แค่พูดคำว่า ‘วิชาปรัชญา’ ก็รู้สึกหนักอึ้งขึ้นมาแล้ว โดยเผินๆ อาจรู้สึกว่าวิชาปรัชญาเป็นอะไรที่แสนจะยากและไกลตัว เป็นเรื่องการขบคิดอะไรก็ไม่รู้ แสนยากเย็น แถมดูเป็นเรื่องของความคิด ที่…เอาไปทำมาหากินหรือใช้กับการดำเนินชีวิตยังไงก็คิดไม่ค่อยออก เอาไว้เรียนๆ สอบๆ ในวิชาบังคับในมหาวิทยาลัยแล้วก็จบๆ ไป รับเกรดเป็นหมา เป็นแมวไว้ให้ช้ำใจเล่นๆ
แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าจะบอกว่าวิชาปรัชญา หรือการฝึกฝนการคิดแบบปรัชญาเป็นเรื่องใกล้ตัว แถมยังมีประโยชน์ในการคิดและรับมือกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งในหลายๆ ประเทศมองเห็นว่าวิชาปรัชญาเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ควรจะเรียนสอนกันในโรงเรียนกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน
เราควรสอนวิชาปรัชญาในโรงเรียนประถม?
ศาสตราจารย์แองจี้ ฮอบส์ (Angie Hobbs) นักปรัชญาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งเชฟฟีลด์ (University of Sheffield) บอกว่า เราควรจะเริ่มสอนวิชาปรัชญาให้กับเด็กๆ แทนที่จะมาสอนกันตอนอายุเยอะๆ แล้วซึ่งมันสายเกินไป แกเห็นว่าเด็กๆ ควรจะได้เรียนรู้ว่ายังมีวิธีมองโลกที่มันมองได้อีกตั้งหลายแบบ โดยเฉพาะในยุคที่คนเรามีแนวโน้มที่จะมีความคิดแบบสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง
ตัวศาสตราจารย์เองเชื่อว่าการที่เด็กๆ ได้เรียนวิชาปรัชญาแค่ครั้งเดียวต่อสัปดาห์ จะมีผลในแง่บวกต่อทั้งสติปัญญาและพัฒนาทางสังคมของเด็กๆ เอง ดังนั้นในความร่วมมือของทางมหาวิทยาลัยกับ Philosophy Foundation องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้วิชาปรัชญาในระบบการศึกษา ธุรกิจและชุมชน เลยสร้างโครงการริเริ่มสอนวิชาปรัชญาในโรงเรียนประถมที่สหราชอาณาจักรขึ้น
นึกภาพเด็กๆ วัยแปดเก้าขวบ เจอคำถามแบบปรัชญาๆ จำพวก “อะไรที่ทำให้ตัวเราเป็นเรา” “เวลาคืออะไร’” ในช่วงรับประทานอาหารที่โรงเรียน Vinehall Preparatory School ในเมือง Sussex ก็มีกิจกรรมถกเถียงทางปรัชญาด้วยคำถามแบบที่ว่า “ถ้าหมูมันพูดได้ เราควรจะกินมันมั้ยนะ” หรือ “สิ่งประดิษฐ์อันไหนมีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มากกว่ากัน ระหว่างกล่องกับล้อ” (เออ จะกินก็เนอะ)
มนุษย์เครียด : ถามอะไร ไร้สาระ?
คนเครียดๆ อาจจะรู้สึกว่าถามอะไร ถามไปทำไมแต่ถ้าเราคุ้นกับวิธีคิดหรือการตั้งคำถามแบบปรัชญา มันจะทำให้เรามองเห็นว่า เฮ้ย เราไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อนเลย แล้วเราอาจจะมองสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่เห็นน่าสงสัย ไปสู่การคิดและจินตนาการมุมมองใหม่ๆ ซึ่งอาจโยงกับเรื่องที่มันใหญ่ขึ้น แล้วย้อนกลับเข้ามาทบทวนความคิด ความเข้าใจต่างๆ ได้
คำถามที่ว่า “แล้วอะไรที่ทำให้เราเป็นเรา” ถ้าจะให้ตอบแบบจริงๆ ก็ต้องคิดหยุดคิดว่า อะไรที่เราใช้นิยามตัวเองว่า “นี่แหละคือตัวเรา เราต่างกับคนอื่นยังไง” ส่วนคำถามตอนกำลังกินข้าว ถ้าถามว่า เออ หมูตัวนี้ถ้าเกิดมันพูดได้ขึ้นมา เราจะฆ่าแล้วกินมันลงไหม โห โจทย์ยากเลย สบตากับสเต็กในจานแล้วยิ้มให้หนึ่งที จากเรื่องการกินหมูกะทะเลยกลายเป็นเรื่องจริยธรรมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ แค่สัตว์มันไม่ได้ ‘พูด’ ในแบบเดียวกับมนุษย์ ทำให้เรากินมันได้สบายใจมากขึ้นมั้ย แล้วถ้าเกิดมันทำกิริยาแบบมนุษย์ได้ เราก็ลำบากใจที่จะฆ่าและกินมันมากขึ้นรึเปล่า
ซับซ้อน และชวนคิดกับความคิดความเชื่อต่างๆ
เวลาคืออะไร คำตอบจากเด็ก 7 ขวบ
จาโกโม่ เอสโปสิโต (Giacomo Esposito) เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสอนวิชาปรัชญาให้กับเด็กประถมในโครงการของ Philosophy Foundation บอกว่าการสอนปรัชญาที่ไม่ใช่แค่การเอากรอบคิดหรือนักปรัชญาไปสอนแบบตรงๆ แต่ใช้วิธีแบบปรัชญาด้วยการชี้ให้เห็นปัญหาเชิงปรัชญาต่างๆ แล้วค่อยๆ ตีกรอบ กระตุ้นให้เด็กๆ คิดและถกเถียงกันไปเรื่อยๆ นั้นได้ผลดีมาก
อาจารย์ผู้สอนพบว่าเด็กๆ เก่งมากกับวิธีการทางปรัชญา โดยธรรมชาติเด็กน้อยก็มักมีข้อสงสัยทั้งหลายกับโลกรอบตัวอยู่เสมอ ถ้าเราไม่รำคาญและเปิดโอกาสให้คิดไปเรื่อยๆ ระหว่างการเรียน สุดท้ายจากการตั้งคำถามและการพูดคุย เด็กๆ กลับได้ข้อสรุปที่เวรี่ปรัชญาออกมา เช่นการโยนประเด็นว่า ‘เวลาก็คือความรู้สึก (time is feeling)’ เด็กชายวัยสิบขวบในคลาสทำท่าครุ่นคิดหนึ่งนาทีแล้วบอกว่า
“เวลาเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไป เช่นเรากับจักรวาล เพราะ 100 ปีที่เป็นเพียงแค่ชั่วแป๊บเดียวสำหรับจักรวาล แต่ดูจะเป็นอะไรที่ยาวนานสำหรับพวกเรา ดังนั้น เวลาเลยเลยดูเหมือนว่าเป็นเรื่องของความรู้สึกแหละ”
โอ้โห หนูลูก ถ้าตอบแบบนี้ในบ้านเรามีหวังได้ไปออกตีสิบ ข้อหาเป็นนักปรัชญากลับชาติมาเกิดแล้วยังไม่ทิ้งสติปัญญาของชาติที่แล้วแน่นอน
จาโกโม่บอกว่า ปรัชญาเป็นเรื่องของการคิด และให้เหตุผลที่ดี วิชาปรัชญาคือการเรียนรู้ที่จะคิดอย่างเป็นตรรกะ นำเสนอข้อถกเถียงและมองหาจุดอ่อนของการโต้แย้งต่างๆ บ่อยครั้งที่การคิดและการถกเถียงมักมีมุมมองประหลาดๆ ตัวอย่างพิกลๆ หรือไม่ก็ดูพิลึกจากมุมมองของโลกแห่งความจริง แต่จริงๆ มันก็คือการฝึกฝนทางความคิด ยิ่งถ้ารวมกับมุมมองที่ว่า การที่เราได้ฝึกคิดจากหลายๆ มุม มันทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้นและการยึดติดที่น้อยลง
ลองนึกภาพว่าถ้าเราโยนคำถามชวนคิด เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้จินตนาการ ได้ขบคิด ได้สงสัยกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งที่เป็นรูปธรรม รวมไปถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมต่างๆ… ไอ้กิจกรรมแบบนี้ก็น่าจะใกล้เคียง และนำไปสู่คำว่า สติปัญญาและความเฉลียวฉลาดได้ไม่ยาก
จะว่าไป กิจกรรมแบบที่ว่า โตแล้วก็ยังควรฝึกฝนกันต่อไปอยู่ด้วยเหมือนกันเนอะ