ยังจำสนามเด็กเล่นในโดราเอมอนได้มั้ย ลานกว้างๆ ที่มีท่อวางกอง เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ ในเรื่องไปใช้เวลาขลุกอยู่ด้วยกัน และมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในสนามเด็กเล่นแห่งนั้น
พอเห็นสนามเด็กเล่น เราเองก็อาจจะนึกภาพสนามหรือพื้นที่ว่างๆ ความทรงจำครั้งวัยเยาว์ผุดขึ้นมาอีกครั้ง ในพื้นที่ที่เราไปเล่นกับเพื่อนสมัยเด็กคละเคล้าไปด้วยเรื่องราวของมิตรภาพ ความสดใสในวัยเด็ก การเรียนรู้และการเติบโต พื้นที่เล่นดูจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่เราจำได้ และพื้นที่ที่หล่อหลอมตัวตนของเราขึ้นมา
จะว่าไป ไอ้เจ้าสนามเด็กเล่นที่โนบิตะชอบไปก็ไม่เชิงเป็นสนามเด็กเล่นที่เป็นรูปธรรม — มีการออกแบบหรือสร้างเพื่อให้เด็กๆ ไปใช้เวลาเสียทีเดียว — ดูทรงแล้วน่าจะเป็นพื้นที่ว่างๆ ที่เป็นการเอาพวกวัสดุก่อสร้างไปกองๆ ไว้ ด้วยความโล่งและมีท่อกองอยู่ เด็กๆ เลยถือโอกาสไปรวมตัวกันอยู่ที่นั่นซะเลย
สนามเด็กเล่นในโดราเอมอนจึงเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมและสภาวะแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ด้วยความที่เมืองกำลังขยายใหญ่ขึ้น และพื้นที่โล่งๆ ที่เด็กพอจะไปเล่นได้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่กำลังพัฒนา จากเดิมที่เด็กๆ สามารถไปเล่นตามพื้นที่ธรรมชาติ แต่ด้วยเมืองที่ขยายตัวขึ้นพร้อมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อจึงสามารถไปใช้พื้นที่ ‘กำลังสร้าง’ ดินเปล่าที่กำลังปรับพื้นที่และกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เมืองที่พื้นที่ทุกตารางนิ้วมีมูลค่า เป็นอสังหาริมทรัพย์
ฟูจิโกะ ฟูจิโอะคงจะเริ่มเห็นโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ผู้ใหญ่วัย 30 ที่เคยดูโดราเอมอนสมัยเด็กหลายคนมองย้อนไปก็พอจะมีความทรงจำในการไปเล่นในพื้นที่โล่งๆ หรือสนามเด็กเล่นสนามกีฬาส่วนกลาง พื้นที่ที่ทุกวันนี้กลายไปเป็นตึก กลายเป็นห้างสรรพสินค้า เป็นโครงการพักอาศัยไปหมดแล้ว
เมื่อเมืองใหญ่ พื้นที่เล่นก็เล็กลง
สังเกตด้วยตา หลายคนเริ่มบ่นว่าเดี๋ยวนี้หันไปทางไหนก็มีแต่ห้าง วิถีชีวิตคนสมัยใหม่คือไปเดินห้าง เด็กๆ ก็ต้องไปแกร่วอยู่ตามห้าง ห้างสมัยใหม่อาจจะเริ่มปรับตัวด้วยการออกแบบโดยมีต้นไม้ มีสนามเด็กเล่นเล็กๆ เพื่อรองรับความต้องการของครอบครัว แต่ว่าสนามเด็กเล่นในห้างก็เป็นพื้นที่เล็กๆ ส่วนหนึ่งของห้าง เป็นพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกจำลองขึ้นมา ถ้าพูดในแง่ธรรมชาติของเด็กที่ต้องการธรรมชาติเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต สนามเด็กเล่นในร่มก็อาจจะยังไม่ใช่พื้นที่ที่เด็กๆ จะได้สัมผัสกับแสงแดด ได้เห็นปุยเมฆบนท้องฟ้าสีฟ้า ได้เล่นบนดิน ได้เห็น ดมกลิ่นและสัมผัสต้นไม้ใบหญ้า
ถ้าเราสำรวจความทรงจำวัยเด็ก เราก็มักจะนึกถึงแดดร้อนๆ สัมผัสของเราที่หกล้มหกลุกลงบนพื้นดิน การได้หยิบเล่นกิ่งไม้และการได้ยินเสียงแมลงต่างๆ ผิวเนื้อของเรามักจดจำสัมผัสของแดดจ้าๆ ในหน้าร้อน การวิ่งหลบฝนและพบเจอสรรพสัตว์ในหน้าฝน ลมหนาวๆ ที่ปะทะเข้ากับผิวแห้งๆ ในหน้าหนาว — ธรรมชาติดูจะเป็นส่วนผสมสำคัญในการเติบโตขึ้นของเรา
แน่นอนว่าเมื่อเมืองใหญ่ขึ้น พื้นที่กลายเป็นเรื่องอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่เปล่าย่อมต้องถูกปรับเปลี่ยนไปสู่พื้นที่ทางธุรกิจและพื้นที่ทางการค้าเพื่อความคุ้มมูลค่าที่แพงขึ้นทุกที ในประเทศจีนมีงานสำรวจที่บอกว่าด้วยความเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นขึ้น การใช้พื้นที่ของเมืองอย่างเข้มข้นทำให้ประชากรในเมืองไม่มี — ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนกลางได้ — ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เด็กๆ เท่านั้น แต่การที่พื้นที่ธรรมชาติส่วนกลางเช่นสวนโล่งๆ มีน้อยลง ทำให้ประชากรมี ‘กิจกรรมทางร่างกาย’ ที่ได้ไปเดิน ไปออกกำลัง หรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันลดต่ำลง ส่งผลต่อสุขภาพต่อไป
ความจริงจังในพื้นที่สำหรับเล่น
การขาดพื้นที่เล่นสาธารณะจึงหมายถึงการที่เราไม่มีพื้นที่ได้ขยับเขยื้อนร่างกาย ทำให้ตัวเลขสุขภาวะของประชากรลดต่ำลง ภาครัฐหลายแห่งจึงเริ่มเห็นว่าการที่เราไปให้ความสำคัญกับมูลค่าทางเศรษฐกิจของพื้นที่ในฐานะอสังหาริมทรัพย์อาจกำลังลดทอนคุณภาพชีวิตของประชากร และในที่สุดก็ส่งผลเสียกับสังคมและระบบเศรษฐกิจต่อไป
ง่ายที่สุดคือความอ้วน มีงานศึกษาพบว่าเด็กที่อ้วนอาจจะเจอกับแรงกดดันทางสังคมและมีปัญหาในการปรับตัวลงได้ ซึ่งภาวะน้ำหนักตัวสูงนี้ก็เชื่อมโยงกับการที่ประชากรขาดกิจกรรมที่ต้องขยับเขยื้อนร่างกาย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) รายงานว่าประชากรมีการขยับตัวหรือมีกิจกรรมที่ใช้แรงกายมากขึ้น 25.6% เมื่อสามารถเข้าถึงพื้นที่เล่น (play area) สาธารณะได้
ถ้ามีสนามเด็กเล่น มีสวนดีๆ ให้เราหอบลูกจูงหลานไปเดิน ไปเล่นกีฬากันมากขึ้น สุขภาพโดยรวมก็ดีขึ้น คุณภาพชีวิตก็เพิ่ม
ในแง่สังคม พื้นที่เล่นสาธารณะเป็นพื้นที่ที่ผู้คนไปรวมตัวกัน นอกจากสุขภาพร่างกายจะดีขึ้นแล้ว สุขภาพใจและทักษะทางสังคมในการพบปะคนอื่นๆ ก็ดีขึ้นด้วย ในระดับชุมชน การมีสวนที่คนมารวมกันทำให้ผู้คนเกิดความเป็นปึกแผ่น เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำไปสู่การร่วมมือสอดส่องดูแลกันและกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แนวโน้มของอาชญกรรมในชุมชนก็ลดลง กรณีของสถานีตำรวจ Fort Myers ในฟลอริดารายงานว่าหลังจากที่ในเขตชุมชนผู้มีรายได้น้อยมีการติดตั้งพื้นที่สันทนาการส่วนกลางแล้ว อัตราการเกิดอาชญกรรมที่เกี่ยวกับเยาวชนลดลง 28%
สุดท้ายเมืองก็จำเป็นต้องพัฒนา และพื้นที่ว่างๆ ก็ต้องนำไปสู่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่ความคุ้มค่าบางอย่าอาจไม่ได้เห็นถึงมูลค่าหรือราคาอย่างเป็นรูปธรรม พื้นที่ที่ทำให้สุขภาวะ ให้ชีวิตของคนดีขึ้น การมีพื้นที่ที่ฝังลงไปในความทรงจำวัยเด็ก ในตัวตนของเรา ก็ดูจะเป็นพื้นที่ที่ควรค่าน่าลงทุนเนอะ
โจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายเราคือ ในมิติของการออกแบบทั้งในระดับเมืองและระดับการออกแบบพื้นที่ play area จึงอยู่ที่การสร้างพื้นที่ที่ทั้งเหมาะสมกับธรรมชาติของผู้คน ส่งเสริมพัฒนาการ พร้อมๆ กับเป็นพื้นที่ที่สอดคล้องกับเมืองที่กำลังเติบโตขึ้น กำลังแน่นขนัดขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก