คุณรักชาติมากแค่ไหนครับ
ถ้ามีคนมาบอกว่า-พอเถอะ, ไม่ต้องมีชาติมีประเทศกันแล้ว เพราะการมีชาติมีประเทศคือสิ่งที่ก่อปัญหามากกว่าจะแก้ปัญหา คุณจะรู้สึกอย่างไรครับ
หลายคนอาจคิดว่า การศึกษาเรื่องชาติ-หรือพูดให้ชัดกว่านั้นก็คือ ‘รัฐชาติ’ แบบสมัยใหม่ (หรือที่เรียกว่า Nation State หรือ Modern State) นั้น เป็นเรื่องที่จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงของนักรัฐศาสตร์นักสังคมศาสตร์เท่านั้น แต่ถ้าบอกว่า เรื่องของ ‘รัฐชาติ’ เป็นคำถามในทาง ‘วิทยาศาสตร์’ ด้วย หลายคนในหลายคนข้างต้นอาจบอกว่า-บ้า!
แต่ที่จริงแล้ว ต้องบอกคุณว่า ความซับซ้อนของระบบโลกและรัฐชาติสมัยใหม่นั้น ทำให้เราไม่สามารถศึกษารัฐชาติได้จากมุมทางสังคมอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องการมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ต้องการแบบจำลองคณิตศาสตร์ ต้องการการประเมินข้อมูลทางประวัติศาสตร์แบบ Big Data และต้องการเทคนิคการศึกษาใหม่ๆ มาศึกษารัฐชาติด้วย
หลายคนอาจคิดว่า รัฐชาติอย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่มีมาเนิ่นนานบรรพกาลแล้ว บรรพบุรุษของแต่ละชาติได้ต่อสู้เพื่อธำรงรักษาอธิปไตยของตัวเองเอาไว้มาเป็นร้อยเป็นพันปี แต่ต้องบอกคุณนะครับ-ว่านั่นเป็นความคิดที่ผิด!
ก่อนศตวรรษที่ 18 ไม่มี ‘รัฐชาติ’ จริงๆ อยู่ในโลกนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป เอเชีย หรือที่ไหนๆ ก็ตาม อันนี้ผมไม่ได้พูดเองเออเองนะครับ แต่คุณ John Breuilly แห่ง London School of Economics เขาบอกไว้อย่างนั้น
ก่อนศตวรรษที่ 18 เวลาคุณเดินทางไปไหนในยุโรป (หรือในโลก) ไม่มีใครขอตรวจพาสปอร์ตคุณตรง ‘พรมแดน’ ของประเทศหรอกนะครับ คนแต่ละกลุ่มอาจมี ‘อัตลักษณ์’ ทางเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ใช่อัตลักษณ์ทางการเมืองหรือทาง ‘รัฐศาสตร์’ อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
มันมีตัวเลขอยู่ค่าหนึ่ง เรียกว่าตัวเลขของดันบาร์ (Dunbar Number) คือสิ่งที่คุณ โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดคิดขึ้นมา คุณดันบาร์บอกว่า คนหนึ่งคนจะมีความสามารถในการรักษาสายสัมพันธ์ทางสังคม หรือมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ไม่เกิน 150 คน เท่านั้น โดยเขาศึกษาจากหมู่บ้านและการจัดกองทัพตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รวมถึงดูจากเพื่อนทางเฟซบุ๊กที่มีปฏิสัมพันธ์จริงด้วย
แต่คุณปีเตอร์ เทอร์ชิน (Peter Turchin) ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ (งงไหมครับ) บอกว่าถ้าศึกษาความรุ่งโรจน์และร่วงโรยของบรรดาจักรวรรดิต่างๆ แล้ว เราจะพบว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนมากกว่า 150 คน ก็คือสิ่งที่เรียกว่า-สงคราม
เทอร์ชินพบว่า จักรวรรดิที่เติบใหญ่ที่สุด ล้วนเป็นจักรวรรดิที่ต้องเผชิญกับการต่อสู้อันโหดร้ายที่สุด ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเมื่อคนมากขึ้น ก็ต้องแย่งชิงที่อยู่ แย่งชิงทรัพยากรระหว่างเผ่ากันมากขึ้น จึงเกิดการสู้รบ และการสู้รบนี้เองที่ทำให้คนต้องรวมกลุ่มกัน ยิ่งมากก็ยิ่งดี
แล้วอย่างนี้จะไม่ขัดกับ ‘ตัวเลขดันบาร์’ หรอกหรือ?
สิ่งที่จะเข้ามาเป็นกลไกทำให้ไม่ขัดกับตัวเลขดันบาร์ ก็คือการ ‘จัดลำดับชั้นทางสังคม’ (ขอเรียกว่าไฮราคี่-Hierarchy, ก็แล้วกันนะครับ) สมมติถ้าดูวิธีจัดการแบบกองทัพจะเห็นชัด คือคนไม่เกิน 150 คน ไปขึ้นอยู่กับหัวหน้าคนหนึ่ง แล้วหัวหน้าคนนั้นก็ไปรวมกับหัวหน้าอีกไม่เกิน 150 คน เพื่อไปขึ้นกับอภิหัวหน้าอีกคนหนึ่ง ถัดจากนั้น อภิหัวหน้าไม่เกิน 150 คน ก็รวมกันไปขึ้นอยู่กับอภิมหาหัวหน้าอีกคนหนึ่ง เป็นดังนี้เรื่อยไปจนถึงคนที่อยู่ในระดับสูงสุด
สังคมไฮราคี่จึงเป็นสังคมแนวดิ่ง ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า Collectivism หรือการอยู่รวมหมู่อย่างมีระเบียบแบบแผน ก่อให้เกิด Collective Behaviour หรือ ‘พฤติกรรมรวมหมู่’ กับ Collective Actions หรือการกระทำที่เกิดจากแนวคิดรวมหมู่หลายต่อหลายอย่าง ซึ่งสำคัญมากต่อการดำรงอยู่ของสังคมนั้นๆ เขาบอกว่า สังคมที่มีไฮราคี่สูงกว่าจะเป็นสังคมที่ชนะสงครามได้มากกว่า แถมยังจัดสรรทรัพยากรได้ดีกว่าด้วย เช่นในเรื่องชลประทาน การเก็บรักษาอาหาร หรือการบันทึกสถิติต่างๆ ซึ่งเมื่อมีไฮราคี่มากขึ้นเรื่อยๆ จากชุมชนก็จะเกิดเป็นเมือง เป็นอาณาจักร และเป็นจักรวรรดิ
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ต่อให้เป็นจักรวรรดิที่มีการจัดการประชากรและทรัพยากรต่างๆ อย่างดี (เช่นจักรวรรดิโรมัน หรือจักรวรรดิยุคใหม่หน่อยอย่างออสเตรีย-ฮังการี) เหล่านี้ก็ยังไม่ใช่ ‘รัฐชาติ’ แบบสมัยใหม่อย่างที่เรารู้จัก
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
คำตอบก็คือ ในยุคนั้น คน ‘นิยาม’ ตัวเองในแบบแนวดิ่ง คือบอกว่าตัวเองเป็น ‘คนของใคร’ ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะมาบอกว่าเป็นคนของพระเจ้าหลุยส์ แต่หมายถึงเป็นคนของขุนนางคนไหน ความสัมพันธ์ในสังคมก็เป็นแนวดิ่งด้วย คือชาวนาจากถิ่นหนึ่งจะไม่ไปติดต่อกับชาวนาจากอีกถิ่นหนึ่ง แต่ต้องผ่านคนที่อยู่เหนือหัวตัวเองขึ้นไป คนเหล่านั้นจึงไม่ได้มี ‘อัตลักษณ์’ ของการรวมหมู่ในแบบชาติ แต่นิยามตัวเองผ่านโครงสร้างแบบโบราณ
ก่อนศตวรรษที่ 18 (หรือก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) คนเก้าในสิบคนล้วนเป็นชาวไร่ชาวนา คนเหล่านี้ถ้าไม่ออกไปทำไร่ไถนาก็ต้องอดตาย ชีวิตไม่ได้มีทางเลือกมากนัก สังคมที่เป็นแบบนี้ปกครองง่าย ไม่ต้องการระบบที่ซับซ้อนมากนัก เช่นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสนั้น อาจมีกองทัพห้าแสนนายเพื่อเอาไว้ต่อสู้กับศัตรู แต่กับการดูแลภายในเองนั้น ใช้คนแค่ราว 2,000 คนเท่านั้น เพราะสังคมสมัยก่อนไม่ซับซ้อนหรือมี Colplexity มาก
แล้ว ‘รัฐชาติ’ สมัยใหม่เกิดขึ้นตอนไหน?
ต้องบอกว่า สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะ ‘เทคโนโลยี’ เปลี่ยนเสมอ นักวิชาการหลายคนอธิบายว่า รัฐชาติสมัยใหม่เกี่ยวพันกับ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ที่เกิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 18 อย่างแนบแน่น ทั้งนี้ก็เพราะสังคมหนึ่งๆ จะสามารถ ‘ซับซ้อน’ ได้มากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นๆ สามารถ ‘สร้างพลังงาน’ ให้ตัวเองใช้ได้มากแค่ไหน การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้คนผลิตพลังงานได้มากขึ้น เกิด ‘กิจกรรม’ ใหม่ๆ ในสังคมที่ทำให้ Collective Behaviours นั้น ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสังคมแบบเก่าไม่สามารถทานรับไว้ไหว จึงพังทลายลง
เขาบอกว่า การปฏิวัติทั้งในสหรัฐอเมริกาและในฝรั่งเศส ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐชาติ’ ขึ้นเป็นครั้งแรก คำถามคือ-แล้วอะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่านี่คือ ‘รัฐชาติ’ ที่ว่า
คำตอบของ Breuilly คือ-อัตลักษณ์ของชาติ หรือ National Identity
ฟังดูกำปั้นทุบดินไม่น้อย แต่ Breuilly ยกตัวอย่างว่า ในปี 1800 หลังเกิดปฏิวัติฝรั่งเศสใหม่ๆ นั้น แทบไม่มีใครในฝรั่งเศสพูดภาษาฝรั่งเศสเลย แต่พอถึงปี 1900 ทุกคนพูดภาษาฝรั่งเศสกันหมด ในอิตาลีก็เช่นเดียวกัน ตอนรวมชาติ มีคนแค่ 2.5% เท่านั้นที่พูดภาษาอิตาเลียน ผู้นำที่เจรจารวมชาติกันพูดภาษาฝรั่งเศสด้วยซ้ำ จนเกิดคำพูดสำคัญขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า-Having created Italy, they now had to create Italians ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าต้องมีการ ‘สร้างอัตลักษณ์ร่วม’ ให้กับคนในชาติ โดยผ่านทั้งภาษา วัฒนธรรม และการขีดเส้นพรมแดนที่ชัดเจน
การสร้างอัตลักษณ์ร่วมจนเกิดเป็นรัฐสมัยใหม่เหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนบอกกันว่า เธอๆ-เรามาเป็นรัฐชาติสมัยใหม่กันเถอะ แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ประวัติศาสตร์ มันเกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีบีบให้เป็นอย่างนั้น การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ต้องใช้เหล็กและถ่านหิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่ได้มีกระจายอยู่ทั่วไป ดังนั้น ถ้าเป็น ‘นครรัฐ’ (City State) ขนาดเล็ก ก็จะอยู่เองไม่ได้ ต้องรวมตัวกับชาติใหญ่อื่นๆ เพราะตัวเองไม่มีทรัพยากรมากพอ หรือถ้าเป็นจักรวรรดิยักษ์ๆ (เช่นออสเตรีย-ฮังการี กับราชวงศ์ฮับสเบิร์ก) ก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะระบบการกระจายทรัพยากรและการบริหารเป็นแบบแนวดิ่งที่มีความซับซ้อน (Complexity) ไม่มากพอจะรองรับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเทคโนโลยี
การ ‘สร้างชาติ’ จึงเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดรัฐชาติสมัยใหม่ขึ้น โดยมีวิธีสำคัญคือการสร้าง ‘จินตนากรรม’ ร่วมกัน จนกลายเป็น Imagined Communities (อย่างที่ เบน แอนเดอร์สัน เคยบอกไว้)
นั่นคือคนเราจะมีจินตนาการร่วมกันไปว่า เราตายเพื่อ ‘ชาติ’ หรือเพื่อ ‘คน’ ที่คิดเห็นและพูดภาษาเดียวกับเรา ทั้งที่เราไม่เคยรู้จักคนเหล่านั้นเกิน 150 คน (ตามตัวเลขของดันบาร์) แต่เราตายเพื่อ ‘คนในจินตนาการ’ ของเราได้
เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ชุมชนเกิดการแลกเปลี่ยน ‘แนวราบ’ มากขึ้น ชาวนาในแคว้นหนึ่งสามารถสนใจสิ่งที่เกิดกับชาวนาในแถบอื่นได้เพราะการอ่านหนังสือพิมพ์ การสร้างโยงใยแบบนี้เพื่อให้เกิดชาติที่ใหญ่ขึ้น จึงต้องสร้างการศึกษาแบบมวลรวม (Mass Education) เพื่อสร้างให้คนคิดเหมือนกันหรือมีจินตนาการร่วมแบบเดียวกันผ่านการศึกษา รวมทั้งต้องสร้างระบบบริหารรัฐขนาดใหญ่ เพื่อดูว่าใคร ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ คนของรัฐนั้นๆ บ้าง ระบบต่างๆ จึงถือกำเนิดขึ้นมา
แต่ในเวลาเดียวกัน กลไกการสร้างอัตลักษณ์ของชาติก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีคนที่เป็นสมาชิกของรัฐชาติหนึ่งๆ แต่ไม่ได้สอดคล้องกลมกลืนกับอัตลักษณ์ที่ชาตินั้นๆ ต้องการจะเป็นทั้งหมด ผลก็คือ ‘โมเดล’ ของรัฐชาติมักจะล้มเหลวอยู่บ่อยๆ มีตัวเลขบอกว่า หลังปี 1960 เป็นต้นมา เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘สงครามกลางเมือง’ ทั้งเล็กและใหญ่ในโลกซ้ำๆ กันมากถึงกว่า 180 ครั้ง
นั่นแปลว่า ‘รัฐชาติ’ หรือความพยายามรวมกันเป็นชาติ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิด ไม่ได้เก่าแก่บรรพกาลอะไร) ในบางพื้นที่ของโลก ไม่ใช่กลไกแก้ปัญหา แต่อาจเป็นกลไกที่สร้างปัญหาก็ได้
นั่นคือระดับเล็ก แต่ถ้ามองระดับใหญ่คือระดับโลก เราจะเห็นว่าพอโลกเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่ๆ ร่วมกัน เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความต้องการพลังงานใหม่ๆ หรือการอพยพไปอยู่ดาวอื่น (ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต) การปกครองที่มีลักษณะแบบรัฐสมัยใหม่-ซึ่งจะมากน้อยยังคงสืบทอดสภาวะไฮราคี่อยู่ในตัว ทำให้การแก้ปัญหาใหญ่ร่วมกันไม่ค่อยเป็นผล รัฐชาติมักเป็นอุปสรรคต่อปัญหาระดับโลก (Global Problem) ทั้งหลาย
มีคนวิจารณ์ว่า การร่วมมือกันแบบสหประชาชาติหรือสหภาพยุโรปนั้น มีลักษณะไฮราคี่แช่แข็ง (Paralysed Heirarchy) ทำให้การตัดสินใจไปตกอยู่ในมือของคนไม่กี่คน (หรือในบางกรณีก็คนเดียวด้วยซ้ำ) แต่เมื่อระบบโลกมันซับซ้อนขนาดนี้ คนไม่กี่คนจะตัดสินใจถูกต้องได้อย่างไร
ระบบที่เป็นไฮราคี่นั้น ที่สุดแล้วมักพัฒนาไปเป็นระบบที่ ‘หัวหนัก’ (Top-Heavy) มีราคาแพง และก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง นั่นทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในสังคมโลก และทั้งหมดนี้ยังไม่ได้พูดถึง ‘เทคโนโลยี’ ใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตกระทั่งถึงปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ซึ่งจะทลายภูมิทัศน์โลกให้ ‘ราบ’ ลงมากขึ้นอีก
นักวิชาการหลายคนมองว่า ที่สุดแล้ว รัฐชาติที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีจะทานทนอยู่ไม่ได้แบบเดียวกับที่จักรวรรดิเคยทานทนอยู่ไม่ได้เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ทั้งนี้ก็เพราะเทคโนโลยียุคใหม่ทำให้คนสามารถกระจายทรัพยากรได้ทั่วถึง ทั้งทรัพยากรจริงๆ ผ่านการขนส่ง กระทั่งถึงทรัพยากรทางความคิดและวัฒนธรรมผ่านการสื่อสาร ดังนั้น ไฮราคี่ที่เคยสั่งสมและเป็นจุดตั้งต้นให้เกิดรัฐชาติจึงเริ่มพังทลายลง หลายคนทำนายเอาไว้ว่า เมื่อรัฐชาติพังทลายลง โลกจะหมุนไปหา ‘ยุคกลางใหม่’ (Neo-Mediaval) ที่คนจะแตกตัวออกมาเป็น ‘นครรัฐ’ หรือชุมชนขนาดเล็กอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะมันไม่ได้มีไฮราคี่ที่แข็งแรงอย่างที่เคยเป็นอีกแล้ว แต่เมืองกับเมืองจะติดต่อระหว่างกัน เกิดเป็นยุคกลางใหม่ที่มีความสัมพันธ์แนวราบในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์