เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปร่วมวงเสวนาเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย และในงานนั้นบังเอิญมีผู้ฟังท่านหนึ่งได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับนิยามของศิลปะ ว่าเป็นเรื่องของความดี ความงาม และความจริงเท่านั้น ซึ่งผมเห็นด้วยแค่ครึ่งเดียว เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หลายต่อหลายครั้งศิลปะก็นำเสนอเรื่องในทางตรงกันข้ามได้ด้วยเหมือนกัน
อันที่จริงศิลปะก็คือเครื่องมือสื่อสารประเภทหนึ่งไม่ต่างอะไรกับภาษา ดังนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับว่าศิลปินหรือผู้ใช้ภาษาศิลปะจะหยิบมันมาเล่าเรื่องราวในแบบใด ซึ่งในหลายๆ ครั้ง ศิลปะก็นำเสนอเรื่องราวไม่สวยไม่งามและความอัปลักษณ์ที่คนอยากจะปกปิดซ่อนเร้นด้วยเหมือนกัน
ดังเช่นในศตวรรษที่ 17 ของฝรั่งเศส มีนิทรรศการศิลปะนิทรรศการหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าเป็นเหมือนแหล่งรวมฮิตของศิลปะที่สุดแสนจะอัปลักษณ์ โดยนิทรรศการนี้มีชื่อว่า Salon des Refusés
Salon des Refusés หรือ นิทรรศการของพวกถูกคัดทิ้ง เป็นนิทรรศการของศิลปินที่ถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการของซาลง (Salon) หรือนิทรรศการแสดงศิลปะแห่งชาติ ท่ีสนับสนุนโดยรัฐบาลและสถาบันศิลปะของฝรั่งเศส ซึงถือกําเนิดขึ้นในปี 1667 โดยในช่วงแรกจํากัดเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกของสถาบันศิลปะเท่าน้ัน
ต่อมาในปี 1748 มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผลงานขึ้น และเนื่องจากซาลงเป็นนิทรรศการสาธารณะเพียงงานเดียว ผู้ชนะจะได้รับการว่าจ้างงานจากรัฐบาล รวมไปถึงการว่าจ้างงานจากเศรษฐี ผู้มีทรัพย์ การได้แสดงงานในซาลงจึงเปรียบเสมือนใบเบิกทางสู่ความสําเร็จในอาชีพศิลปิน จนทําให้เกิดการแข่งขันดุเดือด ศิลปินที่ถูกปฏิเสธหรือคัดออกเพราะงานหลุดจากขนบ ไม่เข้าพวก หรือมีความอุจาดหรืออัปลักษณ์ในสายตาของคณะกรรมการเหล่านั้นจึงเกิดความไม่พอใจและรวมตัวกันประท้วงจนความไปถึงหูจักรพรรดินโปเลียนท่ี 3
ในปี 1863 พระองค์จึงดําริให้นํางานที่ถูกคัดทิ้งเหล่านั้นไปจัดแสดงข้ึนในอีกสถานที่หน่ึงเพื่อให้มวลมหาชนเป็นคนตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์มันด้วยตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นโอกาสที่พวกเขาเหล่านั้นจะสามารถเหยียดหยามและเย้ยหยันงานศิลปะที่ถูกตราหน้าว่าเป็น ‘ศิลปะช้ันเลว’ หรือ ‘อัปลักษณ์ศิลป์’ ได้อย่างเต็มท่ี
หนึ่งในดาวเด่นของนิทรรศการครั้งน้ัน (นับได้จากผู้ชมและเสียงเย้ยหยันท่ีได้รับมากกว่าผลงานชิ้นอื่นๆ) นั้นได้แก่ภาพวาด Le déjeuner sur l’herbe (1862-1863) หรือ The Luncheon on the Grass (มื้อกลางวันบนสนามหญ้า) ผลงานของจิตรกรชาวฝรั่งเศส เอดูอาร์ต มาเนต์ (Édouard Manet) มันเป็นภาพการปิกนิกอันแปลกประหลาดท่ีมีชายชนชั้นกลางแต่งตัวเต็มยศใส่เสื้อนอกผูกไทด์ นั่งเอกขเนกอยู่กับหญิงสาวร่างเปลือยเปล่าบนพื้นหญ้าในสวนสาธารณะ ไกลออกไปเป็นหญิงสาวกําลังซักชุดชั้นในอยู่ในทะเลสาบ (เดิมทีภาพน้ีมีช่ือว่า Le Bain หรือ The Bath)
ภาพนี้สร้างความอื้อฉาวและข้อถกเถียงต่อสาธารณชนในยุคน้ันเป็นอย่างมาก การจับผู้หญิงเปลือยเปล่าท่าทีเย้ายวนกามารมณ์ให้มานั่งอยู่กับชายหนุ่มที่ใส่เสื้อผ้าเต็มยศด้วยท่าทีและอากัปกิริยาปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดูเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างและขัดแย้งอย่างสุดขั้ว เป็นความพิลึกพิลั่นอย่างที่ไม่เคยมีใครในยุคนั้นกล้าทํามาก่อน ส่ิงท่ีทําให้ผู้ชมอึดอัดอีกประการคือสายตาของหญิงสาวในภาพที่จับจ้องมายังพวกเขาโดยไม่ยี่หระต่อร่างกายอันเปล่าเปลือยไร้อาภรณ์ของตัวเองแม้แต่น้อย
เมื่อถูกแสดงในนิทรรศการ สิ่งที่มันได้รับคือเสียงหัวเราะเย้ยหยันและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย ท่ีเป็นอย่างนั้นไม่ใช่แค่เพราะเป็นภาพเปลือยของหญิงสาวที่อยู่ท่ามกลางชายหนุ่มที่ใส่เสื้อผ้าเต็มยศเท่านั้น (เพราะก่อนหน้านั้นก็มีการวาดภาพเปลือยแบบนี้มาแล้วหลายภาพ) หากแต่มันเป็นภาพเปลือยของคนธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ใช่เทพธิดาหรือนางในตํานานหรือเทพนิยาย ซึ่งนี่เป็นส่ิงท่ีคนในยุคน้ันรับไม่ได้
หนําซ้ำหญิงสาวในภาพก็ไม่ได้เป็นแค่คนธรรมดาท่ัวไปเท่าน้ัน หากแต่เป็นโสเภณีท่ีชาวปารีสต่างก็รู้กันดีว่าทํามาหากินอยู่ในสวนสาธารณะ Bois de Boulogne อันเป็นฉากหลังที่เห็นอยู่ในภาพ ซึ่งถือเป็นการตบหน้าชาวปารีสฉาดใหญ่ เพราะถึงมันจะเป็นเรื่องที่คนรู้กันท่ัวไป แต่ก็เป็นเรื่องต้องห้ามไม่มีใครกล้าเอามาพูดในที่สาธารณะแบบนี้มาก่อน ยิ่งเอามาวาดเป็นภาพแสดงในนิทรรศการแบบน้ียิ่งแล้วใหญ่ ภาพวาดนี้จึงถูกชาวปารีสรุมโห่ฮาป่าและหัวเราะเย้ยหยันอย่างรุนแรง ทั้งที่ความจริงแล้ว พวกเขาเหล่านั้นกําลังหัวเราะเย้ยหยันตัวเองมากกว่า
แม้แต่ศิลปินร่วมวงการในยุคน้ันหลายคนก็ยังไม่ชอบผลงานช้ินนี้ของเขา นักเขียนชื่อดังผู้ยิ่งใหญ่ชาว ฝรั่งเศสอย่าง เอมิล โซล่า (Émile Zola) วิจารณ์งานช้ินน้ีของมาเนต์อย่างเผ็ดร้อนและนํามันไปกล่าวถึงในนิยาย L’Œuvre (The Masterpiece) ของเขาอีกด้วย
ตัวภาพเองก็ถูกนักวิจารณ์ศิลปะในยุคนั้นวิจารณ์ว่าไร้ความสมเหตุสมผลและไม่บอกเล่าเรื่องราวอะไร อีกทั้งยังแบนและขาดไร้มิติ ทั้งๆ ท่ีในความเป็นจริง มันเป็นความตั้งใจของตัวศิลปินเองท่ีจะละทิ้งความมีเหตุมีผลและขนบในการเล่าเรื่อง รวมถึงต้องการล้อเลียนองค์ประกอบและลักษณะของงานจิตรกรรมโบราณช้ันครูและยั่วเย้าความรู้สึกของคนดูไปพร้อมๆ กัน
แม้จะไม่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างมากในยุคสมัยน้ัน แต่แนวคิดในการดึงเอางานจิตรกรรมที่เคยเป็นของสูงจนต้องปีนกระไดดูให้ลดตัวลงมาบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาสามัญของคนท่ัวไป (หรือแม้แต่คนชายขอบท่ีสังคมไม่ยอมรับ) รวมถึงสร้างแนวคิดที่ว่าจิตรกรรมไม่ใช่หน้าต่างที่มองออกไปสู่โลกภายนอกอย่างที่เคยเป็นมา หากแต่เป็นการสร้างโลกภายในและความหมายใหม่ข้ึนมา ทําให้ทุกวันนี้ภาพวาดของจิตรกรท่ีเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์* ผู้นี้ ได้รับการยอมรับและยกย่องในฐานะผลงานท่ีปฏิวัติและล้มล้างค่านิยมและความเช่ือเก่า ๆ ของศิลปะ และเป็นต้นธารท่ีนําไปสู่การ ถือกําเนิดของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) นั่นเอง
อิมเพรสชั่นนิสม์* (Impressionism – 1874-1926) เป็นกระแสศิลปะที่เริ่มต้นขึ้นจากกลุ่มศิลปินในปารีส, ฝรั่งเศส ที่ได้รับอิทธิพลจากวิวัฒนาการทางสังคมในยุคนั้นที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสังคม การเมือง (การปฏิวัติฝรั่งเศส) ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบทฤษฎีแสงสีทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นเหตุจูงใจสำคัญที่ทำให้จิตรกรในยุคนั้นเริ่มวาดภาพด้วยการใช้ทฤษฎีแสงสีในบรรยากาศเพื่อบันทึกความประทับใจในธรรมชาติและชีวิตผู้คน
พวกเขามักวาดภาพทิวทัศน์ ผู้คนธรรมดาทั่วๆ ไป (บ่อยครั้งเป็นภาพนู้ด) แทนที่จะเป็นภาพเกี่ยวกับศาสนา เทพนิยายปรัมปรา หรือภาพของชนชั้นสูง ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดและไม่เป็นที่ยอมรับในแวดวงศิลปะ พวกเขามักวาดภาพด้วยการใช้ฝีแปรงสะบัดอย่างหยาบๆ ด้วยความรวดเร็วจนทิ้งรอยฝีแปรงไว้บนภาพ เพื่อจับห้วงเวลาชั่วขณะที่อยู่ตรงหน้าซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ทุกวินาที ไม่เน้นความเหมือนจริง แต่เป็นการบันทึกอารมณ์ ความรู้สึกและความประทับใจที่มีต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวในตอนนั้นมากกว่า จนนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
หนึ่งในนั้นคือคำวิจารณ์ของ หลุยส์ เลอรอย นักวิจารณ์ชื่อดัง ที่กล่าวประชดประชันภาพ Impression, Sunrise ของ โฆล้ด โมเนต์ ว่า “ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความประทับใจแบบวูบวาบฉาบฉวย ภาพร่างลวก ๆ บนกระดาษติดฝาผนังยังดูเสร็จสมบูรณ์กว่าด้วยซ้ำ” ซึ่งโดนใจศิลปินกลุ่มนี้อย่างแรงจนเอามาตั้งเป็นชื่อกลุ่มในที่สุด อย่างไรก็ดี ศิลปินกลุ่มอิมเพรสชั่นนิสม์นี่แหละ ที่ทำให้วงการศิลปะของโลกเดินทางมาถึงจุดหักเหสำคัญที่ทำให้มันก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่า ศิลปะสมัยใหม่ในที่สุด
หรือในบางครั้งศิลปะก็นำเสนอเรื่องราวที่ตรงกันข้ามกับความดี อย่างความชั่วร้ายเลวทราม และความวิปริตผิดเพี้ยนในจิตใจของคนได้เช่นกัน
ดังที่ปรากกฏในภาพวาด Saturno devorando a su hijo หรือ Saturn Devouring His Son (1819–1823) (แซเทิร์นกัดกินบุตรชายของตัวเอง) ผลงานของศิลปินชาวสเปนในยุคโรแมนติก ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นทั้งจิตรกรชั้นครูคนสุดท้ายแห่งยุคเก่า และจิตรกรคนแรกแห่งยุคโมเดิร์น ผลงานของเขานอกจากจะเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรง ลึกลับ ฟุ้งฝันแล้ว ยังเปี่ยมไปด้วยแนวคิดที่ล้ำสมัยซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินในยุคต่อมาอย่างมากมาย และถึงแม้ว่าเขาจะมีตำแหน่งเป็นจิตรกรเอกแห่งราชสำนักสเปน แต่เขาก็ยังเป็นศิลปินนักปฏิวัติ นักบันทึกประวัติศาสตร์ นักวิพากษ์วิจารณ์สังคม และนักต่อต้านสงครามตัวยงอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากผลงานหลายชิ้นของเขาที่แสดงออกถึงความโหดร้ายน่ากลัวของสงคราม อาทิภาพวาด The Third of May 1808 ที่แสดงความโหดร้ายสะเทือนอารมณ์ของการสังหารหมู่ประชาชนโดยเหล่าทหารจากกองทัพของนโปเลียน
ภาพวาดชิ้นสำคัญอันสุดสยดสยองของเขาอย่าง Saturno devorando a su hijo ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเทพปกรณัมกรีก ของเทพไททันส์ ‘โครโนส’ (หรือที่เรียกในภาษาโรมันว่า แซเทิร์น) ผู้หวาดกลัวว่าบุตรของตนจะเติบโตขึ้นมาปล้นราชบังลังก์แห่งสวงสวรรค์ตามคำทำนาย จึงจับลูกๆ ของตนมากินทั้งเป็น!
ภาพวาดภาพนี้เป็นหนึ่งในภาพวาด 14 ภาพ ในชุด Black Paintings (Pinturas Negras) ที่มีเนื้อหามุ่งเน้นในการแสดงอารมณ์หวาดผวา ความหวาดกลัว ความชั่วร้าย และความวิปลาสวิปริตผิดเพี้ยน ที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจมนุษย์
เดิมทีโกยาวาดภาพนี้ลงบนกำแพงบ้านของเขาในช่วงปี 1819 – 1823 โดยไม่ได้ตั้งนำออกมาแสดงต่อสาธารณชนและไม่แม้แต่จะตั้งชื่อภาพด้วยซ้ำ ในช่วงนั้นหูซ้ายของเขาหนวกสนิทจากอาการป่วยและทุกข์ทรมานจากการรักษา ซึ่งประสบการณ์นี้ทำให้เขาตั้งคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับความตายของตัวเอง เขาปลีกตัวจากสายตาของสาธารณชนไปอาศัยที่บ้านในกรุงแมดริด ชื่อว่า Quinta del Sordo หรือ House of the Deaf Man (บ้านของชายหูหนวก) ซึ่งตั้งชื่อตามเจ้าของเดิมที่หูหนวก และบังเอิญว่าโกยาเองก็หูหนวกด้วยเหมือนกัน
ที่นั่นเองเขาวาดภาพทั้ง 14 ภาพลงบนกำแพงปูนปลาสเตอร์ในบ้าน นัยว่าเพื่อเป็นการบำบัดอาการป่วยไข้ หลังจากที่โกยาเสียชีวิต มันจึงถูกตัดและลอกออกจากกำแพงลงมาติดบนผ้าใบในภายหลัง ภาพชุดนี้ถูกตั้งชื่อโดยนักวิชาการศิลปะแต่ไม่มีหลักฐานว่าโกยาตั้งชื่อพวกมันแต่อย่างใด ว่ากันว่าโกยาอาจได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้จากภาพในปี 1636 ที่มีชื่อเดียวกันของ ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ โดยปัจจุบันภาพวาดนั้นแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราโด ที่สเปน
ที่น่าสนใจก็คือมีการค้นพบว่ารายละเอียดของภาพบางส่วนได้เสียหายไปมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการโยกย้ายภาพจากกำแพงลงบนผ้าใบ และส่วนที่เสียหายไปนั้น เดิมทีมีหลักฐานว่าเป็นส่วนล่างของภาพที่เป็นรูปอวัยวะเพศที่กำลังแข็งตัว ซึ่งแปลว่าเทพแซทเทิร์นหรือโครโนสในภาพนั้นเกิดอารมณ์ทางเพศในขณะที่กำลังฆ่าและกินลูกตัวเองอยู่! ซึ่งสนับสนุนแนวคิดทางจิตวิทยาที่ว่า พ่อ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ทำลายด้วย
มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงที่วาดภาพนี้โกยาป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ไม่แน่ใจว่าเป็นซิฟิลิสหรือเปล่า) ส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีปัญหาทางสุขภาพและเสียชีวิตไปหลายคน ภาพวาดนี้เลยเหมือนการแสดงความรู้สึกว่าเขากินลูกตัวเองจากความป่วยไข้ของเขา
อ้อ เผื่อใครสงสัย ภาพวาดภาพนี้และภาพวาดยักษ์ในชุด The Colossus ของโกยา น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับการ์ตูน Attack on Titan นั่นเอง
และบางครั้งศิลปะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างความเพลิดเพลินและกล่อมเกลาจิตใจ แต่ก็ส่งผลในทางตรงกันข้ามได้ด้วยเหมือนกัน
ดังเช่นในผลงานของ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) จิตรกรชาวอังกฤษ ที่มักวาดภาพอันบิดเบี้ยวขององคาพยพร่างกายมนุษย์ ราวกับถูกปลิ้นเอาอวัยวะภายในออกมาข้างนอก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจอันไร้ความมั่นคงและความสกปรกโสมมที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจคน นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้แหวกขนบธรรมเนียมของการวาดภาพแนวประเพณีนิยมอย่างสิ้นเชิง ด้วยการนำรูปแบบของภาพเขียน 3 ช่อง (Triptych) ที่มักวาดกันบนผนังแท่นบูชาของโบสถ์คริสต์ ใช้เล่าเรื่องราวทางศาสนาหรือนักบุญ มาใช้ในการวาดภาพที่แสดงถึงความชั่วร้ายเลวทรามของมนุษย์
เบคอนได้แรงบันดาลใจในการทำงานจากศิลปินยุคก่อนหน้า อาทิ ทิเชียน (Titian), เรมบรันต์, โกย่า อาทิเช่น ในภาพวาด Study after Velázquez’s Portrait of Pope Innocent X (1953) หรือ The Screaming Pope (สันตะปาปาผู้กรีดร้อง) อันลือลั่นอื้อฉาว ที่เขาทำขึ้นเพื่อเป็นการคารวะปนเสียดสีผลงาน Portrait of Pope Innocent X (1650) ของศิลปินชั้นครูในอดีตอย่าง ดิเอโก เบลาสเกซ ผนวกกับแรงบันดาลใจจากความทรงจำในวัยเด็กที่เติบโตอยู่ภายใต้ความเคร่งครัดของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในไอร์แลนด์ รวมถึงความทรงจำที่เขาถูกจับขังและกรีดร้องในตู้เสื้อผ้า
ภาพวาดชุดสันตปาปานั้นเชื่อมโยงกับความโกรธแค้นของเขาที่มีต่อวาติกันซึ่งว่ากันว่าเขาสมรู้ร่วมคิดกับพรรคนาซี เบคอนหยิบเอาความอาฆาตมาดร้ายนี้มาขยายให้ใหญ่ขึ้น และแสดงความโกรธเกรี้ยวของเขาที่มีต่อศาสนามาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย
แทนที่จะนั่งอยู่บนบัลลังก์ พระสันตะปาปาในภาพของเบคอนกลับนั่งอยู่บนเก้าอี้ไฟฟ้า ส่วนบนของศีรษะหายไป ปากเปิดกว้างอย่างน่าสยดสยองราวกับกำลังกรีดร้องหรือไม่ก็กำลังดูดกลืนชีวิตออกจากโลกใบนี้ ด้วยความที่ศาสนาเป็นหนึ่งในสิ่งที่เบคอนชิงชังอย่างใหญ่หลวง ในฐานะที่เขาเป็นเกย์ที่อาศัยอยู่ในโลกอันเคร่งศาสนาที่ก่นด่าประณามเพศสภาพของเขา
เขาผลิตภาพวาดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรักร่วมเพศอันล่อแหลมออกมามากมายเพื่อท้าทายกฎหมายต่อต้านการรักร่วมเพศในสหราชอาณาจักร ซึ่งผลงานของเขาเหล่านี้เองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ว่านี้ในเวลาต่อมา
ตลอดชีวิตการทำงาน เบคอนได้รับการสรรเสริญพอๆ กับสาปส่ง มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกหญิงเหล็กของอังกฤษนิยามเขาว่าเป็น “ชายผู้วาดภาพอันน่าสะพรึงกลัว” ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต มูลค่าผลงานของเขากลับสูงขึ้นๆ ในปี 2013 ภาพวาด Three Studies of Lucian Freud, 1969 ของเขาได้รับการบันทึกว่าเป็นผลงานศิลปะถูกประมูลไปในราคาแพงที่สุดที่เคยมีมา ด้วยราคา 142 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงชื่อเสียงของเขาในฐานะศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ผู้ปอกปลิ้นความบิดเบี้ยวในจิตใจมนุษย์ออกมาตีแผ่ได้อย่างถึงแก่นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้
หรือผลงานภาพถ่ายของช่างภาพชาวอเมริกันผู้อื้อฉาวที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษนี้อย่าง โจล-ปีเตอร์ วิทคิน (Joel-Peter Witkin) ผลงานของเขาเป็นส่วนผสมของความสวยงาม ความสยดสยอง ความดำดิ่งลุ่มลึกและความพิสดารไปจนถึงวิตถารไปพร้อมๆ กัน เขาเป็นที่รู้จักจากภาพถ่ายขาวดำที่มีเนื้อหาเกี่ยวพันกับความตาย ความวิปริตพิลึกพิลั่นและเรื่องเพศ ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า “ผมต้องการให้ภาพถ่ายของผมทรงพลังไม่ต่างจากภาพสุดท้ายที่คนเราจะได้เห็นหรือหวนรำลึกขึ้นได้ก่อนที่จะตาย”
นายแบบหรือนางแบบในภาพถ่ายของเขามักเป็นบุคคลที่มีร่างกายพิกลพิการ แคระแกรน ทุพพลภาพ คนชายขอบของสังคม บุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศหรือมีสองเพศในร่างเดียว (กะเทยแท้) หรือแม้แต่ภาพของซากศพ เศษชิ้นส่วนน้อยใหญ่ของร่างกายมนุษย์ พืช สัตว์ รวมถึงสิ่งของนานาชนิดที่นำมาปะติดปะต่อเข้าไว้ด้วยกัน ผนวกด้วยเรื่องราวทางศาสนา ตำนานเทพปกรณัม นิทานปรัมปรา การจำลองภาพวาดคลาสสิกชื่อดังในอดีต และการใช้ทฤษฎีสัญลักษณ์นิยม จนกลายเป็นส่วนผสมแบบใหม่ที่แสดงออกถึงความต้องการสำแดงตัวตนภายในของศิลปิน แสดงธาตุแท้และตีแผ่ด้านมืดของความเป็นมนุษย์ แสดงสัจธรรมบางแง่มุมของชีวิต และเผยให้เห็นบางแง่มุมอันวิปริตผิดเพี้ยนของสังคมร่วมสมัยเช่นเดียวกับจิตวิญญาณภายในของศิลปิน
วิตคินกล่าวว่า แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพของเขาเกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ในวัยเด็ก เมื่อครั้งที่เขาได้เห็นอุบัติเหตุรถยนต์ที่หน้าบ้านตัวเอง และอุบัติเหตุครั้งนั้นส่งผลให้เด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง หัวขาดกระเด็นต่อหน้าต่อตาเขาเลยทีเดียว
“มันเกิดขึ้นตอนเช้าวันอาทิตย์ ผมกับแม่กำลังเดินออกจากบ้านเพื่อไปโบสถ์ เราได้ยินเสียงโครมดังลั่นผสมกับเสียงกรีดร้องของความช่วยเหลือ เหตุเกิดจากรถยนต์สามคันที่มีทั้งครอบครัวอยู่ในนั้นชนกัน ในห้วงแห่งความสับสน ผมเห็นบางสิ่งกลิ้งลงมาจากรถที่พลิกคว่ำ แล้วมาหยุดตรงขอบทางเดินที่ผมยืนอยู่ สิ่งนั้นคือหัวของเด็กหญิงคนหนึ่ง ดวงตาของเธอจ้องมาที่ผม ผมก้มลงไปเพื่อที่จะสัมผัสใบหน้าและพูดกับเธอ แต่ก่อนที่มือของผมจะได้สัมผัส ใครบางคนก็อุ้มผมออกไปเสียก่อน กล้องของผมเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำหน้าที่เหมือนเป็นดวงตาของเด็กหญิงคนนั้น”
แต่สิ่งที่ทำให้ผลงานของเขาโดดเด่นอย่างอื้อฉาว และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือการพูดถึงความตายและอาชญากรรมด้วยการใช้ซากศพและชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์จริงๆ มาเป็นแบบในการถ่ายภาพ ซึ่งทำให้บางครั้งเขาต้องระเห็จตัวเองไปทำงานนอกประเทศด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย หลายต่อหลายครังที่เขาต้องนั่งอยู่ในห้องดับจิตเป็นชั่วโมงๆ ห่อตัวเองด้วยถุงขยะ รอคอยศพที่เข้ามาใหม่ๆ ศพที่ตายด้วยอุบัติเหตุ ฆาตกรรม เพื่อชิ้นส่วนของร่างกายที่ขาดวิ่นบวมอืด เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการถ่ายภาพ
นอกจากนั้นวิทคินก็มักจำลององค์ประกอบ แสงเงา ของงานจิตรกรรมคลาสสิกชื่อดังของโลกในยุคเก่ามาใช้ในภาพถ่าย อาทิเช่นผลงานของ จิออตโต (Giotto), เจอริโคลต์ (Théodore Géricault) และ เบลาสเควซ (Diego Velázquez) ศิลปินคนโปรดของเขามาหลอมรวมกับการเล่าเรื่องแบบเทพนิยายและตำนานปรัมปราเปี่ยมจินตนาการ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ถูกผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน และขัดแย้งอย่างลงตัว จนกลายเป็นผลงานภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยากจะหาใครเสมอเหมือน เปี่ยมไปด้วยสุนทรียะและความวิปริตที่ตราตรึงใจและช็อกคนดูไปพร้อม ๆ กัน จนมีคนนิยามผลงานของเขาว่า เป็นเหมือนส่วนผสมของเฮียโรนิมัส บอซ (Hieronymus Bosch) กับหนัง Texas Chainsaw Massacre ยังไงยังงั้นเลยทีเดียว
ผลงานที่หยิบยกมาเหล่านี้ เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดีว่า ศิลปะที่เคยถูกดูถูกดูแคลน ถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยในเวลาหนึ่ง ในเวลาต่อมาก็กลับได้รับความนิยมชมชอบและเป็นที่สนอกสนใจในหมู่สาธารณชนคนรักศิลปะ และเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้กับเหล่าศิลปินรุ่นหลังจำนวนนับไม่ถ้วนได้ด้วยเหมือนกัน ถึงแม้ผลงานเหล่านั้นจะไม่ได้พูดถึงความดี ความสดใส สวยงาม และนำเสนอสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าน่ารังเกียจ น่าอับอาย เลวร้าย หรือแม้แต่อัปลักษณ์ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไร้ค่าเสมอไปเสียเมื่อไหร่ จริงไหมครับท่านผู้อ่าน?
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ The Chronicle of Impressionism: A Timeline History of Impressionist Art โดย Bernard Denvir
หนังสือ ศิลปะสมัยใหม่: ความรู้ฉบับพกพา โดย เดวิด คอตติงตัน
หนังสือ Joel-Peter Witkin Introduction โดย Eugenia Parry
en.wikipedia.org/wiki/Saturn_Devouring_His_Son