คุณว่าเรื่องไหนอันตรายกว่ากันครับ – ระหว่างเรื่อง ‘นาฬิกาเพื่อน’ กับเรื่อง ‘เลื่อนเลือกตั้ง’
เรื่อง ‘นาฬิกาเพื่อน’ นี่ จริงๆ ต้องบอกว่าเป็นมหากาพย์เลยนะครับ เพราะมันยาวนานมาก เริ่มต้นตั้งแต่แดดแยงตาคุณประวิตรเมื่อต้นเดือนธันวาคมปลายปีที่แล้ว จนล่วงเลยมาป่านนี้กินเวลากว่าหนึ่งเดือนครึ่งแล้ว – ก็ดูเหมือนยังไม่จบ
ที่จริงเรื่องนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่เท่าไหร่นะครับ ถ้าคนที่ถูกตั้งข้อสงสัยอย่างคุณประวิตร สามารถออกมา ‘ชี้แจง’ ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลตั้งแต่ต้น แต่ข้อสงสัยที่สังคมไทยมีต่อกรณีนี้มีหลายต่อหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ทำไมนาฬิกาพวกนี้ถึงได้ไม่มีอยู่ในบัญชีทรัพย์สิน ทั้งที่มันเป็นนาฬิกาหรูราคาแพง ไปจนถึงท่าทีของผู้ที่ควรจะลุกขึ้นมาตรวจสอบอย่างแข็งขันอย่าง ป.ป.ช.
ถ้าตั้งแต่เดย์วัน คุณประวิตรออกมาบอกว่า – อ๋อ, ไม่มีอะไร พวกคุณอย่าไปใส่ใจมันมากสิ ผมแค่ยืมเพื่อนมาใส่ ก็อาจจะมีคนเชื่อมากกว่านี้นะครับ เพราะเป็นการตอบทันทีทันควัน แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น กว่า ‘เหตุผล’ ข้อนี้จะหลุดร่วงออกจากปากมา ก็กินเวลาหลายวัน
วันที่ยกมือบังแดดนั้น คือวันที่ 4 ธันวาคม 2560 (ดูรายละเอียดที่ today.line.me) ทำให้คนเริ่มตั้งข้อสงสัย วิพากษ์วิจารณ์กันว่าทำไมนาฬิกาและแหวนจึงไม่อยู่ในบัญชีทรัพย์สิน
แต่จนถึงวันที่ 12 ธันวาคม ก็ยังมีรายงานข่าวว่า คุณประวิตรตอบว่า – ไม่รู้, อยู่เลย
ส่วนท่าทีของ พล.อ.ประวิตร แม้จะพยายามเลี่ยงตอบคำถามสื่อมวลชนมาหลายวัน แต่หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ถูกสื่อรุมถามถึงที่มาของนาฬิกาและแหวนอีกครั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่อยากให้ พล.อ.ประวิตร ชี้แจงจากบทความของคอลัมนิสต์ที่อ้างว่า “แหวนเป็นของแม่ และนาฬิกา เป็นของยืมเพื่อนมา” ว่าเป็นข้อชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร ต่อ ป.ป.ช.จริงหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร บอกเพียงว่า ยังไม่ได้ส่งคำชี้แจงใดๆ ต่อ ป.ป.ช. ส่วนนาฬิกาและแหวน เป็นของใคร ตอบเพียงสั้นๆว่ า “ไม่รู้” (ดูได้ที่ www.pptvhd36.com)
แต่หลังจากนั้น สิ่งที่คุณประวิตรเคย ‘ไม่รู้’ ก็กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ และแม้จะผ่านปีใหม่และเหตุการณ์ต่างๆ มาอีกมากมาย ทว่าเรื่อง ‘แหวนแม่ – นาฬิกาเพื่อน’ ก็ไม่เคยหลุดออกไปจากความสนใจของสื่อและผู้คนทั่วไปเลย อาจเพราะเพจดังบางเพจได้พยายาม detect นาฬิกาขอคุณประวิตรที่พบเห็นจากภาพถ่ายเก่าๆ กระทั่งพบว่ามีนาฬิกาเรือนอื่นๆ ราคาแพงๆ อีกมากกว่ายี่สิบเรือน
ที่สำคัญ ท่าที ‘อ้ำๆ อึ้งๆ’ ของหน่วยงานที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. ก็ยิ่งเป็นเหมือนการราดน้ำมันลงไปในกองไฟ ทำให้ข่าวคราวเรื่องนี้ไม่หายไปเสียที แถมสื่อต่างประเทศยังหยิบไปเล่นอีก (พูดตรงๆ อย่าโกรธกันนะครับคุณประวิตร – ก็เนื้อหาข่าวมันตลกเรียกคนดูได้เยอะนี่นา จะเรียกว่าเป็น Farce News ก็ยังได้ เพราะการที่คนระดับผู้นำประเทศใช้วิธีปฏิเสธแบบนี้ ในด้านหนึ่งคนที่มองคุณประวิตรในแง่ร้ายอาจจะไม่เชื่อก็ได้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง นี่ถือเป็นคำอธิบายที่ ‘น่ารัก’ ดีนะครับ เพราะเหมือนคำอธิบายของเด็กๆ ที่ถูกจับได้ว่าทำอะไรผิดแล้วโบ้ยไปให้เพื่อนช่วย ฟังดูเหมือนเป็นคำตอบที่ไม่มีกุนซือการเมืองไหนมาให้คำแนะนำจนน่าเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ)
หลังเหตุการณ์ ‘นาฬิกาเพื่อน’ ได้ไม่นาน มี ‘ข่าวใหญ่’ อีกข่าวหนึ่งเกิดขึ้น
นั่นคือคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณราร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. (หรือเรียกว่า กมธ.) มีมติให้แก้ไขมาตรา 2 ของกฎหมายนี้ ซึ่งว่ากันว่าผลลัพธ์ของมันคือจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก 3 เดือน นั่นแปลว่าจะไม่มีการเลือกตั้งในปี 2561 นี้ ทำให้หลายคน (โดยเฉพาะคนที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘นักการเมือง’) ออกมาตั้งคำถาม (อย่างคนมองโลกในแง่ร้ายเหลือเกิ๊น) ว่า นี่คือแผนการอะไรหรือเปล่า ปูทางเพื่อสืบทอดอำนาจให้ใครหรือเปล่า อะไรต่างๆ
แน่นอน สองข่าวนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกันโดยตรง เพราะนาฬิกาเพื่อนคงไม่ได้ทำให้เลื่อนเลือกตั้ง หรือเลื่อนเลือกตั้งก็คงไม่ได้ทำให้เพื่อนเอานาฬิกามาให้ยืมเพิ่ม แต่ที่ผมคิดว่าสองเรื่องนี้น่าสนใจเอามากๆ ก็คือ ‘ปฏิกิริยา’ ของคนในสังคมไทยต่อสองเรื่องนี้
เท่าที่ดูจากสื่อหรือปฏิกิริยาของคนทั่วไป ผมคิด (ซึ่งอาจจะผิดก็ได้นะครับ) ว่าคนรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนกับกรณีนาฬิกาเพื่อนมากกว่ากรณีของการเลื่อนเลือกตั้ง
ไม่ว่าจะไปวงไหน เรื่องนาฬิกาเพื่อนเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องหยิบยกมาถกเถียงเสมอ แต่ถ้าเป็นเรื่องเลื่อนเลือกตั้งนี่ ไม่ว่าจะจิบไวน์ไปกี่แก้ว กระดกเบียร์ไปกี่กระป๋อง วิ่งรอบสวนลุมฯ ไปกี่รอบ – ก็ไม่ค่อยเคยเห็นใครหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเดือดเป็นร้อนกันเลย
แถมบางคนยังบอกด้วยว่า – เลื่อนไปอีกหกเดือนก็ยังได้ เพราะบ้านเมืองยังไม่ค่อยปกติเท่าไหร่ ที่สำคัญ พวก ‘นักการเมือง’ จะได้ยังไม่เข้ามาครองอำนาจ
หือ?
เหรอ?
แน่นอน ‘การเลือกตั้ง’ ไม่เท่ากับ ‘ประชาธิปไตย’ แต่ประชาธิปไตยไม่มีการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งคือพื้นฐานสำคัญของการที่สังคมหนึ่งๆ จะลุกขึ้นมาเป็นประชาธิปไตย ผู้คนได้ใช้สิทธิของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยการออกไปลงคะแนนเลือกใคร หรือกระทั่งนั่งอยู่บ้านเฉยๆ ในวันเลือกตั้ง ก็ยังถือว่าเป็นการเลือกไม่ใช้สิทธิ (ซึ่งสำหรับผม – มันคือการใช้สิทธิแบบหนึ่ง)
มีคนค่อนขอดว่า การเลือกตั้งคือประชาธิปไตยสี่นาที คือเป็นสี่นาทีที่ไปกาบัตรแล้วหย่อนลงกล่อง แต่ที่จริงแล้ว ในประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย เราจะเห็นว่าหลายประเทศ (ยกตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร) เขามีการเลือกตั้งบ่อยครั้งมากทีเดียว แต่เราอาจจะไม่รู้ อย่างในสหรัฐอเมริกา เวลามีการเลือกตั้งอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเลือกตั้งประธานาธิบดี สื่อไทยก็ไม่ค่อยประโคมโหมข่าวเท่าไหร่ หรือถึงประโคม คนไทยก็ไม่สนใจอยากรู้อยู่ดี แต่โดยเฉลี่ยแล้ว สหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้งต่างๆ นานาในระดับประเทศบ่อยถึงราวสองปีครั้งนะครับ
หรือในประเทศแถบยุโรป นอกจากจะมีการเลือกตั้งบ่อยแล้ว เขายังมีการทำ ‘ประชามติ’ บ่อยด้วย โดยประชามติที่ว่าอาจจะมีตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ อย่างการแยกประเทศ (อย่างที่เราเห็นสกอตแลนด์ทำ ส่วนของสเปนมีความซับซ้อนอีกแบบหนึ่ง แต่ก็เป็นการลงประชามติอีกเหมือนกัน) ไปจนกระทั่งเรื่องที่ดูเล็กน้อยสำหรับคนนอก แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนใน เช่นในสวิตเซอร์แลนด์ มีการทำประชามติกันปีละหลายครั้งด้วยเรื่องต่างๆ นานา ที่คนนอกอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งก็ได้ แต่สำหรับคนในแล้วไม่ใช่
การทำประชามติก็คล้ายการเลือกตั้งนั่นแหละครับ มันคือการ ‘บริหารอำนาจ’ ของคนที่เป็นประชาชน มันคือการเรียกร้องให้ผู้คนลุกขึ้นมาเป็น Active Citizen คือเป็นคนที่กระตือรือร้นต่อการทำงานของผู้มีอำนาจอย่างรัฐ เป็นการ ‘บอก’ ในฐานะผู้ที่เป็นเจ้าของประเทศด้วยเหมือนกัน – ว่าอะไรคือสิ่งที่ ‘ฉัน’ อยากได้ และอะไรคือสิ่งที่ ‘ฉัน’ ไม่อยากได้
ทีนี้ ‘ถ้า’ (ผมใช้คำว่า ‘ถ้า’ นะครับ เพราะไม่ได้ไปทำโพลสำรวจมาอย่างเป็นหลักเป็นเกณฑ์จริงๆ) ถ้าสังคมไทยของเราสนใจข่าว ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ น้อย (อย่างน้อยก็น้อยกว่าสนใจข่าว ‘นาฬิกาเพื่อน’ ละน่า) มันก็ย่อมไม่ได้แสดงให้เห็นอะไรเลย นอกจากคือสัญญาณบ่งชี้ว่า – เราไม่สนใจการเลือกตั้งเท่าไหร่ เลือกก็ได้ ไม่เลือกก็ได้ มีให้เลือกก็ดี แต่ถ้า ‘เขา’ (ซึ่งในที่นี้คือใครก็ไม่รู้) ไม่อยากให้เลือก ยังไม่เลือกก็ได้ จะปูพื้นฐานหาวิธีให้ ‘พรรคทหาร’ เข้าสู่อำนาจนานสักหน่อยก็ไม่เป็นไร ดีเสียอีก ลุงตู่จะได้อยู่ต่อไปเรื่อยๆ เพราะลุงตู่เป็นคนดี
แต่ไม่เอาลุงป้อมนะ – บางเสียงแว้ดตวาดสอดแทรกเข้ามา
อ้าว! ทำไมล่ะครับ
ถ้าเราสนใจข่าว ‘นาฬิกาเพื่อน’ มากกว่า ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ ก็เป็นไปได้นะครับ ว่าเราสนใจสิ่งที่เป็น ‘พื้นฐาน’ ของประชาธิปไตย (คือการเลือกตั้ง) น้อยกว่าการพยายามกำจัดคอร์รัปชั่นออกไปจากสังคม
เรื่องนาฬิกาเพื่อนนั้นเป็นเรื่องระดับ ‘จุลภาค’ คือเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล ลุงตู่ก็พูดถูกอยู่ ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าผลการสอบมันออกมาว่าผิดก็ต้องผิด แต่ถ้าไม่ผิดก็เป็นอีกเรื่อง (ทั้งนี้โดยมีสมมุติฐานอยู่ว่า การสอบนั้นเป็นไปอย่างโปร่งใสไร้อำนาจคุกคามใดๆ ด้วยนะครับ – ซึ่งหลายคนก็บอกว่าจะเป็นไปได้เหรอลุง!)
แต่ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับ คือแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องส่วนตัวก็จริงอยู่ แต่บังเอิญเป็นเรื่องส่วนตัวของคนที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐ แล้วเป็นการ ‘เข้ามา’ โดยไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง แปลว่าไม่ได้เข้ามาอย่างเป็นประชาธิปไตยด้วย
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เรื่อง ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ ไม่ใช่เรื่องระดับจุลภาค มันเป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร เป็นเรื่องของการเลื่อนสิ่งที่ (ขอใช้ภาษาอังกฤษว่า) supposed to be ‘โครงสร้าง’ ใหญ่ของสังคมไทย เพราะอย่างที่บอก – การเลือกตั้งคือพื้นฐาน คือหมุดหมาย คือการประกาศ ‘เจตนารมณ์’ ของผู้คนในแผ่นดินนี้ ว่าต้องการมอบอำนาจในมือของตัวเองให้ใคร ไม่ใช่ถูกใครใช้เงื่อนไขต่างๆ มา ‘ปล้น’ อำนาจไปจากมือของตัวเอง แล้วก็คิดว่าจะทำอะไรอย่างไรก็ได้
ความย้อนแย้งจึงอยู่ที่ว่า เราไม่ยักเดือดเนื้อร้อนใจกับ ‘เรื่องใหญ่’ เท่าไหร่ แต่กลับเดือดเนื้อร้อนใจเหลือหลายกับ ‘เรื่องเล็ก’
แต่ที่ย้อนแย้งมากไปกว่านั้นอีกชั้นหนึ่งก็คือ ไอ้เจ้า ‘เรื่องเล็ก’ ที่ว่า มันก็เป็นผลพวงมาจาก ‘เรื่องใหญ่’ ด้วยนี่แหละครับ แต่หลายคนดูเหมือนจะไม่อยากคิดแบบนั้นสักเท่าไหร่
พูดกันแบบตรงไปตรงมา ที่คนเดือดเนื้อร้อนใจเรื่อง ‘นาฬิกาเพื่อน’ กันมาก เป็นเพราะคนเหล่านี้มีสำนึกที่ดีงามอย่างหนึ่งร่วมกัน นั่นก็คือสำนึกของการพยายาม ‘กำจัด’ คอร์รัปชั่นออกไปจากสังคมไทยให้ได้
ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร ‘ข้ออ้าง’ ที่สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารก็คือ ผู้มีอำนาจในเวลานั้นๆ ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ จึงต้องทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มผู้มีอำนาจดังกล่าวลง และดังนั้น คนที่ทำรัฐประหารจึงถูกคาดหมายว่าจะต้องบริสุทธิ์โปร่งใส เป็นคนใจซื่อมือสะอาดไปด้วย
แต่ดูเอาเถิด อยู่ไปอยู่มา ดันแสดงให้เห็นถึงมีสำนึกวัตถุนิยมชอบใส่ข้าวของราคาแพง แถมยังไม่มีของเหล่านี้อยู่ในบัญชีทรัพย์สินอีก ต่อให้ขอยืมเพื่อนมา (ซึ่งถ้าเพื่อนให้ยืมด้วยความสิเน่หาย่อมไม่ใช่เรื่องผิด เพราะไม่ใช่ของของตัวเอง จะเอาไปแจ้งในบัญชีทรัพย์สินได้อย่างไรกันล่ะ – ปัดโธ่!) ก็ยังถือว่าไม่ค่อยจะได้ ‘มาตรฐานศีลธรรม’ (Moral Standard) ตามแบบและเบ้าของ ‘คนดี’ ในอุดมคติเอาเสียเลย
เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ที่ ‘ยอมไม่ได้’ ของใครหลายคน
ที่จริง การ ‘รับไม่ได้’ กับการคอร์รัปชั่น และพยายามกำจัดมันออกไป (หรือป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น) ผ่านกระบวนการ ‘ตรวจสอบ’ จากมวลมหาประชาชน เช่นจากสื่อออนไลน์ที่ใช้วิธี crowdsourcing ให้คนที่ชำนาญการเรื่องนาฬิกาจากที่ต่างๆ มาให้ข้อมูลว่าเรือนไหนเป็นแบรนด์ไหน ฯลฯ ถือเป็นเรื่องที่ดีเอามากๆ และ ‘ดี’ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยด้วย เพราะมันทำให้ ‘นักการเมือง’ (ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็นนักการเมืองหรือไม่ก็ตาม) ต้องพึงสังวรเอาไว้ว่า นับแต่นี้ต่อไป คนที่มีอำนาจจะไม่ได้ถูกตรวจสอบจากสื่อแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่ ‘สื่อใหม่’ นี่แหละ ตรวจสอบได้เจ็บแสบลึกซึ้งถึงก้นบึ้งของความจริงมากกว่า
การพยายามกำจัดคอร์รัปชั่นนั้นดีแน่ๆ เพราะมันแสดงถึงมาตรฐานศีลธรรมที่สูง เป็นกระบวนการ ‘ตรวจสอบ’ อย่างหนึ่ง และมาตรฐานศีลธรรมที่สูงที่มาคู่กับกระบวนการตรวจสอบนั้น ถึงอย่างไรก็ต้องนับว่าเป็น ‘คุณค่า’ (value) อย่างหนึ่ง
การเป็นสังคมคนดีเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาก็คือ ผมได้ยินว่าหลายคนมองว่า – เรื่องคอร์รัปชั่นอย่างการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน (ซึ่งต้องเน้นว่า – ยังไม่ได้บอกนะครับว่าคุณประวิตรทำผิด อันนั้นต้องรอผลสอบของ ป.ป.ช. ซึ่งก็มีเงื่อนไขของกลไกอำนาจที่ซับซ้อนอีก) เป็นเรื่องคอร์รัปชั่นแบบเดิมๆ (เขาใช้คำว่า Conventional Corruption) ในขณะที่การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย อย่างนโยบายจำนำข้าวนี่ ถือเป็นคอร์รัปชั่นที่มีนวัตกรรม (เขาใช้คำว่า Innovative Corruption) ดังนั้นถ้า ‘ต้องเลือก’ ระหว่างเลื่อนการเลือกตั้งกับการกำจัดคอร์รัปชั่นแบบดั้งเดิมเฉพาะหน้าออกไปก่อน ก็ขอเลือกอย่างหลัง เพราะเป็นไปได้ที่หากมีการเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์ก็จะซ้ำรอยเดิมก่อให้เกิด Innovative Corruption ใหม่ๆ ที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันขึ้นมา สำหรับคนที่คิดแบบนี้ การเลื่อนเลือกตั้งจึง ‘ไม่เป็นไร’ ในขณะที่เรื่อง ‘นาฬิกาเพื่อน’ เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้
ผมคิดว่า วิธีคิดแบบนี้ทั้งน่าสนใจและมีปัญหาในตัวเองอยู่ไม่น้อยนะครับ เพราะวิธีคิดแบบนี้กำลังทำให้ ‘คุณค่า’ (value) สองอย่าง มาขัดแย้งปะทะกันเอง นั่นคือ ‘คุณค่าของความเป็นคนดี’ กับ ‘คุณค่าของประชาธิปไตย’ (ผ่านการเลือกตั้ง) ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย เพราะที่จริงสองอย่างนี้ไม่ควรจะขัดแย้งกัน แต่ถ้ามันขัดแย้งกัน ก็แปลว่าสังคมนี้กำลังมีปัญหาอะไรบางอย่าง
คุณค่าของความเป็น ‘คนดี’ นั้น มักจะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) เรียกว่าเป็น The Righteous Mind อยู่ด้วย
The Righteous Mind นั้น พูดให้ง่ายที่สุด ก็คือสำนึกถึงความเป็น ‘คนดี’ ที่ไม่หลากหลาย นั่นคือยึดมั่นอยู่กับกรอบกรงและต้นทุนเดิมของตัวเอง จนมักมองไม่เห็นปัญหาที่กว้างออกไป มักคุ้นชินกับการมองปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ และใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ คนที่ใช้ The Righteous Mind ไม่ใช่คนที่ไร้เหตุผลนะครับ พวกเขามีเหตุผล แต่มักจะใช้ ‘ข้อเสนอ’ (arguments) ของตัวเองเพื่อสนับสนุน ‘ข้อสรุป’ (conclusions) โดยไม่รู้ตัว โดยใช้เหตุผลมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับข้อเสนอ (ที่มีข้อสรุปอยู่ในตัวเองพร้อมสรรพอยู่แล้ว) อีกต่อหนึ่ง
สังคมคนดีจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ก็เพราะยึดมั่นอยู่แต่กับ The Righteous Mind แห่งความเป็นคนดีของตัวเอง โดยไม่มีความสามารถหรือความกล้าหาญพอจะแหกตัวเองออกมาจากกรอบกรงเดิมๆ เพื่อเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างหลากหลายอันเป็นหัวใจของประชาธิปไตย ที่ซึ่งผู้คนอาจสำแดงให้คนอื่นเห็นความแตกต่างหลากหลายผ่าน choices หรือ ‘การเลือก’ ในระดับต่างๆ โดยไม่ต้องถูกกรอบกรงของคนอื่นมากีดกั้น
การเรียกร้องให้คุณประวิตรออกจากตำแหน่งนั้น พอจะพูดได้อยู่ว่าเป็นเสียงเรียกร้องที่เกิดจากกระบวนการประชาธิปไตยแบบหนึ่ง เพราะมันคือ ‘เสียงส่วนใหญ่’ ที่ผู้คนเข้ามา ‘แทรกแซง’ (intervene) การเมืองโดยตรงผ่านการตรวจสอบ ซึ่งบางคนอาจเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็ได้
แต่ปัญหาก็คือ เนื่องจากสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมนี้ เกิดและวางตัวอยู่บนสังคมที่บิดเบี้ยว เพราะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากฐานประชาธิปไตย (ผ่านการเลือกตั้ง) ตั้งแต่ต้น ดังนั้น ถ้าหากว่าการมีส่วนร่วมหรือตรวจสอบสำเร็จขึ้นมา ก็จะยิ่งก่อให้เกิดผลที่บิดเบี้ยวแปลกประหลาดมากเข้าไปอีก
พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคนในสังคมนี้เห็นว่าคุณประวิตรควรออกจากตำแหน่ง แล้วรัฐบาลให้คุณประวิตรออกจริงๆ (ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้คนจะยิ่งรู้สึกว่ารัฐบาลนั้น ‘ดี’ ขึ้นไปอีก เพราะตัด ‘เนื้อร้าย’ (ในความเห็นของคนที่เรียกร้องนะครับ รัฐบาลและ ป.ป.ช. อาจไม่เห็นว่าคุณประวิตรเป็นเนื้อร้ายอะไรก็ได้) ออกไป สิ่งที่เหลืออยู่จึงจะมีแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่องล้วนๆ
ผลลัพธ์แบบนี้จึงยิ่งเท่ากับไปสนับสนุนวิธีคิดแบบ ‘คนดี’ ที่มี Righteous Mind ในแบบของตัวเองให้แข็งแกร่งมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้รัฐบาล (ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) สามารถอยู่ต่อไปได้ แม้จะมาจากฐานที่ไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยก็ตาม และ ‘คนดี’ ก็ไม่แคร์สักเท่าไหร่ด้วยว่าจะต้องเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ (ล่าสุดก็มีผู้เสนอให้เลื่อนเลือกตั้งออกไป 5 ปี [ดูได้ที่ www.khaosod.co.th] ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นการทำงานของ The Righteous Mind)
ถ้าสังคมไทยส่วนใหญ่มีวิธีคิดต่อสองเรื่องนี้ในแบบที่ว่ามา ก็จะเป็นวิธีคิดที่ทั้งขัดแย้งและย้อนแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง