หากต้องอธิบายเรื่องราวเหตุการณ์นี้ เราต้องย้อนไปในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกากับกัญชาเสียก่อน ในศตวรรษที่ 17 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสนับสนุนและผลักดันผลผลิตจากต้นกัญชง ส่วนใหญ่แล้วเพื่อนำเส้นใยของมันไปใช้ในอุตสาหกรรมเชือก ใบเรือ และเสื้อผ้า ในปี ค.ศ.1619 สภานิติบัญญัติแห่งเวอร์จิเนียได้ออกกฎหมายกำหนดให้เกษตรกรทุกคนปลูกต้นกัญชง และออกกฎหมายให้กัญชงและกัญชาเป็นสินค้าที่สามารถแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกกฎหมายในเพนซิลเวเนีย เวอร์จิเนีย และแมริแลนด์
กัญชงและกัญชาต่างกันตรงไหน? ทั้งสองเป็นพืชที่อยู่ในสกุลและชนิดเดียวกัน แต่แตกต่างกันตรงที่ชนิดย่อย หรือ subspecies กัญชงส่วนใหญ่แล้วลำต้นของมันจะถูกนำไปใช้เป็นเส้นใย ส่วนกัญชาจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางยา (ในเวลานั้นยังแทบไม่นำมาเพื่อสันทนาการอย่างโจ่งแจ้ง) สภาพภายนอกของมันอาจดูแล้วแทบไม่แตกต่างกัน หากสังเกตกัญชงจะมีใบที่ใหญ่และกว้างกว่ากัญชา เรียกได้ว่ากัญชากลายเป็นของถูกกฎหมายเพราะดันมีนามสกุลเหมือนกับกัญชงที่สร้างประโยชน์ทางอุตสาหกรรมได้มากกว่า
การผลิตกัญชงในประเทศสหรัฐอเมริกาเฟื่องฟูจนกระทั่งสงครามกลางเมืองได้สิ้นสุดลง การนำเข้าวัสดุจากประเทศอื่นๆ เริ่มเข้ามาแทนที่กัญชง บทบาทของมันเริ่มหดหายไป ส่วนกัญชานั้นยังคงมีบทบาทต่อไปในการแพทย์ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กัญชาได้กลายเป็นส่วนผสมที่ได้รับความนิยมในผลิตภัณฑ์ยาหลายชนิดในประเทศสหรัฐอเมริกา มันถูกขายอย่างเปิดเผยในร้านขายยาสาธารณะ
ในปี ค.ศ.1910 ภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติเม็กซิโก ผู้อพยพชาวเม็กซิกันได้หลั่งไหลเข้ามาในสหรัฐอเมริกา และพวกเขาได้เผยแพร่วิธีการนำกัญชามาใช้เพื่อสันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ พูดง่ายๆ คือสอนวิธีนำมันมาสูบเพื่อให้ได้อรรถรสมากที่สุดนั่นเอง เรื่องราวนี้ทำให้ชาวอเมริกันบางคนที่ต่อต้านผู้อพยพชาวเม็กซิกันมองว่า วัฒนธรรมอเมริกันถูกทำลายโดยชาวเม็กซิกันที่ทำให้คนในประเทศของตนต้องกลายเป็นผู้ติดกัญชากันมากมาย การรณรงค์ต่อต้านกัญชาก็ได้เริ่มต้นขึ้น ผู้ประท้วงเริ่มเตือนถึง ‘ภัยคุกคามจากกัญชา’ และต่างกล่าวอ้างว่าอาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นในตอนนี้นั้นส่วนใหญ่แล้วเกิดจากฤทธิ์ของกัญชา
ทศวรรษที่ 1930 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ การว่างงานจำนวนมากทำให้หลายคนเกิดความขุ่นเคืองต่อผู้อพยพชาวเม็กซิกัน การรณรงค์ต่อต้านกัญชาก็เพิ่มมากขึ้น ภาครัฐเริ่มกังวลเกี่ยวกับปัญหาของกัญชา เริ่มมีงานวิจัยที่พยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างการใช้กัญชากับความรุนแรงและอาชญากรรม และในปี ค.ศ.1930 รัฐบาลกลางได้มีการจัดตั้งสำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (Federal Bureau of Narcotics หรือ FBN ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Drug Enforcement Administration หรือ DEA) โดยมี แฮร์รี เจ. แอนสลิงเจอร์ (Harry J. Anslinger) เป็นผู้บัญชาการสำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติคนแรก (จำชื่อคนนี้ไว้ดีๆ) นอกจากเฮโรอีนและโคเคนแล้ว แอนสลิงเจอร์ยังต้องการให้กัญชาเป็นหนึ่งในผู้รายของสังคมในสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน เนื่องจากกัญชาหาได้ง่ายและมีการใช้ที่แพร่หลายมากกว่า แอนสลิงเจอร์พยายามรวบรวมข้อมูลการทำร้ายร่างกายและคดีฆาตกรรมที่คนร้ายมีพฤติกรรมการใช้กัญชา เพื่อให้รัฐบาลกลางและสังคมมองว่ากัญชานั้นส่งผลต่ออาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เขาต้องการให้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่หลักฐานยังไม่เพียงพอและไม่ร้ายแรงพอ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นที่เมืองแทมปา เมืองที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในคืนวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ.1933 …
วิกเตอร์ ลิคาตา (Victor Licata) ชายหนุ่มวัย 21 ปี ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าของวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1933 หลังจากเดินไปมารอบบ้าน เขาก็พบว่าครอบครัวของเขานั้นถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ไม่เว้นแม้แต่สุนัขเยอรมันเชเพิร์ดของครอบครัว ร่างแต่ละร่างถูกฟันด้วยของมีคมขนาดใหญ่หลุดลุ่ยกระจายไปทั่วบ้าน เลือดนองกระจายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง
เมื่อตำรวจรุดมาถึงบ้าน พวกเขาพบว่า วิกเตอร์ ลิคาตา นอนหมอบอยู่ในห้องน้ำ แขนและตัวเต็มไปด้วยเลือดและเศษเนื้อที่ติดกระจายอยู่ตามตัว ในตัวบ้านพบศพของพ่อ แม่ พี่สาว และน้องชายคนเล็กอายุแปดขวบของลิคาตา รวมไปถึงสุนัขเยอรมันเชเพิร์ด เศษชิ้นเนื้อกระจัดกระจายไปทั่วบ้าน เหลืออยู่เพียงน้องชายวัย 14 ปีอีกคนที่บาดเจ็บสาหัส (แต่สุดท้ายเขาเสียชีวิตในวันเดียวกัน) คาดการณ์ว่าทั้งหมดถูกฟันจนตายด้วยขวานขนาดใหญ่ที่วางอยู่ในบ้าน ขวานใบนี้เต็มไปด้วยรอยเลือดและลายนิ้วมือของลิคาตา มันแทบจะชัดเจนว่าใครคือฆาตกรในบ้านหลังนี้
ตำรวจได้ทำการจับกุมลิคาตาในฐานะผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมยกครัว แต่จากการสืบสวน ลิคาตากลับปฏิเสธข้อหา เขากล่าวว่าจำอะไรไม่ได้เลยในคืนนั้น เขานอนหลับสนิท และตื่นขึ้นมาก็พบว่าทั้งหมดนั้นถูกฆ่าไปหมดแล้ว แต่สิ่งเดียวที่ต่างออกไปในคืนนั้นคือความฝัน ลิคาตากล่าวว่าเขาประหลาดใจที่ในคืนวันนั้นเขากลับฝันอะไรบางอย่างที่แปลกออกไปจากคืนอื่นๆ
ลิคาตาบอกกับตำรวจว่าในความฝันของเขา เขาเห็น ไมเคิล พ่อของเขาวัย 47 ปี ซึ่งเป็นช่างตัดผมและเจ้าของร้านตัดผมในเมืองแทมปา ไมเคิลเข้าไปในห้องของลิคาตา คว้าตัวเขาและตรึงเขาไว้กับกำแพง ในเวลาเดียวกัน โรซาเลีย แม่ของเขาวัย 44 ปี ก็วิ่งเข้ามาในห้องพร้อมกับมีดแกะสลักขนาดใหญ่ จากนั้นพี่สาวของเขา น้องชายสองคน น้า อา และป้าบางคนก็ยืนอยู่ที่นั่นด้วย พวกเขาทุกคนต่างหัวเราะด้วยความสะใจที่เห็นลิคาตาถูกตรึงไว้กับกำแพง
“พ่อจับผมพิงไว้บนกำแพง และแม่ก็ช่วยพ่อตัดแขนผม ผมกลัวมาก แขนของผมหายไป” ลิคาตากล่าวกับตำรวจ
ในความฝัน ด้วยความหวาดกลัวต่อชีวิต ลิคาตาจึงคว้าขวานที่อยู่ข้างตัว แต่ลิคาตาอ้างว่าเขาจับขวานอันตลกที่มันทั้งยืดหยุ่นและทำจากยาง แล้วเขาก็ใช้ขวานฟาดเข้าไปยังผู้ที่กำลังทรมานเขาเหล่านั้น ลิคาตาบอกว่าการฟันด้วยขวานทำให้พวกเขาต่างล้มลง แต่ลิคาตายืนยันว่าเขาไม่ได้ฆ่าครอบครัวของตน มันเป็นแค่ความฝัน
ความฝันสิ้นสุดลงแค่นี้ นั่นคือสิ่งเดียวที่ลิคาตามีในค่ำคืนนั้น เขายังคงยืนกรานว่าไม่มีความทรงจำใดๆ เลยเกี่ยวกับการฆ่าครอบครัวและสุนัขของเขา เมื่อข่าวเริ่มแพร่สะพัดออกไปในหนังสือพิมพ์ นักข่าวก็ต่างขนานนามเขาว่า ‘Dream Slayer’ หรือ ‘ฆาตกรความฝัน’
ครอบครัวของลิคาตามาจากประเทศอิตาลี พวกเขามีฐานะที่ถือได้ว่าร่ำรวย จากธุรกิจส่วนตัวที่ประสบความสำเร็จ ไมเคิล พ่อของลิคาตามีร้านตัดผมสองแห่งในเมืองแทมปา ไมเคิลเป็นที่ชื่นชอบและเป็นที่รักเคารพของคนในชุมชน มีเพียงสิ่งเดียวที่ครอบครัวและชาวบ้านในละแวกนั้นกลัวมาตลอดคือ ลิคาตา
หนึ่งปีก่อนเกิดเหตุการณ์ จิตแพทย์ได้วินิจฉัยลิคาตาว่าเขามีภาวะของ dementia praecox ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าโรคจิตเภท (schizophrenia) โรคจิตเภทเป็นโรคที่มีความผิดปกติของบุคลิกภาพ มีความผิดปกติด้านการรับรู้และมีอารมณ์ที่แปรปรวน อาการที่เกิดกับโรคจิตเภทส่วนใหญ่คือความคิดหลงผิด เช่น คิดว่ามีคนปองร้าย คิดว่าตนเองถูกควบคุมจากอำนาจภายนอก คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ มีอำนาจ หรือมีความสามารถพิเศษ และดูเหมือนว่ามันจะเป็นยีนที่สืบต่อกัน เพราะคนในครอบครัวสี่คนได้แก่ ลุง ลูกพี่ลูกน้องสองคน และน้องชายที่เขาฆ่า ถูกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นคนวิกลจริต
ในประวัติดูเหมือนลิคาตาจะเคยทำอะไรบางอย่างจนชาวบ้านต้องไปแจ้งตำรวจ ตำรวจพยายามจับกุมเขาเพื่อไปส่งยังสถาบันทางจิตเพื่อรักษาอาการของลิคาตา แต่พ่อแม่ของเขากลับขอร้องตำรวจโดยสัญญาว่าจะให้เขาอยู่แต่ในบ้าน โดยยืนยันว่าพวกเขาสามารถให้การดูแลลิคาตาได้ดีกว่าสถาบันพวกนี้ แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะคิดผิด
สุดท้ายแล้วการฆาตกรรมนี้ไม่มีการพิจารณาคดีไต่สวน ลิคาตาถูกตัดสินอย่างรวดเร็วว่าเป็นคนวิกลจริตและถูกส่งตัวไปกักขังที่โรงพยาบาลจิตเวชของรัฐที่เมืองแชตตาอูชี
แม้จะมีหลักฐานว่าการฆาตกรรมนี้จะเกิดจากประวัติป่วยทางจิตของลิคาตา แต่ตำรวจและสื่อมวลชนก็กลับอ้างข้อมูลที่ไม่ระบุแหล่งที่มาว่าเขา ‘ติดกัญชา’ วันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1933 หนึ่งวันหลังจากเหตุการณ์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Tampa Bay Times ก็ได้เขียนข่าวลงไปในหนังสือพิมพ์ว่า “ดับเบิลยู ดี บุช หัวหน้านักสืบประจำเมืองกล่าวว่าเขาได้ทำการสอบสวนและได้รู้ว่าผู้สังหารนั้นติดกัญชามานานกว่าหกเดือน” ดูเหมือนว่านักข่าวจะให้กัญชาเป็นผู้ผิดในครั้งนี้
แล้วมันก็ได้ผล หลังจากข่าวกัญชาแพร่สะพัดออกไป หนังสือพิมพ์อื่นๆ ก็นำรูปพาดหัวข่าวที่เผยใบหน้าของลิคาตาที่สร้างความหวาดกลัวไปทั่วประเทศ “เขาเป็นผู้ใช้กัญชา … วัชพืชที่กล่าวกันว่าทำให้เกิดความวิกลจริต” ประโยคนี้อยู่ในคำบรรยายใต้ภาพที่แสดงให้เห็นดวงตาสีซีดขนาดใหญ่ของลิคาตา ที่เขาจ้องมองที่กล้องเหมือนซอมบี้ และมันออกไปสู่หนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ
เรื่องราวนี้ดึงดูดสายตาของ แฮร์รี เจ. แอนสลิงเจอร์ ผู้บัญชาการสำนักงานปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น แอนสลิงเจอร์มองว่าการอาละวาดของลิคาตาเป็นอาวุธที่สมบูรณ์แบบสำหรับสงครามโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับกัญชา ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เขาต้องการให้กัญชาเป็นหนึ่งในผู้รายของสังคมในสหรัฐอเมริกา
แม้เรื่องราวของลิคาตาจะไม่ใช่นิทานชวนเชื่อเพียงเรื่องเดียวในเรื่องราวที่แอนสลิงเจอร์พยายามผลักดัน แต่ถึงกระนั้น มันก็เป็นเรื่องราวที่เขาพูดซ้ำบ่อยๆ เพื่อเป็นการเตือนใจถึงอันตรายของกัญชา เขาได้รวมการฆาตกรรมดังกล่าวไว้ในบทความที่ทรงอิทธิพลเรื่อง ‘Marijuana, Assassin of Youth’ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร The American Magazine ในปี ค.ศ.1937
“ในฟลอริดา ตำรวจพบเด็กหนุ่มเดินโซเซในบ้านที่มีการฆาตกรรม เขาฆ่าพ่อ แม่ พี่ชายสองคน และน้องสาวด้วยขวาน ปกติแล้วชายหนุ่มคนนี้เป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะ ค่อนข้างเงียบ แต่เขากลายเป็นคนบ้าจากการสูบกัญชา” นี่คือสิ่งที่แอนสลิงเจอร์เขียนในบทความของเขา ซึ่งบิดเบือนความจริงไปพอสมควร
เรื่องราวใน ‘Marijuana, Assassin of Youth’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวอันฉาวโฉ่ของลิคาตา กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การของแอนสลิงเจอร์ต่อรัฐสภาซึ่งนำไปสู่กฎหมายของรัฐบาลกลางที่ทำให้การครอบครองและการขายกัญชานั้นผิดกฎหมาย
เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ผู้สนับสนุนให้กัญชาถูกกฎหมายได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่าการสูบกัญชานั้นนำไปสู่การสังหารหมู่จริงๆ หรือ? พวกเขาชี้ให้เห็นว่าคืนนั้นไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าลิคาตาสูบกัญชา หรืออีกทฤษฎีหนึ่งคือลิคาตาไม่ได้กระทำการสังหารเลย มันคือการลอบโจมตีโดยมุ่งเป้าไปที่พ่อของเขาโดยให้ลิคาตาเป็นเหยื่อ
ลิคาตาอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1945 จากนั้นเขาและผู้ต้องขังอีกสี่ คนก็เลื่อยลูกกรงออกจากกรงและหายตัวไป ไม่มีผู้คุมคนใดได้ยินเสียงอะไรเลย พวกเขามารู้ตัวอีกทีตอนเข้า และไม่มีใครรู้ว่านักโทษได้เลื่อยตัดเหล็กมาได้อย่างไร เพื่อนผู้ร่วมหลบหนีของลิคาตาทั้งหมดถูกจับได้ภายในไม่กี่วัน และไม่น่าเชื่อว่าลิคาตาจะหนีการจับกุมไปได้เป็นเวลาถึงห้าปี จากนั้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1950 ลิคาตาได้เดินไปที่ร้านอาหารในนิวออร์ลีนส์ ซึ่ง ฟิลิป ลิคาตา ลูกพี่ลูกน้องของเขาวัย 35 ปีเป็นเจ้าของ
แม้ฟิลิปจะกลัวและไม่พอใจอย่างยิ่งที่ลิคาตาหนีและหายสาบสูญไปนาน รวมถึงในช่วงเวลาที่ลิคาตาถูกขังอยู่ในโรงพยาบาล เขายังสาบานว่าจะสังหารสมาชิกในครอบครัวที่เหลืออีกหากเขาได้ออกไป
“ฉันกลัวเขา เหมือนกับที่คุณกลัวคนบ้า” ฟิลิปบอกกับนักข่าว
แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าด้วยความกลัวหรืออันใด ฟิลิปไม่แจ้งตำรวจ เขากลับเลี้ยงอาหารลิคาตาและกล่าวกับเขาว่ายินดีถ้าเขาจะมาเยี่ยมอีก แต่เมื่อลิคาตากลับมาหาฟิลิปอีกเป็นครั้งที่ 3 ฟิลิปกลับส่งตัวเขาให้ตำรวจและถูกนำไปคุมขังในเรือนจำที่ไรฟอร์ด รัฐฟลอริดา
สี่เดือนหลังจากถูกคุมขัง ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1950 ฝันร้ายในชีวิตของลิคาตาสิ้นสุดลงเมื่อเขาแขวนคอตัวเองด้วยผ้าปูที่นอนในห้องขังจนเสียชีวิต
ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา มีเพียง 33 รัฐจาก 50 รัฐที่ยินยอมให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย แต่เพื่อการแพทย์เท่านั้น และมีเพียง 10 รัฐที่เปิดเสรีกัญชาเพื่อการผ่อนคลายและนันทนาการควบคู่กันไปด้วย ได้แก่รัฐอแลสกา, แคลิฟอร์เนีย, เนวาดา, โคโลราโด, อิลลินอยส์, ออรีกอน, วอชิงตัน, เมน, แมสซาชูเซตส์ และเวอร์มอนต์
อ้างอิงข้อมูลจาก