เราเสียเวลาไปมากแค่ไหนให้สื่อออนไลน์ในสังคมก้มหน้าที่เราอยู่กันทุกวันนี้?
จากสถิติการใช้โซเชียลมีเดียของคนทั่วโลกพบว่า พนักงานบริษัทใช้เวลากว่า 12% ของเวลาทำงานในการเข้าแอพพลิเคชั่นที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน
12% ที่ว่าคิดเป็น 65 ชั่วโมงต่อเดือนที่บริษัทต้องสูญเวลาโดยเปล่าประโยชน์ไปกับการเล่นเฟซบุ๊ก เกม ทวิตเตอร์ ไอจี และอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำแต่อย่างใด
จากข้อมูลของบริษัท DeskTime ผู้ผลิตแอพฯ ติดตามการทำงานของผู้คนพบว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลาเอ้อระเหยไปกับการติดเน็ตมากสุด คือ 43% ของเวลางาน รองลงมาคือการเมาท์มอยกับเพื่อนร่วมงาน 33% ทำภารกิจส่วนตัว 30% ใช้โทรศัพท์เพื่อการส่วนตัว 19% และสุดท้ายคือการเบรกกินอาหารกลางวันยาวๆ ประมาณ 15%
แน่นอนว่า การติดสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้เป็นเรื่องแย่เสมอไป เนื่องจากบางครั้งเราก็ใช้สื่อเหล่านั้นในการติดต่อกับลูกค้า ขายของ ขายภาพลักษณ์กันไป โดยจากงานวิจัยก็พบว่า การให้พนักงานบริษัทเข้าโซเชียลมีเดียบ้างก็มีส่วนเพิ่มผลผลิตการทำงานอยู่เช่นกัน
คราวนี้ลองเขยิบมาดูในรายละเอียดของเนื้อหาการใช้สื่อสังคมออนไลน์กันบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยไม่เคยพ่ายแพ้ใดๆ ในเรื่องเน็ต จากสถิติปีล่าสุด พบว่าไทยมีพลเมืองติดโซเชียลมีเดียเป็นอันดับ 8 ของโลก
จากรายงานของนิตยสาร Gulf Business เฉลี่ยระยะเวลาการเสพสื่อออนไลน์ของคนไทยต่อวันเกือบ 3 ชั่วโมง นั่นหมายถึงในปีหนึ่งๆ เราก้มหน้า เทเวลาให้กับสังคมออนไลน์ 1,095 ชั่วโมง หรือ 45 วัน
หากเป็นเช่นนั้น 45 วันที่ว่าเราหายไปกับอะไรบ้าง ?
การก้มหน้าจมจ่อมเข้าสู่โซเชียลมีเดียของคนไทยส่วนใหญ่วนเวียนกับดราม่าหน้าจอ รอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมาพีกตั้งแต่นักแสดงโปรโมตละครด้วยประเด็นข่มขืน ตามมาด้วยนักร้องพูดความจริงกับประเทศเรื่องบริการ ขสมก. ไปจนถึงวิวาทะจุฬาโชมอนจากกรณีล็อคคอนิสิต ซึ่งต้องการหาสาระความจริงที่จะนำไปสู่การยุติปัญหาทางสังคมอย่างเป็นระบบ
ไวรัลออนไลน์เหล่านี้กระตุ้นอารมณ์ให้คนในสังคมไทยอยากขยับมือขยับไม้เข้าไปก่นด่า แสดงความเห็นของตน ออกล่าแม่มดในโลกออนไลน์ดูจะเป็นความสะใจรายวันที่ถูกจริต ‘หมาหมู่’ แบบเก่งแต่ในมุ้งของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง แล้วเมื่อผสมโรงกับบรรดาไทยมุงในโลกออนไลน์ ที่พร้อมจะแซะ เชียร์ ด่า ก็ยิ่งเพิ่มความนิยมให้ข่าว ซึ่งก็ช่วยฆ่าเวลาพร้อมกับสะใจกันไปถ้วนหน้าแบบวันต่อวัน ชนิดที่ว่า ‘ความวัยยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก’
อาการไวรัลรายวันเช่นนี้ย่อมกระทบต่อการรับรู้ข่าวสารของคนไทย ที่ข่าวๆ นึงมักถูกกลบทับด้วยกระแสของอีกข่าวนึง จนไม่สามารถโฟกัส แก้ปัญหาที่มาที่ไปของเรื่องใดๆ ได้อย่างถึงรากถึงโคน เพราะท้ายสุดเดี๋ยวเรื่องก็เงียบ จนให้ที่เรามักพูดกันว่า ‘คนไทยลืมง่าย’ อาจเกิดจากวัฒนธรรมการสื่อสารของเราที่มีกระบวนการทำให้เราไม่เคยถอดบทเรียน และไม่สามารถมีพื้นที่ความจำได้อะไรยาวๆ ได้นั่นเอง
เมื่อขยับมามองประเทศอื่น ที่เป็นตัวท็อปติดสื่อสังคมออนไลน์งอมแงมพอๆ กับบ้านเรา ก็ดูจะวนเวียนอยู่ในประเทศแถบ อาเซียนกับละตินอเมริกาได้แก่ ฟิลลิปปินส์ เม็กซิโก อาเจนตินา เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย รวมไปถึงบราซิล ซึ่งไม่มีประเทศไหนในลิสต์จัดกลุ่มอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าที่ได้รับการยอมรับว่าพัฒนาแล้วแต่อย่างใด
นั่นอาจแปลได้ว่าความเจริญทางเทคโนโลยีไม่ได้มาพร้อมกับความศิวิไลซ์ของสังคมเสมอไป เพราะมือถือรุ่นใหม่ที่จับต้องได้เป็นเพียงแค่เปลือกของความศิวิไลซ์ หากแต่เนื้อหาสาระที่อยู่ข้างในนั้นต่างหากคือตัวต่อยอดการพัฒนาวิธีคิดและความเป็นเหตุเป็นผลของสังคม ซึ่ง ณ จุดนี้หากสังคมไหนยังคงบริโภคเนื้อหาขาดสาระที่ไม่นำไปสู่ความบรรเจิดทางปัญญาของสังคม สังคมนั้นๆ ก็หนีไม่พ้น ‘ความโง่ จน เจ็บ’ ในแบบเดิม ๆ ที่เราเคยเป็นอยู่ก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ต
แน่นอนว่าเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์เกิดจากคนธรรมดาที่เล่นมือถือ ในแบบ User-generated content ซึ่งจะไปคาดหวังความเอาจริงเอาจังและความน่าเชื่อถือจากเนื้อหาเหล่านี้คงไม่ได้ แต่เมื่อสื่อกระแสหลักเองยังตกเป็นเครื่องมือของสื่อโซเชียลเหล่านี้ โดยสมยอมกับการดราม่าตามกระแส รวมถึงร่วมแชร์ ร่วมสร้างไวรัลไปกับเข้าด้วยแล้วละก็ ทางเลือกของเนื้อหาที่คนไทยเสพคงวนเวียนกับการป้อนดราม่าและฆ่าเวลาด่าทอคนอื่นเพื่อความสะใจไปวันๆ
อาการเสพติดสังคมออนไลน์กับความไร้แก่นของเนื้อหาที่เถียงกันแล้วเถียงกันอีก ซึ่งเดี๋ยวมันจะเวียนกลับมาไม่ช้าก็เร็ว เหมือนภัยแล้งกับน้ำท่วมที่วนมาหาเราทุกปี คือวงจรของกับดักสังคมสารสนเทศแบบแดกด่วน ที่รอวันผู้บริโภคดราม่าจุกอกตาย