กลางดึกของค่ำคืนในรัฐเทนเนสซีประเทศอเมริกา คุณครู Misty Heitman ต้องตื่นขึ้นมาเพื่อสอนหนังสือให้กับเด็กนักเรียนชาวจีนที่อาศัยอยู่อีกซีกโลกทางระบบออนไลน์เชื่อมต่อทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันผ่านบริษัทสตาร์ทอัพของจีนชื่อ VIPKID เธออายุ 42 ปี นอกจากงานประจำที่ทำอยู่เธอต้องรับงานตรงนี้เสริมอีกเพราะเป็นหัวแรงหลักในการหาเงินเลี้ยงลูกทั้งหกคน รายได้ค่อนข้างดี เพราะลำพังเพียงเงินเดือนประจำในปัจจุบันสำหรับอาชีพครูนั้นแทบจะเดือนชนเดือนเลยทีเดียว
VIPKID เป็นการตอบสนองความต้องการที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กชาวจีนรุ่นใหม่ (ตอนนี้ได้ขยายตัวออกไปถึง 32 ประเทศแล้ว) การได้นั่งเรียนกับครูเจ้าของภาษาตัวต่อตัวในเวลาที่สะดวก เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองทั้งหลายล้วนต้องการให้กับลูกหลานของตัวเอง และถึงแม้ว่าตอนนี้ยังจำกัดเพียงการสอนภาษาอังกฤษ แต่การประยุกต์ใช้บริการแบบเดียวกันนี้กับภาษาอื่นๆ อย่าง สเปน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ไม่ว่าคุณมีอาชีพเป็นครูหรือทำงานด้านอื่น ตราบใดที่คุณเป็นเจ้าของภาษา (native speakers) และมีเวลาว่างก็สามารถหารายได้พิเศษได้ไม่ยาก มันเป็นโมเดลธุรกิจเดียวกับ Uber เพียงแค่อยู่ในรูปแบบของการศึกษา ซึ่งดูเหมือนว่า VIPKID ถูกสร้างขึ้นมาในเวลาที่เหมาะเจาะทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการเติบโตของตลาดที่รองรับ บริษัทได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากมาย ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา VIPKID ประกาศว่าพวกเขาได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีก 200 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7 พันล้านบาท) จากบริษัทลงทุนขนาดใหญ่อย่าง Tencent เพื่อใช้ในการพัฒนาและขยายธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น VIPKID เป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย Bloomberg คาดการว่าตอนนี้มูลค่าของบริษัทขยับเข้าใกล้ 1,500 ล้านเหรียญเข้าไปแล้ว (ประมาณ 52,500 ล้านบาท) ใช้เวลาเพียง 4 ปีหลังจากก่อตั้งในปี 2013
หลักการคล้ายกับบริการของ Uber และ Lyft ทางบริษัท VIPKID ไม่มีการจ้างครูประจำ ไม่มีการจ่ายเงินเดือน ไม่มีสวัสดิการพิเศษ โดยทางบริษัทรับส่วนแบ่งรายได้จากค่าบริการสอน ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวเชื่อมและให้บริการทางซอฟต์แวร์ระหว่างครูกับนักเรียน เพราะฉะนั้นครูที่ทำงานให้กับบริษัทถือเป็น ’พนักงานว่าจ้างอิสระ’ (independent contractor) แต่นั้นก็เพียงแค่ชื่อเรียกตำแหน่ง เพราะจริงๆ แล้วทางบริษัทเองเป็นคนกำหนดแทบทุกอย่างตั้งแต่อัตราค่าบริการของคลาสที่สอน ลูกค้า แบบเรียนต่างๆ ไปจนถึงข้อกำหนดในการยกเลิกการสอนของครูทุกคนอีกด้วย ถ้าดูกันตามความเป็นจริงแล้วครูเหล่านี้คือพนักงานประจำที่ไม่ได้เซ็นสัญญาและไม่มีอำนาจต่อรองอะไรได้มากนักต่างหาก
เช้าตรู่วันหนึ่งขณะที่ คุณครู Heitman กำลังสอนเด็กชาวจีน ลูกสาววัย 9 ขวบของเธอที่กำลังป่วยด้วยโรคไมเกรนขั้นรุนแรงได้เสียชีวิตระหว่างที่นอนหลับ ความโศกเศร้าจากการจากสูญเสียครั้งนี้ทำให้เธอต้องแคนเซิลการสอนหลายต่อหลายครั้ง
เธอบอกว่า “คืนหนึ่งฉันตื่นขึ้นมาเพื่อจะสอน แต่ก็ไม่สามารถทำได้”
เธอติดต่อทาง VIPKID ถึงเหตุผลที่ไม่สามารถเข้าสอนตามกำหนดได้ ทางบริษัทเองแสดงความเสียใจและบอกว่าไม่เป็นไรตราบใดที่เธอจะเข้าสอนได้ตามปกติในครั้งต่อไป แต่แล้วสุดท้ายเธอก็ถูกปลดออกจากงานด้วยอีเมลฉบับหนึ่งที่ระบุเพียงจำนวนวันที่เธอแคนเซิล เธอโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนกลุ่มเฟซบุ๊กสำหรับครูของ VIPKID กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ครูคนอื่นๆ รู้สึกว่าทางบริษัททำเกินไปกับการไล่ครูคนหนึ่งออกเพราะลูกของเธอเสียชีวิต หลายๆคนเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วแบบนี้ขอบเขตอยู่ตรงไหน ถ้าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างอุบัติเหตุล่ะ พวกเขาก็ต้องถูกไล่ออกเหมือนกันเหรอ?
ทนายความของบริษัทออกมาแสดงความเห็นโดยทั่วไป (ไม่ได้เจาะจงแค่เคสนี้) “ครูทุกคนที่เข้าร่วมทำงานกับ VIPKID มีความสัมพันธ์เป็นพนักงานว่าจ้างอิสะกับบริษัท ซึ่งตรงนี้ทำให้พวกเขามีอิสรภาพในการทำงาน และสิ่งที่บริษัททำไม่ได้ผิดกฏหมาย”
โดยหลังจากเหตุการณ์ของคุณครู Heitman ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ บนโซเชียล ในที่สุดทางบริษัทก็ออกมาขอโทษในสิ่งที่ทำและรับเธอกลับเข้าทำงานเช่นเดิม ซึ่งสำหรับตัวเธอเองก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่เหมือนไฟลามทุ่งที่ไม่มีทางดับง่ายๆ คนอื่นๆ ที่ทำงานอยู่ในบริษัทเดียวกันเริ่มเรียกร้องรวมกลุ่มหยุดงานเพื่อประท้วงบ้าง มีการตั้งกลุ่มต่อต้านบ้าง เพราะพวกเขารู้สึกว่าบริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้กำลังเอาเปรียบแรงงานชาวอเมริกันและใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ที่ไม่ยุติธรรม (เหมือนเหรียญกลับด้าน พายุเปลี่ยนทิศ เพราะไม่นานมานี้ยังเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่เอาเปรียบแรงงานประเทศอื่นอยู่เลย)
จริงอยู่ที่ VIPKID ไม่ใช่บริษัทเดียวที่คลุมเครือเรื่องการบิดเบือนเกี่ยวกับตำแหน่งงานของพนักงานเพื่อประหยัดเงิน แต่เพราะมันเป็นเรื่องความเป็นความตายที่ทำให้ข่าวของคุณครู Heitman กลายเป็นประเด็นสำคัญที่คนกลับมาถกเถียงตั้งคำถามกันอีกครั้งหนึ่ง ในตอนนี้มีครูที่ลงทะเบียนสอนถึงสามหมื่นคน และนักเรียนวัย 4-12 ปี รวมกันถึงสองแสนคน โดยเด็กแต่ละคนลงเรียนประมาณ 2-3 คลาสต่ออาทิตย์ (คลาสละ 25 นาที) โดยถ้าไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน ปีนี้พวกเขาจะสร้างรายได้มากถึง 754 ล้านดอลลาร์ (26,000 ล้านบาท) และมีการวางแผนเอาไว้ว่าจะถูกนำเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นในไม่ช้า แต่ขณะที่บริษัทกำลังเติบโตได้อย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นชนวนเพิ่มความซับซ้อนทางกฎหมายมากมายว่า ตอนนี้ทาง VIPKID จ้างงานพนักงานอย่างถูกต้องแล้วจริงๆ รึเปล่า รวมไปถึงเรื่องภาษีรายได้ของบริษัทและครูที่เป็นพนักงานอิสระอีกด้วย
ถ้าลองยกตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง Uber ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาที่คล้ายกัน ในหลายๆ ประเทศมีการแบน Uber เพราะสร้างความได้เปรียบจากแท็กซี่ท้องถิ่นว่าเป็นรถโดยสารที่รับจ้างล่วงหน้า ผ่านทางแอพมือถือและหลบเลี่ยงการขอใบอนุญาต ไม่ต้องมีป้ายแท็กซี่ ไม่ต้องลงทะเบียน ไม่มีประกันภัยผู้โดยสาร ฯลฯ ซึ่ง Uber ก็ทำแบบนี้มาตั้งแต่วันแรกของการก่อสร้างบริษัท เป็นการท้าทายกฎหมายในทุกที่ที่ประกอบการ
Uber เองก็ดูเหมือนว่าไม่ได้ใส่ใจอะไรมากเท่าไหร่ อย่างที่ในเยอรมัน ศาลแห่งรัฐในเมืองแฟรงก์เฟิร์ตได้สั่งห้ามไม่ให้ Uber ประกอบการ จนกว่าศาลจะสรุปเรื่องกฎหมายความยุติธรรมเกี่ยวกับการจ้างงานแล้วเสร็จ แต่ Uber ก็ทำมึนไม่สนใจและประกอบการต่อไป หรืออย่างในไทยที่ถึงแม้ยังไม่มีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้อง มีการต่อต้านและปัญหามากมาย การถูกล่อซื้อบ้าง การกระทบกระทั่งกับกลุ่มรถแดงในเชียงใหม่บ้าง แต่ผ่านมาสามปีตั้งแต่ Uber เข้ามาในประเทศไทยทั้งจำนวนผู้ใช้และความนิยมก็ดูแต่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลหลักๆ ก็คงเป็นเพราะคุณภาพของระบบแท็กซี่แบบเดิมที่ไม่มีการปรับเปลี่ยน
เมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามกับปัญหาทางด้านกฎหมายของ VIPKID สักเท่าไหร่ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าทางบริษัทเอื้อหนทางในการหารายได้เสริมให้กับอาชีพครูที่ปกติรายได้ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาครูที่สอนต่างยกย่องแบบเรียนการสอนของบริษัทที่สนุกและท้าทายความสามารถของนักเรียน โดยครูสามารถนัดเวลาล่วงหน้าไว้สองสัปดาห์ว่าจะสอนชั่วโมงไหนบ้าง หลังจากนั้นผู้ปกครองเลือกลงทะเบียนว่าอยากให้ลูกเรียนกับครูคนไหน ซึ่งในเวลานี้ครูส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กก็ยังมีความสุขดีกับอาชีพเสริมนี้
หลังจากเกิดกรณีของครู Heitman ขึ้น มีครูหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นและแชร์ประสบการณ์การทำงานของตัวเองให้ฟัง โดยส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์ไปในด้านลบว่า VIPKID ที่จริงแล้วไม่ได้ยืดหยุ่นอย่างที่หลายคนคิด ตามกฎแล้วครูสามารถแคนเซิลคลาสของตัวเองได้ 6 ครั้ง ต่อการเซ็นสัญญาทำงาน 6 เดือน ในคอมเมนต์หนึ่งบนกลุ่มเฟซบุ๊กบอกว่าครั้งหนึ่งเธอปวดหัวจากไมเกรนและมีใบรับรองแพทย์ แต่ตอนนั้นทางบริษัทกลับบอกว่ามันไม่ใช่เหตุผลที่ควรยกเลิกการสอน มีครูอีกคนหนึ่งที่ต้องสอนหลังจากผ่าตัดไส้ติ่งเพียงสองวันเพราะกลัวว่าทางบริษัทจะไม่อนุมัติการขอแคนเซิลคลาส อีกคนหนึ่งมาเสริมต่อว่าเธอต้องสอนบนเตียงโรงพยาบาลหลังจากเพิ่งคลอดลูกเพราะกลัวจะถูกไล่ออก อีกคนยิ่งแล้วใหญ่ เธอต้องแคนเซิลคลาสเพราะอินเทอร์เน็ตที่บ้านเสีย โดยมีหลักฐานยืนยันจากบริษัทผู้ให้บริการอย่างชัดเจน แต่บริษัทกลับตัดสินใจไล่เธอออก เธอพยายามอีเมลกลับไปเพื่ออธิบายอีกครั้ง แต่คำตอบที่เธอได้กลับมาก็ยังเหมือนเดิมว่า “ขอโทษด้วย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
เทคโนโลยีกำลังหมุนพาเราเข้าสู่ยุค sharing economy ยุคที่ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน (รถ บ้าน หรือ ความชำนาญเฉพาะด้าน) นำทรัพย์สินนั้นออกมาหารายได้โดยตรงกับลูกค้า โดยมีบริษัทผู้ให้บริการเป็นกาวเชื่อมระหว่างสองฝ่ายอย่าง AirBnB, Uber, Lyft และ VIPKID
ปัญหาใหญ่โมเดลธุรกิจแบบนี้คือเจ้าของสินทรัพย์ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจ จึงมีอำนาจต่อรองน้อย ในบางครั้งถูกเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเพราะไม่ได้มีการเซ็นสัญญาเป็นพนักงานและไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้เมื่อเกิดปัญหา
ตั้งแต่เด็กมักได้ยินคนพูดว่า “เป็นครูต้องอดทน” เพราะงานทั้งหนัก ค่าตอบแทนต่ำ และมักเป็นอาชีพที่ถูกมองข้ามอยู่เสมอ ไม่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปขนาดไหน คำพูดนี้ก็ยังคงจริงอยู่และดูเหมือนต้องอดทนมากขึ้นด้วยซ้ำ เหมือนอย่างที่ VIPKID บอกกับครูคนหนึ่ง แม้ว่าจะนอนซมป่วยไข้ ถ้ายังสอนได้มันก็ไม่ใช่เหตุผลหนักแน่นพอที่จะยกเลิกชั้นเรียน