เวลาเราคุยกันเรื่องช่างฝีมือญี่ปุ่นที่ประณีตบรรจงสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง ตามความถนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง จนกลายเป็นเลิศในด้านนั้นๆ ภาพจำแรก เราก็มักจะนึกถึงเชฟชั้นเทพทั้งหลาย ตัวอย่างเช่น ลุงจิโร่จากสารคดีชื่อดัง หรือช่างไม้ที่ทำงานฝีมือชั้นดีที่ต้องใช้เวลาและความละเอียดอ่อนเหลือเกิน แต่ในบางครั้ง ช่างฝีมือที่ทุ่มชีวิตให้กับการทำอะไรบางอย่างก็อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เพราะแม้กระทั่งในวงการขนมกินเล่นก็ยังมีช่างฝีมือเลย
ขนมกินเล่นที่ว่าไม่ได้หมายถึงขนมขึ้นห้างแบบขนมร้าน Toraya ของเกียวโต หรือขนมชื่อดังที่ต้องไปจองคิวรอซื้อกัน แต่เป็นขนมที่หลายคนชอบเรียกกันว่า ขนมหลอกเด็ก ที่ราคาถูกซื้อง่าย แบบที่หาได้ตามร้านปากซอยเมื่อ 30-40 ปีก่อนนั่นล่ะครับ ถ้าเป็นชาวไทย ก็คงคุ้นกับขนมพวกหมากฝรั่งทรงบุหรี่ตราแมวดำ หมากฝรั่งแพรอต ขนมพวก กาก้า คัมคัม ช็อกโกแลตทรงลูกบอล อะไรต่อมิอะไรที่ซื้อกับอาแปะหน้าโรงเรียนได้
ที่ญี่ปุ่นเขาก็มีเหมือนกันครับ ในยุคโชวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เศรษฐกิจค่อยๆ โต เขาก็มีขนมราคาถูก กินง่ายๆ ขายตามร้านค้าทั่วไปให้เด็กไปซื้อกินได้สะดวก ซึ่งขนมพวกนี้มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า Dagashi (駄菓子) หรือแปลตรงๆ ก็คง ขนมกระจอก นั่นล่ะครับ คือมันก็ต่างกับขนมพวกใส่ถุงสวยงามขึ้นห้าง ส่วนใหญ่พวกนี้จะขายราคาถูก ถ้าเป็นแต่ก่อนชิ้นละ 1 เยน ก็มี ทุกวันนี้ชิ้นละ 10 เยน ก็ยังหาได้ ซึ่งทุกวันนี้มีร้านที่ขายขนมแบบนี้โดยเฉพาะ เอาใจทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ใจเด็ก และขนมบางชนิดก็เจาะเข้าไปขายในร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ได้ แต่ที่อยากจะพูดถึงวันนี้คือ 梅ジャム Ume Jam หรือ แยมบ๊วย นั่นเอง เพราะเป็นขนมที่อยู่คู่ตลาดมานาน มีเบื้องหลังที่น่าสนใจ แต่ก็มีอนาคตที่น่าเป็นห่วงครับ
Ume Jam หรือ แยมบ๊วย เอาจริงๆ ก็เป็นของกินที่ใครก็ทำที่บ้านตัวเองได้ แต่ว่าถ้าเป็นขนมกินเล่น ทุกคนก็คิดถึง Ume Jam แยมบ๊วยในบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกใส ทำให้เห็นแยมบ๊วยสีแดงสดข้างใน ใครซื้อกินก็แกะปลายแล้วดูด ให้รสเปรี้ยวๆ เค็มๆ หวานๆ ของแยมบ๊วยช่วยเพิ่มความสดชื่นได้ ทำให้กลายเป็นของชอบของเด็กๆ ที่วิ่งเล่นจนเหนื่อย วิธีกินอีกแบบคือเอาไปทาบขนมเซมเบ้หวาน เพิ่มปริมาณให้อิ่มท้องได้ เป็นคอมโบของขนมกินเล่นที่เด็กๆ ชอบกัน
ถ้าพูดถึงแยมบ๊วย ทุกคนก็ต้องคิดถึงแยมบ๊วยของ Ume no Hana Honpou ซึ่งผลิต Ume Jam มายาวนานกว่า 70 ปี ครองตลาดแยมบ๊วยแบบที่ไม่มีใครแย่งได้ เพราะรสชาติที่ติดปากและราคาสบายกระเป๋า ทำให้กลายเป็นสินค้าดังที่เป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆ มาตั้งแต่ปี 1947 หรือปีโชวะที่ 22
แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า Ume Jam ของ Ume no Hana Honpou นั้น คือผลผลิตของชายคนหนึ่งที่รับผิดชอบทุกขั้นตอนการทำตั้งแต่อายุ 16 ปี จนตอนนี้อายุ 86 ปีแล้ว
ชายคนที่ว่าคือคุณ Takabayashi Hirofumi ซึ่งในช่วงที่เขาอายุได้ 10 กว่าปี ก็อาศัยกับครอบครัวในโตเกียว และก็พายายามจะหาทางที่จะช่วยหาเงินช่วยครอบครัวตัวเอง ก็พยายามค้าขายหลายต่อหลายอย่างตั้งแต่อายุสิบกว่าปีนั่นล่ะครับ จนไปพบกับร้านที่ขายบ๊วยตกเกรดไม่ผ่านเกณฑ์ที่จะวางขายทั่วไป เขาเลยซื้อเหมามา เพราะคิดว่าเอามาแปรรูปขายได้ และในช่วงนั้นช่องทางการขายขนมหลักคือ นักเล่านิทานภาพ ที่ปั่นจักรยานไปเล่านิทานตามที่ต่างๆ แล้วขายขนม (ใครดู Yamishibai คงคุ้น) ซึ่งหนึ่งในขนมที่ฮิตตอนนั้นคือ ขนมเซมเบ้ทาซอสนั่นเอง เขาเลยเอาบ๊วยมาปรุงทำเป็นแยม แล้วเติมรสหวานเข้าไป บรรจุในฟิล์ม ทำออกวางขาย และก็กลายเป็นขนมยอดนิยมของเด็กที่วิ่งเล่นมาจนเหนื่อยแล้วอยากได้อะไรหวานๆ เค็มๆ เปรี้ยวๆ แก้เหนื่อยนั่นเอง
แม้ยอดผลิตในแต่ละวันจะสูงถึง 7,000-8,000 ซอง และพอเปลี่ยนเครื่องจักรและบรรจุภัณฑ์หลังจากเริ่มผลิตได้ประมาณ 30 ปี จนผลิตได้วันละประมาณ 20,000 ซอง แต่คุณ Takabayashi ก็ไม่จ้างลูกจ้าง ไม่ให้คนในครอบครัวมาช่วยงาน เป็นช่างฝีมือชายเดี่ยวที่ผลิต Ume Jam คนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ ตราบจนถึงทุกวันนี้ ที่อายุกว่า 86 ปีเข้าไปแล้ว แม้จะไม่ได้ขายดีเหมือนในช่วงพีกในยุคโชวะ แต่ทุกวันนี้ Ume Jam ก็ยังถูกวางขายในร้านขายของแบบแพ็คใหญ่ ให้ผู้ใหญ่ซื้อไปสัมผัสรสชาติในอดีต ก็เป็นความสุขของคุณ Takabayashi
มีคนไปสอบถามทางคุณ Takabayashi ว่าทำไมถึงไม่ถ่ายทอดวิชาให้แม้กระทั่งคนในครอบครัว สาเหตุของเขาก็คือ ตัวคุณ Takabayashi เป็นเด็กที่โตมาในช่วงแร้นแค้นหลังสงคราม ได้เรียนจบแค่ประถมก็ต้องออกมาทำมาหากินแล้ว แล้วสุดท้ายก็ได้มาเป็นคนทำแยมบ๊วยขาย จึงอยากให้ลูกหลานของตัวเองได้เรียนสูงๆ เป็นอะไรที่ดีกว่าคนทำแยมบ๊วยขายอย่างตัวเขาเอง ดังนั้นที่ผ่านมาจึงไม่เคยให้คนในครอบครัวมาช่วยงานเลยแม้แต่น้อย แม้จะฟังดูต่ำต้อย แต่สำหรับคุณ Takabayashi แล้ว เขาก็รัก Ume Jam ของตัวเองครับ เพราะมันคือสิ่งที่ช่วยค้ำจุนครอบครัวของเขาให้อยู่สบายได้ถึงทุกวันนี้ และทุกวันนี้ก็มีจดหมายหรือโทรศัพท์ให้กำลังใจ จากแฟนๆ Ume Jam ถึงคุณ Takabayashi อยู่เรื่อยๆ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เขาทุ่มเทกับงานได้
แม้จะเป็นแค่ขนมกินเล่นราคาไม่แพง แต่เมื่อคนที่รักมันทุ่มเททำมันขึ้นมา มันก็เป็นผลงานที่น่าภูมิใจ ไม่แพ้งานของช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นประเภทอื่น ถึงได้มุ่งมั่นทำมาได้ด้วยตัวคนเดียวตลอด 70 ปี แต่ในใจก็หวังว่า หาคนรับช่วงต่อด้วยเถอะครับ รสชาตินี้จะได้ไม่หายไปกับกาลเวลา อย่างน้อยจะได้ปลอบประโลมจิตใจชายวัยกลางคนที่อยากกลับไปสัมผัสรสชาติในวัยเด็กอีกครั้ง
อ้างอิงข่อมูลจาก
news-act.com/archives/48715447.html
next.rikunabi.com/tech/docs/ct_s03600.jsp?p=002269
www.city.arakawa.tokyo.jp/unet/issue/0806/
matome.naver.jp/odai/2135565678596908901