสุดกำลัง แต่การทำแบบนี้มีต้นทุนที่ต้องจ่าย และต้องจ่ายแพงมหาศาลขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
Tropico 6 นอกจากจะเป็นเกมเสียดสีแสบสันที่ดีที่สุดเกี่ยวกับระบอบเผด็จการแล้ว ยังเป็นเกมที่กระตุ้นให้เราครุ่นคิดถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ และปัจจัยแห่งความล้มเหลวของระบอบเผด็จการในโลกแห่งความจริง
โดยเฉพาะเผด็จการที่ชอบอ้างว่ากำลังปูทางสู่ ‘ประชาธิปไตย 99.99%’ ตอนต้นศตวรรษที่ 21