คนไทยพยายามทำปรัชญามาโดยตลอด เพียงแต่ไม่รู้ตัวว่า มันคือการทำปรัชญา ดังนั้นจึงไม่รู้ว่า การเรียนปรัชญาจะเป็นประโยชน์กับตนเอง นี่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผมหวังว่าจะมาร่วมแก้ไขกับทุกคนในวันนี้
“เราจะทำบันทึกรักการอ่านไปทำไม?”
“เกรดห่วย ทำไงดี?”
“ทำไมเราต้องยืนฟังผอ.พูดด้วย?”
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามทางปรัชญา และคงเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนเคยถาม บางคนอาจจะถึงขั้นเคยถามครู แต่คงยากที่จะได้คำตอบดี ๆ ตรงกันข้าม ครูอาจจะทำให้คำถามเหล่านี้สูญหายไปท่ามกลางการบ้านกองพะเนิน และคาบเรียนที่ต้องเร่งรีบตามปฏิทินของใครก็ไม่รู้ “นักเรียนที่ดีคือ นักเรียนที่เมินเฉยคำถามที่ไม่สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน ไม่ถูกพวกมันหลอกหลอนเกาะกุม” นั่นคือท่าทีของโรงเรียนจำนวนมาก
โรงเรียนที่ไม่เคยคิดจะไล่ผีที่หลอกหลอนเด็ก
มีแต่จะเป็นผีช่วยหลอกหลอนเพิ่ม
แน่นอนว่า นั่นไม่ใช่คำพูดจริง ๆ ของโรงเรียน สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบซ่อนนิยามและฐานคิด ลองพิจารณาคำสั่งคำสอนที่เราได้ยินในรั้วโรงเรียน พวกมันอาจซ่อนบางอย่างไว้ “พรุ่งนี้งดคาบนะ” ซ่อนความหมายว่า พรุ่งนี้ครูไม่สะดวก ดังนั้นจะไม่มีการเรียนรู้ในห้องเรียนนี้ ในขณะที่ “พรุ่งนี้หนูลานะคะ” หมายถึงพรุ่งนี้นักเรียนไม่สะดวก แต่จะยังเกิดการเรียนรู้ในห้องนี้ แค่เธอไม่ได้เรียนด้วย “อย่าเข้าเรียนสายนะ!” ซ่อนนิยามว่า เข้าเรียนในที่นี้หมายถึงต้องมาที่ห้องเรียนนี้ ไม่ใช่ไปเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ หัวข้ออะไรก็ได้ และสายหมายถึงเวลาที่โรงเรียนกำหนดให้นักเรียน ไม่ใช่เวลาที่นักเรียนตกลงกับครู
บางคนอาจจะคิดว่าสิ่งที่ถูกซ่อนเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งอาจจะจริงครับ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่หลาย ๆ ครั้งสังคมไทยซ่อนสิ่งที่มีปัญหาแน่ๆ ไว้ เผลอๆ สังคมไทยจะมีฝุ่นใต้พรมมากกว่าในถังขยะด้วยซ้ำ และในกรณีแบบนี้นี่แหละที่ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่เคยทำปรัชญาเพื่อรับมือกับมัน ลองเริ่มจากตัวอย่างบันทึกรักการอ่านแล้วกัน
บันทึกรักการอ่านคือ การที่นักเรียนต้องไปอ่านหนังสือหรือบทความมาจำนวนหนึ่งแล้วมาสรุปลงในสมุดบันทึกตามจำนวนที่กำหนด เป็นงานที่นักเรียนจำนวนมากไม่อยากจะทำ บ่นกันทั่วทุกสารทิศ บางคงมองว่าเป็นธรรมดาของเด็กนักเรียนที่จะไม่อยากทำงานแม้จะเป็นงานที่มีประโยชน์ก็ตาม แต่ก็อาจจะยอมรับว่า มันมีความไร้สาระบางอย่างในการให้นักเรียนมัธยมปลายไปอ่านอะไรก็ได้แล้วมาย่อความ บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า ทำแบบนี้ไปแล้วมันรักการอ่านจริง ๆ หรือ?
นั่นคือการทำปรัชญาครับ ในขณะที่สังคมซ่อนนิยามบางอย่าง
ปรัชญาพยายามขุดค้นมันขึ้นมาศึกษาให้ชัดเจน เห็นจุดบกพร่อง
แล้วเสนอนิยามที่ดีกว่าขึ้นมาแทนที่
ในคำสั่งให้ทำบันทึกรักการอ่าน มันมีนิยามว่าการอ่านคือ การย่อความจากกระดาษแผ่นนึงมาใส่ลงในกระดาษอีกแผ่นนึง
การย่อความเป็นทักษะที่มีประโยชน์ครับ เป็นส่วนสำคัญของการอ่าน
แต่พวกเราคงรู้สึกร่วมกันว่ามันมีอะไรบางอย่างขาดหายไป การบอกว่าผัดกะเพราไก่คือการเอากะเพรามาผัดกับไก่ไม่ใช่การพูดผิด แต่การขาดกระเทียม พริก น้ำปลา ฯลฯ ทำให้มันเป็นการพูดที่ไม่สมบูรณ์ เรามีความรู้สึกนี้ร่วมกันเวลาพูดถึงบันทึกรักการอ่าน การอ่านน่าจะมีอะไรมากกว่าแค่การย่อความ
ในอีกด้านนึง เราไม่ค่อยเห็นเสน่ห์ของการย่อความ เราไม่เข้าใจว่า เราจะผลักดันให้เด็กรักการย่อความไปทำไม คงไม่มีนักเรียนมัธยมคนไหนไม่เห็นค่าของการย่อความหรอก แต่ถ้าการอ่านคือการย่อความ มันน่ารักอย่างไร?
รัชนิดา มารุตวงศ์ ศิษย์เก่าคนหนึ่งเคยทำวิจัยกับผมเรื่องนี้ เธอเห็นปัญหาที่ผมยกมาข้างต้นอย่างกระจ่างชัด แล้วเสนอนิยามใหม่ การอ่านคือการมีบทสนทนาอย่างตั้งใจกับผู้เขียนและผู้อ่านคนอื่น เราอ่านงานชิ้นหนึ่งเพราะเราพบว่า ผู้เขียนหรืออย่างน้อยก็สิ่งที่เขาเขียนชิ้นนี้ น่าสนใจ เราไม่ได้ต้องการแค่ถามไถ่ตามมารยาทหรือทักทายผิวเผินกับเขา เราอยากเข้าใจเขา อยากเรียนรู้ที่จะน่าสนใจเหมือนเขา บางครั้งเราประหลาดใจที่ผู้เขียนคนหนึ่งเปลี่ยนชีวิตเรา แต่เพื่อนของเรากลับเฉยเมย เราอยากจะพูดคุยกับเพื่อน ชี้ให้เพื่อนเห็นความน่าสนใจที่ทำให้เราตกหลุมรัก เราอาจจะถามไถ่ว่าเพื่อนไม่เห็นเสน่ห์นี้หรือ และเราอาจจะต้องแปลกใจเมื่อเพื่อนเล่างานนี้จากอีกมุม
การอ่านแบบนี้คู่ควรแก่ความรัก และเป็นสิ่งที่เราควรผลักดันให้เด็ก ๆ เห็นเสน่ห์ของมัน
ภายใต้นิยามใหม่ บันทึกรักการอ่านไม่ควรเน้นที่ปริมาณเพราะเป้าหมายคือการดื่มด่ำไม่ใช่การมีปริมาณมาก อีกทั้งควรเป็นกิจกรรมอิสระในรูปของชมรมหรือกิจกรรมยามว่างแทนที่จะเป็นการบังคับเพราะเป้าหมายคือ ความรัก ซึ่งไม่อาจบังคับกันได้
เราคงเห็นแล้วว่า ปรัชญาที่รัชนิดาทำไม่ใช่สิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน หลาย ๆ คนอาจจะเคยคิดว่า บันทึกรักการอ่านควรจะไม่มีปริมาณขั้นต่ำ หรือเป็นกิจกรรมอิสระไม่ใช่การบ้านที่ทุกคนต้องทำ
นี่คือความพิเศษของปรัชญา ปรัชญาเป็นวิชาที่ทุกคนในห้อง
รวมทั้งครูและคนที่ไม่สนใจที่สุด ร่วมมือกันหาคำตอบ
ที่ดีที่สุดด้วยการใช้เหตุผล
สิ่งที่รัชนิดาทำคือ การ ‘พูดคุย’ กับนักปรัชญาดังๆ ในโลกร่วมกับผมและเพื่อนๆ ในห้อง ในคาบแรกของการพูดคุยนี้ สิ่งที่ผมพิเศษกว่าเด็กๆ ในห้องคือผมมีประสบการณ์พูดคุยมากกว่าคนอื่น ๆ ทำให้ผมเคยได้ยินนิยามที่น่าสนใจ เห็นคนเคยจำแนกแจกแจง จัดประเภท หรือเชื่อมโยงคอนเซปต์ได้อย่างน่าสนใจมามากกว่าคนอื่น เมื่อรัชนิดาสนใจเรื่องนี้และทุ่มเทเวลาพูดคุยมากกว่าผม ถึงจุดหนึ่งเธอก็เห็นมามากกว่าผมในเรื่องแคบๆ นี้ แต่คนอื่นในห้องก็อาจจะเคยพบเจอพูดคุยหรือมีประสบการณ์ชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อการพูดคุยได้เช่นกัน (หนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของรัชนิดาคือ Nussbaum, M. (1985). “Finely Aware and Richly Responsible”: Moral Attention and the Moral Task of Literature. The Journal of Philosophy, 82(10), 516–529. https://doi.org/10.2307/2026358)
งานวิจัยอีกชิ้นที่ผมอยากพูดถึงคืองานของชนสรณ์ โพธิครูประเสริฐที่พยายามตอบคำถามเรื่อง “เกรดห่วย ทำไงดี?”
หลายคนคงเคยตั้งคำถามเรื่องนี้เมื่อได้เกรดในวิชาหนึ่งๆ ไม่ดี หรืออาจจะเป็นแค่คะแนนสอบคะแนนควิซหนึ่งครั้งที่เห็นแล้วทำให้อยากเป็นลม หลายคนเข้าไปปรึกษาครูบาอาจารย์ ซึ่งครูบาอาจารย์มักจะบอกว่าช่วยไม่ได้ หรือไม่ก็อาจจะช่วยด้วยการให้ทำอะไรบางอย่างที่ดูไม่ค่อยมีประโยชน์หรือเกี่ยวข้องนัก ไม่ว่าอย่างไร ผลลัพธ์คือนักเรียนรู้สึกว่า ตนเองไม่ได้เรื่อง หัวไม่ไปทางนี้
ชนสรณ์เองก็เคยมีประสบการณ์ทำนองนี้ งานวิจัยของชนสรณ์เริ่มจากการที่เขาได้คะแนนไม่ดีนักจากวิชาหนึ่ง เขาได้สอบถามอาจารย์ผู้สอนเพราะเขาอยากปรับปรุงพัฒนาตนเอง แต่แทนที่จะได้คำแนะนำดีๆ อาจารย์ผู้สอนกลับทำให้ชนสรณ์รู้สึกว่า เขาไม่เหมาะที่จะเรียนด้านนั้นต่อ
ต่อมา ชนสรณ์ได้เอาบทสนทนาสองเรื่องมาผสมกันเพื่อประยุกต์ใช้ศึกษาเรื่องการให้เกรด บทสนทนาแรกคือของ Nel Noddings ว่าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์เป็นมิติสำคัญที่ถูกละเลยไปในการศึกษา หรือก็คือนิยามของการศึกษาขาดองค์ประกอบสำคัญนี้ไป (Noddings, N. (2003). Happiness and education. Cambridge, UK: Cambridge University Press.) เขาผสานมันกับการจัดประเภทเกรดออกเป็นสามประเภทของ Robert Paul Wolf ซึ่งแบ่งการให้เกรดเป็น 1.เกรดในรูปการบอกลำดับในชั้นเรียน 2.เกรดที่บอกว่าคุณภาพผ่านเกณฑ์ขั้นไหน และ 3.เกรดที่วิจารณ์ว่าทำส่วนไหนได้ดีแล้ว ควรปรับปรุงส่วนไหน (Wolff, R. P. (2007). A Discourse on Grading. In R. R. Curren (Ed.), Philosophy of education: An anthology (pp. 459–464). Blackwell Pub.)
ชนสรณ์เห็นด้วยกับ Wolf ว่า เกรดจัดลำดับไม่ได้เป็นการศึกษา เป็นแค่การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดตามผลการศึกษาเท่านั้น คนที่ได้ที่โหล่อาจจะเก่งมากๆ แต่บังเอิญเรียนกับอัจฉริยะเลยเป็นที่โหล่ก็ได้ ดังนั้นอาจจะมีเหตุผลที่จะใช้มันเวลาสอบชิงทุน แต่เราไม่รู้เลยว่าคนที่ได้ที่โหล่เรียนรู้เรื่องหรือไม่ ในทางตรงกันข้าม คนที่ได้ที่หนึ่งอาจจะเรียนไม่รู้เรื่องเลยก็ได้เพียงแต่สอบได้ 1/100 ในห้องที่ทุกคนได้ 0 คะแนน ส่วนการบอกว่าคุณภาพผ่านเกณฑ์ขั้นไหนก็ไม่ใช่การศึกษา เป็นแค่การจัดหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ (ที่ผลิตจากการศึกษา) ไม่ต่างจากการจัดเกรดเนื้อวัวหรือขนาดผลไม้ คนที่ได้ A ไม่รู้เลยว่าเขาทำได้สมบูรณ์แบบ เหนือกว่าที่อาจารย์คาดหวัง หรือเป็นไปตามที่อาจารย์คาดหวัง ครูทำหน้าที่พิพากษาว่าในวันที่เขาถูกเก็บเกี่ยว (ไม่ใช่วันที่เขาพร้อมจะไปจากต้น) เขาพร้อมแค่ไหน
การให้เกรดที่ดีควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพัฒนาตนเอง
กล่าวคือ การให้เกรดควรเป็นแบบที่สาม เป็นการวิจารณ์ให้คำแนะนำ มีแต่การให้เกรดแบบนี้ที่นักเรียนเข้าใจความสามารถของตนเองจริงๆ และรู้ว่าควรอุดช่องโหว่หรือเสริมจุดเด่นตรงไหนอย่างไร
ชนสรณ์ผสานสองข้อคิดนี้ นำไปสู่งานวิจัยของเขาว่า นักเรียนควรจะมีสิทธิ์ขอแก้เกรดได้เรื่อยๆ โดยปรับปรุงตัวตามคำแนะนำของครู นี่ทำให้ความสัมพันธ์ของครูกับศิษย์ไม่ได้จบเมื่อเกรดออก ครูจะไม่กลายเป็นยักษ์มารเฝ้าสมบัติหรือผู้พิพากษาที่ตัดสินให้คุณให้โทษตามความพร้อมในวันสอบ แต่เป็นครูจริงๆ ครูที่ทำให้นักเรียนเก่งขึ้นจริงๆ เกรดก็จะไม่ใช่แค่การจัดลำดับแข่งขันหรือการผ่านเกณฑ์ที่นักเรียนก็ไม่ค่อยเข้าใจ เกรดจะกลายเป็นเงื่อนงำลายแทงบอกพัฒนาการและแนวทางที่ควรไปต่อให้กับผู้เรียน ถ้าสังคมเราเอาข้อเสนอของชนสรณ์มาปรับใช้ นักเรียนคนหนึ่งที่สอบวิชาฟังพูดภาษาอังกฤษได้ที่โหล่อาจจะเข้าใจว่าตนเองไม่ได้โง่ภาษาอังกฤษ แค่ยังขาดทักษะบางอย่าง จึงตั้งใจฝึกฟังพูดภาษาอังกฤษ จนต่อมากลายเป็นนักการทูตที่เจรจาผลประโยชน์ให้ไทยก็ได้
เราคงเห็นแล้วว่าปรัชญาที่ชนสรณ์ทำไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เขาอาจจะพิเศษกว่าเราตรงที่เขาได้สนทนากับคนที่คิดเรื่องพวกนี้มานาน แล้วเขาก็ลองคิดมันจากมุมปัญหาที่เขาเคยเจอ ซึ่งการได้มีส่วนร่วมพูดคุยกับเขาในวันนี้ก็คงทำให้พวกเรามีประสบการณ์มากขึ้นเช่นกัน ผมเองที่เป็นอาจารย์ผู้ชักนำให้เขาเข้าร่วมการพูดคุยก็ได้เรียนรู้จากเขา และปัจจุบันก็ออกแบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถส่งงานได้มากกว่าหนึ่งครั้งเพราะ ผมคล้อยตามเขาว่า นั่นคือสิ่งที่อาจารย์ควรจะทำ
พูดถึงสิ่งที่อาจารย์ควรจะทำ ผมขอพูดถึงตัวอย่างสุดท้ายนั่นคือ “ทำไมเราต้องยืนฟังผอ.พูดด้วย?” นี่น่าจะเป็นคำถามคาใจหลายๆ คน ผมถึงขั้นเคยได้ยินเรื่องโรงเรียนหนึ่งที่มีผอ.ยืนเทศนาให้นักเรียนและครูฟังหน้าเสาธงวันละครึ่งชั่วโมง บางคนอาจจะมองว่า นี่เป็นการกระทำที่ไร้สาระ บางคนอาจจะเห็นคล้อยแต่ทักว่า ปัญหาคือผอ.ใช้เวลานานเกินไป บางคนอาจจะตั้งเกณฑ์ว่า ขึ้นอยู่กับพูดเรื่องอะไร
ผมเห็นด้วยกับท่าทีของทั้งสองฝ่าย หลายๆ ครั้งนี่เป็นการกระทำที่ไร้สาระ และเราจะรู้ได้ว่ามันมีสาระไหมก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้เวลามากแค่ไหน และพูดเรื่องอะไร
อย่างไรก็ตาม ผมอยากเสนอเกณฑ์เพิ่มอีกหนึ่งข้อ กล่าวคือ แม้ว่ามันจะมีสาระ ผอ.ควรจะพิจารณาด้วยว่า สาระนั้นคู่ควรแก่การเบียดบังความหมายชีวิตของเด็กหรือไม่?
ผมหมายความว่าอย่างไร? ทุกวินาทีที่เราบังคับให้นักเรียนทำอะไร
ในการศึกษาภาคบังคับ เป็นวินาทีที่ซ่อนฐานคิดว่า มันคุ้มค่ากว่า
เสรีภาพของนักเรียนที่จะทำตามความฝัน
สมมติว่าหนึ่งเดือนผอ.ยืนพูดหน้าเสาธงวันละ 5 นาที สัปดาห์นึงก็จะยืนพูดหน้าเสาธง 25 นาที เดือนนึงก็ประมาณ 100 นาที ปีนึงประมาณ 800 นาที และหกปีประมาณ 80 ชั่วโมง แปลว่าในชั้นมัธยมศึกษานี้ ผอ.ต้องถามตนเองว่า สิ่งที่พูดหน้าเสาธงเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น คุ้มค่ากว่าการที่เด็กคนหนึ่งอาจจะเรียนภาษาญี่ปุ่นจนฟังอนิเมชั่นที่เขาชอบได้ ฝึกเล่นกีต้าร์ได้เป็นเพลง อ่านหนังสือจบเพิ่มปีละหนึ่งเล่ม ฯลฯ หรือไม่? ผมมั่นใจว่า ผมไม่มีเรื่องน่าสนใจมาพูดหน้าเสาธงมากขนาดนั้น ดังนั้นผอ.โรงเรียนควรถ่อมตน ตระหนักว่าไม่กี่นาทีของตนเบียดเบียนเสรีภาพ อนาคต และความหมายในชีวิตของเด็กนับร้อย นี่ไม่ได้หมายความว่า ผอ.พูดอะไรไม่ได้เลย แต่การพูดโดยไม่ตระหนักเรื่องนี้คือการมีฐานคิดว่า ฉันไม่ต้องคิดมากที่จะเบียดเบียนเสรีภาพ อนาคต และความหมายชีวิตของพวกเธอ
ฟังถึงจุดนี้ หลายคนอาจจะคล้อยตามผม แต่อดกังวลไม่ได้ว่า ใครจะเป็นผู้สอนปรัชญา หากให้ใครก็ไม่รู้มาสอน ปรัชญาจะกลายเป็นลัทธิศาสนาหรือเปล่า?
ผมยอมรับว่าปรัชญาเป็นวิชาที่สอนให้ครบถ้วนกระบวนความยาก แต่ก็เช่นเดียวกับวิชาอื่นๆ เราไม่จำเป็นต้องสอนให้ครบถ้วนตั้งแต่ชั้นประถมมัธยม เรขาคณิตมีอะไรมากกว่าท่องจำทำความเข้าใจสูตรหาพื้นที่ แต่เราเห็นตรงกันได้ว่าแค่นั้นก็พอแล้วสำหรับชั้นประถมมัธยม เราสามารถใช้หลักการเดียวกันนั้นกับปรัชญาได้
สิ่งที่เรียนรู้ได้ไม่ยากนักแต่มีประโยชน์อย่างยิ่งของปรัชญาคือ ความเป็นไปได้ในการแยกแยะและเชื่อมโยงคอนเซปต์ที่นักปรัชญารุ่นก่อนคิดค้นเอาไว้ ผมกำลังหมายถึงการแยกแยะการพูดเชิงข้อเท็จจริงกับการพูดเชิงคุณค่า การอดทนอดกลั้นในความเห็นต่างกับการเชื่อไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดมากไปกว่ากัน หรือเสรีภาพที่จะไม่ถูกห้ามกับเสรีภาพที่จะลิขิตชีวิตตนเอง ฯลฯ
ผมมีวิสัยทัศน์ว่านักเรียนจะสามารถเรียนความเป็นไปได้ในการคิดแบบนี้ในฐานะความเป็นไปได้ ในฐานะวิธีการคิดที่อาจจะเอาไปใช้ได้ในบางบริบท อาทิ เมื่อเพื่อนพูดว่า “มันไม่ผิดที่คนเราจะเห็นแก่ตัว นั่นเป็นธรรมชาติมนุษย์” นักเรียนอาจจะถามได้ว่า เพื่อนควรจะแยกการพูดเชิงข้อเท็จจริง (มนุษย์เห็นแก่ตัว) กับการพูดเชิงคุณค่า (มนุษย์ควรเห็นแก่ตัว) หรือไม่
อีกฟากหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงคอนเซปต์ที่ดูไม่เกี่ยวข้องกันให้เกี่ยวข้องกัน เช่น เชื่อมโยงการคิดวิพากษ์กับการร่วมมือกัน การละเล่นกับความหมายชีวิต หรือเพศสภาพกับการแสดง
ผมมีวิสัยทัศน์ที่คล้ายคลึงกับข้างต้นว่า นักเรียนจะสามารถเรียนความเป็นไปได้ที่จะคิดเชื่อมโยงคอนเซปต์อย่างการคิดวิพากษ์กับการร่วมมือกัน เห็นว่า การคิดวิพากษ์เป็นกระบวนการร่วมมือกันเพื่อหาคำตอบที่ดีไม่ว่าคำตอบนั้นจะสอดคล้องกับคำตอบเดิมของตนหรือไม่ก็ตาม จนตั้งคำถามได้ว่า ในเมื่อครูอยากให้เด็กคิดวิพากษ์ ทำไมครูถึงให้เด็กแข่งขันชิงคะแนนกัน ใครเถียง “ชนะ”ได้คะแนนมากกว่า? การทำแบบนั้นน่าจะผลักดันให้เด็กยึดติดกับคำตอบมากกว่าคิดวิพากษ์ไม่ใช่หรือ?
ฟังมาถึงจุดนี้ หลายคนอาจจะยิ่งคล้อยตามผม เห็นด้วยว่าครูจำนวนมากคงจะพอสอนความรู้พวกนี้ได้หากกระทรวงจัดทำตำราเอกสารให้ แต่อาจทักท้วงว่า ปรัชญามีความยากหนึ่งที่ไม่เหมาะสมกับเด็กนักเรียนประถมมัธยม นั่นคือ สุดท้ายแล้วปรัชญาเป็นเรื่องความคิดเห็น ไม่มีใครถูกหรือผิดไปกว่ากัน
การทักท้วงนี้ซ่อนฐานคิดไว้อย่างน้อยสองข้อ ข้อแรก กระทั่งนักเรียนมัธยมก็ไม่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่คลุมเครือ มีคำตอบที่เป็นไปได้หลากหลาย มองได้หลายมุม ข้อสอง ถ้านักเรียนมัธยมไม่พร้อม เราก็ไม่ควรทำอะไร
ข้อแรกเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องเอาหลักฐานเชิงประจักษ์มาคุยกัน ผมเองก็เคยได้ยินคนพูดแบบนี้ แต่มันขัดกับประสบการณ์ของผมมากๆ และผมไม่เชื่อว่าประสบการณ์ของผมแปลกพิเศษอะไร ตั้งแต่ประถม ผมก็ได้ยินเพื่อนเถียงกันว่าทีมฟุตบอลไหนดีที่สุด ผมยังจำได้ว่า เพื่อนคนหนึ่งบอกทีมเอ เพราะทีมเอมีนักเตะที่เขาเชื่อว่า เก่งที่สุดในยุคนั้น ในขณะที่เพื่อนอีกคนแย้งว่า แต่ทีมเอแพ้ทีมบี แปลว่าทีมบีทั้งทีมเก่งกว่าทีมเอทั้งทีม เพื่อนอีกคนแย้งว่า แต่ทีมบีเน้นตั้งรับ น่าเบื่อ ดูทีมซีสนุกกว่า จนในที่สุดทั้งสามคนตระหนักว่า คำถามไม่ชัด ตกลงคำถามคือทีมไหนมีนักเตะที่เก่งที่สุด ทีมไหนชนะมากที่สุด หรือทีมไหนดูสนุกที่สุดกันแน่
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมเจอตั้งแต่ประถมคือมีการเถียงกันว่า ควรจะฟ้องครูหรือไม่ โดยทั้งสองฝ่ายต่างยกเหตุผลมาโต้แย้งกัน ฝั่งหนึ่งอ้างตั้งแต่ความเป็นเพื่อน การให้โอกาสเพื่อน ไปจนถึงการขู่เลิกคบถ้าฟ้อง อีกฝั่งอ้างตั้งแต่กฎระเบียบ การรับผิดชอบ ไปจนการประนีประนอมว่าจะถามครูก่อนฟ้องว่า ลดการลงโทษได้หรือไม่
ตัวอย่างสุดท้ายที่รูปธรรมและคงจะอยู่ในความทรงจำคนส่วนใหญ่คือ การเลือกหัวหน้าห้องซึ่งมีตัวเลือกคือเพื่อนทั้งห้อง แปลว่าเด็กประถมบางคนอาจจะต้องเผชิญหน้าสถานการณ์ที่คลุมเครือ มีคำตอบที่เป็นไปได้หลากหลาย มองได้หลายมุมตั้งแต่วันแรกที่มาเรียนแล้ว
ข้อสองเป็นเรื่องเชิงหลักการ ซึ่งเป็นหลักการที่น่ากลัวมาก นั่นคือ ถ้าสมมติเด็กประถม-มัธยมเผชิญหน้าสถานการณ์ที่ว่าไม่ได้จริงๆ เราก็ไม่ควรทำอะไร ควรมองว่า มันยากเกินไปสำหรับเขา
อย่าลืมนะครับว่า เป้าหมายของโรงเรียนประถมมัธยมคือ การสร้างเพื่อนพลเมืองรุ่นใหม่ของเรา ไม่ใช่การเตรียมคนไปเรียนหมออย่างที่เขาหลอกลวงกัน การเป็นพลเมือง เป็นพลังของเมือง ย่อมอาจรวมความสามารถที่จะทำงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม มันอาจเป็นส่วนสำคัญที่สุดเลยก็ได้ แต่ผัดกะเพราไก่ไม่ได้ใส่แค่กะเพรากับไก่ การทำงานได้อาจจะสำคัญมาก แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของการเป็นพลเมือง พลเมืองต้องสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เผชิญกับมีความเป็นไปได้หลากหลาย เผชิญกับคำถามที่ไม่ชัดเจนและอาจชวนทะเลาะ ครูไม่มีสิทธิ์บอกว่า นั่นไม่ใช่หน้าที่ของครู ครูต้องมองพลเมืองเหล่านี้ที่ยังไม่พร้อมเป็นเพื่อนครูอย่างเต็มตัว มองเจ้าของประเทศเหล่านี้ที่ยังไม่พร้อมจะใช้ความเป็นเจ้าของอย่างเต็มที่ และเป็นผู้นำทางในการพูดคุยให้กับเขา เพื่อวันหนึ่งเขาจะพร้อมเป็นเพื่อนพลเมืองของเรา และอาจจะกลายเป็นคนนำทางให้รุ่นต่อไป
จากใจผัดกะเพราไก่ที่เพิ่งใส่กระเทียม พริก น้ำปลา
บทความของชนสรณ์กำลังจะตีพิมพ์
ชนสรณ์ โพธิครูประเสริฐ.(ระหว่างตีพิมพ์). เราควรยกเลิกการให้เกรดหรือไม่?. สัมมนาวิชาการเพื่อนำเสนอบทความปรัชญาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง