ย้อนกลับไปนาทีแรกที่ผมได้อ่านจดหมายเปิดผนึกของนายกรัฐมนตรีถึงครอบครัวมหาเศรษฐี 20 ครอบครัวเพื่อขอความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจที่เจ็บหนักจากการระบาดของ COVID-19 ผมรู้สึกโกรธ
โกรธที่ทำไมต้องพินอบพิเทากับคนเหล่านี้เพียงเพราะเขาหรือเธอมีเงินมากมาย ขณะที่ทำตัวหยาบกระด้างไร้มารยาทใส่คนอื่น โกรธที่ทำไมไม่ใช้กลไกกฎหมายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กองอยู่ตรงหน้า ทั้งที่รู้ว่าการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งแล้วแปลงเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำแล้วยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินแล้วโยนภาระทิ้งไว้ให้รัฐบาลหน้า
ในภาวะการเมืองที่ครุกรุ่น สถานการณ์สุกงอม สถานะการคลังไทยง่อนแง่น และคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามเรื่อง ‘ศักดินา’ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ผมจึงมองว่าข้อเสนอให้การเปลี่ยนเศษเสี้ยวของสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลของเหล่ามหาเศรษฐี สู่สวัสดิการแบบเสมอหน้าของประชาราษฎร์ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน
ผมลองเคาะตัวเลขเล่นๆ โดยอ้างอิงจากความมั่งคั่งสุทธิของชายหญิงที่ร่ำรวยที่สุดในไทย 50 คนซึ่งรวบรวมและเผยแพร่โดยนิตยสาร Forbes โดยตีกลับมาเป็นเงินไทยได้ราว 4.1 ล้านล้านบาท ถ้าหากเราสามารถเก็บภาษีความมั่งคั่งจากบุคคลเหล่านี้ได้ 3 เปอร์เซ็นต์ คลังจะได้เงินเข้ากระเป๋าทันทีทุกปีราว 1.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของภาษีทั้งหมดที่จัดเก็บได้ในปี พ.ศ. 2562
ลองคิดดูนะครับ ว่าเราจะสามารถจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งได้มากมายขนาดไหน หากรัฐเลือกจัดเก็บครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในไทย 10,000 ครอบครัว แล้วเปลี่ยนเงินเหล่านั้นให้มาเป็นสวัสดิการของเราทุกคน
รายได้ vs ความมั่งคั่ง
อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าครอบครัวที่ร่ำรวยมหาศาลหลักหมื่นล้านหรือล้านล้านนั้น เขาไม่ต้องเสียภาษีกันบานตะไทในแต่ละปีหรือ?
คำตอบคือเสียครับ แต่อาจไม่ได้เสียมากพอที่จะลดความเหลื่อมล้ำ เพราะภาษีของไทยนั้นเน้นจัดเก็บอยู่บนฐานรายได้นั่นคือคือเงินได้ของเราในแต่ละปี และฐานค่าใช้จ่ายจากภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่ ‘รายได้ (income)’ นั้นแตกต่างจาก ‘ความมั่งคั่ง (wealth)’ อย่างมีนัยสำคัญ โดยความมั่งคั่งเปรียบเสมือนถังน้ำถังใหญ่ ขณะที่รายได้ไม่ต่างจากท่อน้ำที่ไหลเข้ามาเติมถังในแต่ละปี จึงไม่น่าแปลกใจที่การวิเคราะห์โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะมองเห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยความเหลื่อมล้ำที่คำนวณจากค่าสัมประสิทธิ์จีนีมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็เพราะตัวเลขดังกล่าวพิจารณาจากการกระจายตัวของรายได้ ไม่ใช่ความมั่งคั่ง
ภาพความเหลื่อมล้ำที่วิเคราะห์จากตัวเลข
ที่คำนวณบนฐานของรายได้จึงอาจบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง
เนื่องจากคนรวยมักมีเทคนิคในการ ‘ซิกแซก’ แปลงสภาพรายได้เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้ให้น้อยที่สุด อีกทั้งคนรวยส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวยมาจากรายได้ แต่มาจากการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินที่พวกเขาถือครอง
หลายคนคงคุ้นหูชื่อ เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งแอมะซอนและชายที่รวยที่สุดในโลก แต่คงมีไม่กี่คนจะทราบว่าเขาได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 200,000 บาทซึ่งน้อยกว่าเงินเดือนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่รับจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสียด้วยซ้ำ เบซอสจึงไม่ได้ร่ำรวยจากเงินเดือน แต่ร่ำรวยจากสินทรัพย์ที่เขาถือครองนั่นคือหุ้นแอมะซอนนั่นเอง
ดังนั้น หากต้องการเห็นภาพความเหลื่อมล้ำแบบชัดๆ เราต้องซัดกันที่ ‘ความมั่งคั่ง’ เช่นเดียวกับการเก็บภาษี หากต้องการเก็บได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ต้องเก็บบนฐานความมั่งคั่งเช่นกัน
ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของความเหลื่อมล้ำ?
การเก็บรวบรวมข้อมูลความมั่งคั่งเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ตั้งแต่การค้นหาว่าแต่ละคนถือครองสินทรัพย์อะไรบ้าง ยังต้องปวดหัวกับการตีราคาค่างวดของสินทรัพย์เหล่านั้น หากเป็นสินทรัพย์ในตลาดทุนตลาดเงินก็ง่ายหน่อย เพราะสามารถหาข้อมูลราคาที่ซื้อขายในตลาดได้ แต่ที่โหดหินคือสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำอย่างที่ดิน เครื่องเพชร หรืองานศิลปะ เพราะสินทรัพย์เหล่านี้ไม่มีราคากลางแต่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการประเมินราคา
โชคดีที่ธนาคาร Credit Suisse ผลิตรายงานที่ค่อนข้างเป็นที่ยอมรับเกี่ยวกับข้อมูลความมั่งคั่งใน 40 ประเทศทั่วโลกในชื่อ Global Wealth Report ซึ่งรายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยคว้าอันดับ…
แทน แทแดแด้น แทน แท่น แท่น แท่น แท้น
ยินดีด้วยครับ คุณคือประชาชนในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำ
ด้านความมั่งคั่งอันดับสองของโลกเป็นรองเพียงรัสเซีย
โดยประชากรไทยที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ ถือครองสินทรัพย์คิดเป็นสัดส่วน 50.4 เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ทั้งหมดในประเทศ อีกหนึ่งตัวเลขที่เราควรภาคภูมิใจคือระหว่าง พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2561 เหล่ามหาเศรษฐีไทยสร้างความมั่งคั่งได้อย่างโดดเด่นโดยคนไทยที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเกือบ 18 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าแซงหน้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไปไกลโข
สำหรับใครที่ไม่มั่นใจกับรายงานโดยธนาคารต่างชาติ ผมขอขยับมาหยิบข้อมูลใกล้ตัวโดยชุดแรกคือข้อมูลการถือครองที่ดินโดยกรมที่ดิน เมื่อ พ.ศ. 2555 โดยผศ.ดร. ดวงมณี เลาวกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ถือครองที่ดินมากที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกครอบครองที่ดินคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินที่มีโฉนดโดยผู้ที่มีถือครองที่ดินมากที่สุดมีที่ดินถึง 631,263 ไร่
อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือข้อมูลเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ซึ่งรวบรวมและเผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ผมลองหยิบข้อมูลเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแล้ววิเคราะห์คร่าวๆ พบว่าประชาชนไทยเปิดบัญชีธนาคารไว้มากกว่า 100 ล้านบัญชี แต่มูลค่าของเงินฝากธนาคารทั้งหมดร่วม 80 เปอร์เซ็นต์กระจุกอยู่ในบัญชีที่คิดเป็นสัดส่วนราว 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซ้ำร้ายสองเปอร์เซ็นต์ที่ว่าอาจจะมีเจ้าของบัญชีคนเดียวกัน
ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งในประเทศไทยเป็นเรื่องที่มีอยู่จริง อีกทั้งยังสร้างปัญหารุงรังเพราะการกระจุกตัวของทรัพยากรอย่างที่ดินไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจหมายถึงการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพึ่งพารายได้จากภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก ส่วนภาษีที่ดูใกล้เคียงกับภาษีความมั่งคั่งที่สุดคือภาษีโรงเรือนซึ่งสร้างรายได้น้อยในระดับไม่ได้สลักสำคัญอะไร ล่าสุด ภาษีดังกล่าวได้อัปเกรดเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยเพิ่งเริ่มเก็บเมื่อต้นปีที่ผ่านมาซึ่งต้องรอจับตาดูว่าภาษีดังกล่าวจะมีความสำคัญมากขึ้นหรือไม่ หรือสุดท้ายจะเป็นเพียงไม้ประดับที่ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำและยังคงเปิดทางให้เหล่า ‘ศักดินา’ ผู้มั่งคั่งหลบเลี่ยงภาษีได้โดยง่าย
จะดีกว่าไหม ถ้าเราจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งทุกประเภทสินทรัพย์แบบไร้ข้อยกเว้นโดยเล็งเป้าไปที่เหล่าผู้ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทย?
ภาษีความมั่งคั่งกับ 3 บทเรียนจากต่างประเทศ
เรามีบทเรียนมากมายจากการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง ทั้งการบังคับใช้ในสหภาพยุโรปที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า รวมถึงข้อเสนอจากผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฝั่งเดโมแครตเรื่องการเก็บภาษีความมั่งคั่ง ที่แม้จะไปไม่ถึงฝั่งฝันแต่ก็น่ารับฟังไม่น้อย
บทเรียนแรกคือการตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำในการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง หากตั้งต่ำเกินไป ปัญหาที่ตามมาคือเศรษฐีระดับกลางซึ่งร่ำรวยจากทรัพย์สินสภาพคล่องต่ำ เช่น ชุดอัญมณีประจำตระกูล หรือคฤหาสน์รกร้างห่างเมืองหลวง เศรษฐีเหล่านี้จะมีปัญหาเพราะไม่สามารถหาเงินสดมาจ่ายภาษีได้แต่จะขายสินทรัพย์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ดังนั้นรัฐจึงต้องตั้งเกณฑ์ให้สูง เล็งเป้าเฉพาะ
เหล่ามหาเศรษฐีที่มีศักยภาพในการบริหารสภาพคล่อง
เช่นตามแนวทางของอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) ที่จะกรองครอบครัวมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดราวสองหมื่นครอบครัวเท่านั้นที่ต้องเสียภาษีความมั่งคั่ง
บทเรียนที่สองคือต้องเก็บทุกประเภทสินทรัพย์ ในสหภาพยุโรปมีการยกเว้นการเก็บภาษีความมั่งคั่งสำหรับสินทรัพย์บางประเภทเนื่องจากความยุ่งยากในการประเมินมูลค่า เช่น งานศิลปะ สุดท้ายเหล่ามหาเศรษฐีจึงสะสมความมั่งคั่งในงานศิลปะแทนที่จะเป็นที่ดินหรือสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อหลบเลี่ยงภาษี
ทางออกในการประเมินมูลค่าคือการให้เหล่ามหาเศรษฐีจัดการชีวิตตัวเอง จัดทำรายการสินทรัพย์และประเมินราคาสินทรัพย์เหล่านั้น แต่มีเงื่อนไขเพียงหนึ่งเดียวว่ารัฐบาลจะสามารถขอซื้อสินทรัพย์ตามราคาที่ระบุไว้โดยผู้ยื่นรายการเสียภาษีไม่มีสิทธิขัดขืน
บทเรียนที่สามคือการป้องกันการโอนสินทรัพย์เมื่อบังคับใช้กฎหมาย เพราะเหล่ามหาเศรษฐีมีศักยภาพในการยักย้ายถ่ายเทสินทรัพย์จากตนเองไปสู่มือเครือญาติซึ่งภาครัฐสามารถเฝ้าระวังโดยพิจารณาเจตนาที่แท้จริงในการเปลี่ยนมือสินทรัพย์ว่าเป็นการให้โดยเสน่หาหรือจงใจหลบเลี่ยงภาษี หากเป็นการโอนเพื่อหลบเลี่ยงภาษีก็ต้องมีการจัดเก็บภาษีเสมือนหนึ่งภาษีเงินได้ในฝั่งผู้รับให้ถูกต้องครบถ้วน
ส่วนมหาเศรษฐีที่อยากจะย้ายสัญชาติเพื่อเลี่ยงภาษีก็อย่าหวัง เพราะรัฐสามารถปิดช่องว่างดังกล่าวโดยจัดทำ ‘ทะเบียนความมั่งคั่งแห่งชาติ (national wealth registry)’ ที่หากเหล่าเศรษฐีต้องการทิ้งสัญชาติไทยโดยสมัครใจ ภาครัฐก็สามารถเก็บภาษีขาออก (exit tax) ที่เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์เสนอว่าควรจัดเก็บในอัตราร้อยละ 40 สำหรับความมั่งคั่งมูลค่าต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับใครที่ห่วงใยกลัวเหล่ามหาเศรษฐีจะเสียภาษีเยอะจนสิ้นเนื้อประดาตัวก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะคนรวยเหล่านี้ก็ยังรวยอยู่วันยังค่ำ เพราะหากนำเงินดังกล่าวไปลงทุนโดยนักลงทุนมืออาชีพจะได้ผลตอบแทนราว 6 – 8 เปอร์เซ็นต์ หรือหากอ้างอิงตามตัวเลขของ Global Wealth Report เหล่ามหาเศรษฐีมีสินทรัพย์โตอยู่ที่ราวปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ แม้จะเผชิญกับวิกฤติซับไพรม์ก็ตาม
แต่ถ้าถามผม ผมคงตอบไปว่าให้เหล่ามหาเศรษฐีน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตดูบ้าง เพราะพวกเขาหรือเธอคงขนหน้าแข้งไม่ร่วงหากจะแบ่งเสี้ยวหนึ่งของสินทรัพย์มูลค่าหลักแสนล้านมาให้ประชาชนตาดำๆ ที่วันนี้ยังมีไม่เพียงพอ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Democrats Want to Tax the Rich. Here’s How Those Plans Would Work (or Not).
Comparison of the Warren and Sanders wealth tax proposals