ในหนังเรื่อง Minority Report จอห์น แอนเดอร์ตัน (ทอม ครูซ) กระโดนขึ้นรถแคปซูลไร้พวงมาลัย มีเบาะเอนดูสบายคล้ายห้องนั่งเล่น รถออกวิ่งไปตามถนน เข้าโค้ง เปลี่ยนเลน วิ่งขึ้นถนนแถวตั้ง แล้วจอดหน้าห้องพักได้เองโดยไม่ต้องออกแรงขับซักนิด เรื่องราวในหนังเกิดขึ้นในปี 2054 คุณว่าเมื่อถึงเวลานั้น มันจะเป็นจริงแบบนั้นไหม?
ถนนที่รถวิ่งได้ในแนวตั้งจะเป็นไปได้หรือเปล่ายังไม่มีใครรู้ แต่รถไร้คนขับที่ขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ แบบในหนังนั้นมาแน่ๆ ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาคุณคงพอได้ยินข่าวคราวการทดสอบรถไร้คนขับบนถนนจริงอยู่บ้าง ทั้ง Google Tesla และค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อื่นๆ อีกหลายเจ้า ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าเร็วกว่าประชาธิปไตยหลายเท่าตัวแบบที่เป็นอยู่ คุณอาจไม่แปลกใจนักเมื่อบริษัทเหล่านี้ออกมาประกาศว่าอีกแค่เพียง 4-5 ปีข้างหน้า รถไร้คนขับเต็มรูปแบบจะได้ออกมาวิ่งบนถนนชัวร์IHS Automotive บริษัทผู้เก็บข้อมูลอุตสาหกรรมยานยนต์พยากรณ์ไว้ว่า ภายในปี 2050 รถทุกคันบนท้องถนนจะกลายเป็นรถไร้คนขับ[1] ไม่ต่างอะไรกับในหนังเลยทีเดียว
เมื่อวันนั้นมาถึง ลองคิดดูว่าชีวิตคุณจะสะดวกสบายแค่ขนาดไหน แค่เรียกรถด้วยมือถือ คีย์จุดหมายปลายทางลงไป แล้วทิ้งตัวเอาเวลาเดินทางไปนอนพักผ่อน หรือจะดูหนังฟังดูละครก็ทำได้ เพราะบริษัทรถยนต์อย่าง Ford ถึงกับวางแผนผลิตรถให้เป็นโรงหนังเคลื่อนที่กันเลย[2] ในอนาคตการทำใบขับขี่อาจจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับการรณรงค์เมาไม่ขับ และการต้องกลับบ้านดึกก็ดูเสี่ยงอันตรายน้อยลง
ถ้าอนาคตเป็นจริงตามที่คาด รถไร้คนขับไม่ใช่แค่จะเปลี่ยนชีวิตผู้คนเท่านั้น แต่ยังช่วยตอบโจทย์เทรนด์ที่เมืองทั่วโลกกำลังเผชิญและเปลี่ยนแปลงเมืองที่เราจะอาศัยอยู่ในวันข้างหน้าด้วย
Urban World Trend
เทรนด์โลกที่ว่านี้คือ Urban World Trend หรือ โลกแบบเมืองๆ ซึ่ง Ernst & Young[3] ยกให้เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญที่จะกำหนดอนาคตของโลกนับจากนี้ไป จริงๆ แล้วเทรนด์ความเป็นเมืองหรือ Urbanization เป็นที่พูดถึงกันมานานมากแล้ว ความเป็นเมืองหมายถึงการขยายตัวของเมืองทั่วโลก ทั้งด้านจำนวน ขนาด ความหนาแน่น และลักษณะความเป็นเมือง
หากมองในเชิงปริมาณ เมืองมหานคร หรือ megacity ซึ่งหมายถึงเมืองขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 10 ล้านคน มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากแค่ 2 เมืองในช่วงปี 1970 เป็น 23 เมืองในปัจจุบัน และคาดว่าเพิ่มเป็น 41 เมืองภายในปี 2030[4] ถึงแม้ว่าเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่มหานครในเอเชียและแอฟริกากำลังเพิ่มจำนวนและขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว กรุงเทพฯ คือหนึ่งในนั้น ด้วยจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน 8 ล้านคน[5] ขยับเข้าใกล้ความเป็น megacity เข้าไปเรื่อยๆ
อันที่จริงถ้าวัดกันด้วยประชากร โลกเราเพิ่งจะก้าวสู่ความเป็นเมืองอย่างเต็มตัวเมื่อไม่นานมานี้เอง นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรในเมืองมีมากกว่าชนบท และถ้าเมืองยังคงขยายตัวด้วยอัตราปัจจุบัน ภายในปี 2050 (ช่วงเดียวกับที่ IHS ทำนายเรื่องรถไร้คนขับจะครองเมืองพอดี) ประชากรเมืองของโลกจะกลายเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว[6]
เมืองใหญ่ ไร้คนขับ
เทรนด์โลกแบบเมืองๆ บอกเราว่าเมืองในอนาคตจะทั้งใหญ่ทั้งหนาแน่นมาก หนึ่งในคำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ แล้วการเดินทางขนส่งซึ่งเป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเมืองแบบนั้นจะเป็นอย่างไร ลองคิดดูว่าการเดินทางในวันข้างหน้าจะยากลำบากแค่ไหน ลำพังแค่การขยายระบบขนส่งสาธารณะอาจไม่พอและช้าเกินรับมือ เมืองในอนาคตต้องการการนิยามการเดินทางใหม่เพื่อแก้ปัญหา
นิยามการเดินทางแบบใหม่ที่กำลังมาตอนนี้คือการลดเส้นแบ่งระหว่างการเดินทางส่วนบุคคลกับการเดินทางสาธารณะลง ตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งในตอนนี้คือการแชร์การเดินทางแบบ Uber ที่คนเอารถส่วนตัวออกมาให้บริการรับส่งผู้โดยสารแบบรถรับจ้างสาธารณะ และรูปธรรมหนึ่งที่กำลังจะเกิดในอีกไม่นานนี้คือรถไร้คนขับนั่นเอง
Barrie Kirk ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยยานยนต์อัตโนมัติ Canadian Automated Vehicles Centre of Excellence เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ระบบการเดินทางในเมืองใหญ่กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เมื่อนวัตกรรมระบบการเดินทางอัตโนมัติ อย่างรถไร้คนขับ และ สังคมแบบแบ่งปัน (Sharing Society) เดินทางมาบรรจบกัน[7]
ในอนาคตคุณอาจจะออกไปทำงานด้วยรถไร้คนขับของคุณ พอตกบ่ายรถคันเดิมถูกเรียกให้ไปรับผู้โดยสารอีกคนหนึ่ง ก่อนกลับมารับคุณในตอนเย็นพร้อมกับเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆ กัน โดยที่คุณสามารถทำเงินได้จากการให้แชร์รถ หรือคุณอาจโดยสารรถเมล์ไร้คนขับขนาด 10 ที่นั่ง ที่สามารถเรียกผ่านสมาร์ทโฟนได้ล่วงหน้า และตระเวนรับผู้โดยสารตามจุดต่างๆ ในเวลาที่กำหนด
นักออกแบบและพัฒนาเมืองต่างคาดหวังว่าการเดินทางรูปแบบใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาและรองรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคตได้ ทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจราจร ลดจำนวนรถบนถนนลง ลดอุบัติเหตุ ลดปัญหามลพิษ นอกจากนี้พื้นที่ถนนและที่จอดรถที่เคยมีอาจลดลงและถูกแปลงสภาพเป็นพื้นที่สาธารณะหรือระบบขนส่งมวลชนใหม่ๆ ได้
อย่างไรก็ตามรถไร้คนขับจะสามารถแก้ปัญหาของเมืองได้จริงตามที่หวังไว้ได้หรือไม่ ยังคงเป็นที่ตั้งคำถาม ความสะดวกสบายและรายได้จากการแชร์รถซึ่งทำเจ้าของรถรู้สึกว่ามีต้องทุนในการมีรถน้อยลง อาจทำให้ความต้องการครอบครองรถไม่ลดลงตามคาด และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนี้ต้องการกลไกทางสังคมที่เหมาะสมมารองรับถึงจะไปต่อได้ราบรื่น ไม่ว่าจะกฎจราจร ระบบกรรมสิทธิ์ ระบบประกันภัยและความรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุในรูปแบบใหม่ อนาคตของเมืองแห่งรถไร้คนขับจึงมีความเป็นไปได้และความท้าทายมากมาย
กำหนดอนาคตด้วยอนาคต
ถึงแม้ว่ารถไร้คนขับจะยังไม่พร้อมใช้จริงในตอนนี้ แต่หลายเมืองทั่วโลกกำลังวางแผนใช้มันเป็นเครื่องมือรับมือเทรนด์โลกแบบเมืองๆ รัฐบาลฟินแลนด์เพิ่งประกาศเตรียมออกมาตรการยกเลิกการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ภายในปี 2025 โดยจะใช้ระบบการขนส่งอัตโนมัติขับเคลื่อนด้วยตัวเองทั้งหมดเข้ามาแทน[8] ดูไบตั้งเป้าทดแทนรถยนต์แบบเก่ากว่าร้อยละ 25 ด้วยรถยนต์ไร้คนขับภายในปี 2030[9] ในขณะที่บางประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และสวิสเซอร์แลนด์ เริ่มทดลองใช้รถบัสระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติกันแล้ว
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เองต่างก็มีปรับแผนธุรกิจไปในทิศทางที่สอดคล้องกันนี้ด้วย Tesla หนึ่งในนำตลาดรถไร้คนขับวางแผนสร้างแพลตฟอร์มให้ผู้ใช้รถ Tesla สามารถสร้างรายได้จากการแชร์รถให้ผู้อื่นโดยตรงไม่ต้องผ่านตัวกลาง หรือ nuTonomy บริษัทของกลุ่มนักวิจัยจาก MIT ที่มีฐานในสิงคโปร์ก็กำลังจะเปิดให้บริการธุรกิจแท็กซี่ไร้คนขับที่เรียกใช้บริการผ่านมือถือได้ภายในปี 2016 นี้[10]
การกำหนดอนาคตด้วยอนาคต คือฐานแนวคิดของหลายเมืองทั่วโลกเพื่อปรับตัวและก้าวไปข้างหน้า ทรัพยากรในการสร้างเมืองแห่งอนาคตไม่ได้มีแค่สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่อาจยังไม่พร้อมในวันนี้อาจช่วยให้เราจัดการกับอนาคตได้ดีขึ้นและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้อีกมากมาย นอกจากรถไร้คนขับแล้วยังมีนวัตกรรมอีกหลายอย่างที่กำลังถูกพัฒนาเพื่อรองรับการใช้งานที่กว้างขึ้นในอนาคต เช่น การผลิตโดยใช้ 3D printing ในครัวเรือน หรือการใช้โดรนส่งของ
ในอนาคตเมืองอาจมีความก้าวหน้าล้ำสมัย แต่ก็ซ่อนไว้ซึ่งความเปราะบางมากมาย โจทย์ของเมืองแห่งอนาคตมีอีกนับไม่ถ้วน นอกจากโจทย์ทางกายภาพแล้ว ยังมีโจทย์ทางสังคม เช่นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และความขัดแย้ง ที่อาจเปลี่ยนรูปแบบและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อนาคตในจินตนาการที่สดใสไร้ปัญหาคงเป็นเพียงเป้าหมาย ระหว่างทางคือความท้าทาย และโอกาสจะเป็นของผู้ที่มองเห็น
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] press.ihs.com/press-release/automotive/autonomous-vehicle-sales-set-reach-21-million-globally-2035-ihs-says และ http://press.ihs.com/press-release/automotive/autonomous-vehicle-sales-set-reach-21-million-globally-2035-ihs-says
[2] www.forbes.com/sites/jeffmcmahon/2016/03/07/ford-turns-driverless-cars-into-mobile-movie-theaters/#4768f6de54d7
[3] รายงาน The upside of disruption: Megatrend shaping 2016 and beyond, EY (2016)
[4] อ้างแล้ว
[5] สถิติประชากรคาดประมาณ ณ กลางปี 2559 (1 กรกฏาคม 2559), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
[6] รายงาน World Urbanization Prospect, United Nations (2014)
[7] www.youtube.com/watch?v=XEebyt6G5kM
[8] www.msn.com/th-th/autos/news/ฟินแลนด์วางแผนยกเลิกรถส่วนบุคคลทุกชนิดภายในปี-2025/ar-BBusxFR
[9] whatson.ae/dubai/2016/04/driverless-cars-dubai/
[10] spectrum.ieee.org/cars-that-think/transportation/self-driving/nutonomy-to-launch-worlds-first-fully-autonomous-taxi-service-in-singapore-this-year