1
เชื่อว่า คุณผู้อ่านจำนวนไม่น้อยน่าจะมีประสบการณ์เส้นทางชีวิตคล้ายกันกับผม – เกิดที่ต่างจังหวัด – เรียนที่ต่างจังหวัดจนถึงระดับมัธยมปลาย – เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ – เรียนจบมาทำงานที่กรุงเทพ – เบื่อกรุงเทพฯ – แต่ก็ไม่รู้ว่าจะกลับไปทำอะไรที่บ้านเกิดดี – ก็ต้องอยู่ๆ ไปก่อนแล้วค่อยหาลู่ทางต่อไป – บ่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ในด้านหนึ่ง ผมรู้ตัวดีนะครับว่า การมีชีวิตเช่นนี้ก็นับว่าโชคดีมากแล้วในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงแบบสังคมไทยนี้ เพราะถ้าดูให้ดีจะเห็นว่า ตัวเองมีโอกาสมากกว่าเพื่อนร่วมสังคมคนอื่นๆ อีกมากมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับอดคิดไม่ได้ว่า ทำไมชีวิตเรามันช่างไม่มีทางเลือกเอาเสียเลย อยากเรียน โรงเรียน ‘ดีๆ’ มหาวิทยาลัย ‘ดีๆ’ทำงาน ‘ดีๆ’ มีชีวิต ‘ดีๆ’ (ที่ลงตัว) ก็ต้องมาอยู่กรุงเทพฯ นี่แหละ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย และตลอดกระบวนการพัฒนากว่า 60 ปี เราก็แทบไม่เคยกระจายโอกาสและทรัพยากรไปยังที่อื่นๆ เลย
และความเหลื่อมล้ำนี่แหละที่มีคนบอกกันว่า เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมา
เอ๊ะๆ เดี๋ยว บก. เขาให้มาเขียนเรื่องเทรนด์ ขอเปลี่ยนเรื่องก่อน
จริงๆ แล้ว การเป็น ‘เมืองโตเดี่ยว’ ของกรุงเทพฯ เป็นเรื่องเทรนด์โดยแท้นะครับ เพียงแต่ว่ามันเป็นเทรนด์ที่ตกไปแล้วแถมมีความเชยและโบราณอีกต่างหาก
เชื่อว่า คุณผู้อ่านที่ติดตามเทรนด์ใหญ่ๆ คงเคยได้ยินเทรนด์ urbanization แน่ๆ
ส่วนตัวผมสนใจเทรนด์นี้เป็นพิเศษ เพราะกูรูหลายคนชี้ว่า เทรนด์นี้เป็นเทรนด์ที่ทรงพลังมากที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 21
ในทีแรก, ในฐานะที่อยู่ในกรุงเทพฯ, ผมคิดว่า กรุงเทพฯ คงเป็นโอกาสเดียวของไทย
แต่ก็มารู้ทีหลังว่า ไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียวหรอก
2
รายงานของ McKinsey Global Institute บอกเอาไว้นะครับว่า ไอ้เทรนด์ urbanization ที่จะเกิดขึ้นในอีก 20 – 30 ปีข้างหน้า มันไม่ใช่การขยายตัวแบบไม่มีทิศทาง แต่มันมีลักษณะที่โดดเด่นอยู่หลายอย่าง โดยที่หนึ่งในนั้น คือ การเติบโตของเมืองขนาดกลาง
ก่อนไปต่อ ผมขอเล่าในรายละเอียดสักเล็กน้อยเพื่อให้ภาพที่เข้าใจชัดขึ้นว่า เมืองขนาดกลางคืออะไรกันแน่
ในรายงานเขาแบ่งขนาดกลางตามจำนวนประชากรครับ โดยสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 3 ระดับ คือ เมืองขนาดกลางปกติ (ประชากร 2 – 5 ล้านคน) เมืองขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก (ประชากร 7.5 แสน – 2 ล้านคน) และเมืองขนาดกลางค่อนไปทางจิ๋ว (ประชากร 2 – 7.5 แสนคน) โดยทั่วไปแล้ว งานวิชาการที่วิเคราะห์เรื่องเมืองขนาดกลางส่วนใหญ่จะใช้เมืองขนาดกลางปกติเป็นหน่วยหลักในการวิเคราะห์ เนื่องจากเป็นการนิยามโดยอ้างอิงจากเมืองทั่วโลกตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ แต่อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ การให้ความสำคัญกับเมืองขนาดกลางค่อนไปทางเล็กและเมืองขนาดกลางค่อนไปทางจิ๋วจะช่วยให้เห็นพลวัตรของเศรษฐกิจได้ดีกว่า
การคาดการณ์ในอนาคตชี้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ เศรษฐกิจของเมืองขนาดกลางทั่วโลกจะเติบโตสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยภายในประเทศตนเอง และในปี 2025 เศรษฐกิจของเมืองขนาดกลางจะมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียว
พูดง่ายๆ คือ เมืองขนาดกลาง คือ อนาคต นั่นเอง
ในตอนแรกที่ผมอ่านรายงานชุดนี้ก็รู้สึกตื่นเต้นนะครับ แต่ก็ไม่มากเท่าไหร่เพราะดูไกลตัวเหลือเกิน จนกระทั่งรู้ว่ามีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เอาข้อมูลชุดนี้ไปศึกษาเจาะลึกในอาเซียน และสถาบันบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) เขาไปค้นในเรื่องนี้ต่อและได้ทำสรุปไว้
ที่นี้ก็โป๊ะเชะเลยหละครับ (เพราะมีเรื่องมาเขียนต่อแล้ว แหะแหะ)
ประเทศไทยมีเมืองตั้งแต่ขนาดกลางค่อนไปทางจิ๋วขึ้นไปรวมทั้งสิ้น 31 เมือง (ดูในลิสต์ข้างล่าง) โดยมีกรุงเทพฯ เพียงเมืองเดียวเท่านั้นที่จัดว่าเป็นมหานคร (ประชากรมากกว่า 5 ล้านคน) ที่เหลือเป็นเมืองขนาดกลางค่อนไปทางเล็กและเมืองขนาดกลางค่อนไปทางจิ๋ว และไม่มีเมืองขนาดกลางปกติเลย อาศัยฐานข้อมูลชุดนี้ นักวิจัยเขาคาดการณ์ว่า ในระหว่างปี 2013 – 2030 เศรษฐกิจหัวเมืองในส่วนภูมิภาคของไทยหลายเมืองจะเติบโตในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่นักวิจัยคาดไว้ได้เริ่มต้นเกิดขึ้นแล้วนะครับ เพราะถ้าสังเกตให้ดีเราจะเห็นว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา หัวเมืองต่างจังหวัดเติบโตขึ้นมาก วิถีชีวิตของผู้คน สินค้าและบริการ ร้านค้าไลฟ์สไตล์ชิคๆ เกิดขึ้นกันเป็นดอกเห็ดเลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ที่เห็นด้วยตาเท่านั้น แต่ข้อมูลสถิติเองก็ยืนยันเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน งานวิจัยของสถาบันตลาดทุนชี้ว่า ในช่วงระหว่างปี 2001 – 2010 เศรษฐกิจในต่างจังหวัดของไทยมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศมากขึ้น โดยในปี 2010 เศรษฐกิจในต่างจังหวัดคิดเป็นร้อยละ 61 ของเศรษฐกิจประเทศ จากที่คิดเป็นเพียงแค่ร้อยละ 54 ในปี ข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการวิจัยของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ นาคารไทยพาณิชย์ที่พบว่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2002 – 2009 การเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่เป็นคนเมือง (urban consumer) กว่าร้อยละ 75 เกิดขึ้นนอกกรุงเทพมหานคร
ข้อน่าสังเกตคือ การ urbanization ในเมืองหนึ่ง ยังเป็นตัวเร่งให้อีกเมืองหนึ่ง urbanization ด้วย เพราะหนึ่งในปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหัวเมืองในต่างจังหวัดคือ การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ากับเมืองที่มีการขยายตัวสูงในภูมิภาค เช่น ระหว่างหนองคายกับเวียงจันทน์ หนองคายกับฮานอย หรือ มุกดาหารกับจีนตอนใต้ เป็นต้น
จะว่าไปเมืองชายแดนของไทยมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังเป็นด้านโลจิสติกส์และการค้าข้ามพรมแดนที่เชื่อมโยงกับฐานผลิตในภาคกลางของประเทศเท่านั้น ยังไม่ค่อยมีพื้นที่ไหนที่มีฐานการผลิตหลักผลิตหลักในพื้นที่เลย ในอนาคตหากตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้ที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะไปลงทุน
3
มาถึงตรงนี้ผมอยากจะทิ้งข้อสังเกตและคำถามเล็กๆ เกี่ยวกับการเติบโตของกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในอนาคตไว้สักหน่อย
1. ผมคิดว่า แม้เมืองขนาดกลางจะเป็นเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่ามหานครอย่างกรุงเทพฯ จะหมดความสำคัญ เพียงแค่กรุงเทพฯ เติบโตได้ตามศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ก็จะสร้างโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก แต่จะทำเช่นนี้ได้ กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างหนัก
คำถามคือ รัฐและผู้กำหนดนโยบายมองเห็นและมีปัญญาทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นหรือไม่?
2. ผมคิดว่าการเติบโตของเมืองขนาดกลางเกิดขึ้นจากเงื่อนไขภายนอกเป็นหลัก หากเมืองขนาดกลางจะขยายตัวได้อย่างเต็มที่รัฐต้องทบทวนเรื่องการจัดสรรทรัพยากรและการการจายอำนาจใหม่ด้วย
คำถามคือ รัฐและผู้กำหนดนโยบายมองเห็นและมีปัญญาทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นหรือไม่?
Illustration by Namsai Supavong
Note: เมือง 31 เมืองที่คาดว่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วในเทรนด์ Urbanization ได้แก่ กรุงเทพฯ บุรีรัมย์ จันทบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ขอนแก่น ลำปาง ลพบุรี นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ หนองคาย นนทบุรี ปทุมธานี พะเยา อยุธยา ภูเก็ต ราชบุรี ระยอง ร้อยเอ็ด สกลนคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สระบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี อุดรธานี