การพยายามขยับฐานะทางเศรษฐกิจและการรวมศูนย์ของสังคมเมือง ทำให้มนุษย์ชนชั้นกลาง ‘กระจุกตัว’ กลายเป็นการสร้างภาวะแข็งขันกันเองที่ไม่สมดุล บั่นทอนกายใจ และดูเหมือนเราจะติดกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ไปเสียแล้ว
จนต้องมาตอบคำถามตัวเองกันจริงๆว่า
ครอบครัวไทยรายได้ปานกลาง มีความสุขอยู่จริงๆหรือ?
หากเราจะมานิยามการเปลี่ยนแปลงมิติทางสังคมและโครงสร้างประชากรกันชัดๆ อาจจะลำบากหน่อย เพราะ เศรษฐกิจ /การเมือง / ประชากร มันส่งผลอิทธิพลต่อกันอย่างลึกซึ้ง ปนเป หรือป่นเป็นอาหารหมูมั่วไปหมด ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นต้นเหตุ อะไรเป็นปลายเหตุ
- ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ที่ทำงานและบ้านแยกออกจากกัน ต่างจากยุคเกษตรกรรมที่บ้านกับที่ทำมาหากินเป็นที่เดียวกัน
- นโยบายลูกคนเดียวในสาธารณรัฐประชาชนจีน และ นโยบายกระตุ้นการเกิดของประธานาธิบดี นิโคไล เชาเชสกู ในประเทศโรมาเนียหลังจากสงคราม ก็ทำให้จำนวนสมาชิกครอบครัวลดลงและเพิ่มขึ้นเช่นกัน
- ภาคเอกชนทำธุรกิจปรับตัว พัฒนาสินค้าโดย ‘ย่อส่วนให้เล็ก’ ทั้งขนาดห้องครัว เครื่องใช้ จนเหลือเครื่องมือประกอบอาหารเพียง ‘ไมโครเวฟ’ และคอนโดขนาดเล็กเปลี่ยนการอยู่อาศัยของเราเป็นแนวดิ่ง
เหมือนจะเป็นข่าวดี ‘คนไทยรวยขึ้น’?
ใครๆ ก็ว่าเรากำลังรวยขึ้นหรือ? ฟังดูเหมือนเป็นข่าวดี แต่ทำไมความรวยมันช่างไม่สัมพันธ์กับความสุขที่เรามี เอาเข้าจริงๆ ระดับความยากจนในประเทศไทยก็ลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 67 ใน พ.ศ. 2522 เหลือเพียงร้อยละ 11 ใน พ.ศ. 2557 ร้อยละ 8.1 ของประชากรมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty line) มันจึงเป็นตัวชี้วัดต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศดีขึ้นอย่างมาก (ถึงแม้คุณจะบ่นอะไรต่อมิอะไร แต่ในเชิงสถิติก็ถือว่ามีการพัฒนาล่ะนะ) ไม่ว่าจะเป็นอัตราการตายของทารกลดลง อายุขัยเฉลี่ยและอัตราการเข้าถึงการศึกษาเพิ่มขึ้น แม้หลายฝ่ายมักจะแสดงความกังวลที่ประเทศไทยอาจจะติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาประเทศให้ก้าวกระโดดออกจากกับดักที่จองจำให้ประเทศไทยละล่ำละลักอยู่ในฐานะ ‘จะรวยก็ไม่รวย จะจนก็ไม่จน’
ไม่มีมีเงินมากพอขนาดเอาไปพัฒนาอะไรที่สร้างสรรค์ได้ แต่ก็ไม่ได้จนแบบต้องทนกัดก้อนเกลือ แถมปลายเดือนมีหนี้ที่ต้องชดใช้ เงินไหลมาไหลออก โดยไม่ได้ใช้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เองเป็นหลักบอกระยะทางที่สำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย และทำให้ชนชั้นกลางในสังคมขยายตัวชัดเจนมากที่สุด
‘ฉันจะเกิดและตายในห้าง’ ชนชั้นกลางกล่าวไว้
เพื่อนต่างชาติของผู้เขียนอาศัยในประเทศไทยมาสักระยะและก็ยังรู้สึกไม่ชินเสียที เพราะทุกๆ สุดสัปดาห์เมื่อคิดอะไรไม่ออก เพื่อนร่วมงานมักพาไปสังสรรค์ในห้างสรรพสินค้า กินๆ ช็อปๆ ถอยเข้าถอยออกในลานจอดรถ
“โอ้ ก็อด ทำไมประเทศนี้ มันมีห้างเยอะขนาดนี้ พวกยูต้องมีเงินใช้เหลือเฟือแน่ๆ”
ฟังแล้วก็สะดุ้งเล็กน้อย จะบอกว่าพวกไอคนไทยมีเงินเยอะก็เจ็บปวดหัวใจ บางครั้งก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่า พวกเราไม่มีที่ไปที่ดีกว่าการเดินห้าง เพราะมันมีทุกอย่างที่ชนชั้นกลางต้องการ คิดอะไรไม่ออกก็เดินห้างเข้าไว้
ในมิติประชากรศาสตร์ ระดับรายได้เฉลี่ยของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น มีการศึกษาและความรู้มากขึ้น มาตรฐานความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกสรรสินค้าและความเป็นอยู่ที่ละเมียดละไม ก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วเวลารายได้ยกระดับขึ้น เราก็ต้องเลือกสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการที่ดีที่สุด
การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการค้าปลีกในประเทศไทยจึงเป็นจุดสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ง่ายและชัดเจนที่สุด เนื่องจากการค้าปลีกสัมผัสกับชีวิตการใช้จ่ายของคนโดยตรง การเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการซื้อสินค้าในตลาดสดมาเพื่อประกอบอาหารแบบมื้อต่อมื้อหรือวันต่อวัน กลายเป็นการซื้อสินค้ารายสัปดาห์หรือรายเดือนจากซุปเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ในร้านค้าไฮเปอร์มาร์ตมากขึ้น คุณก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าเวลาต้องกินข้าวแบบพร้อมหน้าพร้อมตาในวันอาทิตย์ห้างใกล้บ้านแทบแตก เดินไหล่ชนกันไปหมด
เวลาและกิจกรรมในบ้านถูกดึงไปรวมกันที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งปัจจุบันไม่เป็นแต่เพียงแหล่งรวม ‘สรรพ-สินค้า’ แต่ยังรวมถึง ‘สรรพบริการ’ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ที่เรียนพิเศษ โรงภาพยนตร์ ที่ออกกำลังกาย สถานบันเทิง โรงแรม ห้องประชุม และอะไรต่อมิอะไรที่พิสดารอีกมาก
การใช้ชีวิตในห้างสรรพสินค้า ได้กลายเป็นวัฒนธรรมเมืองที่ดูทันสมัย ปัจจุบันปรากฏการณ์นี้ได้กระจายสู่หัวเมืองใหญ่และหัวเมืองรองในแต่ละภูมิภาคอย่างทั่วถึง ข้าวของเครื่องใช้ของคนชั้นกลางต้องมี ‘ตรายี่ห้อ (Brand name)’ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจที่แสดงออกถึงคุณสมบัติและอัตลักษณ์ของสินค้าและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า ดูเหมือนเราจะชื่นชมความเป็นแบรนด์มากกว่าวัตถุประสงค์ของสินค้าเสียอีก
รสนิยมดี แต่หนี้บาน ใครล่ะ? เธอไง!
ความปั่นป่วนอีกประการของรสนิยม ก็ไม่ได้บอกว่าสถานการณ์ทางการเงินคุณจะลื่นไหล เก๋ไก๋เสียหน่อย
สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือนไทยระหว่าง พ.ศ. 2543 – 2554 เฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี ในขณะที่การบริโภคและหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ! สังคมเมืองและความเป็นคนชั้นกลางแม้จะหมายถึงการที่คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและขยับฐานันดรสูงขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายและหนี้สินจากการดำรงชีวิตก็เพิ่มตามขึ้นไปด้วย
กระเป๋าตังค์ของชนชั้นกลางเกือบครึ่ง ‘กู้ยืม’ จากสถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง
ผู้มีหนี้ 63.4% (คิดเป็น 10.28 ล้านคน) ใช้บริการทางการเงินผ่านสถาบันการเงินเพียง 1 ประเภท และมีผู้มีหนี้ 7% (1.13 ล้านคน) ที่ใช้บริการสถาบันการเงินทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์, สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI), และสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น บริษัทเครดิตการ์ด, สหกรณ์ ฯลฯ
ตั้งแต่ปี 2552 – 2559 จำนวนหนี้ที่ผู้มีหนี้ก่อเพิ่มเพิ่มขึ้น 44 % จาก 377,109 บาทต่อผู้มีหนี้ 1 ราย เป็น 544,074 บาท
- สินเชื่อรถยนต์เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด
- คนวัยสร้างหนี้ คือกลุ่มคนอายุ 25-35 ปี
- เฉลี่ยในตอนนี้ พวกเรามักมีหนี้คนละ 550,000 บาท
หนุ่มสาวจึงเหนื่อยหน่ายกับการไล่ตามรสนิยมของตัวเอง ภายใต้ความกดดันของภาวะหนี้ที่บีบคั้น
มาๆ มีอะไรให้พวกเราเครียดอีก!
มีลูกไง ลองมีลูกหรือยัง!
ลูกต้องเรียนดี แต่ฉันยี้ระบบ การเลี้ยงลูกของชนชั้นกลาง
การเลี้ยงลูกต้องใช้ทุนมหาศาล ภาวะโขกสับของสินค้าและบริการเกี่ยวกับการศึกษาในปัจจุบันก็แสนทารุณ โดยรัฐเองมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือน้อยมากกกกก (เติมตัว ก.ไก่ เพิ่มตามความรู้สึกของคุณได้) พออะไรได้ชื่อว่า ‘เพื่อพัฒนาการ’ ‘เพื่อการศึกษา’ ราคาก็จะถีบตัวสูงขึ้นหลายเท่า เพราะดึงดูดชนชั้นกลางให้ใช้จ่ายเพื่อเป็นการลงทุนระยะยาว (เราก็ไม่เถียงหรอกนะว่ามันจริง) พันธะนี้ผูกพันกับพ่อแม่ไปเกือบ 20 ปี!! เรียกว่าบางบ้านอาจใช้เงินลงทุนพอๆ กับการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติได้ (ก็เกินจริงไปนิด)
ต้นทุนการศึกษาของลูกๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในภาวะความเป็นเมืองที่ขยายตัวกว้างขวาง คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ชนชั้นกลางมากขึ้น ยิ่งทำให้การแข่งขันเพื่อเตรียมลูกให้มีการศึกษาและความสามารถพิเศษด้านอื่นๆ ทวีความรุนแรง การเรียนพิเศษเพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้กับลูกเริ่มตั้งแต่ก่อนวัยอนุบาลและเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวจนกระทั่งลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
เดี๋ยวนี้มีการปลดล็อกศักยภาพสมองตั้งแต่ก่อนเข้าวัยเรียน พ่อแม่ชนชั้นกลางใช้เวลาตอนเย็นหลังเลิกงาน และเสาร์อาทิตย์สาละวนกับการขับรถรับ-ส่ง และนั่งเฝ้าลูกเรียนพิเศษคอร์สต่างๆ (แน่นอน! ในห้างสรรพสินค้าไง) แต่ก่อนอาจมีเพียงการเรียนวิชาหลักๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ แต่ปัจจุบันต้องเรียนทั้งสังคม ภาษาไทย รวมทั้งวิชาเฉพาะสำหรับสาขาต่าง ๆ ที่จะเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการสอบเข้า
การสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) (2559) รายงานว่าร้อยละ 60 ของนักเรียนมัธยมปลายต้องเรียนพิเศษเพราะต้องการเทคนิคในการทำข้อสอบและเรียนที่โรงเรียนไม่เข้าใจ หรือบางวิชาโรงเรียนก็ไม่สอน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 19,748 บาทต่อเทอม ผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนร้อยละ 52 ต้องกู้ยืมเงินเพื่อให้ลูกได้เรียนต่อ และสิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้น คือการที่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของกลุ่มนักเรียนที่มีฐานะยากจนกับนักเรียนที่มีฐานะดี แตกต่างกันถึง 5 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาของไทยตกอยู่ในระบบทุนนิยมอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งที่สุดแล้วจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่อาจลุกลามจนเป็นรอยร้าวที่ชัดเจนมากขึ้นระหว่างชนชั้นในระยะยาว
มหาวิทยาลัยและคณะที่เข้าได้ยาก (พวกคณะฮอตระดับท็อปประเทศ) จึงอยู่ในระยะเอื้อมถึงของคนที่มีฐานะดีเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีกำลังที่จะทุ่มทุนปั้นลูกด้วยหลักสูตรพิเศษต่างๆ จนส่งปัญหากีดกันฐานะในเพื่อนร่วมคณะ ปัญหาชนชนชั้นแม้จะอยู่ในสายวิชาการเดียวกัน
พ่อแม่ชั้นกลางยุคปัจจุบันจึงไม่มีทางเลือกอื่นมากนักนอกจาก ‘ทุ่มสุดตัว’ และเลิกรอการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จได้เมื่อใด ผู้ปกครองและนักเรียนเชื่อมั่นในความรู้จากสำนักติว (Tutor) มากกว่าความรู้ที่ได้จากโรงเรียน จนเริ่มไม่แน่ใจว่าความหมายของโรงเรียนที่มีต่อสังคมคืออะไร ความฝันลึกๆ ของพ่อแม่ที่มีต่อการศึกษาของลูกในยุคนี้อาจขอแค่เพียงความเท่าเทียมของโอกาสทางการศึกษาเท่านั้น
ชีวิตครอบครัวในแต่ละยุคสมัยมีความเปราะบางในตัวของมันเอง เป็นความเปราะบางในรูปแบบใหม่ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก มันหน่วงใจ ถ่วงดุลความรู้สึก ก้าวไปข้างหน้าก็ไม่กล้า จะหยุดเอากลางคันก็ไม่ได้
“การเป็นคนชั้นกลาง นั้นเจ็บปวด” จะกล่าวอย่างนี้ก็ไม่ผิดนักหรอก
อ้างอิงข้อมูลจาก
– มองมาตรการภาครัฐและหนี้ครัวเรือนผ่านข้อมูลเครดิตบูโร
– เกิดอะไรขึ้นกับครอบครัว? สถานการณ์เปลี่ยนผ่านทางสังคมและประชากร สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล.
– ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย ในฐานันดร “ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
– ประชาคมวิจัย / สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
thaipublica.org/2016/09/bot-symposium-2016-household-debt