ในโลกยุคมิลเลนเนียลที่มีสตาร์ทอัพถือกำเนิดขึ้นมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงนักสร้างสรรค์อย่างวงการศิลปะ ล่าสุด มีสตาร์ทอัพศิลปะกลุ่มหนึ่งเพิ่งก่อปฏิบัติการเขย่าวงการศิลปะร่วมสมัยอย่างอุกอาจ
นั่นก็คือ กลุ่มสตาร์ทอัพศิลปะและดีไซน์จอมป่วนชาวอเมริกัน ที่มีนามว่า MSCHF ที่ทำการซื้อผลงานของศิลปินคอนเซ็ปชวลอาร์ตตัวพ่อชาวอังกฤษผู้โด่งดังคับโลกอย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst) มาตัดแบ่งขายทีละชิ้น!
โดยผลงานที่ว่านั้นคือภาพพิมพ์จุดสีชื่อ L-Isoleucine T-Butyl Ester (2018) ที่พวกเขาซื้อมาในราคา 30,485 เหรียญสหรัฐ แล้วนำมาตัดแบ่งออกทีละจุด จนได้ออกมาเป็นภาพจุดสีเล็กๆ จำนวน 88 ชิ้น และนำมาเซ็นชื่อกลุ่ม แล้ววางขายทางออนไลน์ โดยตั้งราคาขายชิ้นละ 480 เหรียญสหรัฐ ซึ่งตอนนี้ขายหมดเกลี้ยงแล้ว

L-Isoleucine T-Butyl Ester (2018) ภาพพิมพ์แกะไม้ (Woodcut) บนกระดาษ ภาพแพทเทิร์นของจุดสีบนพื้นขาวที่ว่านี้ เป็นสัญลักษณ์ทางเคมีบนตารางธาตุของกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานศิลปะของ เดเมียน เฮิร์สต์ ที่เป็นส่วนผสมอันกลมกลืนระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์นั่นเอง ภาพจาก http://paragonpress.co.uk/works/2018-woodcut-spots
เท่ากับว่าพวกเขาขายจุดสีทั้งหมดไปในราคารวม 42,240 เหรียญสหรัฐ และได้กำไรจากส่วนต่างไปถึง 11,755 เหรียญสหรัฐ แต่ยังไม่จบแค่นั้น เพราะเจ้ากระดาษภาพพิมพ์ที่ถูกตัดจุดสีออกไปจนหมด เหลือแต่เพียงช่องโหว่ 88 รู พร้อมกับลายเซ็นของ เดเมียน เฮิร์สต์ อยู่บนนั้น ก็ยังถูกนำมาประมูลไปในราคาขั้นต่ำ 126,500 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ ราคาประมูลก็พุ่งไปถึง 215,800 เหรียญสหรัฐ เข้าไปแล้ว
อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่พวกเขาทำเช่นนี้ไม่ใช่เพราะต้องการเงิน หากแต่ต้องการแสดงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อนักลงทุนที่ซื้องานศิลปะด้วยราคาแพงมหาศาลและเก็บเอาไว้เชยชมกันเอง ไม่ต่างอะไรกับของเล่นของคนรวยที่ผู้คนทั่วๆ ไปไม่อาจเข้าถึงและชื่นชมได้
“เราไม่ต้องการงานศิลปะตายซากมาแขวนบนผนัง เราแค่ต้องการจำหน่ายจ่ายแจกสิ่งที่เราได้รับออกไปสู่ผู้คน” พวกเขากล่าวในแถลงการณ์ของกลุ่ม

ทีมงานของกลุ่ม MSCHF ขณะกำลังค่อยๆ บรรจงตัดแยกภาพพิมพ์จุดสีของ เดเมียน เฮิร์สต์ ออกมาทีละจุด, ภาพจาก https://severedspots.com/#purchase-details

โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก: Erased de Kooning Drawing (1953) ภาพจาก https://www.rauschenbergfoundation.org/art/artwork/erased-de-kooning-drawing
ถึงแม้ เดอ คูนนิง จะไม่ยินยอมในทีแรก แต่ต่อมาเขาก็เข้าใจแนวคิดของศิลปินรุ่นน้องและกัดฟันมอบผลงานให้เราเชนเบิร์กไปลบทิ้ง แต่ก็จงใจเลือกชิ้นที่ลบยากๆ ให้ เพื่อให้การลบของเขามีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งกว่าที่เราเชนเบิร์กของเราจะลบภาพออกหมดก็กินเวลาไปกว่าเดือน และใช้ยางลบไปราวสิบห้าก้อนเลยทีเดียว และเมื่อลบเสร็จแล้วเขาก็นำผลงานของเดอ คูนนิง ที่ถูกลบไปใส่กรอบ และตั้งชื่อว่า Erased de Kooning Drawing (1953)
“มันไม่ใช่แค่การลบงานของศิลปินคนอื่น แต่มันเป็นการเฉลิมฉลองของความคิด” เราเชนเบิร์กกล่าว การทำแบบนี้ของเขาน่าจะมีความหมายแฝงเร้นถึงการโบกมือลาศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ และความคิดที่ว่า ผลงานศิลปะต้องเป็นอะไรที่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกของมันด้วยเช่นกัน และประกาศศักดาการมาถึงของศิลปะแนวทางใหม่ของเขานั่นเอง
ผลงานครั้งนี้ของเราเชนเบิร์กตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีตัวตนอยู่ของศิลปะ และท้าทายผู้ชมให้ครุ่นคิดว่า การที่ศิลปินคนหนึ่งลบผลงานของศิลปินอีกคนทิ้ง เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปะตรงไหนกันแน่?
MSCHF เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพศิลปะและดีไซน์ ที่เป็นเหมือนโรงงานสร้างสรรค์ไอเดียแหวกแนว จากบรูคลิน สหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2016 (อันที่จริงพวกเขาบอกว่าตัวเองไม่ใช่สตาร์ทอัพ เพราะเป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่อย่างใด) พวกเขาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และโครงการที่ดูหลุดโลก เต็มไปด้วยอารมณ์ขันเสียดสี ยียวนป่วนอารมณ์ จนกลายเป็นไวรัลในโลกอินเตอร์เน็ต
พวกเขาเริ่มต้นโครงการแรกด้วยการเปิดประมูลคอมพิวเตอร์ที่ติดไวรัสที่อันตรายที่สุดในโลกไปในราคา 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากนั้นพวกเขาก็ปล่อยผลิตภัณฑ์และโครงการที่เป็นเหมือนส่วนผสมของงานศิลปะคอนเซปต์ชวล, งานดีไซน์ร่วมสมัย และมุกตลกในอินเตอร์เน็ตออกมาวางขาย
ไม่ว่าจะเป็น ‘บ้องกัญชารูปไก่ยาง’ ที่ส่งเสียงไก่ขันเวลาดูควัน, หรือ ‘รองเท้าพระเยซู’ ที่เป็นรองเท้ากีฬา Nike Air Max 97 ประดับกางเขนพระเยซูคริสต์และมีน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำ ‘จอร์แดน’ บรรจุไว้ภายใน Visible air หรือกระเปาะอากาศในพื้นรองเท้า, ไปจนถึงแอพลิเคชันแนะนำการเล่นหุ้นตามจักรราศี
“สิ่งที่เจ๋งก็คือ พวกเราไม่ยึดติดกับชนิด หมวดหมู่ของสินค้า หรือความสำเร็จที่ผ่านๆ มา เราทำรองเท้าของพระเยซูออกขายจนทำให้สาธารณชนรู้จักเรามากมาย แต่เราก็ไม่ผลิตมันออกมาอีกต่อไป หลายๆ คนก็แบบ เดี๋ยวนะ! ทำไมคุณไม่ทำมันออกมาอีกล่ะ จะได้ทำเงินได้มากๆ ไง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการน่ะนะ” เกเบรียล เวล์ลี่ (Gabriel Whaley) ซีอีโอของ MSCHF กล่าว

ผลงานภาพพิมพ์ L-Isoleucine T-Butyl Ester (2018) ที่ถูกตัดจุดสีออกไปแล้ว แต่ยังมีลายเซ็นของ เดเมียน เฮิร์สต์ อยู่บนกระดาษ, ภาพจาก https://severedspots.com/#purchase-details
ส่วนชื่อของกลุ่มนั้นได้มาจากการที่พวกเขาเป็นแฟนคลับของการสร้างความปั่นป่วน (Mischief) นั่นเอง
ถึงจะบอกว่าเงินไม่ใช่เป้าหมาย แต่ MSCHF ก็ได้รับเงินลงทุนจากผู้ลงทุนภายนอกถึง 11.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา และยังคงตั้งหน้าตั้งตาปล่อยไอเท็มใหม่ๆ ออกมาสร้างความพิศวงงงงวยและตื่นเต้นให้กับเหล่าบรรดาแฟนคลับอย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์.
เข้าไปติดตามผลิตภัณฑ์หลุดโลกของพวกเขาได้ที่ https://mschf.xyz/
อ้างอิงข้อมูลจาก