ขอลองถามท่านผู้อ่านหน่อยครับว่า ถ้าเกิดมีรายการโทรทัศน์ต่างประเทศเอาเรื่องราวของประเทศไทยไปนำเสนอในประเทศของเขา แล้วกลายเป็นว่า ปั้นเรื่องที่ไม่มีจริงขึ้นมา ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี แล้วจะรู้สึกอย่างไรครับ?
ที่ถามแบบนี้ก็เพราะว่า ตอนนี้รายการโทรทัศน์ชื่อดังของญี่ปุ่นที่ชื่อ Sekai no Hate made Itte Q! หรือจะแปลคร่าวๆ ว่า “ไปให้สุดขอบโลกไปเล้ย!” กำลังโดนถล่มอยู่ เพราะว่านิตยสารบุนชุน นิตยสารรายสัปดาห์ที่ขึ้นชื่อจากการแฉเรื่องต่างๆ ก็ได้แฉว่า รายการนี้น่ะ มันเตี๊ยมกันนะ และที่สำคัญคือ ส่วนของรายการที่ถูกแฉว่าเตี๊ยมคือส่วนที่มาถ่ายที่เมืองไทยนี่สิครับ
ก่อนจะไปที่เรื่องการเตี๊ยม ก็มาดูก่อนว่ารายการเป็นอย่างไร รายการ Sekai no Hate made Itte Q! หรือที่เรียกย่อๆ ว่า Itte Q! เป็นรายการวาไรตี้ญี่ปุ่นที่พยายามผสมความเป็นสารคดีเข้าไป สไตล์หลักของรายการคือ ให้ดาราหรือตลกเดินทางไปต่างประเทศเพื่อพบเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ แบบที่ผสมความฮาเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นรายการที่ออกฉายตั้งแต่ปี 2007 ทางช่อง Nippon TV และก็กลายมาเป็นรายการฮิตสร้างชื่อของช่องอีกรายการ และเป็นหนึ่งในสามรายการวาไรตี้เย็นวันอาทิตย์สุดสำคัญที่ Nippon TV ยึดเอาเรตติ้งไปจากช่องอื่น โดยจะมีรายการ Tetsuwan Dash รายการวาไรตี้บุกป่าฝ่าดงของ Tokio ตามด้วย Sekai no Hate made Itte Q! และ Gyouretsu no dekiru Houritsu Soudanjou รายการวาไรตี้ที่ปรึกษากฎหมาย (ที่นับวันเรื่องกฎหมายก็ยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ) ด้วยการจัดรายการท็อปมาเป็นคอมโบแบบนี้ ทำให้ช่องอื่นได้แต่หมั่นไส้และพยายามจะหารายการมาสู้แต่ก็ดูเหมือนจะไม่สำเร็จซะที
ส่วนพาร์ตที่เป็นปัญหา (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า คอร์นเนอร์) ก็คือส่วนของที่เกี่ยวกับ ‘เทศกาล’ หรือ Matsuri ทั่วโลก ที่ Miyakawa Daisuke ตลกจอมกวนรับหน้าที่เป็นผู้ชายที่ชื่นชอบเทศกาลมากที่สุดในโลก เขาจะไปตามเทศกาลต่างๆ ทั่วโลกเพื่อร่วมสนุกกับเทศกาลนั้นๆ ที่พูดถึงนี่ไม่ใช่เทศกาลแบบงานรื่นเริงสนุกสนานอย่างเดียว แต่เป็นประเภทงานแข่งขันสนุกสนานฮาๆ ตามสไตล์เทศกาลแปลกๆ ทั่วโลก ถ้านึกไม่ออกก็แบบงานที่ปล่อยชีสไหลออกมาจากเนินแล้วให้วิ่งตามเก็บ เทศกาลแบกเมียวิ่งแข่ง หรือแบบถ้าเป็นบ้านเราก็คงเป็นเทศกาลวิ่งควายอะไรพวกนี้นั่นละครับ ที่ Daisuke จะไปร่วมด้วย ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จะเป็นแพตเทิร์นประจำคือ เอ้า ไปร่วมงานนี้ โห ยากจัง แล้วสุดท้ายก็ลงไปลุย ล้มลุกคลุกคลานให้ได้ฮา แพ้บ้างชนะบ้างก็ว่ากันไป
แต่ที่กลายเป็นเรื่องก็คือ นิตยสารบุนชุนได้ลงพื้นที่ในประเทศลาวและไทยเป็นเวลาสามสัปดาห์ เพื่อไปตรวจสอบรายการ Itte Q! ตอนพิเศษที่ออกอากาศไปเมื่อต้นปี เกี่ยวกับเทศกาลเด่นๆ จากประเทศต่างๆ ซี่งในนั้นก็มี เทศกาลสะพาน จากประเทศลาว และเทศกาลกะหล่ำดอก จากประเทศไทย ฟังแล้วก็คงเริ่มตะหงิดแล้วสินะครับ ซึ่งของลาวก็เป็นเทศกาลที่แข่งขันกันด้วยการปั่นจักรยานข้ามแม่น้ำบนสะพานที่ทำจากแผ่นไม้เรียวเล็ก ผ่านอุปสรรคต่างๆ ส่วนของไทยก็เป็นเทศกาลที่ต้องแข่งกันเก็บกะหล่ำดอกโดยมีอุปสรรค เช่น ต้องวิ่งแบบสองคนสามขาและวิ่งผ่านแอ่งโคลนด้วย ซึ่งก็เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นประจำ(?)ที่หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดเพชรบูรณ์
เขียนมาแบบนี้คนไทยเรานี่ไม่ยากเลยครับ เห็นปุ๊บก็คงบอกว่า ไม่เคยเห็นเลย มีด้วยเหรอ ก็นั่นแหละครับ เรารู้บ้านเราดี แต่สำหรับคนญี่ปุ่น เห็นอะไรในทีวีก็คงเชื่อไว้ก่อน เหมือนที่ในไทยก็ชอบมีข่าวแปลกๆ เกี่ยวกับประเทศอื่นแล้วก็รีบเชื่อกันไปก่อนแล้ว ทีนี้ บุนชุนก็คงจมูกไวตามสไตล์ เลยมาสืบหาข้อมูลในสองประเทศที่สงสัยนั่นละครับ และก็พบว่า เทศกาลสะพานไม่เคยมีมาก่อนเลย เป็นการจัดขึ้นโดยทีมงานล้วนๆ และจ้างนักแสดงมาร่วมงานเพื่อสร้างความสมจริง เช่นเดียวกับของไทยที่ในรายการบอกว่า เป็นเทศกาล ‘ประจำปี’ ซึ่งปีล่าสุดก็จัดขึ้นในวันเด็ก แต่สัมภาษณ์คนท้องถิ่นก็บอกว่า ไม่เคยจัดมาก่อน และก็มีคนญี่ปุ่นบอกว่าอยากจะมาถ่ายทำรายการให้เป็นละครสั้น ชาวบ้านก็ให้ความช่วยเหลือไป ซึ่งก็กลายเป็นการทำลายภาพสวยงามที่รายการเสนอมาตลอด จะเรียกว่าโป๊ะแตกก็ว่าได้
ทีนี้ การแฉเรื่องแบบนี้ของบุนชุนมันสำคัญตรงไหน? ประเด็นก็คือ รายการอายุเกินสิบปีที่พยายามขายความสมจริงของความลำบากและประสบการณ์ที่แปลกใหม่ของดาราที่ร่วมรายการ พอเจอแฉแบบนี้ ความเชื่อถือที่มีต่อรายการก็ลดฮวบลงทันที และต่อไปไม่ว่ารายการนี้จะเสนออะไร คนดูก็คงยากที่จะเชื่อแบบแต่ก่อนแล้ว แน่นอนว่าโอกาสที่เรตติ้งลดลงก็มีไม่น้อยเลย แถมต่อไปจะทำเรื่องอะไรก็คงเกร็งไม่น้อยละครับ
หลังจากบุนชุนออกมาแฉสองดอกติดตลอดสองฉบับรายสัปดาห์ สุดท้ายรายการก็ทนไม่ไหว ต้องออกมาแถลงและขึ้นข้อความใต้รายการที่ฉายล่าสุด ว่าทางรายการ ‘ตรวจสอบ’ เนื้อหาของรายการไม่ดีพอ ต้องขออภัยที่สร้างความสับสนให้กับท่านผู้ชม ซึ่งพอเปิดการ์ดนี้มาก็แปลได้ง่ายๆ ว่า ทางรายการน่ะไม่เกี่ยว แต่เป็นทางโลคอลท้องถิ่นที่ประสานงานต่างหากที่เสนออะไรพวกนี้มาแล้วเราก็ไปถ่ายทำ แต่ไม่มีโอกาสเช็กละเอียดเลยมีข้อมูลผิดๆ แบบนี้ ไม่ได้ตั้งใจเตี๊ยมอะไรนะ แหม่ ตอนนี้สถานการณ์ก็ยังอยู่เท่านี้ครับ ยังไม่มีดาบสามจากบุนชุนให้ได้ดูต่อว่าอย่างไร
พอมีข่าวแบบนี้ ดาวตลกชื่อดัง Matsumoto Hitoshi จาก Down Town ที่ถือเป็นพี่ใหญ่ของตลกค่าย Yoshimoto ก็ออกมาปกป้อง Miyakawa Daisuke รุ่นน้องที่รักว่า ซวยเป็นบ้า เขาไม่ใช่คนผิดซะหน่อย รายการให้ทำอะไรก็ทำตาม จะเตี๊ยมอะไรรึเปล่าก็ไม่รู้ แต่เป็นคนออกหน้าจอก็เลยซวยไปซะงั้น และก็บ่นต่อว่า เจอแบบนี้เข้าไปเดี๋ยวคนก็คิดว่ารายการวาไรตี้เตี๊ยมหมดทุกรายการไปหรอก ซึ่งเจ้าตัวก็คอมเมนต์ต่อว่า ไม่ชอบความคิดแบบนี้เลย ถึงจะมีการแอ็กติ้งเข้าไปบ้าง แต่ที่ไปลุยกันจริงๆ เสี่ยงชีวิตจริงๆ ก็ไม่น้อยนะ (แปลอีกทีก็คือ ก็มีที่เตี๊ยมนะ)
ซึ่งเรื่องนี้ก็มีนักวิเคราะห์ออกความเห็นว่าก็คงกลายเป็นความกดดันครั้งใหญ่ที่มีต่อรายการนั่นละครับ และยิ่งมีผลต่อสถานี Nippon TV ไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ Yamaguchi ของวง Tokio ก่อคดีเกี่ยวกับผู้เยาว์ไปจนต้องออกจากวง ก็มีผลต่อรายการดังอย่าง Tetsuwan Dash! ไปแล้วรอบหนึ่ง ถ้ามาเจอปัญหาในรายการยอดนิยมอีกรายการก็คงจะทรุดเอาไม่น้อย ที่สำคัญก็คือ ในช่วงเวลาเดียวกัน สถานี Asahi ก็มีรายการใหม่ที่ทำเป็นรายการสารคดี ไปสัมภาษณ์คนในท้องที่ห่างไกล ซึ่งทำเป็นรายการที่เรียบง่าย ไม่เน้นตลกอะไร คอยดึงความน่าสนใจของผู้ถูกสัมภาษณ์มากกว่า และทำเรตติ้งได้ดีมาตลอด กลายเป็นรายการสำคัญที่ Asahi คิดว่าจะใช้โค่น Itte Q! ได้หลังจากที่พยายามมานานมาก พอเจอ Itte Q! สะดุดขาตัวเองแบบนี้ สถานี Nippon TV ก็คงจะยิ่งหนักใจ
ส่วนตัวผมเองที่ชอบดูรายการวาไรตี้ของญี่ปุ่นก็บอกตรงๆ ว่า ของแบบนี้ไม่แปลกครับ รายการญี่ปุ่นเขามักจะชอบอะไรที่เป็นแพตเทิร์น มีอะไรที่คนดูคาดหวังได้ และแน่นอนว่าพอให้ดาราตลกมาเป็นตัวหลัก มันก็ต้องมีมุขมาตรฐาน เรื่องเจ็บตัวนี่เป็นเรื่องปกติ หรือหลายๆ อย่างเวลาดูแลวก็บอกเลยว่า มันเกินกว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ และแน่นอนว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการที่เน้นเรื่องที่ ‘เกิดขึ้นจริง’ จะหาเรื่องเด่นๆ มานำเสนอได้ตลอดแบบนี้คงต้องไปถ่ายทำกันแบบไม่รู้จบกว่าจะได้ของดีๆ ดังนั้นก็เลยมักจะมีการทำให้เหมือนจริง บางส่วนก็เสริมเข้ามาเพื่อช่วยให้รายการดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น มีผสมกันทั้งของจริงและเมคขึ้นมา ขนาดรายการวาไรตี้ที่เหมือนจะเน้นพูดคุยเล่นกิจกรรมกันเขาก็ยังมีคนเขียนบทกันเป็นทีมนั่นละครับ ไม่งั้นคงจะจืดแย่ ใครมันจะเป็นเทพปั้นเกมในรายการได้สดๆ ตลอดแบบนั้น หรือพวกรายการสายรีแอ็กชั่น เขาก็เน้นขายคนรีแอ็กชั่นเล่นใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นบางคนก็พร้อมรอเล่นใหญ่อยู่แล้ว แค่คิดว่าสมจริงกว่ามวยปล้ำซะหน่อยก็คงพอได้
ซึ่งพอไปดูความเห็นชาวเน็ตทั้งหลาย ก็มีทั้งความเห็นที่บอกว่า รายการทีวีน่ะเชื่ออะไรไม่ได้อยู่แล้ว หรือ เอาคลื่นกระจายเสียงมาใช้กับอะไรแบบนี้มันไร้ค่าจริงๆ แต่ก็มีความเห็นเยอะมากที่บอกว่า โถ่ นี่มันรายการวาไรตี้ จะเอาอะไรกันนักกันหนา สนุกก็พอแล้วไม่ใช่เหรอ
ตรงนี้ก็ต้องขอเสนอความเห็นตัวเองเพิ่มอีกหน่อยว่า ถึงจะเป็นรายการ ‘วาไรตี้’ แต่เมื่อนำเสนอแบบกึ่ง ‘สารคดี’ ที่ทำเรื่องราวเกี่ยวกับชาติอื่นๆ แล้ว แค่จะทำให้สนุกก็คงจะไม่ดีเท่าไหร่ เพราะมันก็เหมือนการสร้างเรื่องโกหกเพื่อให้สนุกเท่านั้น แล้วคนดูที่ไม่เคยมีโอกาสไปประเทศนั้นๆ ก็ได้ความรู้ผิดๆ ไป ของแบบนี้ไม่ว่าชาติไหนเจอก็คงไม่ชอบหรอกครับ อย่างผมเองเวลาซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นในญี่ปุ่นแล้วคุยกับคนขายไปเรื่อยๆ พอบอกว่าเป็นคนไทย ผมเคยเจอสองครั้งแล้วที่คนขายบอกว่า งั้นก็คงซื้อลายพรางไม่ได้สินะครับ เพราะที่ไทยผิดกฎหมาย ผมก็ได้แต่ อ้อ คงดูรายการนั้นสินะ ที่เสนอเกร็ดว่าในไทยใส่ลายพรางไม่ได้เพราะว่าผิดกฎหมายข้อที่ว่าเลียนแบบเครื่องแต่งกายของทหาร ผมก็ได้แต่ เฮ้อ แล้วก็อยากจะเปิดรูปเสื้อผ้าลายพรางที่มีให้ดู นี่แหละครับ ความเข้าใจผิดแบบนี้ จริงๆ เวลาคุยเรื่องนี้ผมก็ถามคนญี่ปุ่นกลับว่า ถ้ารายการอเมริกาทำรายการแล้วพาไปดูบ้านนอกญี่ปุ่นแล้วเล่าว่าญี่ปุ่นมีเทศกาลพิลึกๆ ที่ไม่มีจริงขึ้นมา เขาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ของแบบนี้ ไม่เจอเองบ้างอาจจะไม่รู้ตัวครับ
แต่ที่น่าเศร้าที่สุดคงเป็นคนที่ดูรายการโดยหวังว่าจะได้เห็นโลกกว้างที่น่าสนใจ เพราะไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสเอง แล้วกลายเป็นว่าถูกเสนอสิ่งที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อนแบบนี้ แทนที่จะได้รู้จักโลกกว้าง กลายเป็นว่าได้รับรู้สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยสื่อประเทศตัวเองแทนไปซะงั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by