ในสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา แต่ผู้นำที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ หนทางที่จะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ในระบอบประชาธิปไตยคงหนีไม่พ้นการเลือกตั้ง อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon Baines Johnson) กล่าวไว้ว่า “การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพที่สุดที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เครื่องมือทำลายล้างความอยุติธรรมและทำลายกำแพงอันน่ากลัวซึ่งกักขังมนุษย์ผู้เห็นต่างเอาไว้”
แต่อาจไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป หากการเลือกตั้งเหล่านั้นเต็มไปด้วยผู้สมัครเข้าชิงที่เป็นพวกเดียวกันหรือแทบไม่มีแนวคิดนโยบายอะไรที่สร้างความแตกต่างให้กับสังคมเหล่านั้นได้
และสิ่งนี้เกิดขึ้นกับประเทศบราซิลในช่วงยุคปี ค.ศ.1950
ย้อนกลับในช่วงยุคปี ค.ศ.1500 หลังจากประเทศบราซิลได้กลายเป็นอาณานิคมของประเทศโปรตุเกส การปกครองของประเทศเป็นแบบระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้ต่อมาบราซิลจะได้รับเอกราชจากโปรตุเกสในปี ค.ศ.1822 แต่การปกครองก็ยังคงเป็นระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1891 บราซิลได้มีการสถาปนาการปกครองแบบใหม่เป็นแบบระบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข แต่ประวัติศาสตร์ต่อจากนั้นของบราซิลก็ไม่ได้ลื่นไหลสวยงาม มีการปฏิวัติมากมาย และการปกครองที่สลับฉากไปมาระหว่างเผด็จการและประชาธิปไตยจนทำให้ประชาชนเอือมระอา
ช่วงเวลาที่จะกล่าวถึง คือช่วงเวลาในยุคสาธารณรัฐที่ 2 (ระหว่างปี ค.ศ.1946-1964) ยุคที่เต็มไปด้วยท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง
การเมืองถูกแยกออกเป็นหลายฝ่าย
และรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ
แม้ในทางทฤษฎีประเทศบราซิลในยุคช่วงหลังจากนั้น จะเป็นระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญก็ตามที แต่สาธารณรัฐเก่าบางแห่งยังคงมีลักษณะอำนาจที่เป็นแบบคณาธิปไตย (ระบอบการปกครองแบบหนึ่งที่อำนาจปกครองกระจุกอยู่แค่คนกลุ่มน้อยของสังคม เช่นกลุ่มทหาร กลุ่มตระกูล กลุ่มปฏิวัติ) โดยเฉพาะเขตสหพันธรัฐเซาเปาลู (หรืออ่านได้อีกชื่อคือเซาเปาโล) ที่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในรัฐมักถูกควบคุมอำนาจโดยกลุ่มเจ้าของพื้นที่เก่า
นั่นทำให้การปกครองที่เปลี่ยนทั้งผู้นำเปลี่ยนทั้งระบบไปมาหลายสิบหลายร้อยปีในสหพันธรัฐเซาเปาลูไม่ค่อยมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงนัก ในช่วงเวลานั้นประชาชนชาวบราซิลในประเทศโดยเฉพาะในเมืองเซาเปาโล เมืองหลวงของรัฐเซาเปาลู เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศบราซิลได้เกิดวิกฤต การปกครองและการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐทำให้ประชาชนต่างขาดแคลนอาหาร มีค่าครองชีพที่สูงติดเพดาน และการทุจริตทางการเมืองที่โจ่งแจ้งและเห็นได้ชัดไปทุกหย่อมหญ้า
เมื่อมีการเลือกตั้งเอาผู้บริหารใหม่ขึ้นมา ก็ไม่ต่างอะไรกับคนเดิมๆ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายคนในตอนนั้นหมดหนทางล้มเหลวกับการรอผู้นำที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ จึงต่างตัดสินใจทำการ ‘ประท้วงการเลือกตั้ง’ เพื่อแสดงความรังเกียจต่อการเลือกตั้งในท้องถิ่น พวกเขาเริ่มต้นด้วยการใส่ถั่วดำลงในซองบัตรลงคะแนนแทนบัตรลงคะแนน จนในปี ค.ศ.1959 อิตาโบไร มาร์ตินส์ (Itaboraí Martins) นักข่าวแห่งหนึ่งในเซาเปาโลมีไอเดียที่จะนำสัตว์ที่เขาชอบมาเป็นตัวแทนของประชาชน
นั่นคือแรดนามว่า ‘คาคาเรโค’
ก่อนที่จะพูดถึงคาคาเรโค แรดไม่ใช่สัตว์ตัวแรกที่มาเป็นผู้สมัคร และไม่ใช่แนวคิดการใช้สัตว์เพื่อเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศบราซิล เพราะเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ ปี ค.ศ.1955 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากชุมชนอุตสาหกรรม ในจาโบเตา เมืองในรัฐเปร์นัมบูโก ประเทศบราซิล ต่างโหวตเลือกตั้งแพะตัวหนึ่งที่ชื่อว่าเฟรแกรนท์ (Fragrant) ให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลคนใหม่ เพื่อแสดงออกถึงความรังเกียจต่อระบอบการปกครองของสภาเมืองในช่วงเวลานั้น และเป็นไปได้ว่า อิตาโบไร มาร์ตินส์ ได้แรงบันดาลใจมากจากแพะตัวนี้จึงได้นำมาสู่การเสนอชื่อคาคาเรโคเข้าสู่การเลือกตั้ง
คาคาเรโค (Cacareco) ภาษาโปรตุเกสแปลว่า ‘ขยะ’ แรดดำเพศเมียวัย 5 ขวบที่อาศัยอยู่ในสวนสัตว์ท้องถิ่นเซาเปาโล มันถูกยืมตัวมาจากสวนสัตว์ในรีโอเดจาเนโรเพื่อให้ประชาชนได้ยลโฉมสัตว์ที่หาดูได้ยากในแถบนั้น คาคาเรโคกลายเป็นขวัญใจประชาชนอย่างรวดเร็ว ชื่อของมันที่ดูจะติดหูถูกพูดกันมากมาย จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของไอเดียแนวคิดประท้วงการเลือกตั้งของอิตาโบไร มาร์ตินส์
เมืองเซาเปาโล ในช่วงเวลานั้นมีประชากรราว 3,650,000 คน ซึ่งเยอะที่สุดในประเทศบราซิล ได้มีการประกาศเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองซึ่งจะเลือกตั้งในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.1959 มีผู้สมัคร 540 คน จากที่นั่งในสภาทั้งหมด 45 ที่นั่ง และคนที่ได้คะแนนสูงอันดับ 45 คนแรกก็จะได้ตำแหน่งนี้ไป
อิตาโบไร มาร์ตินส์ ได้เริ่มปล่อยแนวความคิดนี้ เขาไม่พอใจกับผู้สมัครแม้แต่คนเดียว กลุ่มนักศึกษาและนักเรียนที่เห็นด้วยก็ได้ร่วมจับมือกันหาทางใส่ชื่อคาคาเรโคไปทันที พวกเขาและมาร์ตินส์ได้ทำการพิมพ์บัตรลงคะแนนใหม่ที่แทรกชื่อของคาคาเรโคจำนวน 200,000 ใบลงไป และแจกจ่ายให้กับประชาชนที่สนใจ
ตามด้วยการประกาศหาเสียงด้วยนโยบายที่ว่า
“เลือกแรดดีกว่าลา” (ลาในที่นี้หมายถึงคนโง่)
เมื่อถึงวันเลือกตั้งนับคะแนน เป็นที่เหลือเชื่อว่าคาคาเรโคได้รับคะแนนสูงที่สุดอันดับหนึ่ง จากคะแนนเสียงกว่า 100,000 คน ข่าวแรดผู้ชนะการเลือกตั้งนี้โด่งดังไปทั่วโลก และคะแนนของเธอยังคงติดอันดับผลรวมสูงสุดของผู้สมัครท้องถิ่นในประวัติศาสตร์ของบราซิลจนถึงทุกวันนี้ ทางด้านผู้อำนวยการสวนสัตว์ที่ดูแลคาคาเรโค ผู้ได้รับชัยชนะเหนือคนกว่า 540 คน ก็รีบออกมาแสดงความเห็นว่าเขาจะขอให้สภาเซาเปาโลจ่ายเงินเดือนสมาชิกสภาให้กับคาคาเรโค
แต่แน่นอนว่าแม้คะแนนจะมากขนาดไหน สุดท้ายแล้วเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งก็ได้ประชุมหารือกัน และสรุปสุดท้ายว่าการลงคะแนนในบัตรลงคะแนนให้กับเธอเป็นโมฆะทั้งหมด
คาคาเรโค ถูกย้ายไป โปร์ตูอาแลกรีเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐฮิวกรังจีดูซูว ประเทศบราซิล จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยในปี ค.ศ.1962 กระดูกของเธอยังคงจัดแสดงอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางความเสียใจของประชาชนชาวบราซิล แต่ความทรงจำจากประท้วงด้วยการใช้ชื่อเธอยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
คำว่า “Voto Cacareco” “โหวต คาคาเรโค” กลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงการลงคะแนนเสียงเพื่อการประท้วง อีกทั้งเธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้ก่อตั้งพรรคแรดแห่งแคนาดา ในประเทศแคนาดา ซึ่งสมาชิกได้แต่งตั้งแรดคอร์นีเลียสเป็นหัวหน้าพรรคของพวกเขา
การเลือกตั้งในครั้งนี้ทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักวิชาการในบราซิล นักสังคมวิทยาคนหนึ่งอธิบายว่ามันเป็น “ปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญทางสังคมวิทยามากที่สุด และกังวลว่าสิ่งนี้จะบ่งชี้ว่าบราซิลกำลังอยู่ในจุดที่เกิดการปฏิวัติ”
และนักวิชาการก็พูดถูก หลังจากนั้นการเมืองในประเทศบราซิลก็เริ่มสั่นคลอน ทหารเริ่มเข้ามาแทรกแซงการเมืองมากขึ้น และมีความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกเลิกการบริหารด้วยประธานาธิบดีและแก้ไขระบบรัฐสภาของรัฐบาล จนสุดท้ายกลุ่มทหารได้เข้าการยึดอำนาจประธานาธิบดี และคณะรัฐประหารได้ปลด โจอาว กูลาร์ต (João Goulart) ประธานาธิบดีในตอนนั้นออกจากตำแหน่ง และเริ่มยุคสมัยที่เรียกว่า “สมัยกองทัพ” ในปี ค.ศ.1964 ที่ทหารปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการยืดยาวไปอีก 21 ปี จนกลับมาเป็นยุคสาธารณรัฐใหม่ที่บราซิลกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1985 จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นมา กองทัพก็ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของนักการเมืองพลเรือน โดยไม่มีบทบาททางการในการเมืองภายในประเทศ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Shady Business: Corruption in the Brazilian Army before 1954