เมื่อไม่นานมานี้บังเอิญได้เสพข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับนักเขียนผู้ทรงเกียรติที่มีดีกรีเป็นถึงศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ท่านหนึ่ง ได้แต่งกวีโพสต์ลงเฟซบุ๊กโดยใช้คำผวนที่มีนัยยะทางเพศถึงอวัยวะซ่อนเร้นของสตรี ที่น่าจะเป็นแสดงการการเย้ยหยันอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยที่ต้องคดีทางการเมืองท่านหนึ่ง จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกออนไลน์
ซึ่งอันที่จริงจะว่าไปเรื่องแบบนี้ก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกใหม่ เพราะการเล่นคำผวนเป็นของที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำผวนที่มีนัยยะทางเพศ เกี่ยวกับการร่วมเพศ และอวัยวะเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อวัยวะเพศของสตรี ที่มีชื่อสั้นๆ ว่า หอ ‘สระอี’ หรือที่เรียกกันอย่างสุภาพว่า ‘โยนี’ หรือเรียกแบบน่ารักน่าชังว่า ‘จิ๋ม’ นั่นเอง
แต่ไหนแต่ไรมา อวัยวะเพศหญิง หรือ โยนี นั้นมีความหมายในเชิงดูถูกเหยียดหยาม ถูกกดขี่ให้เป็นของต่ำ เป็นอวิชชา เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ สกปรกโสมม หรือถูกเอาไปเล่นเป็นเรื่องตลกชวนหัว ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว มันเป็นบ่อเกิดหรือที่ปฏิสนธิของมนุษย์ทุกคนบนโลกด้วยซ้ำ
แม้แต่ในวงการศิลปะเอง อวัยวะนี้ก็ถูกนำเสนออย่างซ้อนเร้นและกระมิดกระเมี้ยนมาอย่างเนิ่นนานนับศตวรรษ แต่ก็มีศิลปินบางคนที่หยิบเอาอวัยวะนี้มานำเสนอเป็นงานศิลปะด้วยเหมือนกัน ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นศิลปินชาวฝรั่งเศสแห่งช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อย่าง กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) ที่วาดภาพสีน้ำมันที่อื้อฉาวที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะที่มีชื่อว่า L’Origine du monde, 1866 หรือ The Origin of the World (บ่อเกิดของโลก) ขึ้นมา ซึ่งภาพวาดที่ว่านี้เป็นภาพของ โยนี หรือ ‘จิ๋ม’ ในระยะประชิดที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา
มันเป็นภาพเปลือยที่ไม่ปรากฏหน้าตาของนางแบบ หากแต่โคลสอัพไปที่หว่างขาที่อ้าออกกว้าง เปิดเผยอวัยวะซ่อนเร้นเบื้องล่างของเธอให้เห็นอย่างจะแจ้งและแสดงความยั่วยวนทางเพศอย่างเต็มที่จนแทบจะน่าขัน โดยกูร์แบปฏิวัติธรรมเนียมโบร่ำโบราณในการวาดภาพเปลือยที่คนสมัยนั้นยอมรับได้ก็แต่ภาพของเทพธิดาในเทพปกรณัมและนางในจินตนาการเท่านั้น และหันมาวาดภาพเปลือยของคนธรรมดาสามัญที่มีตัวตนอยู่จริงแทน
แต่ถึงกระนั้น ผู้วาดภาพน้องจิ๋มอย่างกูร์แบเองก็เป็นศิลปินเพศชายที่ถือสิทธิ์ผูกขาดและครอบครองวงการศิลปะเอาไว้แต่เพียงฝ่ายเดียว และหยิบเอาอวัยวะเพศหญิงมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทบกระเทียบเสียดสีในเชิงขบขันเท่านั้นเอง จนกระทั่งในหลายศตวรรษให้หลังที่กระแสเรียกร้องสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกันเกิดขึ้นในสังคมนั่นแหละ ที่เหล่าศิลปินหญิงถึงจะมีโอกาสหยิบเอาอวัยวะส่วนตัวของเธอมาใช้ทำงานศิลปะได้บ้าง เรามาดูตัวอย่างผลงานของพวกเธอเหล่านั้นพอเป็นกระสัน เอ๊ย! กระษัย ก็แล้วกัน
จิ๋มวาดภาพ
ในปี 1965 ศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่น ชิเงโกะ คูโบตะ (Shigeko Kubota) ทำงานศิลปะแสดงสดกึ่งจิตรกรรมชื่อ Vagina Painting (จิ๋มวาดภาพ) ซึ่งเป็นกิจกรรมทางศิลปะที่จัดในเทศกาลศิลปะ Perpetual Fluxus เมืองนิวยอร์ก ด้วยการติดด้ามพู่กันลงบนเป้ากางเกงขาสั้นของตัวเอง และนั่งยองๆ ลงใช้ ‘น้องจิ๋ม’ บังคับพู่กันให้วาดภาพแบบนามธรรมลงบนกระดาษขนาดใหญ่ที่วางอยู่บนพื้น
ผลงานศิลปะที่อื้อฉาวและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักของคูโบตะชิ้นนี้ ท้าทายและสั่นคลอนรากเหง้าความคิดเดิมๆ ในโลกศิลปะในเวลานั้น ที่เชื่อว่าอัจฉริยภาพทางศิลปะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในเพศชายเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การที่เธอทำงานในลักษณะ ‘แอคชั่นเพ้นติ้ง’ ซึ่งเป็นลักษณะการทำงานศิลปะรูปแบบหนึ่งในกระแสศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ที่เป็นการทำงานศิลปะที่โคตรจะแมน และทำกันแต่ในหมู่ศิลปะชายเสียเป็นส่วนใหญ่นั้น มันไม่ต่างอะไรจากการตบหน้าศิลปินเพศชายเหล่านั้นฉาดใหญ่เลยก็ปาน
ผลงานศิลปะจิ๋มวาดรูปของคูโบตะชุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระแสเคลื่อนไหวศิลปะที่มีชื่อว่า Fluxus เครือข่ายศิลปินหัวก้าวหน้าในนิวยอร์กในช่วงยุค 60 ที่มีแนวคิดในการต่อต้าน (ค่านิยมเดิมๆ ของ) ศิลปะ (anti-art) และผสมผสานสื่อและวิธีการถ่ายทอดทางศิลปะอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน
ม้วนกระดาษในจิ๋ม
ในปี 1975 แคโรลี คนีแมนน์ (Carolee Schneemann) ทำผลงานศิลปะแสดงสดสุดอื้อฉาวที่มีชื่อว่า Interior Scroll ในนิทรรศการศิลปะ Women Here and Now ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากลของสหประชาชาติ ในอีสต์แฮมพ์ตัน นิวยอร์ก เธอเข้ามาในห้องแสดงงานที่เต็มไปด้วยผู้ชม (ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง) สวมเสื้อผ้าเต็มยศ ก่อนที่จะค่อยๆ เปลื้องออกจนหมด ทาตัวด้วยสีดำและสวมผ้ากันเปื้อนสีขาวบิดกายเกลือกกลิ้งบนโต๊ะ โพสท่าเลียนแบบนางแบบวาดภาพนู้ด พร้อมกับอ่านถ้อยคำจากหนังสือในผู้ชมฟัง ในจุดพีกสุดของการแสดง เธอปลดผ้ากันเปื้อนออก ยืนเปลือยกายล่อนจ้อนบนโต๊ะ กางขา แล้วค่อยๆ ดึงม้วนกระดาษยาวเหยียดออกจากจิ๋มแล้วอ่านเนื้อหาในนั้นดังๆ ให้คนดูฟัง!
คนีแมนน์อธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้ว่า เธอต้องการเปิดเผยตัวตนของ ‘โยนี’ ที่ถูกซ่อนเร้น ลดทอน ทำให้มองไม่เห็นและไม่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต ความสุขความพึงพอใจ เป็นแหล่งกำเนิดของประจำเดือนและความเป็นแม่แล้ว มันยังเป็นแหล่งกำเนิดของความรู้ได้อีกด้วย เธอต้องการแสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่พื้นที่ไร้ชีวิตและตัวตน คนีแมนน์ได้แรงบันดาลใจในศิลปะการแสดงสดนี้จากความฝันของเธอที่มีถ้อยคำบางอย่างผุดออกมาจากช่องคลอดของเธอ เป็นถ้อยคำสั้นๆ เรียบง่ายที่เขียนว่า ‘ความรู้’
ผลงานชิ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า โยนี ไม่ได้เป็นแค่เพียงแค่พื้นที่ให้กำเนิดชีวิตทางกายภาพ หากแต่เป็นบ่อเกิดของความคิดและการสร้างสรรค์ ด้วยการดึงวัตถุออกจากพื้นที่ภายใน สิ่งที่ถูกซ่อนไว้ก็จะปรากฏขึ้น และท้ายที่สุด มีเสียงให้เราได้ยิน คนีแมนน์สนใจพื้นที่ภายในจิ๋มอย่างลึกซึ้ง ไม่เพียงแต่ในแง่ของการเมืองเรื่องเพศสภาพ แต่ลึกไปถึงเรื่องจิตวิญญาณด้วย เธอกล่าว่าเธอสนใจจิ๋มในหลายแง่มุม ทั้งทางกายภาพ (ในฐานะอวัยวะ) มโนทัศน์ (ในฐานะรูปทรงทางศิลปะ) ในเชิงสถาปัตกรรม (ในฐานะพื้นที่) ในเชิงของแหล่งกำเนิดความรู้อันศักดิ์สิทธิ์ ความปีติสุข เส้นทางแห่งการก่อกำเนิด ความเปลี่ยนแปลง และคุณลักษณะแห่งอำนาจทางเพศของทั้งชายและหญิงนั่นเอง
โยนีศิลป์
มีศิลปินร่วมสมัยหญิงผู้หนึ่งใช้ร่างเปลือยและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อวัยวะเพศของเธอเอง เป็นสื่อในการแสดงงานศิลปะอย่างโดดเด่น ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า มิโล มัวเร่ (Milo Moiré) ศิลปินแนวคอนเซ็ปชวลสาวชาวสวิส ลูกครึ่งสโลวักและสเปน ผู้เป็นที่รู้จักจากงานศิลปะแสดงสด (Performance Art) ปัจจุบันเธอพำนักและทำงานอยู่ในเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี
มิโลเริ่มทำงานศิลปะแสดงสดด้วยร่างเปลือยมาตั้งแต่ปี 2007 แต่เธอเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากผลงานศิลปะที่มีชื่อว่า The PlopEgg – A Birth of a Picture (2014) ศิลปะแสดงสดกึ่งจิตรกรรมที่เธอทำบริเวณหน้างาน ART COLOGNE เทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในเมืองโคโลญ ด้วยการยืนเปลือยกายล่อนจ้อนบนพื้นยกสูงที่ทำจากบันไดเหล็กสองอัน กางขาเบ่งไข่ที่ยัดเอาไว้ในช่องคลอดของเธอให้ร่วงหล่นลงมาแตกบนผืนผ้าใบด้านล่างฟองแล้วฟองเล่า จนหมึกและสีอะคริลิคหลากสีที่บรรจุอยู่ภายในไข่กระจายไหลเลอะพื้นสีขาวเป็นวงกว้าง
ท้ายที่สุดเธอพับครึ่งผืนผ้าใบ รีดจนเรียบและคลี่กางออกมาเป็นภาพวาดนามธรรมแบบสะท้อนสมมาตรคล้ายกับภาพวาดพับครึ่งของเด็ก ในขณะเดียวกันก็ดูคล้ายกับแบบทดสอบเชิงจิตวิทยาด้วยรอยหมึก (Rorschach Test) และก็ดูคล้ายกับภาพของมดลูกด้วยเหมือนกัน
มิโลพัฒนาแนวคิดในการสร้างผลงานชิ้นนี้มาอย่างยาวนาน ด้วยการใช้สัญลักษณ์อันเป็นสากลอย่างมดลูกในวัยเจริญพันธุ์และไข่ ซึ่งเป็นรากเหง้าในการถือกำเนิดของชีวิต ผนวกกับประสบการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสตรีเพศในการขึ้นขาหยั่งตรวจภายใน สีสันของประจำเดือนในการตกไข่ทุกเดือน และห้วงเวลาอันว่างเปล่าในจิตก่อนที่จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ เป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างผลงานที่แสดงถึงพลังอำนาจของสตรีเพศชิ้นนี้ขึ้นมา มิโลกล่าวถึงงานศิลปะชิ้นนี้ของเธอว่า
“เพื่อสร้างศิลปะ, ฉันใช้แหล่งกำเนิดดั้งเดิมของความเป็นสตรีเพศ ซึ่งก็คือโยนีของฉัน… ฉันรู้สึกว่าโยนีเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายไม่ต่างจากอวัยวะส่วนอื่น สำหรับฉัน มันเป็นมากกว่าช่องคลอดหรืออวัยวะที่ให้ความรื่นรมย์ทางเพศ สำหรับฉัน โยนีเป็นตัวแทนเชิงอภิปรัชญาขององค์ประกอบอันยิ่งใหญ่ภายในของฉัน ไข่และโยนีมีความสัมพันธ์ร่วมกันในฐานะสัญลักษณ์อันเปี่ยมเอกลักษณ์ในศิลปะการแสดงสดชิ้นนี้ของฉัน จะมีหนทางไหนในการให้กำเนิดศิลปะของฉันได้ดีไปกว่าการเบ่งไข่ออกมาจากโยนีของฉันอีกเล่า?”
หรือในผลงาน MIRROR BOX (2016) ศิลปะแสดงสดที่เธอแสดง ณ เมืองดุสเซลดอร์ฟ, ลอนดอน และอัมสเตอร์ดัม โดยสร้างกล่องกระจกเงารูปสีเหลี่ยมคางหมู สวมปกคลุมร่างกายท่อนบนและท่อนล่างเหมือนกับเสื้อและกระโปรง ตัวกล่องมีช่องเปิดด้านหน้าที่ปิดเอาไว้ด้วยผ้าม่านสีแดง เธอถือโทรโข่งป่าวร้องเชิญชวนให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาให้ล้วงมือเข้าไปสัมผัส ลูบไล้ เคล้นคลึง หรือล้วงควักอวัยวะพึงสงวนในร่มผ้าท่อนบนและท่อนล่างของเธอในกล่องได้ตามใจชอบเป็นเวลา 30 วินาที
“ฉันชื่อ มิโล มัวเร่ เป็นศิลปินแสดงสด และยืนอยู่ที่นี่วันนี้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศของสตรี ผู้หญิงมีความต้องการทางเพศไม่ต่างกับที่ผู้ชายมี แต่เรามีสิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเมื่อไหร่ที่เราต้องการจะถูกสัมผัสหรือไม่ วันนี้คุณมีโอกาสในการสัมผัส (ร่างกาย) ฉันในกล่องเป็นเวลา 30 นาที ได้อย่างเสรี ไม่ว่าคุณจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม” เป็นถ้อยคำที่มิโลประกาศผ่านโทรโข่ง
เธอกล่าวว่าเธอต้องการตอกย้ำถึงเสรีภาพในการแสดงออกถึงความปรารถนาของสตรีเพศ ด้วยการให้พวกเธอมีสิทธิมีเสียงทางเพศ และสะท้อนถึงความปรารถนาในร่างกายผู้หญิงของเพศชาย (พูดง่ายๆ ก็คือความหื่นนั่นแหละ!) ผ่านกระจกเงาที่อยู่บนกล่อง ไม่เพียงเท่านั้น เงาสะท้อนของผู้ชม (หรือคนล้วง) บนกล่องกระจกก็เป็นการอุปมาถึงบทบาทในมุมกลับของนักถ้ำมองในโลกอินเทอร์เน็ตอีกด้วย (พูดง่ายๆ ก็คือสะท้อนให้คนเหล่านั้นมองเห็นตัวเองนั่นแหละ)
ด้วยการใช้โยนีเป็นเครื่องมือและอาวุธทางศิลปะ ที่ปั่นป่วนโครงสร้างอำนาจชายเป็นใหญ่ในสังคม มัวเร่แสดงออกถึงความรู้สึกและเสรีภาพทางเพศของอิตถีเพศอย่างตรงไปตรงมา และสำรวจพรมแดนทางศิลปะและความลามกอนาจาร รวมถึงตอกหน้าระบบศีลธรรมของชนชั้นกลางได้อย่างแสบสัน ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ เธอถูกตำรวจรวบตัวเข้าซังเตและโดนปรับในข้อหากระทำการอนาจารจากการทำงานศิลปะหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเธอมองว่าการที่เธอถูกจับกุมนั้นเป็นตัวอย่างของการขาดความเป็นเอกภาพในยุโรป และยังกล่าวอีกว่า กฎหมายในสหภาพยุโรปควรจะมีมาตรฐานเดียวกัน และสิ่งนี้เองที่น่าจะเป็นเหตุผลให้สหราชอาณาจักรโหวตให้ตัวเองออกจากสหภาพยุโรป (อะไรมันจะขนาดนั้น!)
(อ่านเกี่ยวกับ มิโล มัวเร่ เพิ่มเติมได้ในหนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ตอน โยนีศิลป์ ศิลปินสาวผู้เปลือยร่างกายท้าทายสังคม)
อะไรอะไรก็จิ๋ม
เมกุมิ อิการาชิ (Megumi Igarashi) หรือที่รู้จักกันในฉายา โรคุเดนะชิโกะ (ろくでなし子 / ยัยเด็กเหลือขอ) ประติมากรและศิลปินมังงะหญิงชาวญี่ปุ่นผู้เป็นที่รู้จักจากการทำงานเกี่ยวกับอวัยวะเพศหญิง หรือ จิ๋ม ผู้มีจุดมุ่งหมายในการเปิดเผยภาพลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิงในญี่ปุ่นที่ถูกซ่อนเร้นมากเกินไป เมื่อเทียบกับภาพลักษณ์ของอวัยวะเพศชาย
เธอทำงานที่มีหัวข้อเกี่ยวกับจิ๋มมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟระย้า, รถบังคับรีโมต, สร้อยคอ, เคสไอโฟนรูปจิ๋ม ไปจนถึงซีรีส์ประติมากรรมสามมิติขนาดเล็กที่มีชื่อว่า “Decoman” (ซึ่งเป็นการเล่นสลับคำกับคำว่า manko ซึ่งแปลว่า ‘จิ๋ม’ ในภาษาญี่ปุ่น) เธอยังสร้างคาแรคเตอร์การ์ตูนชื่อ “มังโกะจัง” (Manko-chan – นางสาวจิ๋ม) นางสาวจิ๋มถูกทำออกมาเป็นมังงะ ตุ๊กตา และชุดแฟนซีขนาดเท่าคนจริง ซึ่งเธอหมายใจจะให้มันกลายเป็นคาแรคเตอร์ที่โด่งดังในกระแสวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่น
แต่ผลงานที่ทำให้เธอโด่งดังอย่างอื้อฉาวที่สุดคือ เรือคายัครูปจิ๋ม ที่สร้างขึ้นโดยการสแกนภาพสามมิติจากจิ๋มของเธอเอง เธอทำโปรเจ็กต์นี้ผ่านการระดมทุน โดยเธอจะส่งอีเมลข้อมูลภาพดิจิทัลสามมิติของ “จิ๋มเรือคายัค” ของเธอให้กับผู้ที่ร่วมสมทบทุน ซึ่งผลจากการทำงานศิลปะชุดนี้ก็ทำให้เธอถูกตำรวจควบคุมตัวและดำเนินคดีข้อหาละเมิดกฎหมายอนาจารของญี่ปุ่น (ด้วยการส่งภาพสามมิติที่สแกนจากจิ๋มของเธอให้ผู้สมทบทุน) มีคนกว่า 21,000 คน ลงชื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ปล่อยตัวเธอเป็นอิสระ หลังจากอุทธรณ์สำเร็จ เธอก็ถูกปล่อยตัวในอีกสัปดาห์ให้หลัง คดีความของเธอได้รับความสนใจไปทั่วโลก ในแง่ที่การนำเสนอภาพลักษณ์เกี่ยวกับอวัยวะเพศหญิงถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกันที่ญี่ปุ่นเองก็มี เทศกาลแห่ลึงค์ (Kanamara Matsuri) ที่แห่แหนรูปแทนของอวัยวะเพศชาย หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘จู๋’ อย่างเอิกเริกครื้นเครงทุกปีเช่นเดียวกัน
ดูนี่! ‘จิ๋ม’ ที่แท้จริงมันต้องอย่างงี้เพ่!
แถมท้ายกันด้วยงานแฮพเพนนิ่งอาร์ตของศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์หญิงชาวลักเซมเบิร์ก เดโบราห์ เดอ โรเบอร์ทิส (Deborah De Robertis) ในปี 2014 ที่เธอเข้าไปนั่งเปิดหวออ้าซ่ากางขากว้างเอามือแหวกโชว์น้องจิ๋มอล่างฉ่างเบื้องหน้าภาพ Origin of the World ของ กุสตาฟว์ กูร์แบ ในพิพิธภัณฑ์ออร์แซ (Musée d’Orsay) ในปารีส เหตุเพราะเธอคิดว่าภาพวาดภาพจิ๋ม หรือ บ่อเกิดโลก ของ กูร์แบ นั้น ‘กระมิดกระเมี้ยนเกินไป’ ไม่กล้าเปิดเผยหน้าตาและองคาพยพที่แท้จริงของจิ๋มออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนจะแจ้งแดงแจ๋ เธอเลยต้องแสดงให้ดูเป็นตัวอย่างแบบชัดๆ ถนัดตา (อ่านะ!)
ผลงานศิลปกรรมทำด้วยจิ๋มอันอื้อฉาวของศิลปินหญิงเหล่านี้ นอกจากจะสร้างความตื่นตะลึง อึ้งทึ่งเสียว และความขุ่นเคืองไม่สบอารมณ์แก่ผู้ชมและสังคมรอบข้างแล้ว มันยังสร้างความหงุดหงิดและปั่นป่วนให้กับโลกศิลปะที่เพศชายยังคงถือครองอำนาจเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย
จะว่าไปการที่สังคมเกิดอาการหวาดผวาตื่นตระหนกเต้นแร้งเต้นกาไปจนถึงวิพากษ์วิจารณ์ก่นด่าและต่อต้านงานศิลปะของพวกเธอทั้งหลายอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชจนถึงขั้นจับเข้าซังเต มันอาจเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านั้น หรืออันที่จริงก็คือเพศชายผู้มีดุ้นที่วางตัวเขื่องโขใหญ่โตในสังคมนั้น ความจริงแล้วหวาดกลัวอำนาจของสตรีเพศ หรืออันที่จริง อำนาจของจิ๋ม จนหำ เอ๊ย! หัวหดกันเป็นแถวๆ ก็เป็นได้
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีแต่ผู้ชายที่มีอำนาจบาตรใหญ่ช่วงใช้หรือหยิบเอาโยนีมาใช้เป็นเครื่องมือตามอำเภอใจได้แต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่เมื่อถึงเวลาที่ผู้หญิงตระหนักรู้ถึงอำนาจแห่งร่างกายและอวัยวะอันสำคัญยิ่งของตัวเองแล้ว เมื่อนั้นเธอก็ใช้มันเขย่าโลกทั้งใบได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
The PlopEgg Painting Performance – La nascita di un’opera.